คลองสาน สานมือ ร่วมสานเมือง : จากประวัติศาสตร์สู่อนาคตกาล

ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภูมิศาสตร์สำคัญของการเดินเรือ ทำให้ “คลองสาน” เคยเป็นหมุดหมายปลายทางของผู้คนทั่วโลก ที่เดินทางมาด้วยจุดประสงค์ต่างกัน ทั้งทำธุรกิจระหว่างประเทศ เผยแพร่ศาสนา หรือตั้งรกรากอยู่อาศัย นับตั้งแต่ 200-300 ปีก่อน

มรดกทางวัฒนธรรม ที่หลงเหลือ สะท้อนผ่าน สถาปัตยกรรม วิถีชีวิตของผู้คน และวัฒนธรรม ของพวกเขา ทำให้วันนี้ คลองสานเป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่า ทั้งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมฝั่นธนบุรี

ต้นทุนที่มีอยู่เดิม ทำให้คลองสานเป็นพื้นที่หนึ่งในใจของนักพัฒนาเมือง ที่อยากจะเห็นคลองสานกลับมาเป็นย่านรุ่งเรืองอีกครั้ง ด้วยการผสมผสานแนวทางพัฒนาทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็นสวนสานสาธารณะ

จาก “แนวคิดการเปลี่ยนพื้นที่ว่างให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว” ของ กลุ่ม We! Park นำมาสู่การค้นหาพื้นที่ว่างเปล่าในย่านต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร และเกิดเป็นรูปธรรมการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะหลายแห่ง เมื่อถึงคิวของย่านเก่าอย่างคลองสาน พื้นที่รกร้าง-ว่างเปล่า ภายใน ชุมชนช่างนาค-สะพานยาว ก็ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นสวนกลางชุมชน ภายใต้โปรเจกต์ที่ชื่อว่า “สวน สาน สาธารณะ Klongsan Pop-up Park สานฝัน สานอดีต สู่อนาคต” เปิดพื้นที่ร้างในชุมชนย่านคลองสาน ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือจาก กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายสุขภาพและเมืองสุขภาวะหลายองค์กร

ยังธนมินิคัพ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กและเยาวชนย่านฝั่งธนฯ มีพื้นที่ออกกำลังกาย ฝึกทักษะการเล่นฟุตบอลเพิ่มขึ้นอีกแห่ง หลังจากที่ผ่านมาพบว่าฝั่งธนฯ ประสบปัญหาพื้นที่จำกัดสำหรับนันทนาการ นอกกรอบสนามสี่เหลี่ยมที่เต็มไปเสียงหัวเราะและความสนุกสนานในเกม พวกเขามีความฝันและความหวังมากกว่านั้น ที่จะเห็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมือง

ศกวรรณ์ สุขสบาย ผู้จัดการทีม ‘ยังธนมินิคัพ’ เล่าว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาพยายามหาพื้นที่รกร้างในย่านธนบุรี เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เล่นฟุตบอล และจัดแคมเปญแข่งขันฟุตบอล โดยเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ และความสนุกสนานของการแข่งขันกีฬา ที่มีมากกว่าการเล่นอยู่ในพื้นที่แห่งเดิม ๆ ด้วยหวังว่าจะทำให้เกิดการผลักดันให้มีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น

บางครั้งเด็ก ๆ ต้องนั่งรถไปไกล 5-6 กิโลเมตร เพื่อค้นหาพื้นที่เตะฟุตบอล ทั้งที่พวกเขาควรจะมีที่เล่นอยู่ไม่ไกลจากบ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จึงคิดว่าสนามฟุตบอลควรมีทุกชุมชน ชุมชนเองก็อยากได้สนามแต่ไม่รู้จะบอกใคร แคมเปญ ยังธนมินิคัพ ที่เกิดขึ้น จึงเป็นตัวกลางเพื่อส่งเสียงเรียกร้องเรื่องนี้

อีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือการ ถ่ายภาพอาคารสถาปัตยกรรมเก่า กับ foto_momo เดินชมพื้นที่ประวัติศาสตร์ เพื่อบันทึกผ่านภาพถ่าย ซึ่งพาผู้ร่วมกิจกรรมไปพบกับประสบการณ์ใหม่และเรียนรู้เรื่องราวที่อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การเดินทางไปยัง มัสยิดเซฟี หรือมัสยิดตึกขาว ที่ปกติแล้วมีโอกาสน้อยครั้งที่คนทั่วไปจะมีโอกาสได้เข้าชม

ที่นี่เป็นมัสยิดแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ของกลุ่มมุสลิมดาวูดีโบห์รา คือ กลุ่มมุสลิมจากประเทศอินเดียที่เข้ามายังสยามประเทศ ด้วยเป็นพ่อค้านำเข้าสินค้าจากอินเดียมาจำหน่าย ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 3 โดยร่วมใจกันสร้างมัสยิดเพื่อเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ที่นี่ยังคงทำหน้าที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และยังสวยงามในเชิงสถาปัตยกรรมที่คงอยู่ เคียงคู่กับเรื่องราวกล่าวนานที่ผู้ดูแลมัสยิดเล่าให้ผู้มาเยือนได้ฟัง

ภาพจาก กรมศิลปากร

นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ที่ปลุกย่านเก่าแก่ฝั่งธนฯ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการภาพเก่าเล่าย่าน รวบรวมภาพเก่ามาบอกเล่าและพาเราย้อนไปในอดีตของคลองสานผ่านรูปถ่ายในอดีต กิจกรรม Green finder เดินค้นหาพื้นที่สีเขียวทั่วย่านคลองสาน ถ่ายรูปกับแสงสี Lighting Installation by Cloudfloor รวมถึงการ เปิดเวทีเสวนาการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในอนาคต

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า กทม. เป็นมหานครที่มีผู้คนและวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งภายใต้ความซับซ้อนเหล่านั้นเกิดเป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพได้อย่างยั่งยืนก็คือการสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ทุกคนเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน

ทุกวันนี้ กทม. มีพื้นที่ของรัฐและเอกชนที่ถูกทิ้งร้างอยู่เป็นจำนวนมาก หากสามารถนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อมของชุมชน (Pocket Park) ที่กระจายอยู่ในละแวก 400-500 เมตร และสามารถเข้าถึงได้ภายใน 5 นาที ก็จะช่วยพัฒนา กทม.และช่วยแก้ปัญหาสุขภาพได้

วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. บอกว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มี โครงการ Green Bangkok ซึ่งตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้อยู่ที่ 10 ตารางเมตรต่อคน ในอดีต กทม. จะดำเนินการได้เฉพาะที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ เช่น ที่ราชพัสดุ หรือที่ดินรกร้างอื่น ๆ ของรัฐ นำมาปรับเป็นพื้นที่สีเขียว แต่โครงการ Green Bangkok 2030 เปลี่ยนแนวคิดการเข้าถึงที่ดินด้วยการเปิดช่องให้เอกชนเช้ามามีส่วนร่วม ซึ่งพื้นที่คลองสานแห่งนี้ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เสนอให้ กทม. เข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดย กทม. เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะได้พื้นที่แปลงอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจพื้นที่รกร้างและเข้าไปเจรจากับหน่วยราชการและเอกชนว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่พร้อมให้ กทม. เข้าไปพัฒนาเพื่อสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน

สิ่งที่ชี้ชัดว่าควรจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว-พื้นที่สาธารณะ ในย่านคลองสาน ก็คือข้อมูลจาก สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า พื้นที่สีเขียวสาธารณะในเขตคลองสานมีทั้งหมด 147 แห่ง แต่เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีมากถึง 72,171 คน ทำให้เมื่อเฉลี่ยอัตราส่วนพื้นที่ก็พบว่า มีพื้นที่สีเขียว 3.34 ตารางเมตร ต่อคนเท่านั้น เรียกว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่า ชุมชนเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน หมายความว่าโอกาสของการมีพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างอากาศที่ดี เพื่อความรื่นร่ม เพื่อนันทนาการ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และพักผ่อนหย่อนใจ ก็น้อยลงตามไปด้วย เพราะ “การมีพื้นที่สีเขียว=โอกาสของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

ยุทธศาสตร์คลองสาน-กะดีจีน

ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ต้นทุนทางสังคมในแง่ของการมีสถาบันหลักทางสังคม และ แนวโน้มการเจริญเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 3 ปัจจัยนี้ ที่มีผลทำให้ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ที่เหมาะกับการฟื้นฟู จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ กรุงเทพฯ 250 และต่อยอดเป็นโครงการพัฒนาต่าง ๆ อีกมากมาย รวมถึงการเป็นพื้นที่ตั้งต้นการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

เร็ว ๆ นี้จึงได้มีการเปิดเผย ภาพอนาคตและผังยุทธศาสตร์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ภายใต้วิสัยทัศน์ “กะดีจีน-คลองสาน ผสานพหุวัฒนธรรม ชุมชนแห่งนวัตกรรมการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยภาคีธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัย” โดย นิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

จาก 4 โอกาสการพัฒนา คือ 1. ย่านยุทธศาสตร์สำคัญ 2. แหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดี 3. พื้นที่แห่งการเรียนรู้ 4. รุ่มรวยมรดกวัฒนธรรม

และ 4 ความท้าทาย คือ 1. เข้าถึงดีแต่ไปต่อไม่ได้ 2. พื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว 3. เศรษฐกิจชุมชนและการบริโภคภายในย่าน 4. สาธารณูปโภคทางปัญญาที่ไม่มีผู้ใช้งาน

สู่ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย (Livability) ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ (Economy) ยุทธศาสตร์ด้านการเรียนรู้ (Learning) ยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมต่อ (Mobility) และ ยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ (Urban Form) กับ 22 โครงการพัฒนา ที่ตอบเป้าหมายย่านกะดีจีน-คลองสาน ให้เป็นย่านที่มีความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย มีพื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ผู้คนสามารถเดินทางได้หลากหลายรูปแบบ มีความเชื่อมต่อและปลอดภัย มีพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงในทุกระดับและสามารถรองรับกิจกรรมสำหรับชีวิตประจำวัน เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระจายรายได้สู่ย่านริมน้ำ ธุรกิจท้องถิ่นและผู้ลงทุนรายใหม่ ภายใต้รูปแบบการค้าที่มีความหลากหลายรองรับกลุ่มคนทั้งในและนอกพื้นที่

วัสสพร ยี่สุ่นเทศ นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คลองสาน-ธนบุรี มีพื้นที่เรียนรู้รวมกว่า 355 แห่ง ทั้งพื้นที่เรียนรู้ทั่วไป และมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แห่งชุมชนและสังคม จึงต้องการให้มีการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้ในโรงเรียน และพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เราจะแบ่งยุทธศาสตร์การเรียนรู้ออกเป็น 3 ด้าน คือ สาระ วิธีการ และสภาพแวดล้อม แบ่งออกเป็นสาระความรู้ด้านวัฒนธรรม การพัฒนารวบรวมความรู้ด้านอาหาร ทำให้เห็นภาพด้วยพิพิธภัณฑ์แห่งเทคโนโลยี แสดงศักยภาพและเพิ่มความเป็นชีวิตสาธารณะ และมีการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง ทดลองจริง เพื่อทำให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง และเป็นย่านศูนย์กลางประวัติศาสตร์ ศาสนา และมรดกทางวัฒนธรรม สำคัญให้กับเมือง สามารถสืบทอด ต่อยอดขุมทรัพย์ความรู้เดิม อย่างร่วมสมัยให้คงอยู่ถาวร

วัสสพร ยังบอกด้วยว่าสิ่งที่ควรจะทำเป็นอันดับแรก ๆ น่าจะเป็นเรื่องการสัญจร การเข้าถึงชุมชน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงพื้นที่สำคัญ และทำให้เกิดการเข้าถึงได้มาก นำมาสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ต้องสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน เพราะคนในชุมชนย่อมรู้ดีที่สุดว่าควรจะพัฒนาอย่างไร ให้เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการ

ผศ.นิรมล เสรีสกุล : ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในฐานะผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าสตูดิโอวางผังชุมชนเมือง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หรือ 12 ปีที่หลายหน่วยงานได้ร่วมดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานอย่างต่อเนื่อง โอกาสการพัฒนาในย่านกะดีจีน-คลองสาน จึงเป็นที่มาของความ ร่วมมือระหว่าง UddC-CEUS และ ภาคผังเมืองจุฬาฯ จัดการเรียนการสอนรายวิชาสตูดิโอวางผังชุมชน โดยเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วยกระบวนวิธีแบบใหม่ คือ การใช้เทคนิคการมองภาพอนาคต (foresight technique) และ เทคนิคการวางแผนกลยุทธ์ (stretegic planing) บนฐานข้อมูลเมืองและกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“โจทย์สำคัญของการออกแบบวางผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน คือ ผังยุทธศาสตร์จำเป็นต้องตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ท่ามกลางความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต จึงนับเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นของโครงการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่ภาคีพัฒนาเมืองหลายฝ่ายร่วมกับชาวย่านกะดีจีน-คลองสาน ได้ริเริ่มไว้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เมื่อปี 2561 หรือกว่า 12 ปีก่อน”

บทส่งท้าย

ความเป็นชุมชน และความร่วมไม้ร่วมมือที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ 200-300 ปีก่อน ทำให้คลองสานเป็นย่านที่มีความเจริญรุ่งเรืองเคียงคู่กับฝั่งพระนคร แม้วันนี้ คลองสานจะยังมีโจทย์ท้าทายมากมาย ทั้งความหนาแน่นของประชากร ช่องโหว่ของพื้นที่บางผืนที่ยังรอการพัฒนา

แต่วันนี้เราได้เห็นภาพความร่วมมือที่กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง และเชื่อว่าแผนพัฒนาคลองสาน ที่คนหลายกลุ่มกำลังร่วมกัน จะทำให้ “คลองสานในภาพฝัน” เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์