“แทรมน้อยลูกอีสาน” บทพิสูจน์ “กระจายอำนาจ” ขนส่งมวลชนเชื่อมเมือง สร้างเศรษฐกิจ และต่อยอดการเรียนรู้
นับเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ที่เราได้ยินข่าวการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดที่ “ขอนแก่น” มหานครภาคอีสาน โดยเฉพาะการพัฒนาในเขตเมือง ที่มีโครงการ กิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย ในวันนี้หากเราเดินทางเข้าไปในตัวเมืองขอนแก่น อาจให้บรรยากาศที่ไม่ต่างจากการเข้ามาในกรุงเทพฯ เท่าไหร่นัก ทั้ง อาคาร ตึกสูง ศูนย์การค้า หอประชุม กระจายอยู่ในตัวเมืองขอนแก่นนับไม่ถ้วน
สิ่งที่ตามมาด้วย คือ ปัญหาที่เมืองใหญ่ ๆ ต้องเจอ ทั้ง รถติด น้ำท่วม ที่อยู่อาศัย ความเหลื่อมล้ำ ที่แสดงตัวให้เห็นชัดเจนมากขึ้น นำมาสู่การหาวิธีการแก้ไขเชิงโครงสร้าง เพื่อรองรับต่อการใช้ชีวิตของคนเมืองในอนาคต หนึ่งในนั้นคือ การเกิดขึ้นของ “รถไฟฟ้า” โครงการแรกในต่างจังหวัด
จนถึงตอนนี้คงมีคำถามเกิดขึ้นในใจคนขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงว่า “รถไฟฟ้าจะเสร็จเมื่อไหร่” หรือแม้แต่ “จะเริ่มสร้างได้หรือยัง” แม้ทุกคนจะเข้าใจดีว่าโครงการใหญ่ที่ไม่พึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ เป็นสิ่งที่ยาก และต้องใช้เวลา แต่ทุกคนต่างเฝ้ารอคอย คงจะดีไม่น้อยหากเราได้เห็นสัญญาณการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ว่าขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนใด และจะสำเร็จในช่วงใด
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา The Active ลงพื้นที่ไปยัง จ.ขอนแก่น เพื่อติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ พอดีกับที่ รถไฟฟ้ารางเบา (ต้นแบบ) ของขอนแก่น เริ่มเดินเครื่อง และขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์แบบ 100% เพราะ ที่ผ่านมายังคงเป็นตัวรถต้นแบบ ที่เครื่องยนต์ และระบบการขับเคลื่อนยังไม่สมบูรณ์ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่จะพาไปสู่อนาคตระบบรางของเมืองแห่งนี้
“แทรมน้อยลูกอีสาน” เป็นชื่อเรียก รถไฟฟ้ารางเบา หรือ รถแทรม ที่ทั้งการออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน ประกอบตัวถัง และระบบวิศวกรรมทั้งหมดเป็นฝีมือของคนไทยทั้งสิ้น โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. และมีเอกชนเจ้าใหญ่ที่มีองค์ความรู้ด้านการประกอบชิ้นส่วนรถอย่าง “ช ทวี” เป็นผู้ร่วมทุนวิจัยในครั้งนี้ด้วย
โดยจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ชุดนี้ เกิดจากการรับบริจาค Hiroshima Tram ส่งตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น ในปี 2562 ด้วยการสนับสนุนงบประมาณค่าขนส่งของ “บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง” เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนา วิจัย และต่อยอดมาสร้างรถแทรมขบวนแรกของประเทศในมหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่สร้างคุณค่ามหาศาลต่อวงการการศึกษา และการพัฒนาเมือง
จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่นักวิจัย วิศวกร และบุคลากรในจังหวัดขอนแก่นได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีด้านระบบรางที่ได้จากการไปศึกษาดูงานในประเทศชั้นนำทั่วโลก มาปรับใช้ในประเทศไทยด้วยตนเอง โดยได้มีการประกอบขบวนรถไฟฟ้ารางเบา ทดสอบการทำงาน ปรับปรุงคุณภาพให้สามารถใช้ได้จริง จนถึงวันนี้ สามารถกล่าวได้ว่า มทร.อีสาน ร่วมกับบริษัท ช ทวี และภาคส่วนอื่น ๆ ได้ร่วมผลิต “รถไฟฟ้าฝีมือคนไทย ขบวนแรกของประเทศได้สำเร็จ ที่ จ.ขอนแก่น”
อ.ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และยังเป็นนายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย ยังคงพึ่งพาทรัพยากร และองค์ความรู้ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนงบประมาณจำนวนมาก ถ้าเราจะขับเคลื่อนการวิจัย และสร้างเทคโนโลยีของเราเอง จะประหยัดงบประมาณได้มาก และถ้าสามารถสร้างอุตสาหกรรมระบบรางให้เกิดขึ้นได้ จะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมของคนในภูมิภาคได้ด้วย
“นักศึกษาของเราที่จบออกมา ก็สามารถทำงานที่บ้านตัวเองได้ ไม่ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดตนเองได้… “
อ.ปริญ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากโครงการนี้เสร็จสิ้นแล้ว จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตชิ้นส่วนระบบรางในเชิงพาณิชย์ต่อไป และจากการใช้ชิ้นส่วนระบบรางที่ผลิตภายในประเทศของรถไฟฟ้ารางเบานี้ ทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ของการผลิตชิ้นส่วนด้านระบบรางภายในประเทศ ทำให้เกิดการสร้างงาน ในแก่ประชาชนในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้นด้วย
ขนส่งสาธารณะ สร้างการเรียนรู้
อ.ไพวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่ารถไฟฟ้าขบวนนี้ เป็นความสำเร็จในระยะที่ 2 ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่จะขอรับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อทดลองใช้จริงภายในมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะขยายสู่การวิ่งรอบบึงแก่นนคร ระยะทางรวม 5 กิโลเมตร และจะสนับสนุนโครงการใหญ่ของจังหวัดด้วย
สิ่งสำคัญ ของโครงการนี้ คือ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนการสอน ของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ใน มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อให้มีประสบการณ์สามารถลงมือทำเองได้ เนื่องจากภายในมหาวิทยาลัยมี ศูนย์ซ่อมบำรุง (KhonKaen Depot) โดยเฉพาะ เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการของนักศึกษาได้ทดลองทำด้วยตนเอง
นอกจากนั้น การออกแบบภายในยังอยู่ภายใต้แนวคิด การนำวัสดุภายในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย โดย อ.ไพวรรณ อธิบายถึงการพัฒนาส่วนประกอบภายในรถไฟฟ้า ที่ใช้ “ยางพารา” ซึ่งปลูกกันอย่างแพร่หลายในจ.ขอนแก่น ได้แก่ นวัตกรรมยางแห้ง เป็นแผ่นยางปิดร่องรางรถราง หรือ “หมอนรางรถไฟ” เพื่อรับน้ำหนักของรถรางขนาด 25 กิโลนิวตัน ที่คุณสมบัติที่ยืดหยุ่น สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ทนต่อสารละลาย และสาร UV
และยังมี “ห่วงมือจับยางพารา” ใช้แผ่นยางแห้งจากสวนของเกษตรกรในพื้นที่ สามารถรับแรงดึงได้ดี และที่สำคัญต้นทุนถูกกว่าวัสดุเดิม อย่าง พลาสติกด้วย สุดท้าย คือ การออกแบบ “เบาะรองนั่ง” จากยางพาราที่ใช้ในรถไฟ ที่มีคุณสมบัติในการลดหรือกระจายแรงกด คืนตัวได้ดี ไม่เกิดการยุบตัวเมื่อใช้เป็นเวลานาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหมอนทั่วไป สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และไม่ไวต่อความร้อนหรือไฟ เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการของผู้โดยสาร อ.ไพวรรณ กล่าว
บทพิสูจน์ความสามารถ “วิศวกรไทย”
สมสมัย บุญก้อน ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในบุคลากร ที่บริษัทให้ไปศึกษาดูงานเทคโนโลยีระบบรางในต่างประเทศ โดยได้นำความรู้มาปรับใช้กับการผลิตรถไฟฟ้ารางเบาของขอนแก่น โดยในช่วงแรกยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะ ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ แต่เมื่อได้เริ่มแล้ว พบว่าไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถที่คนไทยจะทำได้
“บางส่วนก็ยาก แต่ถ้าคนที่ไม่ได้เข้ามาคลุกคลีจะมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะ ได้เริ่มลงมือทำ ถึงได้รู้ว่าแม้ไม่ได้ง่าย ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะทำ จนสามารถสำเร็จได้ในวันนี้ ผมว่าวิศวกรไทยเรามีความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการแรงสนับสนุน และต้องเอาจริงเอาจังทำเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่อง…”
สมสมัย กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการผลิตรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดขอนแก่น ได้เสร็จสมบูรณ์ในส่วนของขบวนต้นแบบแล้วก็ตาม แต่ยังมีระยะของการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น คือ การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ หรือ การพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้ารางหนักในอนาคต ซึ่งหากสามารถทำให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางในจังหวัดได้ จะช่วยยกระดับความสามารถ การจ้างงานของคนในพื้นที่ มีงานรองรับโดยไม่ต้องไปวิ่งหางานใน กทม. อย่างที่เป็นอยู่
บทพิสูจน์การกระจายอำนาจ ท้องถิ่นคิด ริเริ่ม และลงมือทำ
อ.ปริญ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาต่อจากนี้ จะเริ่มต้นวิ่งทดลองภายใน มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถก่อสร้างระบบราง และดำเนินการได้เสร็จสิ้น ในขณะที่การให้บริการรอบบึงแก่นนคร ยังต้องรอการดำเนินการของเทศบาลนครขอนแก่น และจังหวัดขอนแก่นว่าจะสามารถเริ่มได้เมื่อไหร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเดินหน้าเรื่องพื้นที่ และงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการรถไฟฟ้าที่เริ่มต้น และดำเนินการในจังหวัดขอนแก่น เป็นบทพิสูจน์ของ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่หลายฝ่ายต้องการ อ.ปริญ กล่าวว่า นี่เป็นภาพสะท้อนถึงความร่วมมือภายในจังหวัด ที่ใช้ศักยภาพของคนในท้องถิ่นเอง แสดงให้เห็นว่าสามารถทำได้ หากได้รับการเปิดโอกาสและการสนับสนุนจากส่วนกลาง
“การกระจายอำนาจ เรื่อง ขนส่งมวลชนในระดับเมืองออกมา กระตุ้นให้เห็นความต้องการของประชาชน กระตุ้นให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีของตนเอง และที่สำคัญ คือ การพัฒนาและคิดร่วมกันของคนในพื้นที่ เมื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการเรื่องเหล่านี้ ทำให้เกิดการพัฒนา และคิดต่อยอดในด้านต่าง ๆ ไม่ต้องรอกระจุกตัวที่ส่วนกลางอย่างเดียว และบางครั้งสามารถพัฒนาขีดความสามารถที่ไกลกว่านั้นได้ด้วย…”