พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตของกรุงเทพฯ
เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) หนึ่งในแนวทางการสร้างและการสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและทรัพยากรมนุษย์ ที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคมที่เคลื่อนตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสังคมบนฐานความรู้ และตอบรับความต้องการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นโจทย์ความท้าทายสำคัญของเมืองทั่วโลก มากไปกว่านั้น กลไกนี้ยังเป็นส่วนเสริมและสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ ที่ส่วนมากพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สุขภาวะ และพื้นที่การเรียนรู้ มักจะพัฒนาควบคู่และส่งเสริมกันไป
กรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีนโยบายในการทำให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) แต่การส่งเสริมและพัฒนาคงอาศัยเพียงงบประมาณอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนได้เสนอความต้องการ เพื่อนำมาสู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์การใช้งาน สร้างประโยชน์สาธารณะ และคุ้มค่าต่อการลงทุน
The Active ชวนอ่านแนวทางการพัฒนาเมืองบนฐานความรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน ให้เป็นต้นแบบของกรุงเทพมหานคร
สังคมพหุวัฒนธรรม อดีตเส้นทางการค้าสำคัญของเมือง
ย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โดยมีขอบเขตของพื้นที่ “ย่านกะดีจีน” ฝั่งทิศตะวันตกประชิดฝั่งซ้ายของปากคลองสานบางกอกใหญ่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าคลองบางหลวง อันอยู่ตอนใต้ของพระราชวังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ปัจจุบันเรียกว่า พระราชวังเดิม แต่หากใช้ขอบเขตการปกครองปัจจุบันแล้ว ย่านกะดีจีนมีที่ตั้งอยู่ต่อเนื่องกับย่านคลองสาน ขณะที่ “กะดีจีน” อยู่ในพื้นที่เขตธนบุรี “คลองสาน” นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่เขตคลองสาน
อาณาบริเวณของทั้งย่านกะดีจีนและย่านคลองสานต่างมีชาวจีนมาตั้งบ้านเรือนอาศัยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เป็นภาพสะท้อนสังคมพหุลักษณ์ที่ประกอบไปด้วยคนหลากเชื้อชาติผสมผสานกลายเป็นชาวสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเก่าแก่อย่างย่านกะดีจีนและย่านคลองสาน ที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ หลากศาสนา ที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยาเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยมีศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อความศรัทธาของกลุ่มคน
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 5-6 พื้นที่บริเวณย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยเฉพาะ พื้นที่คลองสาน-ท่าดินแดงก็ยิ่งมีความเจริญรุ่งเรื่องทางด้านการค้ายิ่งขึ้น จากการพัฒนาสถานีรถไฟสายคลองสาน-มหาชัย เมื่อปี พ.ศ.2447 โดยมีสถานีรถไฟคลองสาน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากคลองสานเป็นสถานีต้นทาง สถานีรถไฟส่งผลท่าให้พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานี หรือท่าน้ำคลองสานในระยะเวลานั้นมีความคึกคักจากกิจกรรมการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของผู้คน สินค้า และการบริการ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการก่อสร้างและเปิดใช้ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ.2475 พบว่าการพึ่งพาระบบการขนส่งทางน้ำเพื่อการขนถ่ายสินค้า การบริการ และผู้คนจึงค่อยลดทอนบทบาทลง จนกระทั่งมีการยุติการให้บริการสถานีรถไฟคลองสานใน พ.ศ.2504
จากบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป ความรุ่งเรืองของย่านทั้งสองจึงค่อยลดน้อยลงตามลำดับ จุดศูนย์กลางของระบบกิจกรรมและความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการค้าย้ายตำแหน่งไปที่บริเวณวงเวียนใหญ่ แต่งสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในย่านกะดีจีน-คลองสาน คือ “มรดกวัฒนธรรม” ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ศาสนสถาน บ้านขุนนาง เจ้าสัว และบุคคลสำคัญ โกดังสินค้า ท่าเรือ ตลอดจนวิถีชีวิตของกลุ่มชนต่างศาสนา และชาติพันธุ์ที่ยังมีการสืบต่อเนื่องมาจวบจนทุกวันนี้ ย่านกะดีจีน-คลองสานในปัจจุบันจึงเปรียบเสมือน “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตของกรุงเทพฯ” ที่สะท้อนและถ่ายทอดเรื่องราวของจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของการตั้ง ถิ่นฐานของชาวกรุงเทพฯ ครั้งที่ยังสัมพันธ์กับการเดินทางและขนส่งทางน้ำในอดีต
กรุงเทพฯ 250 ปลุกย่าน ปั้นเมือง
โครงการกรุงเทพฯ 250 เป็นโครงการของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ในการดำเนินงานของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง มีวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพ ในวาระกรุงเทพฯ ครบ 250 ปี พ.ศ. 2575 โดยในการดำเนินโครงการนี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาวิสัยทัศน์ กรอบแนวทางการฟื้นฟูย่านเมืองเก่ากรุงเทพมหานครที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนระดับเมืองและระดับประเทศในอนาคต ผ่านการวิเคราะห์เทรนด์การใช้ชีวิตในเมือง การมองภาพอนาคต และกระบวนการวางแผนแบบร่วมหารือของคนหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ เติมเต็มกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร สู่เมืองน่าอยู่ หลากหลาย และเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับทุกคน
โครงการกรุงเทพฯ 250 ระยะที่ 1 ได้คัดเลือกพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นพื้นที่นำร่อง
เนื่องจากคลองสานมีศักยภาพสูงสุดในการเป็น “ย่านพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” (living museum) ของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันย่านจะเป็นที่รู้จักและมีนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มแวะเวียนมาเยี่ยมชมจำนวนมาก ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติ กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินเท้า จักรยาน เรือ หากแต่ชุมชนไม่สามารถใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมเหล่านั้นเพื่อการพัฒนาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อยกระดับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของตนได้ เนื่องจากการขาดการจัดการมรดกวัฒนธรรมและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีปัญหาที่สำคัญคือ การขาดพื้นที่ศูนย์กลางระดับย่าน ที่ทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของนักท่องเที่ยว ในการให้ข้อมูลและส่งต่อไปยังแหล่งมรดกวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่กระจายในย่าน
นำมาสู่ผลการขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูของย่านกะดีจีน-คลองสาน ดำเนินงานโดยใช้หลักคิดการมีส่วนร่วม ใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ในรูปแบบ “PPCP model” (public-private-community partnership) ที่ทุกองค์กรเป็นเสมือน “หุ้นส่วนการพัฒนา” ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งจากทั้งผู้แทนชุมชน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการประชุมชุมชนผ่าน กิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่าน กว่า 50 โครงการ นับตั้งแต่ พ.ศ.2552 รวมถึงการจัดตั้งองค์กรระดับชุมชน คือ มูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน – คลองสาน ซึ่งมีพันธกิจในการขับเคลื่อนชุมชน 4 ประการ ประกอบด้วย ระดมทุนเพื่อการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานในพื้นที่ประวัติศาสตร์ ประชาสัมพันธ์และสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน สร้างกองกำลังอนุรักษ์วัฒนธรรม และเป็นศูนย์รวมเครือข่ายศิลปินและช่างฝีมือเพื่อการอนุรักษ์ทุกแขนง
กลไกในการขับเคลื่อนอย่างเป็นองคาพยพ สามารถแบ่งข้อเสนอออกเป็น 3 ประการหลัก
- สร้างเครือข่ายของเครือข่ายเชื่อมโยงการพัฒนากับองค์ความรู้
- สร้างแพลตฟอร์มความรู้ย่าน
- สร้างพลเมืองหรืออาสาย่านด้านข้อมูลและความรู้
เมื่อชาวบ้านเป็นปราชญ์ ชุมชนก็คือมหาวิทยาลัยในย่าน
“เมืองแห่งการเรียนรู้คือเมืองที่มีการจัดบริหารการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับทุกคนในเมืองรวมทั้งมีกลไกและโครงสร้างทางสถาบันที่เอื้อให้องค์กรชุมชนและปัจเจกได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและจัดการความรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและการพัฒนาศักยภาพองค์กรและปัจเจกในระยะยาว”
ตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม “มหาลัยในย่าน” เป็นกระบวนการร่วมเรียนรู้การพัฒนาย่านบนฐานความรู้ของชาวชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เชี่ยวชาญ โดยมีบริบทการพัฒนา ทั้งศักยภาพ โอกาส และข้อจำกัด ของย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นกรณีศึกษาและดำเนินการ ซึ่งมีการดำเนินการตั้งแต่การจัดทำแบบสอบถามรวบรวมความคิดเห็นด้านการเรียนรู้และความสนใจของผู้คนในย่าน กิจกรรมพัฒนาหลักสูตรร่วมกับชาวย่านและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนดำเนินกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรมหาลัยในย่านกะดีจีน-คลองสาน
โดย พบว่า ประเด็นที่คนในพื้นที่ให้ความสนใจและสอดคล้องกับต้นทุนดั้งเดิมของย่าน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่
1. การพัฒนาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในพื้นที่ย่านคลองสาน โดยเฉพาะชุมชนช่างนาค-สะพานยาว และชุมชนสวนสมเด็จย่า ให้ความสนใจจากกิจกรรมสวนสานธารณะ ในการปรับปรุงพื้นที่ที่ทางกรุงเทพมหานคร ได้รับบริจาคจากภาคเอกชน ให้ใช้งานพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ บริเวณข้างโรงเกลือแหลมทอง สู่พื้นที่สาธารณะในระดับชุมชน ที่มีการริเริ่มดำเนินการโดยกลุ่ม we!park ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในช่วงปลาย พ.ศ. 2563
หลักสูตรการพัฒนาพื้นที่รอการพัฒนาสู่พื้นที่สวนสาธารณะ เป็นหลักสูตรร่วมเรียนรู้ในประเด็นการพัฒนาและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยมีพื้นที่สวนสานธารณะเป็นพื้นที่ศึกษา ผ่านการนำกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมและกระบวนการเรียนรู้ เข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่รอการพัฒนาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวย่านและชาวเมืองสามารถเข้ามาใช้งานได้ ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างคนในพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญ และลงมือปฏิบัติจริงตลอดหลักสูตร โดยมี 2 ประเด็นหลัก คือ
(1) แนวคิดการออกแบบพื้นที่สวนสานธารณะ ทั้งรูปแบบกิจกรรมและการออกแบบในพื้นที่ที่จะตอบรับกับผู้ใช้งานทั้งชาวย่านและชาวเมือง รวมถึงความเป็นไปได้และลำดับการพัฒนา
(2) การบริหารจัดการพื้นที่สวนสานธารณะ ทั้งบทบาทและความร่วมมือในการบริหารจัดการพื้นที่ระยะสั้น-ยาว การบริหารจัดการขยะในชุมชน
2. การอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านมรดกวัฒนธรรม เป็นประเด็นที่คนในพื้นที่ย่านกะดีจีนให้ความสนใจเรียนรู้ เนื่องจากเป็นย่านที่มีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง รวมถึงมีการรวมกลุ่มเครือข่ายทางด้านการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่สามารถต่อยอดผสานกับการพัฒนาเมือง
หลักสูตรผู้จัดการมรดก (ทางวัฒนธรรม) ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นหลักสูตรร่วมเรียนรู้ในประเด็นการฟื้นฟู พัฒนา และต่อยอดมรดกวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ อาทิ ศาสนสถาน สูตรอาหาร และผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่มีคุณค่าของย่านกะดีจีน ผ่านกระบวนการร่วมเรียนรู้ เข้ามาช่วยวิเคราะห์และออกแบบการจัดเก็บองค์ความรู้หรืออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในย่าน ที่เริ่มเลือนหายตามกาลเวลา ตลอดจนต่อยอดมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ไปสู่การพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างคนในพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญ และคนนอกพื้นที่ โดยการเรียนรู้ในหลักสูตรมี 3 ประเด็นหลัก คือ
(1) แนวทางการประเมินและการจัดการกับมรดกวัฒนธรรม
(2) การจัดการองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายในตัวบุคคลและตามมรดกวัฒนธรรมทั่วย่าน ให้ถูกจัดเก็บในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย
(3) แนวทางการต่อยอดทุนทางมรดกวัฒนธรรมไปสู่การพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน
นัดมาเจอกัน ทำกิจกรรมเพลินๆ ที่ “สวนสานธารณะ”
กิจกรรมศิลป์ในซอย เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มดำเนินการผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคการศึกษา ภาคชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน มาตั้งแต่ พ.ศ.2551 ถือเป็นตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์จากต้นทุนทางมรดกวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นของพื้นที่ ที่นอกจากจะช่วยฟื้นฟูและพัฒนาย่านผ่านการนำศิลปะและแสงไฟมาสร้างความหมายใหม่ให้แก่มรดกวัฒนธรรมของย่านแล้ว ยังสามารถสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในวงกว้าง เพื่อให้องค์กร หน่วยงาน และประชาชนเห็นคุณค่าของการสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรม โครงการศิลป์ในซอยจึงมีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาโดยมีชุมชนเป็นฐาน (community-based development) ที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยเปิดโอกาสให้ชาวชุมชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการ อันจะเป็นส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดการฟื้นฟูเมือง เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม ที่ผ่านที่สวนสานธารณะ และพื้นที่ย่านคลองสาน-กะดีจีน มีการจัดกิจกรรม ‘ศิลป์ในซอย ครั้งที่ 7 : แสง-สี-ศิลป์ เชื่อมย่าน เชื่อมการเรียนรู้ เชื่อมเศรษฐกิจชุมชน’ โดยทั้ง 10 กิจกรรม ที่จัดขึ้นเสิร์ฟเรื่องราวในย่าน พร้อมองค์ความรู้พัฒนาศักยภาพของตัวเองด้านต่างๆ และเพลิดเพลินไปกับงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เช่น งานศิลปะและแสงไฟ เดินเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรม กิจกรรมสร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมของย่าน การทดลองทำปุ๋ยจากขยะใบไม้และขยะในครัวเรือน ฟังเสียงเพลงเพราะๆ และชมการแสดงโดยศิลปินในย่านและเครือข่ายศิลปิน
ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า การพัฒนาย่านคลองสาน-กะดีจีน ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีโครงการนำร่อง 2 โครงการ หนึ่งคือ ‘สวนสานธารณะ’ โดยความร่วมมือของ we! park กทม. Big Trees Project สมาคมรุกขกรรมไทย และชุมชน ส่วนอีกโครงการคือ ‘ผู้จัดการมรดก’ โดยความร่วมมือกับทีมปั้นเมือง ชุมชนตลาดน้อย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ขับเคลื่อนนำความรู้ด้านมรดกวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
“เพื่อให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ เราพยายามที่จะให้เมืองสามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้ โดยพบว่า เมื่อคนมีความต้องการความรู้ ตอบคำถามข้อสงสัยบางอย่าง เมืองจะต้องสนับสนุนให้คนเข้าถึงความรู้นั้นได้ และเราค้นพบว่าเมืองมีความรู้มากมายที่ฝังอยู่กับคน องค์กร สถานที่ แต่เราจะเชื่อมโยงคุณค่าเหล่านี้ได้อย่างไร? โดยย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นย่านที่มีความพร้อม ทั้งด้านกายภาพ คือมีสถานเรียนรู้หนาแน่นเป็นอันดับ 2 ของประเทศ แต่ต้องมีการส่งเสริมเรื่องการเดินทางด้วยเท้าต่อไป เพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้น”
ผศ.นิรมล เสรีสกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องเร่งด่วนที่ชุมชนต้องการคือการมีพื้นที่สาธารณะสีเขียว และเชื่อมโยงการการสนับสนุนอาชีพ นำมาสู่การสร้าง “สวนสานธารณะ” แต่เนื่องจากการปรับปรุงพื้นที่มีความท้าทาย ทั้งการจัดการพื้นที่จากเดิมซึ่งรกร้าง มีขยะมากมาย ใช้เวลาขับเคลื่อนตลอดทั้งกระบวนการ ราวๆ 8 ปี
“จากนี้การขับเคลื่อนให้มีการทำแผนผังในระดับย่าน ทั้งเรื่องคน และย่านมีความสำคัญ จะเป็นต้นทุนให้การพัฒนาสามารถเดินหน้าต่อ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่อยากจะให้ความสำคัญกับนโยบายเส้นเลือดฝอย เชื่อมโยงกัน”