จาก ‘ขงจื่อ’ ถึง ‘หลานม่า’ เมื่อความกตัญญูถูกแปรรูป ?

‘หลานม่า’ ถูกยกให้เป็นภาพยนตร์ที่อิ่มใจ ดูกันได้ทั้งครอบครัวอีกเรื่องหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย สะท้อนเรื่องราวของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน เมื่ออาม่าเข้าสู่ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ลูกหลานต่างรีบทำหน้าที่ ลูกหลานที่ดี เพื่อหวังจะได้มรดกมาหล่อเลี้ยงชีวิต

แม้ฟังดูเหมือนคดีฮุบสมบัติเจ้าคุณปู่ทั่วไปแบบในละครไทย แต่สุดท้ายแล้ว หลานม่า ก็จบลงอย่างอบอุ่น งดงาม พร้อม ๆ กับการสะท้อนให้เห็นปมปัญหาค่านิยมในครอบครัวไทย-จีน ที่แฝงมาในคราบของคำว่า ความกตัญญู อย่างชัดเจน

เมื่อ ความกตัญญู ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้งในสังคมไทย สิ่งนี้ยังจำเป็นหรือไม่ ในวันที่สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ? และหากนี่คือ การแสดงความกตัญญูที่หวังสิ่งตอบแทน สิ่งนี้ยังเรียกว่ากตัญญูได้อีกหรือไม่ ? 

The Active ชวนพูดคุย กับ ชรินทร บูรพา อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบเรื่องความกตัญญู ผ่านการเดินทางของปรัชญาจีนโบราณ ขงจื่อ

ชรินทร บูรพา
สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กตัญญูมาจากไหน ? ทำไมเราต้องกตัญญู ?

ว่าด้วยแนวคิดแบบ ‘ขงจื่อ

ถ้าลองตีความตามบทจากภาพยนตร์หลานม่า ในช่วงต้นเรื่อง หลังอาม่าทราบข่าวร้าย ลูกหลานที่ห่างเหินทุกคนก็ต่างแห่กันมาดูแล ดูใจอาม่า หากมองผิวเผินก็เหมือนลูกหลานที่ดีทั่วไป ที่พยามทำให้อาม่ามีความสุขที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าหมายของ (เกือบ) ทุกคน คือ ทรัพย์สินของอาม่า

เพราะความกตัญญูมันค้ำคอ แต่ปากท้องก็ต้องดูแล 

สิ่งนี้เองที่ทำให้เรามาย้อนตั้งคำถามว่า หากเป็นการทำดีต่อบุพการี แต่ต่างมีผลประโยชน์แอบแฝงและไม่จริงใจ จะยังเรียกว่า ความกตัญญู อยู่อีกหรือไม่ ? และต้นตอทั้งหมดนี้ เป็นมรดกตกทอดมาจาก ปรัชญาขงจื่อ จริงไหม ?

ชรินทร ชวนท้าวความกันก่อนว่า ขงจื่อ คือ นักปราชญ์ที่เกิดในยุค ชุนชิว หรือ “Spring and Autumn Period” ของจีน ยุคที่แผ่นดินจีนแตกเป็นเสี่ยง และเต็มไปด้วยสงคราม ศีลธรรมก็เสื่อมทรามจนหาความสงบไม่ได้ เรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดมา ขงจื่อไม่เคยเห็นบ้านเมืองที่ดีเลย เรียกได้ว่าเติบโตมาในช่วงกลียุคอย่างแท้จริง

ขงจื่อ และนักปราชญ์จีนหลายคนในยุคนั้น มีเป้าหมายเดียวกันคืออยากเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น โดยมีแนวคิดว่า จะมีบ้านเมืองที่ดีได้นั้น ต้องสร้างประชากรที่ผ่านการขัดเกลามาอย่างดีจนมีคุณภาพแล้ว หรือที่เรียกว่า วิญญูชน เพื่อที่วิญญูชนเหล่านี้จะได้เติบโตไปเป็นข้าราชการ ปกครองแผ่นดิน และนำพาชาติบ้านเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แต่การจะสร้างวิญญูชนสักคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนผลิตสินค้าจากโรงงาน คนผู้นั้นต้องผ่านกระบวนการขัดเกลาทางจริยศาสตร์ที่ซับซ้อนลึกซึ้ง ต้องอดทน เพียรพยายาม แน่วแน่ อย่างสม่ำเสมอและไม่ย่อท้อ และหลักคิดนี้ต้องถูกปลูกฝังอยู่ในตัวคนผู้นั้นระดับจิตสำนึก จนกลายเป็นคุณค่าในตัวเขาอย่างแท้จริง (Personal Value) 

 คัมภีร์ หลุนอี่ว์ 
คำสอนเล่มสำคัญของขงจื่อ

กล่าวคือ ไม่ได้มีแนวคิดปฏิบัติมาจากค่านิยมหรือคุณค่าที่รัฐส่งต่อมาให้ (แต่มาจากตัวเองล้วน ๆ) และเมื่อผลิตวิญญูชนที่สมบูรณ์แล้ว คนเหล่านี้เองที่จะทำหน้าที่ไปพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป

หากลงลึกไปในรายละเอียด การจะเป็นวิญญูชนได้นั้น จะต้องประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ “เหริน” (มนุษยธรรม) และ “หลี่” (จารีตประเพณี) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกตนจำเป็นต้องขัดเกลาตนเองให้มี 2 สิ่งนี้ควบคู่กันไป จึงจะเป็นวิญญูชนอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน 

พูดให้เข้าใจอย่างง่าย เหริน คือ อารมณ์และความรู้สึกภายใน ที่เหมาะสมที่มีต่อผู้อื่น เช่น มีความรักเอาใจใส่ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเหล่านี้มีรากมาจากการมีความกตัญญูนั่นเอง 

ส่วน หลี่ คือ ขนบประเพณีที่เราปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ การพูด การเดิน การแสดงท่าทีเคารพผู้อื่น รวมถึงพิธีเช็งเม้ง 

เหรินและหลี่ ต้องถูกทำคู่กันไป ไม่เช่นนั้นการกระทำจะกลายเป็นแค่เปลือกที่ไร้แก่นสาร แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการฝึกฝน ขัดเกลาตัวเองตลอดเวลา

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ขงจื่อเห็นว่าการจะสร้างให้เกิดวิญญูชนสักคนนั้น ควรต้องเริ่มขัดเกลาคน ตั้งแต่ระดับสถาบันระดับเล็กที่สุดอย่าง ครอบครัว เพราะเป็นที่แรกที่ทำให้คนเรียนรู้การรัก การผิดหวัง การต่อรอง และการฝึกฝนใช้อารมณ์ให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ เมื่อครอบครัวผลิตวิญญูชนออกมาได้ เขาก็จะกลายเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อชาติบ้านเมือง

แต่ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า ความกตัญญู หรือเปล่า ? คำตอบ คือ “ไม่ใช่เสียทีเดียว”

ความกตัญญู เป็นคอนเซปต์ที่สังคมจีนยอมรับกันมาอย่างยาวนานแล้ว (ก่อนขงจื่อเสียอีก) คนจีนมีแนวปฏิบัติว่า พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูก และลูกต้องช่วยเหลือดูแลพ่อแม่ จนกระทั่งวาระสุดท้าย แม้แต่ท่านตายไปแล้ว ลูกก็ต้องแสดงความเคารพ และจดจำท่านผ่านการทำพิธีกรรมที่เรารู้จักกันในงาน เช็งเม้ง ทั้งหมดนี้ มีหน้าที่เพื่อค้ำจุนสถาบันครอบครัวให้อยู่รอด หากลองนึกตาม สิ่งเหล่านี้คือวิถีในเชิงปฏิบัติที่ต้องทำ ซึ่งทั้งหมดนี้ เรียกว่า การแสดงความกตัญญู นั่นเอง

“แต่ ขงจื่อ นำเสนอสิ่งใหม่กว่านั้น นั่นคือ ‘ความกตัญญูระดับอารมณ์และความรู้สึก’ ไม่ใช่แค่กระทำบางอย่าง ที่ดูเหมือนความกตัญญูเท่านั้น แต่ต้องรู้สึกตั้งแต่ระดับจิตสำนึก และไม่ใช่แค่ลูกที่กตัญญูต่อพ่อแม่ หรือผู้น้อยกตัญญูต่อผู้สูงกว่าเท่านั้น แต่ฝ่ายที่อยู่สูงกว่าต้องปฏิบัติสิ่งที่ดีกลับคืนไปด้วย (เช่น ความเมตตา เข้าอกเข้าใจ ไม่กดขี่เพราะมีสถานะสูงกว่า) โดยทั้งหมดนี้ต้องใช้คุณธรรม เหริน และ หลี เข้ามากำกับควบคุม สิ่งเหล่านี้เองที่เรียกว่า ความกตัญญูแบบขงจื่อ”

“เมื่อมีความกตัญญูเป็นที่ตั้งแล้ว ความสัมพันธ์ครอบครัวจะดี และเมื่อคนคนหนี่ง เติบโตมาในสถาบันครอบครัวดีแล้ว ก็จะกลายเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ ความจงรักภักดีในครอบครัวนี้เอง ที่เรียกว่าความกตัญญู และนำมาสู่ความจงรักภัคดีต่อรัฐ ทั้งหมดนี่เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นแฟ้น”

แนวคิดปัจเจกชน เมื่อผู้คนไม่ได้สนใจคำว่า ‘ครอบครัว’  
แนวคิดขงจื่อยังจำเป็นไหม ?

ตอนนี้ เราได้เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมและสังคมศักดินา (ฟิวดัล) สู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรม รวมถึงการเข้ามาของแนวคิดแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น Autonomy (การมีอิสระที่จะทำสิ่งที่ตนเองเลือก) และ Individualism (ปัจเจกนิยม) เราจึงเห็นผู้คนในวันนี้เลือกที่จะมีชีวิตอย่างเป็นอิสระ ใช้ชีวิตอย่างปัจเจกชนได้โดยไม่ต้องคิดถึงครอบครัวเป็นที่ตั้งเหมือนในอดีต

“ทั้งแนวคิดแบบ autonomy และ individualism สอดคล้องกัน เพราะหมายถึงการเชื่อว่าแต่เรามีอิสรภาพ กำหนดชีวิตของตัวเอง และใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง ไม่ใช่การใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นอีกต่อไป ต่างจากแนวคิดของขงจื่อ ที่สอนว่า วิญญูชนที่ดีต้องไม่คิดถึงแต่เรื่องส่วนตนเท่านั้น แต่ต้องคิดถึงประโยชน์ของครอบครัวเป็นสำคัญ”

กลับมาที่ภาพยนตร์ หลานม่า หากใครพอนึกออก ‘เอ็ม’ คือ เด็กหนุ่มที่เกิดในครอบครัวไทย-จีน มีแนวคิดชัดเจนถึงการไม่เลือกทำงานตามระบบ แต่เดินตามความฝันของตัวเอง นั่นคือการแคสเกม ขัดแย้งกับสิ่งที่คนจีนโบราณอย่าง ‘อาม่า’ ต้องการ คือ มีการงานที่มั่นคง 

เอ็มได้รับผลกระทบจากแนวคิดสมัยใหม่ ที่กล้าจะเลือกทำในสิ่งที่เป็นความฝันของตัวเอง โดยไม่ได้คิดถึงครอบครัว และการเข้าไปดูแลอาม่าอย่างไม่จริงใจ (ในตอนต้นเรื่อง) ก็ขัดแย้งกับแนวทางปฏิบัติของขงจื่อ ที่สอนให้ต้องแสดงความกตัญญู ดูแลพ่อแม่อย่างจริงใจ และต้องคิดถึงผลประโยชน์ของครอบครัวเป็นอันดับแรก (ไม่ใช่การคิดถึงผลประโยชน์ของตัวเอง)

เอ็ม จึงถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้ที่พังทะลายแนวคิดของขงจื่อ และอาจตั้งคำถามถึงความกตัญญูแบบเก่า ๆ ที่ทำไป ก็ไม่ได้อะไรตอบแทนมา (เช่นเดียวกับ ซิว-แม่ของเอ็ม) แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การบอกว่า แบบใดถูกต้อง อาจไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว

ภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า (2024)

นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา สะท้อนให้เห็นว่า ตอนนี้ในต่างประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน เพราะทุกคนกลายเป็นปัจเจกบุคคล แยกตัวเป็นอิสระ เก็บตัว มีใครสนใจใครและห่างกันออกไปทุกที การเจอครอบครัวอาจเหลือแค่ปีละครั้งในเทศกาลคริสต์มาสเท่านั้น นี่ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ของมนุษยชาติเลย การนำปรัชญาขงจื่อมาปรับใช้อาจช่วยแก้ปัญหาของยุคสมัยได้ โดยเฉพาะเรื่องการกระชับความสัมพันธ์

“อย่าลืมว่าสังคมมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจะดำรงอยู่ได้ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน เมื่อคนในสังคมไม่คุยกัน ก็ไม่รู้จักการปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร ? การนำปรัชญาขงจื่อมาใช้ จะทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่มีความหมายลึกซึ้ง และเป็นเกราะป้องกันจากปัญหาของยุคสมัยได้”

เมื่อ ‘ความกตัญญู’ ถูกแปรรูป

สำหรับคนรุ่นใหม่ คำว่า กตัญญูอาจไม่ใช่คำที่อบอุ่นชวนซึ้งเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่กลับกลายเป็น ความคาดหวัง และ ยาขม

หากใครยังจำ จริยศาสตร์แบบขงจื่อ ที่เล่ามาตอนต้นได้ ว่า ความกตัญญูไม่ใช่เรื่องของผู้น้อยหรือเด็ก ที่กระทำต่ออาวุโสกว่าเท่านั้น แต่มันคือการแสดงการเคารพ เมตตา ต่อทุกฝ่ายในคู่ความสัมพันธ์

ดังนั้นในฐานะผู้ใหญ่ อาจไม่จำเป็นต้องรอให้เด็ก ๆ แสดงความกตัญญูเลย แต่เริ่มได้จากการที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีเมตตา พูดคุยกับผู้น้อยด้วยเหตุผล และปฏิบัติต่อเขาอย่างเท่าเทียมต่างหาก

“เราอย่าไปยึดติดกับคำว่า ‘กตัญญู’ เพราะการใช้คำมันควรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การใช้คำเดิม ๆ อาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ต่อต้าน รัฐเองต่างหากที่ควรหันมองปัญหาและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนี้”

“รัฐควรตอบสนองให้คนในชาติได้สนับสนุนความฝันของตัวเอง ควรทำให้เขาเป็นคนที่เป็น individualism หรือ มี autonomy ได้อย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับเอ็ม เด็กหนุ่มที่มีความฝัน แต่กลับเป็นสิ่งที่รัฐไม่ได้ให้การสนับสนุน จนทำให้เขาต้องดิ้นรนด้วยตัวเองจนกระทั่งต้องปฏิบัติต่ออาม่าด้วยความกตัญญูแบบปลอม ๆ”

ท้ายที่สุดแล้ว หากถามว่าสังคมไทยอยู่ได้ไหม ถ้าไม่มีความกตัญญู ? อาจไม่มีคำตอบตายตัว

แต่คงจะดีกว่า ถ้ายังมีบางสิ่งที่คอยยึดเหนี่ยว เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ด้วยกันไว้ ให้ดำรงชีวิตไปในสังคมอย่างราบรื่นปกติสุข ด้วยพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ในสังคมโดยไม่มีลำดับศักดินา

และบางที สิ่งนี้อาจไม่ได้ถูกเรียกว่า ความกตัญญู แล้วก็เป็นได้