สู้น้ำท่วม-ภัยพิบัติ! ถึงเวลา ‘เกษตรกร’ ปรับตัว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เกิดขึ้นหนักหน่วงทุกปี ส่งผลกระทบประชาชนคนไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะ เกษตรกร​ ที่ต้องพึ่งพาดิน ฟ้า อากาศ กลายเป็นกลุ่มอาชีพที่เดือดร้อนอย่างหนัก เพาะผลผลิตที่อยู่ในช่วงรอเก็บเกี่ยว หากเสียหาย นั่นหมายถึงต้นทุนการเพาะปลูกหายไปทันทีโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย

การปรับตัว และเรียนรู้ เพื่ออยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงเป็นแนวทางสำคัญที่เกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง หรือ พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ต้องกลับมาทบทวนวิถีการทำเกษตรของตัวเอง

เพราะพื้นที่ทำกินอยู่ใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี อยู่ใกล้กับลำน้ำมูลตลอดช่วงหลายปีมานี้ สกลกิจ วงศ์พรมมา เจ้าของ ศรีบุญมาฟาร์ม จึงเผชิญกับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมซ้ำซาก ในช่วงหน้าฝน ช่วงฤดูน้ำหลาก เขายอมรับว่า ทั้งที่ทำการเกษตรแท้ ๆ แต่กลับดูน้ำไม่เป็น ไม่รู้ว่าเมื่อไรน้ำจะขึ้น ที่สำคัญคือรูปแบบการทำเกษตรที่ทำอยู่เดิม ก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติ จนทำให้ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมใหญ่ ๆ ปี 2562

สกลกิจ วงศ์พรมมา

“ตอนนั้นลงทุนปลูกมันญี่ปุ่น คาดว่าจะได้ผลผลิตดี และเป็นที่ต้องการของตลาด เดิมก็คาดไว้ว่าง ประมาณก่อนถึงช่วงหน้าหนาวน่าจะได้เก็บผลผลิต คิดว่าน้ำจะมาช้า คงได้เก็บมันก่อน แต่เอาเข้าจริงน้ำกลับหลากมาอย่างรวดเร็ว วันละ 20 – 40  เซนติเมตร ในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม ก็ท่วมผลผลิตทั้งหมด โดยยังไม่ทันได้เก็บ ในช่วงปี 2562 จึงเอาอะไรไม่ทันสักอย่าง”

สกลกิจ วงศ์พรมมา

ผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนั้น จึงคิดว่าเพาะปลูกแบบเดิม ๆ คงไม่ได้แล้ว สกลกิจ จึงพยายามปรับวิธีใหม่ ๆ และก็เป็นช่วงเวลาที่เข้าร่วมกับ ‘เครือข่ายกินสบายใจ’ ปรับวิธีการทำเกษตรมาใช้รูปแบบอินทรีย์ และเรียนรู้การคาดการณ์น้ำ การปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งในช่วงปี 2565 ก็มาเจอน้ำท่วมอีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่เสียหายเหมือนครั้งก่อน ๆ และองค์ความรู้จากการศึกษา เก็บข้อมูล การคาดการณ์ ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนวิธีเพาะปลูก การเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ก็ช่วยให้ลดความสูญเสียได้อย่างมาก ที่สำคัญคือสามารถปรับตัวให้มีผลผลิตได้เก็บเกี่ยวแม้ในช่วงภัยพิบัติก็ตาม

สกลกิจ อธิบายถึง พื้นที่ทำเกษตรของศรีบุญมาฟาร์ม ถือเป็นพื้นที่ลาดชันทั้งหมด 7 ไร่ เป็นพื้นที่ริมบุ่งหรือพื้นที่ริมน้ำมูล ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้ง่าย 5 ไร่ หลังจากเก็บข้อมูลแล้ว ได้ออกแบบแปลงโดยใช้พื้นอีก 2 ไร่ที่เหลือ ปลูกพืชผักแบบผสมผสานหมุนเวียนตามฤดูกาล

  • ปลูกพืชปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี เช่น พริกไทย

  • ปลูกพืชครั้งเดียวเก็บเกี่ยวรายวัน เช่น ชะอม

  • ปลูกพืชครั้งเดียวเก็บเกี่ยววันเว้นวัน เช่น ผักกูด

  • ปลูกพืชกินใบตามฤดูกาลเพื่อเก็บขายได้ทุก 15 วัน

  • ทำกิ่งพันธุ์พริกไทยขายเพิ่มรายได้อีกทาง

ประกอบกับมีโรงสีเล็ก ๆ เอง เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เอาขี้หมู ใบไม้มาทำปุ๋ย ทำน้ำหมักใช้เอง ทุกอย่างที่นี่จึงมีครบวงจร เป็นต้นแบบของการทำแปลงเกษตรับมือภัยพิบัติ ที่มีพืชผักเก็บขายได้ มีรายได้ตลอดทั้งปีประมาณ 100,000 กว่าบาท

ทั้งนี้จากการมีองค์ความรู้เรื่องการเก็บข้อมูล ก็ทำให้เขาทราบว่า ปีนี้ (2567) ฤดูฝนมาช้ากว่าปีที่แล้ว (2566) ที่ฤดูฝนเริ่มเดือนสิงหาคม ซึ่งปีนี้ฤดูฝนเริ่มเดือนกันยายน ฝนเพิ่งจะมา และอาจมีฝนตกยาวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน การวางแผนเพาะปลูกจึงต้องคำนวณใหม่ ผักที่จะปลูกช่วงนี้ คือ ข้าวโพดหวาน, กะหล่ำปลี, กะหล่ำดอก ที่เหมาะกับช่วงฤดูหนาว ถ้าฝนยังตกอยู่การทำต้นพันธุ์ เพื่อปลูกต้องล่าช้าออกไป ถ้าทำก่อนแล้วปลูกไม่ได้ ต้นพันธุ์จะเสียหาย ข้อมูลที่เก็บได้จึงมีประโยชน์และช่วยให้เตรียมตัวได้อย่างมาก

เจ้าของศรีบุญมาฟาร์ม ยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ ที่ทำการเกษตรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพถูมิอากาศ เขาเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจว่า ได้เตรียมความพร้อมเพื่อจะรับมือกับมวลน้ำ หรือฝนที่กำลังตกขณะนี้ไว้แล้ว และคาดว่า สามารถรับมือได้ เพราะผลผลิตทางการเกษตรที่อาจเสียหายได้เก็บหมดแล้ว ยังเหลือแต่ปลาในบ่อ ซึ่งกำลังรอดูจังหวะว่า จะต้องวิดขึ้นช่วงไหน แต่เชื่อว่าวิดขึ้นมาทันก่อนน้ำท่วม เพราะเคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้วก็เอาบทเรียนที่เคยมาปรับใช้

“การที่บอกว่าสามารถรับมือได้กับสภาพภูมิอากาศ หรือน้ำที่กำลังจะมาได้ เป็นการพูดที่ทำได้จริง เพราะหลังจากได้ร่วมเป็นเครือข่ายกับกินสบายใจ มาตั้งแต่ปี 2561 และผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ GPS กับกินสบายใจเมื่อปี  2563 การทำเกษตรของผมได้เปลี่ยนไป จากที่ไม่เคยมีแบบแผน เปลี่ยนมาเป็นการทำเกษตรแบบมีแบบแผน รู้จักนำนวัตกรรม และข้อมูลมาใช้ รู้จักเก็บข้อมูลน้ำฝน และสภาพอากาศ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบวางแผนการเกษตรในฟาร์ม แล้วบริหารการเก็บเกี่ยว และการนำออกขายเพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี”

“เราต้องติดตามสถานการณ์ วัดอุณหภูมิ วัดปริมาณฝน ทำทุกวันต่อเนื่องและเก็บอย่างนี้มาแล้ว 2-3 ปี เพื่อเอาข้อมูลที่ได้มาคำนวณการเพาะปลูก ควบคู่กับการดูอายุของพืชจะปลูก เราต้องรู้จักลักษณะของพื้นที่ตัวเองเป็นที่ลุ่ม เหมาะกับการปลูกพืชตัวไหน เดือนไหนควรปลูกอะไร ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อไร เพราะเราต้องเก็บเกี่ยวก่อนพายุมา ตามการคาดการณ์ที่เราประเมินจากข้อมูลที่มีอยู่ในมือ”  

สกลกิจ วงศ์พรมมา

จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกปี โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยง จึงต้องเตรียมพร้อม และรับมือให้ได้อย่างทันท่วงที นี่คือสิ่งที่ คนึงนุช วงศ์เย็น ผู้รับผิดชอบโครงการกินสบาย เน้นย้ำความจำเป็นของการสร้างความตระหนักให้กับเกษตรกรยอมปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต

และไม่ใช่แค่ที่ ศรีบุญมาฟาร์ม ยังมีเกษตรกรต้นแบบอีกคน อย่าง สามัคคี นิคมรักษ์ ซึ่งพื้นที่ของเขา เป็นพื้นที่สูง ขาดน้ำ เป็นนาดินทราย ไม่กักเก็บน้ำ จึงต้องเก็บข้อมูลเรื่องน้ำ ปริมาณน้ำฝนทุกปีเช่นกัน เพื่อนำมาวางแผนแปลงเกษตรของตนเอง จนได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยการ “ดักน้ำลงใต้ดิน” ดักน้ำจากชายคาลงสระ ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้น้ำออกนอกแปลง ปรับโครงสร้างดินให้ดีขึ้น เปลี่ยนระบบนิเวศน์ในฟาร์ม ให้เป็นการปลูกป่าหัวไร่ปลายนา เพื่อให้มีต้นไม้ สร้างโรงเรือนในพื้นที่ครึ่งไร่ ปลูกมะเขือเทศ ทำให้มีรายได้ประมาณ 200,000 – 300,000 บาท/ปี

“เครือข่ายทั้ง 2 แปลง เป็น 1 ใน 50 แปลงที่รับมือกับภัยพิบัติทั้งระบบ ตั้งแต่การออกแบบความเสี่ยง การออกแบบลดและป้องกันความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยงด้วยความหลากหลายของการปลูก และมีกิจกรรมอื่น ๆ เข้ามาต่อยอดเพื่อให้เกิดรายได้จากผลผลิต โดยไม่ทำผักต้นหรือผักใบอย่างเดียว แต่เรื่องการประกัน ความเสี่ยงก็ยังทำไม่ได้ เพราะพื้นที่ไม่มีพลังมากขนาดนั้น อาจจะต้องเป็นเรื่องของนโยบายระดับชาติ โดยใช้ต้นแบบในพื้นที่เป็นพลังหนุนให้เกิดเป็นนโยบายระดับชาติในอนาคต”

คนึงนุช วงศ์เย็น

ขณะนี้ เครือข่ายกินสบายใจ จ.อุบลราชธานี ทำงานขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อาหาร เป็นเรือธงหลักพาเกษตรกร จ.อุบลราชธานีทำเกษตรอินทรีย์ จากพื้นที่ทำเกษตรทั้งหมดของจังหวัด 5.8 ล้านไร่ ปัจจุบันมีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แล้ว 1,742 ไร่ และจากจำนวนนี้ มี เกษตรกร 50 แปลง เป็นต้นแบบการทำเกษตรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คิดเป็น 25 – 30% ของพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด

การทำงานเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร และยังให้ความสำคัญกับการจัดการกับสถานการณ์ภัยพิบัติเป็นอีกสิ่งยืนยันว่าถึงเวลาที่เกษตรกรต้องปรับตัวโดยเร็ว ประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุน สสส. ย้ำว่า การทำเกษตรอินทรีย์ให้เกิดความมั่นคง มีผลผลิตออกมาได้ทุกฤดูกาล แม้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งความร้อน และฝนลดลง แต่เกษตรกรได้ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ มาช่วยเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพพื้นที่ แก้ปัญหาดิน สร้างระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับการทำเกษตร ทำให้สามารถปรับตัวได้ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้มีรายได้ตลอดฤดูกาล เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับครัวเรือน

ถึงตรงนี้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดกำลัง คงกำลังเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ บทเรียนผลกระทบจากหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตร น่าจะเป็นคำตอบได้อย่างชัดเจน ว่า ถึงเวลาแล้วที่เกษตรกร อาจจำเป็นต้องเร่งปรับวิถีการทำเกษตรด้วยการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างน้อยเพื่อให้เกษตรกร สามารถทำกินอยู่ได้ ด้วยข้อมูล และการประเมินสถานการณ์อย่างแม่นยำ เพื่อช่วยลดความสูญเสีย ในช่วงเวลาที่สภาพลมฟ้าอากาศ เอาแน่เอานอนไม่ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active