เมื่อ “มโนธรรม” ไม่อาจคัดง้าง “โครงสร้าง” องค์กร (ตำรวจ)

: อะไรคือจุดยุติความรุนแรง?

เหตุการณ์เผชิญหน้า ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ “แยกดินแดง” ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และทวีความรุนแรง

การเจรจา…

รถฉีดน้ำแรงดันสูง…

แก๊สน้ำตา…

จนถึงการใช้ “กระสุนยาง” ในปัจจุบัน ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า การยกระดับมาตรการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ และการกระทำของผู้ชุมนุม ที่ถูกเรียกกว่า “ผู้ชุมนุมอิสระ” จะรุนแรงมากขึ้นอีกเพียงใด

แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์แต่ละครั้ง ทั้งตำรวจและผู้ชุมนุม…จำนวนไม่น้อย

The Active คุยกับ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ISEAS-Yusof Ishak Institute ซึ่งติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ร่วมแสดงความเห็นในฐานะนัก “สันติศึกษา” เพื่อหาทางออกให้กับสังคม

แฟ้มภาพ: ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

การปะทุของอารมณ์ ภายใต้วิกฤตซ้อนทับ ที่ไม่คลี่คลาย

ดร.จันจิรา กล่าวว่า วิกฤตที่ประเทศไทยกำลังเผชิญนั้น ไม่ใช่เพียงวิกฤตด้านการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงด้านเศรษฐกิจ การปกครอง การบังคับใช้กฎหมาย การคอร์รัปชัน ตลอดจนวิกฤตศรัทธาต่อผู้นำประเทศ วิกฤตทั้งหลายถูกสะสมมานานหลายปี โดยไม่ได้รับการคลี่คลาย และขาดกลไกในการรับฟังปัญหาเหล่านี้

อารมณ์ที่เกิดขึ้นของผู้ชุมนุมบนท้องถนน จึงเต็มไปด้วยความอัดอั้นตันใจ ความโกรธที่เสียงเรียกร้องของเขาไม่เคยได้รับการตอบสนอง วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งอารมณ์ให้รุนแรงมากขึ้น นำปัญหาทุกอย่างมาเปิดเผยให้ชัดขึ้นในการชุมนุม ซึ่งไม่ใช่มีแค่ประเด็นทางการเมือง ยังรวมไปถึงการเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ การแก้ปัญหาเพียงการล็อกดาวน์อย่างเดียว แต่กลับขาดการแก้ปัญหาในระยะยาว

“ปัญหาที่ทับถมกันมานาน ปกติควรจะมีกลไกรัฐในการแก้ปัญหา แต่ตอนนี้ทำงานไม่เหมือนเดิม แต่เสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหาเหล่านั้นกลับถูกโต้กลับด้วยความรุนแรง”

“กลไกการใช้กำลัง” กำลังทำให้ความเดือดร้อนนั้นหนักขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาที่ประชาชนเผชิญมาตลอดระยะเวลาหลายปีไม่ได้ จะยิ่งสร้างความขัดแย้งให้ถลำลึกลงไป กลายเป็นความตึงเครียด ที่ถูกแสดงออกอย่างรุนแรงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

กลไกแก้ไขปัญหาของรัฐหายไปไหน ?

ดร.จันจิรา เปรียบเทียบเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน กับการชุมนุมประท้วงของประเทศไทย “ยุคพฤษภาทมิฬ” ในปี พ.ศ. 2535 ว่า มีความแตกต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลไกของรัฐ” แม้การเผชิญหน้าในการควบคุมการชุมนุมจะเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีเพียงแค่กลไกเดียว ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ ประสานงานเจรจา เพื่อหาทางออกของความขัดแย้ง การนำเรื่องเข้าไปพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎร จึงเกิดคำถามว่า กลไกเหล่านั้นหายไปไหนในยุคปัจจุบัน ?

กลไกที่ควรเป็นที่พึ่งของประชาชนในการรับฟังปัญหา กลับหายไป เหลือเพียงความรุนแรงที่รัฐมอบให้ จึงเป็นสิ่งที่ ดร.จันจิรา ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หรือรัฐบาลจะเหลือเพียง “การใช้ความรุนแรง” ที่ยังมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะในทางการเมือง กลไกในการปกครองของรัฐนั้นมีหลากหลาย ทั้งความรักของประชาชน หรือการใช้องค์กรของรัฐแก้ปัญหา ไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่

จึงกลายมาเป็นความกังวลที่สำคัญ “เมื่อกลไกที่ควรรับฟัง กลับไม่ฟัง” ดร.จันจิรา กล่าวว่า ความขัดแย้งตอนนี้ เหมือนคนสองคนพูดสวนทางกัน ขาดเครื่องมือในการรับฟัง เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง เพราะปัญหาย่อมไม่ได้รับการแก้ไข

การใช้กำลังของ “เจ้าหน้าที่” หลักการสากล หรือ นายสั่งมา ?

ดร.จันจิรา อธิบายถึงหลักการสำคัญของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมผู้ชุมนุม และการใช้อาวุธโต้กลับผู้ชุมนุม ต้องประกอบไปด้วยหลักการใหญ่ ๆ สองข้อ คือ (1) ต้องมีเหตุควรเชื่อได้ว่าผู้ชุมนุมนั้นกำลังใช้ความรุนแรงถึงขั้นการก่อจราจล ที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่หรือประชาชนได้รับอันตราย ซึ่งกรณีดังกล่าว “เหตุจากผู้ชุมนุม” ที่เกิดขึ้น ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องใช้กำลังเข้าสลาย ยกตัวอย่างเช่น การพ่นสี หรือเทสีใส่สถานที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ตำรวจจะได้รับบาดเจ็บ เพราะฉะนั้น การตั้งกองกำลังเข้าควบคุม จึงไม่ถูกต้อง

(2) ต้องใช้กำลังอย่างเหมาะสม หรือ ไม่ถึงแก่ชีวิต (non lethal) เมื่อพูดถึงการใช้อาวุธโต้กลับผู้ชุมนุม จึงต้องเป็นไปตามหลักดังกล่าวที่ไม่ก่ออันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง หมายถึง ไม่ควรเล็งไปที่ใบหน้า ศีรษะ หรือไม่ควรเล็งไปที่ผู้ชุมนุมเด็ดขาด การไม่ยิงลงมาจากที่สูง หรือยิงมาจากจุดลับสายตา และจุดกำบัง ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ดังนั้น เมื่อมีผู้ที่บาดเจ็บสาหัสเกิดขึ้น จึงต้องพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่กำลังใช้อาวุธที่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ไปในทางที่อาจทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่

CNBC

ดร.จันจิรา กล่าวต่อว่า ยังไม่รวมถึงกรณีที่ความรุนแรงดังกล่าว เกิดขึ้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่เอง โดยบุกเข้าจู่โจมก่อนที่ยังไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะไม่สามารถควบคุมฝูงชนไว้ได้แล้ว อีกทั้งการใช้กำลังโดย “ไม่เลือกกลุ่มคน” ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีสื่อมวลชน บุคคลทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับบาดเจ็บอีกด้วย

ในฐานะที่ตนทำวิจัยเรื่องการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด ในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเมื่อปี พ.ศ. 2557 นั้นพบว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ “ไม่รุนแรงเท่านี้” แม้ว่าจะมีการใช้กำลัง แต่มีหลักการบางอย่างที่ควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนมากเกินไป จึงตั้งข้อสังเกตว่าการที่เจ้าหน้าที่กระทำไปโดยไม่ลังเลนั้น เพราะได้รับ “ใบสั่ง” ให้ทำได้ใช่หรือไม่

ข้อสังเกตอีกประการที่สำคัญของ ดร.จันจิรา คือ ความอดทนของเจ้าหน้าที่ ในการควบคุมฝูงชน ที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ว่าการเผชิญหน้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกลุ่มผู้ชุมนุม สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ อุปกรณ์ป้องกันตัว ซึ่งฝ่ายตำรวจย่อมมีมากกว่า จึงควรเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ตำรวจทำงานในเชิงตั้งรับได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่า ถูกประชาชนทำร้ายก่อน จึงตอบโต้กลับไป นั้น ดร.จันจิรามองว่า ไม่ถูกต้อง

“การใช้กำลังโดยไม่คำนึงถึงชีวิตและหลักการสากล มันทำให้ศักดิ์ศรี ความชอบธรรมขององค์กรตำรวจลดหายไป ถ้าตำรวจไม่เคารพหลักกฎหมาย ไม่เคารพหลักสากลเสียเอง แล้วจะหวังให้ประชาชนเคารพหลักการเหล่านั้นได้อย่างไร”

แฟ้มภาพ: ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

เมื่อ “มโนธรรม” ไม่อาจคัดง้าง “โครงสร้าง” ขององค์กร

เมื่อถามว่า เราคาดหวังการปฏิบัติที่ไม่ใช้ความรุนแรงจากตำรวจโดยส่วนตัวได้หรือไม่ ดร.จันจิรา กล่าวว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับคำสั่งซึ่งตนไม่เห็นด้วยมาก ๆ จะทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า สิ่งที่ตนทำนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ จะตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม โดยโครงสร้างองค์กรแบบบังคับบัญชาของตำรวจนั้น จึงยากที่ความรู้สึกส่วนตัวของตน จะสามารถอยู่เหนือคำสั่ง หรือโครงสร้างอำนาจภายในได้

“เนื่องจากตำรวจ เป็นองค์กรที่มีคำสั่งจากสูง ลงต่ำ เพราะฉะนั้น มโนธรรมสำนึกของปัจเจกบุคคล ก็ไม่สามารถคัดง้างกับโครงสร้างได้”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย

ดร.จันจิรา กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรแบบนี้ คนในองค์กรจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย และสิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือผู้นำในองค์กรกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความคิดอยากเปลี่ยนแปลง จะต้องมีบทบาทสำคัญ ไม่ใช่ระดับผู้ปฏิบัติที่จะสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันเราเห็นอดีตผู้บังคับบัญชา หรือนายตำรวจเก่า ๆ ก็ออกมาส่งเสียงไม่เห็นด้วยดังกล่าว จึงเป็นคำถามสำคัญขององค์กรว่า จะสร้างภาพจำขององค์กรจากนี้ และในอนาคตอย่างไร

“สันติวิธี” ของผู้ชุมนุม คือ ตัวแปรสำคัญ ที่อาจเกิดได้ด้วย “แกนนำ”

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ใช่ผู้ชุมนุมทั้งหมดที่ดำเนินการต่อสู้ตามแนวทาง “สันติวิธี” มีบางส่วนซึ่งไม่นำพาต่อแนวทางนั้นเช่นกัน พฤติกรรมมุทะลุ เดินหน้าเข้าไปสู่พื้นที่หวงกั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กำหนดเอาไว้ การทำลายข้าวของและทรัพย์สินของทางราชการยังคงเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง ซึ่งสิ่งนี้เองถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่า การชุมนุมนั้นจะได้รับการยอมรับของสาธารณะ หรือไปสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่กันแน่

ดร.จันจิรา ยกฐานข้อมูลของ The Armed Conflict Location & Event Data Project ซึ่งติดตามการชุมนุมและกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งในช่วงระยะหลังมานี้ พบว่าการชุมนุมในประเทศไทยนั้น “การชุมนุมแบบสันติ” มีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้น ในขณะที่ “การก่อจราจล” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาเลยในช่วงระยะเวลาเดียวกัน สิ่งนี้สะท้อนว่าโดยธรรมชาติของการชุมนุมในปัจจุบันของประเทศไทย แทบทั้งหมดเป็นการชุมนุมโดยสันติ

The Armed Conflict Location & Event Data Project

“ภาพลักษณ์ของผู้ชุมนุม” ดร.จันจิรา มองว่า เป็นสิ่งที่ต่อสู้กันอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีเพียงแค่บางส่วนที่อาจก่อความวุ่นวาย แต่ก็อาจถูกสื่อออกไปให้เห็นภาพลักษณ์ที่รุนแรงได้ เพราะฉะนั้นกลไกในการควบคุมระเบียบวินัยของผู้ชุมนุม จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยพัฒนาการที่สำคัญของการชุมนุมในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดนั้น คือการมี “แกนนำ”

คุณสมบัติของแกนนำ ที่สำคัญและสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ดร.จันจิรา มองว่า “ต้องเข้าใจการเมืองและปฏิบัติการสันติวิธี” คือต้องมองสถานการณ์ของขั้วอำนาจในปัจจุบันให้ออก และสามารถตั้งข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนสมการทางการเมืองอย่างมีเป้าหมายได้ โดยอยู่ภายใต้วิธีการและกระบวนการ “สันติวิธี” นั่นเอง

“รัฐบาล” คือคู่กรณีโดยตรง ต้องเปิดใจ รับฟัง และหยุดใช้ความรุนแรง

“รัฐบาล คือ คู่กรณีโดยตรง ตำรวจไม่ใช่คู่กรณี เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ไปสู่รัฐบาล รัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก หากรับฟังความเดือดร้อนของคน แทนที่จะโทษว่าทั้งหมดนี้คือความผิดของประชาชน”

ดร.จันจิรา กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤตนี้ โดยบทบาทสำคัญ 3 ข้อที่อาจบรรเทาความโกรธของสังคมในเวลานี้ลงได้ (1) การยอมรับผิดและขอโทษ เพราะในความเป็นจริงเราพบว่าวิกฤตโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ หนึ่งในสาเหตุก็มาจากคนภายใน และประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาล เพียงการขอโทษอาจทำให้ความโกรธของสังคมลดลงได้ (2) เปิดทางให้ผู้อื่นแก้ไขปัญหา ถือเป็นการยอมรับความจริง เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถเข้ามารับมือกับปัญหาที่เผชิญอยู่ และ (3) หยุดใช้กำลังทันที เพราะเมื่อท่าที่ของเจ้าหน้าที่ดำเนินไปด้วยความเป็นมิตร ต่อผู้ชุมนุมมากกว่านี้ ประชาชนจะเห็นรัฐเป็นที่พึ่ง เพราะไม่มีใครอยากเห็นรัฐล่มสลาย

และรัฐต้องไม่มองว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่นี้เป็นเพียง “เรื่องเล็ก” เพราะหากการรับมือต่อผู้ชุมนุมยังคงใช้ความรุนแรง แล้วมองว่าสักวันหนึ่งผู้ชุมนุมจะหยุดไปเองนั้น เป็นสิ่งที่เราพิสูจน์กันมาเสมอว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะการปราบปรามแต่ละครั้ง จำนวนผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ลดลง เราจึงต้องมองลงไปให้ลึกถึงความต้องการของผู้ชุมนุม “รัฐบาลต้องเปิดใจ รับฟัง และไม่ใช้ตำรวจในทางที่ผิด”

“การใช้กำลังขนาดนี้ ไม่เพียงแต่จะหยุดการชุมนุมไม่ได้ แต่มันจะทำให้วิกฤตครั้งนี้ไปสู่จุดที่ไม่มีวันหวนกลับ เราจะเห็นประเทศลุกเป็นไฟ “

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์