หนึ่งในหลักขันติธรรมของ “สเปน” ประเทศที่ 5 ของโลกที่ได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพ World Pride 2017 ผ่านเงื่อนไขสำคัญ ทั้งการออกกฎหมายสมรสเพศหลากหลาย และนโยบายสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ
แม้อยู่คนละซีกโลก แตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม หากแต่การยึดหลักเดินทางสายกลาง ที่ช่วยให้ความหลากหลายทางเพศผลิบานจากการตื่นรู้ของคนในสังคม จึงอาจเรียกได้ว่าไม่ต่างกับก้าวย่างของประเทศไทยในเวลานี้มากนัก ที่ต้องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030
อย่างไรก็ตามยังมีบริบททางสังคม การเมือง ที่อาจจะต้องมองหลัง แลหน้า จากประวัติศาสตร์ของประเทศสเปนที่กว่าจะไพรด์..กว่าจะเท่าเทียม
สเปน กับ ความสำเร็จในฐานะเจ้าภาพ World Pride
เริ่มแรกขบวนไพรด์พาเหรด มักจัดขึ้นในประเทศแถบยุโรป เช่น ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี หรือ สเปน หนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่า โอบรับ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีความเท่าเทียมทางเพศสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของทวีปยุโรป
สเปนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพลำดับที่ 5 ของเทศกาล World Pride ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2017 จนถูกกล่าวถึงในฐานะของการจัดงานเฉลิมฉลอง ประจำปีของเทศกาล World Pride ในกรุงมาดริดนั้น ยิ่งใหญ่ และดีมากที่สุดในโลก ประกอบกับกฎหมายเพื่อกลุ่ม LGBTQIAN+ ของสเปนถือว่าก้าวหน้ามากในโลก
นอกจากนี้สเปนยังมีพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นย่านที่นิยมของกลุ่ม LGBTQIAN+ คือ ย่านชูเอกา (Chueca) ในกรุงมาดริด ที่เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ และการแสดงออกกับบรรยากาศที่คึกครื้นและเป็นกันเอง
นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ศูนย์กลางจัดเทศกาลไพรด์ ที่มีขึ้นทุกปีในชื่อว่า มาดริดไพรด์ (Madrid Pride) ซึ่งเทศกาลดังกล่าวได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางมาที่ประเทศกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี และจากการสำรวจของ ฟอร์เวิร์ดคีย์ส (ForwardKeys) องค์กรแหล่งรวมข่าวสารด้านการท่องเที่ยวพบว่า ในปี 2023 การท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อเดินทางเข้าร่วมมาดริดไพรด์ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2019
มาดริดไพรด์ ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองโดยสร้างรายได้กว่า 150 ล้านยูโรในปี 2015 และช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจใหม่ เอ็ดการ์ เว็กเกลาร์ (Edgar Weggelaar) ผู้บริหารของเควียร์เดสติเนชันส์ (Queer Destinations) ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQIAN+ คือ กุญแจสำคัญในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและเครือข่ายการท่องเที่ยว รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการติดต่อกันของข้อมูลข่าวสารอย่างฉับพลันทันที ซึ่งจะก่อให้เกิดพื้นที่ที่ความหลากหลายเบ่งบาน การเหมารวมถูกขจัดไป และการเห็นใจซึ่งกันและกันกลายเป็นรากฐานของสังคมที่มีความเข้าใจและความเท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น
มองความเท่าเทียมทางเพศผ่านสเปน
สเปนยังเป็นประเทศที่กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศนั้นเข้มแข็งและก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นผ่านบทกฎหมายต่าง ๆ ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของกลุ่มคนทุกเพศ เช่น
- กฎหมายสมรสเพศหลากหลาย ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งรวมถึงสิทธิในการ รับบุตรบุญธรรม โดยคู่ครองเพศเดียวกันอีกด้วย ทำให้สเปนเป็นประเทศที่ 3 ของทวีปยุโรปที่การสมรสเพศเดียวกันนั้นชอบด้วยกฎหมาย และอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมได้เป็นประเทศที่ 2 ของทวีป
- กฎหมายสิทธิคนข้ามเพศ (Transgender) ที่อนุญาตให้บุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถยื่นความจำนงขอเปลี่ยนแปลงเพศของตนเองบนบัตรประชาชนได้ รวมถึงห้ามไม่ให้มีการบำบัดแก้เพศวิถี และให้มีการส่งเสริมการ ยกเลิกการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในที่ทำงานอีกด้วย
- กฎหมายการลาคลอด ที่ให้สิทธิทั้งพ่อและแม่ในการลาคลอดรายละ 16 สัปดาห์ โดยยังได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน ซึ่งครอบคลุมถึงกรณีของลูกแฝดสองและสามที่จะได้รับสิทธิในการลาคลอด 18 และ 20 สัปดาห์ตามลำดับ
- กฎหมายที่ให้สิทธิผู้มีประจำเดือนสามารถยื่นใบรับรองแพทย์เพื่อลาพักรักษาพยาบาลได้ 3-5 วันต่อเดือนหากมีอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรง โดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติ ส่งผลให้สเปนกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่อนุญาตให้ประชาชนลาปวดประจำเดือนได้
นอกจากนี้สเปนยังกำหนดให้มีการ แจกผลิตภัณฑ์ซับประจำเดือนทั้งที่โรงเรียน เรือนจำ สถานพยาบาล สำหรับผู้มีประจำเดือน และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ
สเปนยังให้ความสำคัญกับ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของประชาชน กล่าวคือ มีการบังคับใช้กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ ที่อนุญาตให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไปที่อายุครรภ์ไม่เกิน 14 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามความต้องการ และกำหนดให้มีการ แจกยาคุมแบบรายเดือนและแบบฉุกเฉินที่ศูนย์สุขภาพของรัฐทุกแห่ง
นอกเหนือจากแง่ของกฎหมายแล้ว เวทีนางงาม ก็นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศในสเปน เมื่อ อังเฆลา ปอนเซ (Ángela Ponce) นางงามสตรีข้ามเพศคนแรก ได้รับตำแหน่งมิสสเปนเมื่อปี 2018 อีกทั้งยังเป็น สตรีข้ามเพศคนแรกของโลก ที่ได้เข้าร่วมเวทีมิสยูนิเวิร์สในปีเดียวกัน
แม้ อังเฆลา จะไม่ได้รับชัยชนะในเวทีมิสยูนิเวิร์ส ทว่า การปรากฏตัวของเธอในเวทีนางงามระดับโลกนั้น ได้ท้าทายกรอบแนวคิดและภาพจำเดิมที่ว่า เวทีนางงาม คือ เวทีการประกวดเฉพาะสำหรับผู้หญิงเท่านั้น และเธอก็ได้พิสูจน์ว่า การเข้าร่วมแข่งขันของเธอในครั้งนั้นคือ ก้าวที่สำคัญในการสร้างพื้นที่ที่เคารพทุกความแตกต่างของผู้คนในสังคม
อีกทั้งยังเป็นการส่งเสียงไปถึงกลุ่มคนข้ามเพศว่า พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว อังเฆลา เคยได้ให้สัมภาษณ์กับ ทูเดย์ ออลเดย์ (TODAY All Day) ช่องสตรีมมิงของเอ็นบีซี (NBC) ว่า ทุกคนรอบตัวไม่ได้ยอมรับและเข้าใจเธอเสมอไป และเธอยอมรับว่า มีหลายครั้งที่เธอรู้สึกอยากยอมแพ้ แต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เธอเลือกที่จะใช้ความแข็งแกร่งภายในของเธอฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นมา อีกทั้งครอบครัวของเธอยังยอมรับในตัวตนของเธอ และสนับสนุนการตัดสินใจของเธอที่จะใช้ชีวิตเฉกเช่นผู้หญิงคนหนึ่งอย่างเปิดเผย
‘เผด็จการ’ ยุคแห่งการกดทับความเท่าเทียมทางเพศในสเปน
The Active พูดคุยกับ นรุตม์ เจ้าสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยอาศัย และศึกษาที่ประเทศสเปน ในคณะปรัชญาและอักษรศาสตร์สเปนมา 6 ปี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในสเปนยุคระบอบเผด็จการ ว่า ต้องย้อนทำความเข้าใจตั้งแต่ช่วงก่อนการขึ้นมามีอำนาจของระบอบเผด็จการ ซึ่งหากศึกษาประวัติศาสตร์สเปน จะพบว่า ทุกครั้งที่คริสต์ศาสนาเรืองอำนาจ กลุ่ม LGBTQIAN+ มักถูกกดขี่ และลงโทษทางกฎหมายเพราะขัดกับหลักคำสอนทางศาสนา โดยการเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 19 เมื่อแนวคิดเสรีนิยมจากฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาในสเปน กลุ่ม LGBTQIAN+ ถูกถอดออกจากกฎหมายและบทลงโทษต่าง ๆ ทำให้ชีวิตมีอิสระและสิทธิเสรีภาพมากขึ้น
จนเข้าสู่การปกครองภายใต้เผด็จการทหาร กลุ่ม LGBTQIAN+ ก็ปรากฏในกฎหมายอีกครั้งว่า มีความผิด และเมื่อระบอบเผด็จการหมดอำนาจ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็กลับมามีเสรีภาพในการใช้ชีวิตอีกครั้ง สื่อให้เห็นว่าในอดีตคริสต์ศาสนา และระบอบการปกครองแบบเผด็จการนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อสถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในสเปน
ผู้นำเผด็จการทหารที่เป็นที่รู้จัก และปกครองสเปนยาวนานมากที่สุดคือ ฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) โดยมีการนำหลักศีลธรรม และจารีตประเพณีที่ถือว่าเป็นคุณค่าทางสังคมกลับมาใช้ในการสร้างประเทศ และมีการลงโทษกลุ่ม LGBTQIAN+ อย่างรุนแรงตั้งแต่การจำคุกไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย อีกทั้งยังมีการนำหลักคิดทางคริสต์ศาสนามาเป็นหลักในการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งคนในสังคมยุคนี้มีมุมมองต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่ค่อนข้างหลากหลาย
ทั้งยังมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ผิดธรรมชาติ มีความผิดปกติทางจิต ชอบล่อลวงให้เด็กมามีความสัมพันธ์ด้วยหรือเป็นโรคติดต่อ นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกับการเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้เกิดความคิดว่า หากจะต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ต้องต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย
ทั้งนี้มีรายงานจากเหยื่อความรุนแรงทางเพศในยุคฟรังโก ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง รอยเตอร์ส เมื่อปี 2019 ว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อเขาในเวลานั้น เลวร้ายราวกับอยู่ในนรก และจากผลงานวิจัยของ อาร์ตูโร อาร์นัลเต (Arturo Arnalte) นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวสเปน ระบุว่า ประชาชนประมาณ 5,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่คือ เกย์ ผู้ชายที่เป็นไบเซ็กชวล (Bisexual Men) และผู้หญิงข้ามเพศ (Trans Women) ได้รับโทษจากกฎหมายที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในขณะนั้น จึงเห็นได้ว่า ระบอบเผด็จการในสเปนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดทับความเท่าเทียมทางเพศในประเทศได้
นรุตม์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในยุคของฟรังโกมีกฎหมายที่ควบคุมผู้หญิงให้อยู่ใต้อาณัติของผู้ชายด้วย เช่น หากผู้หญิงต้องการทำธุรกรรมจะต้องขออนุญาตสามีหรือผู้ปกครองก่อนเสมอ ผู้หญิงได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชาย หรือผู้หญิงที่แต่งงานจะมีโอกาสถูกไล่ออก เนื่องจากมีแนวคิดว่า ผู้หญิงที่แต่งงานมีหน้าที่คอยดูแลบ้านและเลี้ยงลูก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สเปนเป็นสังคมที่ให้คุณค่าต่อความเป็นชายสูงและอยู่เหนือความเป็นหญิงเสมอ
ภายหลังจากที่ฟรังโกเสียชีวิต ผู้คนมักมองว่า สเปนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือจากสังคมที่ขวาจัดกลายเป็นสังคมที่มีความเป็นเสรีนิยมมาก แต่ความจริงสเปนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ช่วงปี 1960 แล้ว ช่วงนั้นเศรษฐกิจของสเปนตกต่ำมาก จึงเกิดนโยบายเปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างชาวสเปนและชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยว เช่น เสรีภาพในการแต่งตัว ประกอบกับแนวคิดเสรีนิยมที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในสเปน ก็ได้ส่งผลให้บทบาทของคริสต์ศาสนาเริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว
สถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในสเปน หลังสิ้นสุดระบอบเผด็จการ
นรุตม์ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า หลังระบอบเผด็จการฟรังโกสิ้นสุดลง คนที่มีอุดมการณ์ทางเสรีนิยมก็สามารถแสดงออกสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ภายใต้อำนาจเผด็จการ ประกอบกับช่วงนั้นสเปนมีการเลือกตั้งและมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยพรรคที่ขึ้นมาปกครองคือ พรรคสังคมนิยม ที่พยายามนำแนวคิดเสรีนิยมมาปรับใช้ในการบริหารประเทศ ซึ่งมีการยกเลิกกฎหมายลงโทษกลุ่ม LGBTQIAN+ และพยายามตรากฎหมายใหม่ที่แสดงถึงตัวตนของกลุ่ม LGBTQIAN+
แสดงให้เห็นว่า กฎหมายคือสิ่งสำคัญที่จะกำหนดบทบาทของกลุ่ม LGBTQIAN+ ในสังคมว่าเป็นผู้ร้าย หรือกลุ่มคนที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับทุกคน อีกทั้งยังมีความพยายามสร้างภาพลักษณ์ของประเทศที่ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ในอดีตที่มีความอนุรักษ์นิยม และเป็นเผด็จการให้กลายเป็นประเทศหัวก้าวหน้า เพื่อให้สเปนสามารถเข้าร่วมสหภาพยุโรป (EU) ได้
ในยุครัฐบาลของ เฟลิเป กอนซาเลซ (Felipe González) ซึ่งเป็นรัฐบาลเสรีนิยมที่มาจากการเลือกตั้งรัฐบาลแรกภายหลังการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการฟรังโก ได้มีนโยบายอย่างไม่เป็นทางการเพื่อสร้างประเทศให้เป็นสังคมแห่งขันติธรรม กล่าวคือ สังคมที่มีขันติธรรม หรือความอดทนต่อความเห็นต่างหรือสิ่งที่ตรงข้ามกับค่านิยมดั้งเดิมของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเหมือนในช่วงสงครามกลางเมือง (Spanish Civil War) ที่เป็นการต่อสู้กันของกลุ่มแนวคิดเสรีนิยมและแนวคิดอนุรักษ์นิยม แนวคิดขันติธรรมนี้มีความสำคัญต่อสังคมสเปนเป็นอย่างมากจนถึงปัจจุบัน และเป็นแนวคิดที่คนสเปนยึดเป็นหลักในการใช้ชีวิตคือ แม้จะไม่ชอบ แต่ก็จะทนและเคารพได้
จึงเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสเปนมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสิ้นสุดอำนาจของระบอบเผด็จการ และการมีอิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมจากโลกตะวันตก อีกทั้งเป็นผลจากสิ่งที่หลายคนมองกันว่า ถูกคนถูกเวลา คือ เป็นช่วงเวลาที่เลือกตั้งแล้วพรรคสังคมนิยมขึ้นมานำรัฐบาล ซึ่งพอดีกับแนวโน้มของกระแสวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมที่เข้ามาในประเทศ การดำเนินนโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศจึงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
“ปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศในสเปนที่ติดลำดับต้น ๆ ของโลก สามารถสังเกตได้จากโอกาสในการใช้ชีวิต การทำงาน สิทธิและผลประโยชน์ที่กลุ่มคนทุกเพศได้รับอย่างเท่าเทียมกัน จากประสบการณ์ส่วนตัว ในสเปนหลายอาชีพที่ไม่เคยเห็นว่าผู้หญิงทำเยอะกลับเห็นเยอะ เช่น อาชีพพนักงานขับรถ ตำรวจสายตรวจ นายกเทศมนตรี อย่างไรก็ตาม คดีความรุนแรงทางเพศก็ยังมีเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ้าง แต่สเปนมีกฎหมายรองรับว่า ถ้าเกิดอาชญากรรมที่มาจากการเลือกปฏิบัติทางเพศไม่ว่าจะทางการกระทำหรือคำพูด จะมีบทลงโทษ และผู้เสียหายสามารถโทร.เรียกตำรวจได้เลย”
นรุตม์ เจ้าสกุล
อย่างไรก็ตาม แม้กระแสการต่อต้านและข้อโต้แย้งต่อกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสเปนจะไม่รุนแรง แต่ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เนือง ๆ อ้างอิงข้อมูลจาก ยูโรนิวส์ (Euronews) กฎหมายสิทธิคนข้ามเพศของสเปน มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับดังกล่าว จะลบคำว่าผู้หญิงทิ้งไป
อีกทั้ง โซเนีย โกเมซ (Sonia Gómez) โฆษกของแนวร่วมการเคลื่อนไหวกลุ่มสตรีนิยม (Confluence Feminist Movement) ได้กล่าวว่า กฎหมายสิทธิคนข้ามเพศนี้อนุญาตให้ผู้ชายนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิง และใช้พื้นที่ต่าง ๆ สำหรับผู้หญิง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือห้องน้ำ หรือในกรณีของกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ อ้างอิงจาก พูลิตเซอร์ เซ็นเตอร์ (Pulitzer Center) องค์กรข่าวของอเมริการะบุว่า จากการสำรวจเมื่อปี 2018 พบว่า ผู้เข้ารับการยุติการตั้งครรภ์ร้อยละ 89 ต้องเผชิญกับการถูกรังควานจากกลุ่มผู้ไม่สนับสนุน
‘กระทรวงความเท่าเทียม’ บทบาทรัฐบาลสเปน คุ้มครองคนทุกกลุ่ม
นอกเหนือจาก 2 ตัวแปรหลักเรื่อง การสิ้นสุดของอำนาจเผด็จการ และ อิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยม ที่ระบุไปข้างต้นแล้ว นรุตม์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แนวโน้มสถานการณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ยังขึ้นกับจุดยืนของรัฐบาลในแต่ละยุคด้วย
หากรัฐบาลเป็นพรรคสังคมนิยม แนวนโยบายการทำงานของรัฐก็จะเป็นแบบเสรีนิยม ซึ่งสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ เช่น ในยุคของ โฆเซ ลูอิส โรดริเกซ ซาปาเตโร (José Luis Rodríguez Zapatero) ที่มาจากพรรคสังคมนิยม นับเป็นยุคที่ความเท่าเทียมทางเพศในสเปนประสบความสำเร็จ และมีผลงานที่ชัดเจน กลับกันหากรัฐบาลเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม แนวนโยบายการทำงานของรัฐก็จะแตกต่างออกไป และพยายามล้มล้างกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสเปนมี กระทรวงความเท่าเทียม (The Ministry of Equality) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 ในยุคของซาปาเตโร โดยมีพันธกิจหลักคือ สร้างความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง และต่อต้านการแบ่งแยกหรือดูถูกเหยียดหยามที่มีสาเหตุมาจากเพศและเชื้อชาติ ส่วนของบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIAN+ นั้นมักเป็นการสร้างความเข้าใจและองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศรวมถึงสิทธิต่าง ๆ โดยมีการทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น
ประกอบกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสเปน มาจากพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งยังเป็นพรรคการเมืองที่ร่างกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งรวมถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมของสเปนเมื่อปี 2005 ด้วย ดังนั้น จุดยืนของรัฐบาลสเปนชุดปัจจุบันคือ สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
ไทย…ก้าวย่างสู่ความเท่าเทียมทางเพศ
หากพิจารณาถึงความก้าวหน้าเรื่องกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศของไทยและสเปน จะพบว่า ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก แม้ปัจจุบันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะได้รับความเห็นชอบในสภาสมาชิกผู้แทนราษฎรแล้ว มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายที่อนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องรับคำปรึกษาจากแพทย์ แต่หากมีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์จะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยต้องเข้ารับการตรวจและปรึกษาจากแพทย์ก่อน และมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงตั้งคำถามถึงความคลุมเครือ และประสิทธิผลของกฎหมายเหล่านี้ว่าจะส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นไม่ได้รวมสิทธิการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักเพศหลากหลาย การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเรื่องกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ยังไม่ครอบคลุมการเข้าถึงของคนทุกกลุ่ม และยังเป็นข้อถกเถียงถึงความชัดเจนในการบังคับใช้ ประกอบกับคณะกรรมการการทำงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศยังคงไม่มีนโยบายและมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม
อีกทั้งไทยยังคงขาดสิทธิเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในอีกหลายประเด็น ทั้งร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้านาม ที่ไม่ผ่านวาระแรกในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หรือสิทธิการลาคลอดที่เป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบัน สิทธิการลาคลอดของไทยอนุญาตให้ผู้ตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วันหรือ 14 สัปดาห์ ซึ่งในจำนวนนี้นับรวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดด้วย และอาจได้รับค่าจ้างไม่เต็มจำนวน ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท
ภาคประชาชนจึงมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในไทย ทั้งการเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี และการแจกจ่ายผ้าอนามัยอย่างทั่วถึงแก่ผู้มีประจำเดือนทุกคนในเรือนจำ การลาปวดประจำเดือน และ พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล
ศักยภาพไทยกับการไปสู่เจ้าภาพ World Pride
เนื่องด้วยการตั้งเป้าเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 ของไทย นรุตม์ จึงให้ความเห็นว่า ไทยมีข้อดี คือ ไม่มีแนวคิดทางศาสนาที่รุนแรงเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQIAN+ เท่าในสเปน ทำให้มีช่องทางการเปิดรับความหลากหลายที่ง่ายกว่า
ขณะที่การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยในขณะที่ประกาศเตรียมเป็นเจ้าภาพ World Pride ในปี 2030 หากมองดูแล้วอาจไม่ได้ต่างจากสเปนมากนัก เพราะสเปนมีกฎหมายสมรสของคู่รักเพศหลากหลายในปี 2005 ต่อมาปี 2007 สเปนก็ได้เป็นเจ้าภาพ Euro Pride พร้อมทั้งเชื่อว่า กฎหมายเป็นอีกประตูหนึ่งที่จะนำประเทศไปสู่ความเป็นสากล จึงเข้าใจว่าการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเล็งเห็นถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ยังเป็นเรื่องโอกาสของประเทศไทยอีกด้วย
ในกรณีการเป็นเจ้าภาพ World Pride เชื่อว่าไทยมีศักยภาพแน่นอน แต่สิ่งที่ไทยต้องคำนึงคือ ไทยไม่เคยจัดงานใหญ่ที่คนเป็นล้านมาร่วมงาน ดังนั้น ต้องคำนึงถึงศักยภาพการรองรับ และต้องคิดให้รอบคอบถึงสถานที่จัดงาน และแนวทางการจัดการ จึงต้องมีการศึกษาให้ถี่ถ้วน อีกทั้งไทยควรคำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างจากการจัดงานด้วย
“หลักขันติธรรมของสเปน บอกว่า ถ้ามีคนสนับสนุนก็ต้องมีคนไม่สนับสนุน แล้วจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนที่ไม่สนับสนุน รู้สึกไม่พอใจน้อยที่สุด และให้คนเข้าใจว่าการแสดงออกในงานไพรด์ ไม่ได้เป็นเพียงการจัดงานสนุกสนานรื่นเริง หรือเป็นการสร้างความเดือดร้อนต่อคนอื่น แต่เป็นการแสดงตัวตนให้ทุกคนเห็น และยอมรับในคุณค่าและอัตลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQIAN+”
นรุตม์ เจ้าสกุล
ท้ายที่สุด การจัดงานไพรด์ในฐานะเจ้าภาพ อาจไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเงินที่รัฐจะได้จากการจัดงาน หรือภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ควรให้ผลในเชิงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคน เพื่อเข้าใจความหลากหลายให้มากขึ้น
- อ้างอิง
https://www.euronews.com/2023/03/09/spains-powerful-feminist-movement-split-over-trans-and-rape-laws
https://www.today.com/style/angela-ponce-first-openly-transgender-miss-universe-contestant-t144729
https://lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=977&Type=1
https://forwardkeys.com/tourism-wins-for-madrid-tel-aviv-for-pride-celebrations/