จาก ‘Cry Baby’ เด็กหญิงเจ้าน้ำตา มาจนถึง ‘ลาบูบู้’ เจ้ามอนสเตอร์ตัวร้าย สู่การโยกย้ายส่ายสะโพกของ ‘หมีเนย’ สุดเฟียซ (ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นคนหรือหมี ?) ไม่ว่าพวกเขาคือสิ่งมีชีวิตแบบใด แต่แน่นอนว่าได้ใจผู้คนไปแล้วเกือบทั้งประเทศ แฟนคลับไม่เพียงเฉพาะในไทย แต่ดังไกลไปถึงต่างแดน
ความน่ารักมัดใจถูกพัฒนาต่อยอดกลายเป็น อาร์ตทอย (Art Toy) พวงกุญแจ ที่ทั้งแขวนห้อยโชว์ และของสะสมจนมีราคาสูงพุ่งพรวด
ปรากฏการณ์ยอมรับอารมณ์อ่อนไหวและการชื่นชอบเจ้าตัวร้ายแต่น่ารัก ที่กลายเป็นกระแสสังคมนี้ กำลังสะท้อนจุดเปราะบางใดของสังคม
นับรวมถึงกระแสการสะสมอาร์ตทอยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลและสัญชาติญาณแห่ง การสะสม ข้าวของมีความหมายกับมนุษย์มากเพียง
The Active พาไปสำรวจหน้าตายัยตัวร้ายผู้น่ารักที่ขโมยหัวใจเราไป สู่การซื้อถม สะสมกล่องจุ่มจนเต็มบ้าน ผ่านประวัติศาสตร์จากหมีรุ่นพี่อย่าง เท็ดดีแบร์ (Teddy Bear) จนถึง หมีเนย (Butterbear) น้องใหม่ในโลกทุนนิยมไปกับ ชัยพร สิงห์ดี อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
หลงรักตุ๊กตาหน้าร้าย
ภาพสะท้อนความอ่อนไหว เปราะบางในโลกทุนนิยม
ย้อนไปหลายสิบปีก่อน ของเล่น หรือตุ๊กตาที่ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ผู้ผลิตมักนิยมดีไซน์ให้แสดงสีหน้าอารมณ์เชิงบวก มีความเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส น่ารักและน่าเอ็นดู เพราะใคร ๆ ก็อยากได้ของที่มองเห็นแล้วชุ่มชื่นหัวใจกลับบ้าน
แต่ปัจจุบันนี้ การออกแบบมาสคอต ของเล่น หรือ อาร์ตทอยต่าง ๆ ได้ขยายพรมแดนกว้างออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีทั้งคาร์แรกเตอร์ที่ดูน่ารักสดใส แบบที่หน้าตาร้าย ๆ และแบบที่เต็มไปด้วยคราบน้ำตา แต่เหตุใดความเศร้าอันทรงสเน่ห์นี้กลับได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ชัยพร มองผ่านสายตาของนักมานุษยวิทยา แล้วสรุปให้เราฟังง่าย ๆ ว่า
“หมีเนยคาบเกี่ยวระหว่างเป็นเด็กและผู้ใหญ่ มีทั้งความน่ารักและความเซ็กซี่ มีความเฟียซเบา ๆ เราเห็นหมีเนยเต้น cover เพลงลิซ่า ไหนจะเสื้อผ้าที่ใส่ หมีเนยมีแฟชั่นที่อิงตามกระแสตลอดเวลาที่บรรดาหนุ่มสาวจับต้องเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับ ‘ลาบูบู้’ ที่มีความผสมผสานทั้งความน่ารักและดุร้าย หรือแม้แต่ Cry Baby ที่เป็นเด็กหญิงเจ้าน้ำตาที่ร้องไห้โฮออกมาได้อย่างไม่อายใคร”
ชัยพร สิงห์ดี
ทั้งหมดนี้ นอกจากจะน่ารัก น่าเอ็นดู และเป็นพื้นที่ผ่อนคลายแล้ว พวกเขายังเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวในโลกทุนนิยม ที่ต้องวิ่งอยู่บนเส้นทางแห่งการแข่งขันต่อสู้ ต่อรองกับความไม่แน่นอนในชีวิต
Credit : butterbear.th (IG)
“ในโลกการทำงาน คุณยิ้มไม่ได้ตลอดหรอก ต้องแยกเขี้ยวบ้าง ร้ายบ้าง หรือเวลาที่คุณเหนื่อย คุณอยากร้องไห้ออกมาดัง ๆ ใช่ไหม แต่ในชีวิตจริง สังคมไม่อนุญาตให้คุณทำ แต่ตุ๊กตาพวกนี้มันแสดงอารมณ์ทั้งหมดออกมาให้คุณได้อย่างแยบยล”
ชัยพร สิงห์ดี
ไม่ว่าหมีเนย ลาบูบู้ หรือ ครายเบบี้ จึงเป็นปราฏการณ์ที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะหมีเนย เราเห็นหนุ่มสาวออฟฟิศไปยืนรอรับหมีเนยในห้างดังอย่างคับคั่ง แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวชาวจีน นั่นเพราะสังคมที่บ้านเขาต้องต่อสู้ กดดันไม่ต่างจากในบ้านเรา แต่หมีเนยให้พื้นที่ที่เขาโหยหา ช่วยเยียวยา และเติมเต็มหนุ่มสาวผู้อ่อนล้าได้
เหล่านี้คงเป็นความรู้สึกที่ได้รับผ่านการมอง ไม่นับรวมถึงความนุ่มนิ่มน่าสัมผัสของเหล่าตุ๊กตา ที่เมื่อจับเมื่อไหร่ก็รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อนั้น ชัยพร เล่าว่า แม้เขาเองจะเป็นชายหนุ่มที่ท่าทางคล่องแคล่ว แต่เขาเองก็ห้อยตุ๊กตาคาปิบาร่าไว้ที่กระเป๋าเหมือนกัน
“ผมว่าตุ๊กตาพวกนี้มีหลายฟังก์ชั่น นอกจากความน่ารักที่มองเห็นแล้ว การได้สัมผัสของนุ่มนิ่ม หรือการมีความใกล้ชิด (intimacy) ต่อข้าวของ มันทำให้ช่วยเยียวยาความรู้สึกได้ และยังเป็นการสื่อสารทางอ้อมให้กับนักศึกษาที่ผมสอนด้วยว่า ผมไม่ใช่คนดุร้ายนะ ผมก็มีความน่ารัก เด็ก ๆ เข้ามาคุยกับผมได้หมด ปัจจุบัน พวกเราก็ใช้สิ่งเหล่านี้ในการสื่อสารอารมณ์และความต้องการผ่านอาร์ตทอยพวกนี้นั่นแหละ”
ชัยพร สิงห์ดี
จาก ‘หมีเท็ดดี้’ ถึง ‘หมีเนย’
เมื่อสิ่งดุร้าย ถูกทำให้กลายเป็นของน่ารัก
จากปรากฏการณ์ความน่ารักของน้องหมีเนย ชัยพร ชวนเราย้อนไปถึงประวัติศาสตร์หมีรุ่นพี่อย่าง เท็ดดี้แบร์ (Teddy Bear) ที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งสำคัญที่ทำให้ ‘ตุ๊กตาหมี’ กลายเป็นขวัญใจของผู้คนจนพบเห็นได้ในทุกเทศกาลการเฉลิมฉลองทั่วโลก
ค.ศ.1902 ธีโอดอร์ “เท็ดดี้” รูสเวลต์ (Theodore Teddy Roosevelt) ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกาได้ออกล่าสัตว์ และได้พบกับหมีตัวหนึ่ง เรื่องราวเล่าขานต่อกันมาว่าด้วยความเมตตา รูสเวลต์จึงได้ปล่อยหมีตัวนั้นให้เป็นอิสระ (แม้ว่าในความเป็นจริง ชะตากรรมของหมีเป็นเช่นไรก็ยังไม่แน่ชัด)
จากนั้นเป็นต้นมา หมีตัวนี้กลายเป็นภาพแทนของรูสเวลต์ที่มีภาพลักษณ์แบบชายอเมริกันผู้เข้มแข็ง ดุดันแต่ซุกซ่อนหัวใจอันอ่อนโยนนุ่มนวลไว้ภายใน
ปีถัดมา นักธุรกิจนาม มอร์ริส มิชทอม (Morris Michtom) ได้นำตุ๊กตาหมีออกวางขายโดยใช้ชื่อเล่นของรูสเวลต์ในร้านค้าของตัวเองเป็นครั้งแรก และถูกเรียกว่า เท็ดดี้ แบร์ สร้างยอดขายถล่มทลายจนกลายเป็นหมีที่โด่งดังทั่วโลก
Credit: flickr.com
ค.ศ. 1904 รุสเวลต์ ได้ใช้ตุ๊กตาหมีเป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ฝั่งประชาชนที่ต้องการแสดงออกถึงการสนับสนุนจะห้อยตุ๊กตาหมีไว้จนกลายเป็นปรากฏการณ์ เพราะการห้อยตุ๊กตาไหนมาไหนจึงเปรียบเสมือนการแสดงออกถึงจุดยืนและความชอบในเชิงสัญญะ
“ในยุคนั้น ไม่ว่าเด็ก ผู้หญิง หรือใครก็ตามหากต้องการแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนรูสเวลต์ในการเลือกตั้ง จะถือหรือห้อยเท็ดดี้ แบร์ไปตามงานสังคมต่าง ๆ จนกลายเป็นภาพจำ ทำให้แท็ดดี้ แบร์ ป๊อปปูล่าขึ้นมาในที่สุด”
ชัยพร สิงห์ดี
หากมองนัยยะของหมี แท้จริงแล้ว หมีเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย แต่ในภาพจำของคนตอนนี้ หมีกลับกลายเป็นเพื่อนรักที่แสนอบอุ่น อ่อนโยน การมีตุ๊กตาหมีสักตัวในบ้าน ก็ทำให้บ้านกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย มองเห็นคราวใดก็ทำให้รู้สึกกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ชัยพร อธิบายว่าหมีถูกลดทอนความโหดร้ายให้กลายเป็นน่ารักด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “tame the beast”
“หมีเป็นสัตว์ที่ดุร้ายและฆ่าคนเยอะที่สุดชนิดหนึ่ง เมื่อถูกนำมาทำให้เป็นสินค้า การออกแบบจึงต้องลดทอนความโหดร้าย น่ากลัวออก ด้วยการนำเขี้ยว เล็บ อวัยวะเพศออกเพื่อทำให้ของที่ดูน่ากลัวกลับดูเป็นมิตร ไม่มีพิษภัย และนำมาซึ่งความรู้สึก ‘รับมือได้’ ของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า tame the beast“
“และเมื่อหมีถูกออกแบบให้เป็นตุ๊กตา จะต่างจากสินค้าเพื่อบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป แต่จะเป็นของที่ผลิตมาเพื่อการเก็บ หน้าตาของมันจึงต้องทำให้คนเห็นแล้วเกิดความสบายใจและทำหน้าที่เป็นเพื่อน (companion) ได้”
ชัยพร ยังชี้ให้เห็นอีกนัยคือ ทุกคนล้วนมีความผูกพันธ์กับตุ๊กตาหมี หมีกลายเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรม การเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษ และยังเป็นสัญลักษณ์ของบ้านและวัยเด็ก เมื่อเห็นกี่ครั้งก็จะรู้สึกถวิลหาอดีต (nostalgia) และ คิดถึงบ้านเสมอ จึงทำให้ตุ๊กตาหมีกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยและกลายเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลาไปเสียแล้ว และช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยในโลกทุนนิยมที่มีการแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน
“หากคุณไม่กล้าพูดว่าเหนือกว่าคนอื่น
ก็ให้ของสะสมพูดแทน…”
จากเรื่องราวของเท็ดดี้แบร์ เราก็พอจะเห็นแล้วว่า เทรนด์การห้อยตุ๊กตาน่าจะมีมาตั้งแต่รุ่นทวด เพื่อเป็นสัญญะในการแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่ปัจจุบัน ความหมายได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว นอกจากตุ๊กตาหรือของสะสมจะมีหน้าที่ในการเยียวยาใจ ยังมีความหมายในเชิงการสื่อสารตัวตนกับสังคมโดยไม่ต้องเอ่ยปากพูดด้วย
“เมื่อก่อนผู้คนนิยมห้อยตุ๊กตาหมี เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองก็จริง แต่จะพบเฉพาะในงานหรืออีเวนต์สำคัญเท่านั้น แต่ไม่ใช่การห้อยในชีวิตประจำวันแบบบ้านเราตอนนี้
“เราก็รู้ว่าราคาของลาบูบู้แพงแค่ไหน ยิ่งถ้าคุณห้อยตัวหายาก ตัวราคาแพง นั่นแปลว่าคุณมีทุนทางสังคมที่สูงกว่าคนทั่วไป มีเนทเวิร์คที่ดีพอที่จะหาของหายากมาได้ มันคือการสื่อสารเรื่องฐานะและชนชั้น ปรากฏการณ์นี้แสดงออกว่า สังคมแข่งขันมากขึ้น และการบริโภคไม่ได้เพื่อเอาชีวิตรอดเท่านั้น แต่คือการสร้างอัตลักษณ์บางอย่างของมนุษย์”
ชัยพร สิงห์ดี
สำหรับการสะสมข้าวของอยู่คู่กับมนุษยชาติมาโดยตลอด ยุคก่อนประวัติศาสตร์การสะสมอาหารและข้าวของเป็นไปเพื่อความอยู่รอด แต่ในยุคประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เริ่มมีการจดบันทึกทำให้เราเห็นว่า มนุษย์สะสมข้าวของเพื่อแสดงฐานะที่แตกต่างซึ่งอาจมีเป้าหมายไม่ต่างกับปัจจุบัน
“ในยุคสำริด (Bronze Age) ของจีน เทคโนโลยีการทำเครื่องใช้จากบรอนซ์พัฒนาไปมาก คนนิยมสะสมระฆังขนาดใหญ่ โต๊ะหมู่บูชา กระถาง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นของที่ผลิตยาก ต้องใช้แรงงานมหาศาลในการสร้าง หากใครได้ครอบครองนั่นหมายถึงการแสดงสถานะว่าคุณต้องไม่ใช่คนธรรมดา คุณอาจเป็นกษัตริย์ ขุนนาง หรือผู้มีอำนาจ
ชัยพร สิงห์ดี
และยิ่งข้าวของสะสมมีความแปลก (exotic) ที่คนธรรมดาไม่มีสิทธิครอบครองเท่าไร ยิ่งเป็นเส้นแบ่งว่าคุณคือคนที่มีฐานะสูงส่งกว่าคนอื่น
“มนุษย์อยากแตกต่าง หรือพูดให้ลึกลงไป เราอยากเหนือกว่าคนอื่นอยู่แล้ว หากคุณไม่กล้าพูด คุณก็ให้ข้าวของพูดแทนสิ ฉะนั้น ของสะสมไม่ได้ให้แค่ความสุข แต่มันคือสิ่งแสดงว่าเราเหนือกว่าคนอื่น จะพูดหรือไม่พูด แต่อย่างน้อยคนใช้ก็รู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว”
ชัยพร สิงห์ดี
นักมานุษยวิทยาผู้รักการสะสมยังเสริมทิ้งท้ายว่า นอกจากเรื่องการแสดงออกถึงความอยากแตกต่างแล้ว มนุษย์ยังใช้ของสะสมในการเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายไป เพราะหลายครั้งมนุษย์ไม่สามารถจัดการหรือควบคุมสถานการณ์บางอย่างในชีวิตได้ แต่ของสะสมทำให้คนรู้สึกว่าได้คัดเลือก ได้จัดการ ได้จัดเรียง และได้ให้ความหมายใหม่บางอย่างกับมันด้วยตัวเอง
ไม่ว่าการห้อยตุ๊กตา หรือของสะสมจะมีหน้าที่แบบใดให้แก่มนุษย์ แต่นี่เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการแปรเปลี่ยนไปของสังคมมนุษย์ไปในรูปแบบใหม่ ตุ๊กตา อาร์ตทอย หรือของสะสมเหล่านี้ ยังคงไว้ซึ่งหน้าที่ประคับประคองจิตใจ และความเชื่อมั่นของคนให้ยังคงดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ในโลกทุนนิยมอันแสนเปราะบาง