หยุดกีดกัน HIV จากที่ทำงาน

หยุด บังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวี
หยุด ใช้เอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการทำงาน
หยุด ตีตราและเลือกปฏิบัติ

ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 กำหนดเป้าหมายว่าจะต้องลดการรังเกียจ การเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวกับเอดส์ และเพศภาวะ ให้ได้ 90% ภายในปี พ.ศ.2573 และประเทศไทยยังได้เข้าร่วมโครงการ “ทั่วโลกสานพลังเพื่อดำเนินการขจัดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวกับเอชไอวีทุกรูปแบบ” ตามคำเชิญของ UNAIDS และแม้ว่ากระทรวงแรงงานจะประกาศกฎกระทรวง เรื่องการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ แล้วก็ตามแต่ยังพบว่าในสถานประกอบการหลายแห่งมีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะกับผู้มีเชื้อ HIV

ซึ่งเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญของไทย เนื่องในวันที่ 1 มีนาคม วันขจัดการเลือกปฏิบัติสากล เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ UNAIDS กรมควบคุมโรค กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และภาคี จึงร่วมกันจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาเครือข่ายยุติการตีตรา และเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีเอดส์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เมื่อสังคม ยังคงตีตรา และเลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อ HIV

ไพลิน ดวงมาลา ผู้จัดการฝ่ายโครงการ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ รายงานสถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์ ในสถานประกอบกิจการ (Stigma Index) โดยมีการเก็บสำรวจความคิดเห็นของคนทั่วไปในวัยแรงงาน 3,514 คน พบว่า

สถานประกอบการมีการกำหนดให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวีในการตรวจสุขภาพประจำปี 7.92%
สถานประกอบการมีการแอบตรวจหาเชื้อเอชไอวีพนักงาน 1.63%
สถานประกอบการมีบริการ/สวัสดิการให้ชุดตรวจเอชไอวี (HIV Self-Test) แก่พนักงาน เพียง 2.51%

สะท้อนว่า ยังมีมุมมองทัศนคติว่าผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ควรทำงานได้ทุกประเภท สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีเงื่อนไข หรือต้องแสดงหลักฐานการตรวจ HIV ก่อนเข้าสมัครงาน แต่ยังมีบางส่วนที่ใช้ผล HIV เป็นเงื่อนไข และมีการอ้างเหตุผลจาก HIV ในการเลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน (ทั้งนี้การสำรวจเป็นเพียงสถานการณ์ จำเป็นต้องดูข้อมูลนเชิงลึกในแต่ละองค์กรถึงสาเหตุ หรือปัจจัยที่มีการตีตรา และเลือกปฏิบัติในรายละเอียด)

ณชา อบอุ่น มูลนิธิเครือข่ายเยาวชนลิตเติ้ลเบิร์ด เล่าว่า แม้การพบเชื้อ HIV จะสามารถรักษาได้ แต่สังคมยังคงเลือกปฏิบัติกับผู้มีเชื้ออย่างไม่เป็นธรรม เด็กที่มีเชื้อ HIV ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความยากลำบาก ถูกสังคมตีตรา แสดงความรังเกียจ ถูกกีดกันจากสถานศึกษา ทำให้เด็กที่มีเชื้อหลายคนต้องขาดโอกาสทางการศึกษา ถูกจำกัดพื้นที่ใช้ชีวิต ถูกจับให้ต้องแยกตัวออกห่างจากคนอื่น เมื่อโตขึ้นแล้ว หลายคนเรียนจบปริญญาตรี มีศักยภาพในการทำงาน แต่ยังมีสถานประกอบการหลายแห่งที่นำผลการตรวจหาเชื้อ HIV เป็นเงื่อนไขในการสมัครงาน การเลือกปฏิบัติเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เธอมองว่ายอมไม่ได้

“วันนี้ขอเป็นตัวแทนของผู้ติดเชื้อทุกคน เพื่อบอกว่าพวกเรามีศักยภาพที่จะทำงาน มีความรู้ความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศนี้ อยากให้วันนี้มองใหม่ อยากให้ทุกคนจำภาพว่า ผู้ติดเชื้อคือคนที่มีคุณค่าไม่ต่างจากคนอื่น ที่ผ่านมาหลายคนเรียนจบปริญญาตรีในคณะต่าง ๆ สาขาต่าง ๆ กัน แต่เมื่อยื่นใบสมัครงาน สัมภาษณ์ผ่าน ได้รับยูนิฟอร์มแล้ว แต่เมื่อบริษัทส่งไปตรวจสุขภาพ ตอนที่ให้ไปตรวจ ดูใบตรวจไม่ระบุว่ามีการตรวจหาเชื้อ HIV เราก็รู้สึกสบายใจ เตรียมตัวไปตรวจ และพร้อมที่จะไปทำงาน แต่เมื่อผลการตรวจออกมา พบว่ามีรายงานพบเชื้อ HIV ไม่ถึงสิบนาที บริษัทแจ้งกลับมาว่าไม่สามารถรับทำงานได้แล้ว ทำไมถึงใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขในการทำงาน ทั้งที่ตำแหน่งงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินชีวิต เรารับประทานยาต่อเนื่อง ดูแลตัวเอง ใช้ชีวิตเหมือนทุกคน แล้วทำไมพวกเราถึงถูกทำแบบนี้ หลายคนพ่อแม่ตายไปกับเชื้อ HIV แล้ว ถ้าสังคมยังไม่ให้โอกาส เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ไม่มีงาน ไม่มีเงิน จะทำยังไงที่สังคมจะมองกันและกันมากขึ้น”

ณชา อบอุ่น มูลนิธิเครือข่ายเยาวชนลิตเติ้ลเบิร์ด

ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือด = ไม่ส่งต่อเชื้อ

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร IHRI กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สามารถช่วยให้ผู้มีเชื้อ HIV สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนทั่วไป แต่ทัศนคติที่ล้าหลังให้คนเลือกปฏิบัติต่อกัน พร้อมชวนทำความเข้าใจเรื่องนี้ผ่าน แนวคิด U=U

U=U : Undetecable = Untransmittable
U ที่ 1 คือ UNDETECABLE แปลว่า ไม่สามารถตรวจเจอเชื้อ
U ที่ 2 คือ UNTRANSMITTABLE แปลว่า ไม่สามารถแพร่เชื้อ หรือไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อ
U=U เมื่อตรวจไม่เจอเชื้อไวรัสหรือไวรัลโหลดในเลือด เท่ากับว่าไม่ถ่ายทอดเชื้อให้ใครได้

ความรู้นี้เป็นที่ประจักษ์ทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2000 กระทั่งปี 2008 ที่ประชุมของประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีแนวทางที่จะประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ว่าผู้ติดเชื้อที่กินยาต้านไวรัส จนตรวจไม่พบเชื้อจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ใครได้ สามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้โดยที่คู่ไม่ติดเชื้อ และสามารถมีลูกได้ แต่ในช่วงแรก ๆ สังคมยังไม่ยอมรับในเรื่องนี้ กระทั่งเกิดการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนมากขึ้น

“มี 3 การศึกษา ที่เชิญคนผลเลือดต่างกัน ฝ่ายหนึ่งผลเลือดบวก อีกฝ่ายผลเลือดลบเข้าสู่โครงการศึกษาวิจัย รวม 3,000 คู่ และติดตามพฤติกรรม พบว่าบางท่านใส่ถุงยางอนามัยในตอนมีเพศสัมพันธ์ บางท่านก็ไม่ใส่ โดยมีการเก็บข้อมูลว่าในกรณีที่คู่นอนตรวจไม่พบเชื้อแล้วไม่ใส่ถุงยางอนามัย มีการถ่ายทอดเชื้อไหม ซึ่งพบว่ามีการไม่ใช่ถุงยางอนามัยตอนมีเพศสัมพันธ์ราว ๆ 130,000 คน แต่ไม่มีใครส่งต่อเชื้อเลยสักคนเดียว ดังนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อโอกาสถ่ายทอดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ถือว่าเป็นศูนย์ พูดได้เต็มปากเต็มคำเลยนะว่าถ้า U ที่ 1 คือไม่มีเชื้อ U ที่ 2 เกิดขึ้นทันทีคือไม่ถ่ายทอดเชื้อ”

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร IHRI

ผู้อำนวยการบริหาร IHRI เล่าต่อว่า ภายหลังที่ข้อมูลการศึกษาเผยแพร่ และผู้มีเชื้อคนหนึ่งได้ทราบเรื่องเขาก็ถามกับแพทย์เจ้าของไข้ว่า นี่คือเรื่องจริงหรือไม่แล้วทำไมไม่บอกเขา ปล่อยให้เขาต้องทนทุกข์ทรมานกับการที่คิดว่าตัวเองเป็นตัวแพร่เชื้อเพื่ออะไร เพราะเรื่องนี้เปลี่ยนชีวิตของเขาเลย แต่หลักการ U=U ก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนไม่ต้องใช้ถุงยาง แต่บอกว่าถ้ากดเชื้อลงได้ แล้วสามารถตัดสินใจ มีทางเลือกในชีวิตได้ว่าเขาจะใช้หรือไม่ใช้ถุงยาง บางคนอาจจะใช้ถุงยางด้วยเหตุผลว่า ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ก็ได้ แต่ไม่ใช่ถูกบังคับจากสังคมว่าต้องใส่ถุงยางทุกครั้งที่มีเซ็กส์ หรือห้ามมีเซ็กส์นะ ความคิดแบบนั้นเป็นเรื่องล้าหลังไปแล้ว

ซึ่งขณะนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังจะออกประกาศเรื่องการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก สามารถยับยั้งได้ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยก็มีความก้าวหน้าเรื่องนี้มากคาดว่าเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ที่สามารถทำได้ ชัดเจนว่าถ้าได้รับการรักษา กินยาต้านไวรัส กดเชื้อให้ต่ำแล้วไม่ว่าจะถ่ายทอดทางไหนก็ทำไม่ได้

‘ถ้าหากกดเชื้อได้ตลอดตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์จนคลอดได้ โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อก็เป็นศูนย์
เราอยากจะบอกว่า U=U ไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กส์แต่เป็นเรื่องที่กว้างกว่านั้น

แปลว่าการใช้ชีวิตทั่วไป ในการทำงาน ในการใช้ชีวิต ในการเรียนขับรถ มันจะไปติดเชื้อต่อกันได้อย่างไร’

ด้วยองค์ความรู้ว่าใครที่ติดเชื้อ HIV และได้รับการรักษากินยาต้านไวรัสจนตรวจไม่เจอเชื้อในเลือด หรือเรียกว่าไม่เจอไวรัลโหลดก็จะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ใครได้ไม่ว่าจะทางไหน ดังนั้นหากมีความกังวลเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันไม่ว่าจะในโรงเรียน ที่ทำงาน หรือในสังคมว่าจะมีการติดเชื้อกันได้ไหม และมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ มันควรจะจบสิ้นกันแล้ว เราควรจะใช้ความรู้ที่ทำงานสร้างคำว่า U=U มาตอบขจัดความกลัวตรงนี้ เรื่องที่สองเมื่อไหร่ก็ตามที่เขากินยาแล้ว นอกจากไม่ถ่ายทอดเชื้อเขาก็มีสุขภาพที่ดีได้ มีอายุที่ยืนยาวได้ ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป มีความหวัง ความฝัน ครอบครัวได้เหมือนกันเลย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะใช้ผลเลือดมาใช้ตัดสินว่าใครสามารถหรือไม่สามารถจะทำงานที่ไหน เรียนที่ไหนได้ หรือใครจะต้องตรวจร่างกายเพื่อที่จะถูกคัดออก เพราะคนที่มีเชื้อ HIV สามารถทำงานได้ทุกตำแหน่งทุกระดับ ไม่มีหลักฐานไหนที่บอกว่าจะต้องเป็นแบบนั้นเลย

“เราต้องยึดหลักที่ว่า ทุกคนต้องการที่จะดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเชื่อมั่นในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเราควรจะก้าวข้ามอคตินำมาเลือกปฏิบัติ ถ้าเราก็ป้องกันตัวเองดีเราก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล”

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร IHRI
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร IHRI

จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อํานวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ความเข้าใจต่อเชื้อ HIV ในประเทศไทยยังน้อยมาก ควรจะมีกระบวนการที่ช่วยสร้างความเข้าใจตรงนี้ เพราะเราคิดว่าทุกคนถ้ามีศักยภาพในการทำงานก็ควรที่จะได้ทำงาน ทางออกสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผู้ติดเชื้อเองรู้ว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียงที่จะทำงานได้ถ้าตัวเองมีศักยภาพ และหากถูกละเมิดก็ควรจะรู้ว่านั่นคือการละเมิดซึ่งจะทำไม่ได้และมีช่องทางในการร้องเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ

เพื่อสร้างความเข้าใจและบรรเทาสถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจาก HIV มูลนิธิศูนย์คุ้มครองด้านเอดส์ มีข้อเสนอแนวปฏิบัติในสถานประกอบกิจการ ดังนี้

  1. ควรมีการสื่อสารและรณรงค์เรื่อง HIV ในสถานประกอบการและพนักงานอยู่เป็นประจำ
  2. ควรมีการอบรมสร้างความเข้าใจ องค์ความรู้ใหม่ เครื่องมือใหม่ ๆ เช่น U=U Self Test ให้กับผู้นำสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง
  3. สถานประกอบการที่ไม่มีการตรวจ ควรประกาศชัดเจนเพื่อเป็นแนวร่วม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคม เป็นการสร้างคุณค่าให้หน่วยงานและสร้างพลังให้กับผู้มี HIV
  4. ใช้บทบาทกลไกของสหภาพในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานประกอบการที่ยังมีเงื่อนไขการเลือกปฏิบัติจากกรณี HIV
  5. ควรมีการประกาศยกเลิกการตรวจหา HIV ก่อนเข้าหรือระหว่างทำงาน
  6. ควรมีนโยบายหรือมาตรการที่คุ้มครองสิทธิของผู้สมัครงาน ผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล

“สิ่งสำคัญคือนโยบายของสถานประกอบการเองต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องที่เชยและล้าสมัยและเป็นการละเมิดสิทธิอย่างชัดเจน สิ่งที่สถานประกอบการควรจะทำคือการเคารพสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ ทั้งเรื่อง HIV ความหลากหลายทางเพศ ความพิการ เราคิดว่ากระทรวงแรงงานเองต้องดำเนินการ และกระทรวงสาธารณสุขต้องเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงที่มันไปไกลมากแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้ว HIV ทุกวันนี้ไม่ได้ต่างจากผู้ไม่ติดเชื้อ หลักการ U=U ย้ำชัดเจนแล้วว่า เราสามารถเรียนด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ใช้ชีวิตด้วยกันได้ ไม่มีทางติดเชื้อแน่นอน เพราะขนาดมีเซ็กส์กับผู้ตรวจไม่พบเชื้อยังไม่ติดเชื้อเลย จึงไม่ควรเป็นเรื่องที่จะนำมาเป็นเงื่อนไขแต่อย่างใด”

จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อํานวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อํานวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

ตั้งเงื่อนไขตรวจ HIV = ละเมิดสิทธิมนุษยชน

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เรื่องของการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล ถือว่าเป็นหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน และสิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งปรากฏอยู่ในทั้งกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยให้การรับรองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งในกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นและจะต้องมีการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ในกรณีของการบังคับตรวจ HIV หรือมาสร้างเงื่อนไขว่าต้องตรวจ HIV แล้วแสดงผล เพื่อที่จะประกอบการพิจารณารับเข้าทำงาน ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรามีการวินิจฉัยที่ชัดเจนว่า การทำแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ซึ่งกระทำไม่ได้

โดยเรามีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่กำกับดูแลสถานพยาบาลที่รับตรวจหาเชื้อ HIV ทั้งรัฐและเอกชน ว่าต้องมีมาตรการที่จะห้ามไม่ให้มีการตรวจในกรณีที่จะใช้เป็นเงื่อนไขในการทำงาน ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคได้มีการรับปากว่าจะนำกลับไปทำหนังสือเพื่อขอความร่วมมือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนในการยุติปัญหาเอดส์ร่วมกันในการไม่รับตรวจหรือเสนอแพ็กเกจในการตรวจสุขภาพให้กับสถานประกอบกิจการ

ทั้งยังเสนอไปที่กระทรวงแรงงาน ในฐานะที่ดูแลเรื่องสิทธิแรงงานว่าต้องมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้ แม้ว่าวันนี้จะมีประกาศของกระทรวงแรงงานแต่มีสถานภาพเป็นแค่การขอความร่วมมือไม่ใช่ภาคบังคับทางกฎหมาย ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่กระทรวงแรงงานดูแลอยู่เพื่อให้คุ้มครองคนสมัครงานมากขึ้นไม่ให้ถูกบังคับตรวจหาเชื้อ HIV

รวมทั้งยังมีข้อเสนอไปถึงกระทรวงยุติธรรมในการเร่งดำเนินการเสนอร่างขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลต่อคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่การพิจารณาของสภาให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีหลักประกันในเรื่องนี้ และมีข้อเสนอถึงทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง ฯลฯ ร่วมกันรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นเรื่อง HIV ให้มากขึ้น เพื่อให้ทันกับข้อมูลที่ทันสมัยกว่าเดิม

แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ เนื่องในวันยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติสากล

เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ UNAIDS กรมควบคุมโรค กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และภาคี ร่วมกันประกาศแถลงการณ์ เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล โดยมีเนื้อหาดังนี้…

ประเทศไทยจะ “ไม่สามารถยุติเอชไอวี” ได้ภายในปี 2573 อย่างแน่นอน หากไม่ยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เพราะประเทศไทยขาดความรู้ความสามารถ ขาดงบประมาณ หรือขาดวิธีที่จะตรวจ ป้องกัน และรักษาเอชไอวี เพราะปัจจุบันนี้ เรามีองค์ความรู้เรื่อง U=U หรือ “ตรวจไม่พบไวรัลโหลด เท่ากับ ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครไม่ได้” ซึ่งเป็นข้อความที่มีความหมายมาก และความหมายที่มีสำหรับคนแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป

สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และคู่ของเค้า คำว่า “ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครไม่ได้” มีความหมายต่อการ “ใช้ชีวิต” ที่เต็มสมบูรณ์เหมือนคนที่ไม่ติดเชื้อ เป็นคำที่สำคัญมากที่จะใช้สื่อสารเพื่อเริ่มกระบวนการลดการตีตราตนเองภายในของผู้ติดเชื้อ และคู่ ทำให้การวางแผนใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อและคู่เท่าเทียมกับทุกคนในสังคม

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และคนทำงานด้านเอชไอวี คำว่า “ตรวจไม่พบไวรัลโหลด” จะมีความหมายยิ่งขึ้นและกลายเป็นเป้าหมายของการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่การใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายในการทำให้คนอยากตรวจเอชไอวี โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ประเทศไทยมี HIV self-testing ใช้ได้แล้ว ทำให้เร่งรัดการจัดบริการ same-day ART และทำให้เกิดการอยากรู้อยากตรวจไวรัลโหลด ทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งการเร่งรัดการเข้าใกล้เป้าหมาย 95-95-95 ของประเทศไทย

สำหรับภาคส่วนธุรกิจ และแรงงาน คำว่า “ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครไม่ได้” สื่อความหมายที่ชัดเจนขึ้น มั่นใจได้มากขึ้น และขยายต่อได้ง่ายขึ้น ว่าผู้ติดเชื้อมีความเท่าเทียมกันกับคนอื่น ในการทำงาน ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่ผู้ไม่ติดเชื้อสามารถทำได้ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้สถานประกอบการยังต้องตรวจเอชไอวีก่อน และระหว่างการจ้างงานอีกต่อไป การตรวจเอชไอวีเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่นายจ้างและรัฐจะละเมิดไม่ได้ หากแต่ต้องสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงการตรวจด้วยความเต็มใจ อย่างเป็นอิสระ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่ประเทศไทยมี HIV self-testing ในท้องตลาดหลายยี่ห้อแล้ว และกำลังจะนำ HIV self-testing เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของสปสช.ในอีกไม่ช้า

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ (คช.ปอ.) จึงได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ให้นำเรื่อง U=U และ HIV self-testing มาเป็นมาตรการสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อการยุติเอดส์ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การที่จะลดการเลือกปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ และค่านิยมที่หยั่งรากลึกในสังคมมาเป็นเวลานาน และจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกันจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ต้องเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่อง U=U “ตรวจไม่พบไวรัลโหลด เท่ากับ ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครไม่ได้” เพื่อลดความกลัวกังวลในการอยู่ร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปล่อยให้สถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนรับตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน พร้อมกับยืนยันว่าการตรวจเอชไอวีเป็นสิทธิส่วนบุคคล ต้องสมัครใจและยินยอมเท่านั้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ประชาชนทุกคนสามารถตรวจหาการติดเชื้อได้ฟรีปีละ 2 ครั้งในทุกคน

ในส่วนของกระทรวงแรงงานก็จำเป็นต้องเผยแพร่ประกาศและแนวทางเรื่องเอดส์ในที่ทำงาน รวมถึงข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่อง U=U “ตรวจไม่พบไวรัลโหลด เท่ากับ ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครไม่ได้” ไปยังสถานประกอบการทุกแห่ง ทั้งสภานายจ้าง สภาลูกจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้เห็นว่าการใช้เอชไอวีมาเป็นเงื่อนไขในการทำงานไม่สามารถทำได้ พร้อมกับสนับสนุนให้สถานประกอบการมีนโยบายส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ในการทำงาน ในขณะเดียวกัน ตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงลูกจ้างและประชาชนทั่วไปในสังคม ก็ต้องเรียนรู้ว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิ เราต้องกล้าลุกขึ้นมาส่งเสียง และร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

เนื่องในวันที่ 1 มีนาคม ในนามของ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ หรือ MovED ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคีเครือข่าย องค์กร หน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ได้รับผลกระทบและคนทำงานในประเด็นต่าง ๆ อาทิ เอชไอวี ผู้หญิง ความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติด คนพิการ ชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ แรงงานในระบบและนอกระบบ คนไร้บ้าน ฯลฯ อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับเคลื่อนให้สังคมปราศจากการเลือกปฏิบัติในทุกมิติ โดยขอเรียกร้องต่อ

สังคมสาธารณะ ต้องเป็นสังคมที่ตื่นรู้ และเท่าทันต่อมายาคติ การตีตราและเลือกปฏิบัติไม่ใช่เรื่องปกติ สังคมต้องตื่นรู้และมีสติรู้ตัวเสมอว่า อคติที่มีต่อกัน อาจจะนำมาสู่การกระทำความรุนแรงและไม่เป็นเป็นธรรมได้เสมอ

ผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาล ภาครัฐ ทุกระทรวง ทบวง กรม ข้าราชการทุกระดับ ต้องมุ่งมั่นจริงใจที่จะขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ส่งเสริมให้ประชาชนตื่นรู้ และออกมาตรการเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักรู้ แก่ สังคม ประชาชน และสร้างสังคมที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

พรรคการเมืองทุกพรรค ที่เป็นตัวแทนเสียงของประชาชน ต้องนำเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติไปเป็นนโยบายหลักของพรรค

สื่อมวลชน สื่อสาธารณะ สื่อออนไลน์ องค์กรหน่วยงานที่ดูแลสื่อ ต้องไม่ผลิตซ้ำ และเพิกเฉยต่อการสร้างมายาคติด้านลบ แก่สังคม กลุ่มบุคคล และมีกระบวนการกลั่นกรอง ตรวจสอบสื่อที่สร้างมายาคติ การตีตรา การรังเกียจ ความรุนแรง และเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ และร่วมสร้างการสื่อสารเชิงบวกที่เคารพความเป็นมนุษย์

ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถูกละเมิดสิทธิ ต้องไม่อดทน ปล่อยผ่าน กล้าที่จะออกมาเรียกร้อง ไม่เพิกเฉย ต่อการถูกกระทบ โดยใช้ช่องทางของปกป้อง คุ้มครองสิทธิที่มีเท่าที่จะทำได้

“เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ จะผลักดันให้กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ได้จริง เราจะเฝ้าระวังและจับตากฎหมาย-นโยบายที่ส่งผลให้เกิดการตีตราเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิ โดยยื่นข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง และมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยน แก้ไขสถานการณ์ของการตีตราและเลือกปฏิบัติให้ดีขึ้น เราจะจับตาการสื่อสารสาธารณะที่เป็นการตีตราเหมารวม สร้างมายาคติด้านลบ ต่อกลุ่มคน และบุคคล และจะพัฒนาแนวทางการสื่อสารที่ไม่ตีตราสำหรับสื่อสาธารณะขึ้นมา

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้สื่อมวลชน สื่อสาธารณะ เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข ถ้อยความอันก่อให้เกิดอคติ การตีตราและการเลือกปฏิบัติทั้งหลาย เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีของการสื่อสารสังคมให้ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ ในขณะเดียวกันเราจะพัฒนาแนวทางการนำเสนอสื่อที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ตัดสิน ตีตรา เหมารวมและละเมิดสิทธิ เพื่อให้สื่อยึดแนวทางดังกล่าวในการนำเสนอข่าวสาร สุดท้ายคือเราจะพัฒนาสร้างความเข้มแข็งภายในเครือข่ายของเราให้มีความสามารถในการสื่อสาร เฝ้าระวังสถานการณ์ที่เป็นการตีตราละเมิดสิทธิ พร้อมกับส่งต่อแนวคิดการไม่ตีตรา เหมารวม เลือกปฏิบัติในการทำงานทุกมิติของเราต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้