“การศึกษาเป็นสิ่งไม่จริง มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์
รศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม
สิ่งที่แท้จริง คือ ‘การเรียนรู้’
สิ่งที่แท้จริงที่สุด คือ ‘การพัฒนามนุษย์’”
‘การศึกษา’ อาจไม่ใช่ปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตอีกต่อไป เมื่อโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงกำลังบังคับให้ทุกคนต้อง ‘เรียนรู้’ เพื่อปรับตัวให้เท่าทันอยู่เสมอ หลักสูตรที่ถูกจัดวางเป็นระบบจากรัฐส่วนกลางอาจใหญ่เทอะทะและไม่ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ที่มีความซับซ้อน ดังนั้น การเรียนรู้ที่เน้นการตั้งโจทย์จากตัวเองเป็นศูนย์กลางจะช่วยให้พลเมืองสามารถพัฒนาได้ตามศักยภาพของพื้นที่และความสนใจของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขา (และพวกเรา) เอาตัวรอดในศตวรรษใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว – นี่คือแนวคิดในการพัฒนาคนของ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ (Learning City)
ปัจจุบัน มีเมืองกว่า 294 เมืองจาก 77 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (GNLC) เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ขององค์การ UNESCO ที่มุ่งสร้างสังคมของการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดแค่เพียงช่วงอายุใด และทุกคนในทุกช่วงวัยมีสิทธิในการเรียนรู้ เพื่อได้รับการพัฒนาตนเองอยู่เสมอจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ทว่า ระบบการศึกษาไทยยังคงจำกัดให้การเรียนรู้อยู่แค่เฉพาะคนในช่วงวัยเดียว นั่นก็คือวัยเด็กและวัยรุ่น จริงอยู่ที่ช่วงวัยดังกล่าวจะมีความสามารถในการเรียนรู้ได้สูงกว่าช่วงวัยผู้ใหญ่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงสร้างประชากรกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรในวัยแรงงานกำลังถดถอยลง ซึ่งต้องแบกรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้หดตัวตาม
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ทุกช่วงวัยมีความสำคัญและจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการเรียนรู้ หากรอเด็กและเยาวชนจบการศึกษาจะไม่ทันการ อาชีพจำนวนมากจะเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น รัฐไทยควรเพิ่มทักษะในวัยแรงงานให้เขาสามารถตอบโจทย์โลกของงานที่เปลี่ยนแปลง
ในทางกลับกัน รายงานจาก กสศ. ‘ทุนมนุษย์’ เพื่อพ้นความยากจนข้ามรุ่น เผยว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการยังใช้ทักษะในปี 2558 ในการจัดการศึกษา ซึ่งในเวลาต่อมาทักษะเหล่านั้นไม่ได้ติดอยู่ใน 10 อันดับสำคัญที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่อีกแล้ว เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การอบรมเยาวชนให้ยึดติดอยู่กับแค่อาชีพใดอาชีพหนึ่งจึงไม่เพียงพอ ดังนั้นการเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ นอกห้องเรียน จึงจำเป็นมากขึ้นเพื่อให้พวกเขายังมีพื้นที่ในการพัฒนาตัวเองหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว
แนวคิด ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ (Learning City) จึงถูกนำเข้ามายังในประเทศไทย และมีความพยายามอยู่หลายหนที่จะสร้างให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยมีแม่งานเป็นองค์การยูเนสโก ทางองค์การเสนอว่า ‘ท้องถิ่น’ จะเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทำให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค เพราะภูมิปัญญาจากท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนในพื้นที่ มีความเฉพาะตัว และภูมิปัญญานี้จะทำให้ท้องถิ่นนั้นแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยเพียง ‘การศึกษา’ จากหลักสูตรส่วนกลาง สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UIL) จึงได้จัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (GNLC) เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
The Active ชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับแนวคิด ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ไปกับเมืองต้นแบบ ‘เทศบาลนครยะลา’ ตลอดจนกรณีศึกษาจากประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปพร้อมกับการพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ไปพร้อม ๆ กัน
ปลดล็อกท้องถิ่น: หัวใจของการสร้างเมืองที่ไม่ว่าใครก็เรียนรู้ได้
‘เทศบาลนครยะลา’ เป็น 1 ใน 4 พื้นที่ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดย กสศ. ได้ให้ความหมาย ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ไว้ว่า เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ และสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง
ศุภวิชญ์ สุวรรณมณี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา ในฐานะตัวแทนจากผู้ริเริ่มการพัฒนาเมืองยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้ เน้นย้ำว่า พื้นฐานของการจัดการเรียนรู้ในท้องถิ่นคือการมองจากความต้องการของผู้อาศัยในเมือง โดยนำจุดแข็งในเมืองมาสานต่อ ยกตัวอย่างเช่น ผ้าปากายัน มลายู วัฒนธรรมเหล่านี้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น และนำไปสู่การจ้างงานในพื้นที่ต่อไป แรงงานที่พัฒนาในท้องถิ่นไม่ต้องออกจากบ้านเกิดเพื่อเข้าเมืองหลวงหางานทำเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี เมืองยะลา อยู่ในพื้นที่เหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัวจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 2,000 คน ซึ่งทาง ศุภวิชญ์ ชี้ว่าทางเทศบาลได้ติดตามและช่วยเหลือ ตลอดจนให้การสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อให้เขามีโอกาสในการพัฒนาชีวิตตัวเองต่อไปได้ ซึ่งทุนนี้ก็จะย้อนกลับมาเป็นแรงงานคุณภาพคืนสู่บ้านเกิด ซึ่งตัวงบประมาณด้านการศึกษาก็พยายามหาเครือข่ายร่วมมือจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้ทุกคนในเมืองได้มีโอกาสในการศึกษาถ้วนหน้า
รายงานจาก สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) เมื่อปี 2561 เปิดเผยว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีงบประมาณด้านการศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น (ทั้งประเทศมีจังหวัดที่งบประมาณการศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 58 จาก 77 จังหวัด) และเมื่อดูคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ม.6 จะพบว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ 3 อันดับสุดท้ายของตาราง (ทั้งประเทศมีจังหวัดที่คะแนนโอเน็ตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 41 จาก 77 จังหวัด)
ทั้งนี้ การวัดผลโดยแบบทดสอบโอเน็ตไม่อาจวัดผลลัพธ์ทางการศึกษาได้อย่างครบถ้วน ผลคะแนนโอเน็ตเป็นเพียงมาตรวัดผลสัมฤทธิ์ในเชิงวิชาการของนักเรียนไทย ผลลัพธ์ทางการศึกษาอาจเป็นไปได้มากกว่าการสอบได้คะแนนสูงหรือการมีความสามารถทางวิชาการ ซึ่งแนวคิดของ Learning City ได้ชี้ว่า การกำหนดว่าเป้าหมายทางการเรียนรู้จะเป็นอย่างไรนั้น ควรให้ท้องถิ่นและผู้เรียนเป็นผู้ออกแบบ เพื่อสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่
ศุภวิชญ์ กล่าวว่า หากนโยบายกระจายอำนาจทางการศึกษาของบางพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้จริงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะจะเป็นการช่วยเหลือให้ท้องถิ่นสามารถมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณได้อย่างคล่องตัวและตรงจุดมากยิ่งขึ้น และตอนนี้ก็มีหลาย ๆ เมืองที่มีศักยภาพในท้องถิ่น รอวันได้ปลดล็อกและต่อยอดทรัพยากรมนุษย์ให้เก่งมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น งบประมาณเหล่านี้จะแปรเป็นนโยบายหรือทุนการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือเด็ก-ผู้คนในท้องถิ่น ให้เขาได้มีโอกาสทางการศึกษาและมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้
“อย่างที่เรารู้กันว่าทางจังหวัดยะลา และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็มีเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเราได้รับงบประมาณสนับสนุนที่เราสามารถบริหารจัดการเองได้ ถ้ามีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ ก็จะเป็นพระคุณมาก”
ศุภวิชญ์ สุวรรณมณี
พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จังหวัดยะลา ในฐานะนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ (City Ambassador) เชื่อว่าการลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์นั้นคุ้มค่าที่สุด เทศบาลนครยะลาจึงจัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาถึงร้อยละ 30 ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่จัดสรรงบประมาณเพื่อด้านการศึกษามากที่สุด และยังมีการกู้ยืมเงินจากกองทุนและแหล่งทุนภายนอกเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่มีทักษะของผู้ประกอบการ หวังสร้างระบบเศรษฐกิจที่หมุนเวียนในพื้นที่
ในแง่ของการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา เทศบาลนครยะลาได้สร้างอุทยานการเรียนรู้ขนาดใหญ่ และยังสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชนเพื่อเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้วัฒนธรมของชุมชน โดยให้เยาวชนมีความรักบ้านเกิด ซึ่งเป็นแรงสำคัญที่จะทำให้เครือข่ายการพัฒนาเมืองนั้นต่อยอดต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียน ซึ่งตนมองว่าแท็บเล็ตเครื่องละไม่ถึงหมื่นบาทนั้นคุ้มค่า หากเทียบกับมูลค่าความสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) เกือบ 4 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 30% ของ GDP) ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยแท็บเล็ตจะช่วยให้เยาวชนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา
แม้ว่างบประมาณรายจังหวัดจะแปรผันตามจำนวนประชากร นักเรียน บุคลากรด้านการศึกษา และจำนวนสถานศึกษาในจังหวัด แต่เมื่อดูบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาพบว่าสัดส่วนงบฯ ที่ลงท้องถิ่นน้อยกว่างบที่ลงกับภาครัฐส่วนกลางถึง 1 ใน 5 สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) แจงบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาปี 2561 เปิดเผยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายจ่ายด้านการศึกษาเพียง 99,142 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 12 ของรายจ่ายทั้งหมด
ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจในการบริหารงบประมาณของท้องถิ่นกับส่วนกลางแตกต่างกันมาก ขณะที่หลายประเทศที่มีคุณภาพการศึกษา อย่างฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา มีสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งการกระจายงบประมาณอย่างเหมาะสมไปยังท้องถิ่นจะช่วยให้การบริหารการศึกษามีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นของตัวเองได้ดีกว่า
พงษ์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่า การศึกษาไทยนั้นยึดโยงกับภาครัฐส่วนกลางมากเกินไป ทั้งที่มีเมืองท้องถิ่นหลายแห่งที่มีทรัพยากรด้านวัฒนธรรมที่ล้ำค่า ผู้นำเมืองและชุมชนมีใจอยากพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง ตนยกตัวอย่างประเด็นของมหาวิทยาลัย ที่ท้องถิ่นมีอำนาจแค่การจัดหลักสูตรอาชีวะ แต่หลายพื้นที่ที่มีศักยภาพ อยากสร้างวิทยาลัยสำหรับท้องถิ่นตนเองโดยเฉพาะก็ไม่สามารถทำได้ เพราะติดในข้อกฎหมาย พ.ร.บ. เทศบาล ปี 2496 และกฎหมายอื่น ๆ ที่ติดล็อกท้องถิ่นเอาไว้ตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว ในขณะที่องค์การยูเนสโกและเทรนด์ในหลายประเทศกำลังส่งเสริมการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ในท้องถิ่นมากขึ้น
“ผมเชื่อว่าผู้บริหารท้องถิ่นปัจจุบันเนี่ยเขาคิดเองได้ว่าอะไรเหมาะสมในพื้นที่ของเขา ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจและมีความตื่นรู้ แต่วันนี้เราถูก [กฎหมาย] เขียนมาจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นการเขียนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ถึงเวลาที่ต้องมาปฏิรูปกัน แล้วพูดเรื่องการกระจายอำนาจทั้งระบบ”
พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
สร้าง ‘นักจัดการเมือง’ ให้เรื่องการเรียนรู้เป็นของประชาชน
นอกจากเทศบาลนครยะลาแล้ว ยังมีอีก 3 เมืองที่อยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้แก่ เทศบาลนครตรัง, เทศบาลนครอุดรธานี และเทศบาลเมืองลำพูน โดยทั้ง 4 เมือง นี้มีองค์ประกอบในการพัฒนาไปสู่ Learning City หลายประการด้วยกัน เช่น เป็นเมืองที่มีต้นทุนวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีทรัพยากรคนที่พร้อมพัฒนาเมือง มีเครือข่ายการศึกษาที่เข้มแข็ง ตลอดจนมีงบประมาณในการจัดสรรเพื่อสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ร่วมกับ บพท. และ กสศ.
รศ. ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา ระบุว่า องค์ประกอบข้างต้นจะไม่ได้รับการผลักดันเท่าที่ควร หากไม่มีผู้นำเมืองที่มีความมุ่งมั่น และมีนโยบายพัฒนาคนให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ แม้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเมือง แต่เนื่องจากโจทย์ของการเรียนรู้นั้นเปลี่ยนแปลงทุกวัน จึงจำเป็นต้องมีการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อน จึงต้องมี ‘นักจัดการเมือง’ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะต้องมารับช่วงการพัฒนาเมืองหลังจากนี้
ด้าน กสศ. ระบุว่า นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องระบุให้ได้ว่าใครเป็นผู้เรียน โดยผู้เรียนรู้จะสอดคล้องกับโจทย์ปัญหาของเมืองตามหลักการที่ว่า ‘อยากให้เมืองเป็นแบบไหน ให้คนในเมืองเป็นผู้ออกแบบ’ โดย The Active จะยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากเมือง Learning City ในหลายประเทศ เช่น
- เมืองโอคายาม่า ประเทศญี่ปุ่น เน้นการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ต่อปัญหารอบตัวในเมือง โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ นำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาศึกษา ทำให้พลเมืองทุกช่วงวัยเป็นนักเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่ปรับตัวได้เร็ว
- ประเทศเกาหลี จัดห้องเรียนสอนทักษะชีวิตแก่ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองหลวง ซึ่งพบว่าหลังจากมีโครงการดังกล่าวทำให้หลายคนค้นพบเส้นทางการประกอบอาชีพใหม่ ๆ มากขึ้น
- นครพะเยา มีโจทย์ท้าทายเรื่องนักเรียนผู้พิการ และอยากส่งเสริมการเรียนรู้ตามความต้องการ จึงเปิดรับนักเรียนผู้พิการ 1,466 คนที่สนใจ เข้าเรียนในระดับชั้น ม.ปลาย ตามแนวทางการส่งเสริมอาชีพตามอัธยาศัย และจัดตั้ง ‘ศูนย์การศึกษาพิเศษ 26 แห่ง’ในอำเภอต่าง ๆ โดยจัดทำหลักสูตร Upskill-Reskill ที่ผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยกิต รับประกาศนียบัตร และเข้าศึกษาต่อได้ที่มหาวิทยาลัยพะเยา
ผณินทรา ชี้ว่า ถ้าเราสามารถทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้เอง เราจะมีพลเมืองที่ช่วยแบ่งเบาปัญหาที่ซับซ้อนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่วนกลางอาจจะใหญ่เทอะทะเกินไปที่จะลงไปจัดการทีละจุด แล้วการเรียนรู้จากโจทย์ปัญหาในพื้นที่เหล่านี้ จะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้อย่างมีพลวัต คิดวิพากษ์วิจารณ์ปัญหา มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่ง Soft Skill เหล่านี้สำคัญมากต่อการปรับตัวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ซึ่งทุกอาชีพต้องปรับตัว
“เมืองแห่งการเรียนรู้จะตอบโจทย์การพัฒนาคนเพื่อเตรียมสู่โลกยุคดิจิทัล การให้เขาเรียนรู้ตลอดชีวิตจะทำให้เขาปรับตัวให้ทันกับโลกที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเขาสามารถมีความคิดเชิงวิพากษ์ วิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากข้อมูลมหาศาลในโลกดิจิทัลได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้เกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ใน Learning City”
รศ. ผณินทรา ธีรานนท์
ท้ายที่สุด รศ. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. เน้นย้ำว่า เมืองแห่งการเรียนรู้เป็นฐานรากของทุก ๆ เมืองในอุดมคติที่รัฐบาลอยากจะให้เป็น ไม่ว่าจะเป็น Low-carbon City, Smart City, หรือกระทั่งเมืองน่าอยู่ใด ๆ ล้วนต้องใช้พลเมืองที่ตื่นรู้ต่อการศึกษาเป็นฐานรากในการขับเคลื่อนในนโยบายด้านต่าง ๆ แต่ระบบการศึกษาไทยยังบิดเบี้ยว มีหลักสูตรที่ไม่ทันโลก ลำพังโรงเรียนในชุมชนเป็นผู้จัดการศึกษาอย่างเดียวไม่พอ ท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าภาพในการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมด้วย
รศ. ปุ่น ชวนสะท้อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ไปยังภาพการเมืองใหญ่ว่า ไม่ว่าอนาคตคนไทยจะได้รัฐบาลแบบใด การขับเคลื่อนให้พื้นที่การเรียนรู้ในท้องถิ่นต้องถูกขับเคลื่อน ซึ่งไม่ได้มีแค่ประเทศไทยทำเพียงลำพัง เรามีภาคีเครือข่ายร่วมกันจาก 77 ประเทศขององค์การยูเนสโก หลายพื้นที่ก็แสดงให้เห็นเชิงประจักษ์แล้วว่ามันทำได้จริง และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว นอกจากนี้ประชาชนต้องพร้อมปรับ ขยับ Mindset อย่ามองปัญหาเป็นแค่ความโชคร้ายที่เกิดขึ้นแล้วจบไป แต่ให้มองเป็นโจทย์ใหญ่ร่วมกันที่จะช่วยกันแก้ไข โดยมีนักจัดการเมืองและเทศบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ช่วยจัดหา 6 องค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ได้แก่
1) การร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
2) แผนนโยบาย
3) นักจัดการเรียนรู้ในเมือง
4) กองทุน
5) กลยุทธ์การจัดการศึกษา
6) เทคโนโลยี นวัตกรรม
“เพราะว่าโรงเรียนไม่ใช่ของใคร โรงเรียนคือของประชาชน พื้นที่ทั้งหมดของเมืองเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ …แล้วเราอยากเห็นอะไรบ้าง เราอยากเห็นเมืองที่ทุกคนสามารถถึงเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ได้ เงินมากน้อย อายุมากน้อย ก็เข้าถึงได้เหมือนกัน นั่นคือเมืองที่คุณต้องการใช่ไหม? ถ้าใช่ ก็มาทำด้วยกัน”
รศ. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม