แก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. ที่ต้นทางด้วย Data Visualization Dashboards 

อีกไม่กี่ปีน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ?

หากการคาดการณ์ล่วงหน้านี้เป็นจริง คงถึงเวลาแล้วที่ชาวกรุงจะออกแบบชีวิตกันใหม่ แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือการบริหารจัดการพื้นที่ท้าทายอย่าง กทม. ที่มีลักษณะทางกายภาพแบบราบลุ่ม ซ้อนทับกับปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งทางประชากรและเศรษฐกิจ ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ การจัดการและบริหารทรัพยากรให้เหมาะสมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมอาจช่วยชาวกรุงฯ แก้ปัญหาได้ดีกว่า

The Active พูดคุยกับ บุญญรัตน์ กิตติวรวุฒิ Senior Manager for Asia, Open Contracting Partnership เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการ Bangkok Lift Program ที่กำลังจะรวมพลคนรุ่นใหม่ ร่วมกันสร้างเครื่องมือสำคัญในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ดูความเป็นไปได้ เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน เพื่อให้การตัดสินใจส่งผลดีกับประชาชนอย่างสูงสุด

บุญญรัตน์ กิตติวรวุฒิ

“กทม.มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่ม ทำให้เรื่อง ‘น้ำท่วม’ เป็นปัญหาหลักของกทม.มานาน และกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนมาก และนับวันจะแย่ลงทุกที และมีการประเมินแล้วว่า น้ำท่วมจะเป็นปัญหาหลักของกทม.ต่อไปเรื่อย ๆ” 

บุญญรัตน์ เล่าว่า ในเมื่อเรื่องน้ำท่วมจะต้องอยู่กับกทม.ไปอีกแสนนาน การกลับมามองเรื่องบริหารจัดการงบประมาณและทรัพยากรของ กทม.เป็นการช่วยแก้ปัญหาที่ต้นทาง เพราะหากมีการจัดการที่ดี คุ้มค่า จะส่งผลดีต่อชาวกรุงในระยะยาวมากกว่า

โดยโครงการ Bangkok Lift Program จะทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด รวมถึงวิธีการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล ด้วยความร่วมมือจากกทม. ที่ต้องการบริหารจัดการงบฯ ว่าทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และบริหารน้ำท่วมได้ตรงจุดที่สุด 

“ที่ผ่านมา สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีข้อมูลเพียงแค่ว่า จุดไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง หรือมีการร้องเรียนเยอะจากการแจ้งข่าวของกทม. สิ่งที่เราทำคือนำข้อมูลของกทม.ทั้งหมดมาวิเคราะห์ นำข้อมูลที่กระจัดกระจายมากมายหลายหน่วยงานมารวบรวม และเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้”

แต่จะดียิ่งกว่า ถ้ามีการนำข้อมูลของหลายหน่วยงานมาเชื่อมกัน การ mapping ออกมา ทำให้เห็นปัญหาว่าจุดไหนเสี่ยง หรือจุดไหนมีประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น คนสูงวัย และต้องการความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ การแชร์ข้อมูลกันเช่นนี้จะทำให้รู้ว่าพื้นที่ไหนที่ควรได้รับงบประมาณก่อน-หลัง หรือจัดลำดับความเร่งด่วนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหาระยะสั้น และระยะยาวที่กทม.ต้องเผชิญเรื่อยมา

“กทม.มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้เยอะมาก เช่น น้ำท่วม ท่อตัน แต่ตอนนี้มีระบบ Traffy Fondue ก็สามารถช่วยได้มากในขณะที่ปัญหาระยะยาวก็ดูจะเป็นรูปแบบซ้ำ ๆ เราสามารถนำสิ่งนี้มาวิเคราะห์ข้อมูลได้ โดยแยกในระดับ structure และ เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ 

เพราะเมื่อเราเห็นรูปแบบที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะเจอวิธีการแก้ปัญหา เช่น บริเวณไหนมีที่น้ำอุดตันบ่อย เราอาจต้องมาแก้ไขที่เรื่องการทิ้งขยะ หรือวิเคราะห์เพิ่มว่าในบริเวณนั้นมีการก่อสร้างที่กระทบความเป็นอยู่ของประชากรหรือไม่”

ในขณะเรื่องการวางแผนระยะยาว เราได้เห็นการทำนายออกมาในระดับโลกแล้วว่าน้ำอาจจะท่วมกทม.อย่างหนักในปี 2050 โดยวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีระดับน้ำทะเลขึ้นปีละ 1.5 cm แต่ในเมื่อประเทศไทยยังเลือกที่จะให้กทม.เป็นเมืองหลวงต่อไป การเก็บข้อมูลเหล่านี้จะนำมาสู่การวางแผนว่าควรมีการลงทุนระบบสาธารณูปโภคระดับใหญ่ในเมืองหลวงที่จะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจหรือไม่

ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผลการทำงานที่ได้มาจะออกมาในรูปแบบของ Data Visualization Dashboards นั่นคือการนำข้อมูลของแต่ละภาคส่วนมาประมวลผลซ้อนทับเป็น layer ร่วมกัน

“เราใช้ข้อมูลงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง Procurement data และ Non- procurement data  เช่น การร้องเรียนจากภาคประชาชน ข้อมูลประชากร ข้อมูลลมฟ้าอากาศ ของแต่ละพื้นที่มาเลเยอร์กัน จากนั้นก็ทำเป็น Visualization Dashboards 

“ผู้เข้ามาใช้งานเครื่องมือนี้ เราจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ external users หรือ ประชาชน เพื่อสื่อสารว่าบริเวณไหนคือจุดเสี่ยง หรือในบริเวณนั้น กทม.เสนองบประมาณอย่างไร ดำเนินการถึงไหนแล้วในระดับรายละเอียด อีกส่วนคือ internal users หรือคนทำงานใน กทม. เอง พอมีเครื่องมือนี้ จะทำให้หน่วยงานตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสร้างความโปร่งใสให้ประชาชนเห็นมากขึ้นด้วย”

บุญญรัตน์ ยังเสริมอีกว่า นี่เป็นการออกแบบการทำงานตามบริบทของกทม.อย่างแท้จริง ไม่ใช่การนำ best practice จากต่างประเทศมาใช้ แต่คือการนำบทเรียน และประสบการณ์ในการแก้ปัญหาที่คล้ายคลึงกันที่ประสบความสำเร็จแล้วในพื้นที่อื่น เพื่อให้ตอบโจทย์มากที่สุด

และเมื่อประชาชนเห็นความเสี่ยงในพื้นที่ตัวเองด้วยความแข็งแรงของข้อมูล ชาวกรุงอย่างเราก็จะใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น สามารถวางแผนการเดินทางและการใช้ชีวิตได้ ซึ่งต้องอาศัยทีมที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว และมีอุดมการณ์ในการอยากร่วมแก้ปัญหาสังคมไปด้วยกัน

ซึ่งขณะนี้ ทางโครงการ Bangkok Lift Program เปิดให้ภาคประชาชนจากทั่วโลกที่มีความสนใจ และมีความรู้ด้าน Data Visualization หรือการบริหารจัดการโครงการ ฟอร์มทีมกันสมัครเข้ามา ภายในวันที่ 27 ก.ย.67 นี้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง กทม.ไปพร้อมกัน