‘สภาอาหารปลอดภัย’ เมื่อชาวเชียงใหม่รวมพลัง ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตัวเองด้วยตนเอง

การที่เราเป็นเจ้าของปัญหา ทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่าคนอื่น

ปัญหาอาหารปนเปื้อนโดยเฉพาะพืชผักที่ปลูกในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่อย่างรุนแรง 

ในวันที่ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจเข้ามาเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ชาวบ้านต้องผนึกกำลังลุกขึ้นมาแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบครบวงจรผ่าน สภาอาหารปลอดภัย จ.เชียงใหม่ ที่เข้ามาดูแลตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงการจัดจำหน่าย เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง  ซึ่งนับเป็นอีกตัวอย่างความเข้มแข็งของภาคประชาชนในพื้นที่ 

ป้าแบ้ม-มลวิภา ศิริโหราชัย รองประธานสภาอาหารปลอดภัย ฯ  เล่าให้ฟังว่า  ชาวเชียงใหม่ประสบปัญหาเรื่องอาหารมานาน ทั้งพืชที่ใช้สารเคมี จีเอ็มโอ จนกระทบสุขภาพ ทำให้ชาวเชียงใหม่ตั้งแต่เด็กรุ่นใหม่ จนถึงคนรุ่นเก่า เข้ามาช่วยกันดูแลแก้ปัญหา สอดรับกับสังคมผู้สูงวัยที่ช่วงเกษียณแต่ยังพอมีแรง ก็สามารถปลูกผักกินเองโดยอาศัยองค์ความรู้ ตั้งกลุ่มขึ้นมาและอยู่ระหว่างการหาจุดหมายที่แท้จริง ไปจนถึงการวางยุทธศาสตร์ว่าจะเดินไปแบบไหน

การรวมพลังของภาคประชาชนนำไปสู่การแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ตั้งแต่การตรวจหาสารตกค้างในพืช อาหาร สิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐไม่ได้สนับสนุนต้องทำกันเอง อีกด้านหนึ่งก็ต้องมีทีมสื่อสารให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน ดูแลตัวเอง  ซึ่งจะต้องพัฒนาไปสู่การจัดวางระบบยุทธศาสตร์ที่ดี เพื่อนำไปสู่สุขภาพที่แข็งแรงมีความมั่นคง และความมั่งคั่งก็จะตามมา

มลวิภา ศิริโหราชัย

นอกจาก กระบวนการผลิตแล้วยังต้องพัฒนาไปจนครบวงจร ทั้งการตลาดเพื่อรองรับสินค้าออร์แกนิก  อย่างที่ อ.แม่อาย ก็มีการรวมกลุ่มขายสินค้าออร์แกนิก  ทั้งผักเมืองหนาว ไข่เป็ด ไปจนถึงการประสานการเปิดตลาดท้องถิ่น แต่สิ่งที่กำลังขาดอยู่คือเรื่อง Packaging ซึ่งได้คนรุ่นใหม่เยาวชนมาช่วยสอน อย่างเรื่องการถ่ายรูปโฆษณาใน TikTok   

กลุ่มยังสมาร์ทเชียงใหม่  เป็นอีกกำลังสำคัญของสภาอาหารปลอดภัย ฯ  วรมน เสมาทัศน์  เครือข่ายกลุ่มยังสมาร์ท ระบุว่า กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้าการเกษตร การแปรรูปสินค้าออร์แกนิก  บรรจุภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์ อีกบทบาทคือเป็นคณะทำงานในสภาอาหารปลอดภัย ซึ่งไม่ได้ทำแค่เรื่องอาหารปลอดภัย  แต่ยังรวมไปถึงประเด็นการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่จะเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ ร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

“การทำงานจะครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การแปรรูป จัดจำหน่าย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดคือปัญหาเรื่องฝุ่น ปีที่ผ่านช่วงหน้าหนาว ฝุ่นเชียงใหม่ติดอันดับโลก ทำให้ต้องหันมาพิจารณาให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการผลิต ที่กระตุ้นให้เกษตรกรในกลุ่มสีข้าวแล้วไม่เผา ไม่เพิ่มฝุ่นควันให้พื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็จะขยายและเชื่อมโยงไปยังกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป” 

วรมน เสมาทัศน์

ในส่วนของการแปรรูปและจัดจำหน่าย ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป Homlawan  ได้เข้ามาช่วยพัฒนาโมเดลธุรกิจให้กับเกษตรกรคนอืน ๆ วรมน ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีสินค้าแปรรูปซ้ำกันเยอะมาก ทำให้ไม่สามารถขายได้ อย่างในชั้นวางสินค้าโอทอป จะเห็นข้าวแต๋น กล้วยตาก วางขายกันเยอะมากแต่ขายไม่ได้ ทำให้ต้องกลับมาแปรรูปที่ไม่ใช่รูปแบบเดิม แต่สินค้าต้องตอบโจทย์ตลาด  ที่ผ่านมาได้ทดลองทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

หนึ่งในปัญหาอุปสรรคเกษตรกรคือกว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ มีทั้งเรื่องออกแบบแพ็กเกจ การขอ อย. การขอมาตรฐานการผลิต การขอตรารับรองสินค้าออร์แกนิก ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้หลายรายไปต่อไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนคือเรื่อง การแปรรูป การทำโรงเรือน การขอใบรับรอง เพื่อช่วยให้มีสินค้าหลากหลายสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน และเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศ

ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าปลอดภัยในพื้นที่ น้ำตาล-ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน  ‘The Goodcery’ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของร้านที่เห็นว่าทางเลือกของสินค้าปลอดภัยในเชียงใหม่มีค่อนข้างน้อย และหากเป็นสินค้าออร์แกนิก อินทรีย์ ราคาก็จะสูงไม่ตอบสนองผู้บริโภคเท่าไหร่ จึงใช้หลักหลักการเลือกสินค้าที่รู้สึกปลอดภัยในกระบวนการผลิตเข้ามาจัดจำหน่ายในร้าน ทั้ง ผัก เนื้อสัตว์ เครื่องปรุง วัตถุดิบตามภูมิศาสตร์ เพื่อให้คนได้ลองใช้วัตถุดิบจากพื้นที่ต่าง ๆ มาสร้างสรรค์อาหารของตัวเอง

“สำหรับมุมธุรกิจอาหารปลอดภัย ยังต้องใช้เวลา ทำร้านให้หลากหลาย  ทั้งขายของชำ  เป็นร้านอาหาร  ร้านกาแฟ มีพื้นที่จัดกิจกรรม  อาร์ตแกลเลอรี ผูกโยงกับท้องถิ่น  เราไม่ได้ทำตามเทรนด์ค่านิยมของคนส่วนใหญ่ แต่สวนค่านิยมของคนด้วย เลยทำให้ ไม่ได้แมสขนาดนั้น แต่ถ้าถามว่าร้านจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้แบบบสบาย ๆ ก็ยังไม่เป็นแบบนั้น แต่เริ่มมีความหวัง หรือถ้าในมุมได้ทำทุกอย่างให้มีโอกาสใหม่ได้เกิดขึ้นในสายนี้ ก็ถือว่าค่อนข้างซัคเซส” 

น้ำตาล  มองว่า  ชาวเชียงใหม่เริ่มตระหนักเรื่องสุขภาพ  เรื่องอาหารปลอดภัย   ทางร้านก็ช่วยขับเคลื่อน เช่น เรื่องฝุ่น ที่จัดงานว่าอาหารที่เรากินเกี่ยวกับฝุ่นยังไงเพราะรับไม่ไหวกับมลภาวะที่เราเจอทุกปีในเชียงใหม่

“เราไม่อยากแค่มานั่งบ่นว่า รัฐบาลไม่ทำอะไร แล้วก็ยังเลือกซื้ออาหาร เข้าสะดวกซื้อแบบเดิม ๆ หรือเราต้องถามย้อนกลับมาถึงห่วงโซ่อาหาร  เพื่อทำให้คนเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ชวนเขามากินไก่ทอดแล้วมาคุยโยงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไง นั่นเป็นสิ่งที่เราพยายามจะบอก”

รจนา ยี่บัว

เรื่องอาหารปลอดภัยมีความพยายามขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง รจนา ยี่บัว  ประธานกลุ่มแม่บ้านแม่อาว ต.ยางคราม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยได้รับรางวัลสวิง ตันอุด ประเภทเครือข่ายจัดการตนเอง ระบุว่า จากที่ทำงานร่วมกับ อสม. รพ.ชุมชน พบสารพิษตกค้างของชาวบ้านสูงมาก  จึงมาร่วมวางแผนจัดเวทีประชาคม รวมกันปลูกผักปลอดสารพิษกินกันเอง จากที่เริ่มต้น 10 กว่าครัวเรือนเป็น 80 กว่าครัวเรือน จากทั้งหมด 100 กว่าครัวเรือน  พอปีต่อมาตรวจก็มีระดับสารพิษตกค้างลดลง 

สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนเห็นประโยชน์ของการลุกขึ้นมาจัดการตนเองในระดับพื้นที่ ซึ่งไม่ต้องรอให้คนอื่นมาสั่งเราทำ แต่เราลุกขึ้นมาทำเองเลย ถามว่ายากไหมก็ยาก ทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวคิดของคน แต่เราเริ่มจากตัวเราเองก่อน จัดการตัวเองก่อน แล้วก็ขยายวงไปเรื่อย  ๆ ซึ่งเริ่มขยายไปถึงหมู่บ้านอื่น รวมทั้งกำลังจะเชื่อมต่อกับสภาอาหารปลอดภัย ในอนาคต เพื่อทำให้ชาวบ้านเกษตรกรมีสุขภาพดี ปลอดภัยและมีรายได้ด้วย  

“ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนรู้ปัญหา สาเหตุปัญหา การจัดการปัญหาได้ดีกว่า การที่เราเป็นเจ้าของปัญหา ทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่าให้คนอื่นมาจัดการปัญหา“  

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนพล บางยี่ขัน

นักข่าวรุ่นเก่าที่ชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ เชื่อมั่นในพลังของข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์