“สมรสเท่าเทียม” แล้วไง… เมื่อไร ? เพศ-สิทธิ ในรั้วโรงเรียนจะเท่ากัน

นับเป็นเวลา กว่า 2 ทศวรรษที่ภาคประชาชนร่วมกันผลักดัน กฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อเป็นกลไกรับรองสิทธิการสร้างครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ การมีสิทธิร่วมกันของคู่รักเพศหลากหลาย และมากกว่านั้น คือ เพื่อเป็นกลไกในการสร้างสังคมที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายให้เกิดขึ้นได้จริง

สมรสเท่าเทียม จึงนับเป็นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของสังคมไทย เมื่อร่างกฎหมายฯ ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 แต่สมรสเท่าเทียมเองก็คงไม่ใช่กลไกเดียวในการสร้างสังคมที่ผู้คนยอมรับในความแตกต่างของปัจเจกบุคคล

ยังมีประเด็นอื่นในหลากหลายมิติที่ต้องขับเคลื่อน และเดินหน้าควบคู่ในช่วงรอการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ หนึ่งในนั้น คือ ความเท่าเทียมในระบบการศึกษา ที่เชื่อกันว่าจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างของบุคคลเริ่มตั้งแต่ เด็ก และเยาวชน

สิ่งที่สังคมยังตั้งคำถามคือ เพื่อให้การสร้างความเท่าเทียมในสังคมเกิดขึ้นจริง ระบบการศึกษาไทยควรเดินหน้าต่ออย่างไร และมีปัญหาใดบ้างที่ยังรอการแก้ไข

The Active ชวนวิเคราะห์ประเด็นนี้เพื่อมองปัญหา และแลกเปลี่ยนมุมมองถึงโอกาสการก้าวต่อของความเท่าเทียมในระบบการศึกษาไทย

“เสรีทรงผม” บันไดขั้นแรกบันดาลความเท่าเทียมในรั้วโรงเรียน ?

หลังจาก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยกเลิก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เมื่อประเด็นนี้ ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ แกนนำ กลุ่มนักเรียนเลว มองว่านำไปสู่ข้อถกเถียงตามมา ว่า จะทำให้โรงเรียนมีอำนาจละเมิดสิทธินักเรียนมากขึ้น และการจำกัดสิทธิในทรงผมของนักเรียนจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ เพราะโรงเรียนมีอำนาจในการกำหนดกฎระเบียบทรงผมได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องขึ้นกับส่วนกลาง

จากข้อเท็จจริงที่กลุ่มนักเรียนเลวได้รับการร้องเรียน ภายหลังการยกเลิกระเบียบกระทรวงฯ ดังกล่าว คือ ยังพบการละเมิดสิทธิจากโรงเรียนอยู่เสมอ เพียงแต่ทำแบบแยบยลมากขึ้น และไม่โจ่งแจ้งเหมือนแต่ก่อน บางโรงเรียนอาจใช้วิธียึดโทรศัพท์ ทำให้นักเรียนไม่มีเครื่องมือในการบันทึกหลักฐาน และเมื่อไม่มีหลักฐาน สื่อก็จะไม่ให้ความสนใจ เพราะไม่สามารถนำไปทำข่าวได้ ทำให้เรื่องไม่เผยแพร่ไปไกล และไม่อยู่ในการรับรู้ของสังคม คนจึงอาจคิดว่าการละเมิดสิทธิของนักเรียนไม่เกิดขึ้นแล้ว

พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีโรงเรียนจำนวนไม่ถึง 20% ที่อนุญาตให้นักเรียนไว้ทรงผมตามเพศวิถีได้ ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ กลับกันโรงเรียนในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ยังคงกฎระเบียบไว้เช่นเดิม และเน้นย้ำว่า ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นที่ยังต้องขับเคลื่อนต่อไป เพราะแม้สถานการณ์อาจดีขึ้นแล้ว แต่ยังสามารถทำให้ดีขึ้นได้อีก

“รักโรงเรียนก็รักการเรียนด้วยนะ ไม่ใช่มานั่งหวีผมเล่น”

ข้อความดังกล่าว คือ ความคิดเห็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ในคลิปสัมภาษณ์ของเพจ “Futureboard” ที่สัมภาษณ์นักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ได้ให้ข้อมูลว่า “โรงเรียนให้เสรีทรงผมแล้ว” โดยความคิดเห็นดังกล่าว สะท้อนว่า ปัจจุบันยังปรากฏความคิด หรือความเชื่อว่า หากโรงเรียนให้เสรีแก่นักเรียนในการแต่งตัว และไว้ทรงผมตามเพศวิถี นักเรียนจะใช้เวลาเรียนไปกับการสนใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ ว่า ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการนั้นช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่เด็กจะค้นหาความชอบ ความเชื่อ และตัวตนของตัวเอง ซึ่งหากโรงเรียนไปกดทับ และไม่อนุญาตให้พวกเขาแสดงออกตัวตน หลายคนก็จะหาวิธีอื่นในการแสดงออก โดยหลายครั้งมักเป็นการกระทำที่ท้าทายต่อกฎระเบียบ

อีกทั้งการให้เสรีในเรื่องของเครื่องแต่งกายและทรงผม ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสำเร็จและประสิทธิผลในการเรียนของนักเรียนได้

ผศ.อดิศร จันทรสุข
คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

สอดคล้องกับมุมมองของ ลภนพัฒน์ ที่เชื่อว่าการดูแลใส่ใจตัวเองของนักเรียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรงผมหรือเครื่องแบบ แต่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของช่วงวัย  ซึ่งหากพูดคุยกันบนพื้นฐานความเป็นจริงของธรรมชาติ คือ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีกฎบังคับ สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน และการก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ที่ทำให้คนสนใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง และการถูกมองจากสังคมมากขึ้น

ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยควรหาวิธีที่จะทำให้นักเรียนทุกคนเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ โดยโรงเรียนควรสอนเด็กว่า จะดูแลและใส่ใจตัวเองอย่างไร และควรทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อมาตรฐานความงาม (Beauty standards) ของสังคม พร้อมสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน และทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

“นึกภาพไม่ออก สภาพภายในโรงเรียนจะเป็นอย่างไร”

เป็นอีกความเห็นในคลิปสัมภาษณ์ของเพจ “Futureboard” คลิปเดียวกัน นี่เป็นความคิดที่ ลภนพัฒน์ ยอมรับว่า เป็นความกลัวของผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ที่คิดว่า ถ้าเกิดเสรีทรงผมและเครื่องแต่งกายแล้ว โรงเรียนจะไม่ใช่โรงเรียนอีกต่อไป และเด็กจะทำผมและใส่เสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสมมาโรงเรียน เพราะตลอดที่ผ่านมาโรงเรียนใช้วิธีบังคับเรื่องการแต่งกายและการไว้ทรงผม กล่าวคือ คนในสังคมอยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับมาโดยตลอด และไม่เคยเห็นสภาวะที่ไม่ถูกบังคับ

“เมื่อต้องนึกภาพถึงการไม่มีกฎระเบียบในส่วนนี้ คนก็จะนึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร และคิดว่าความกลัวที่เด็กจะแต่งกายไม่สุภาพมาโรงเรียนอาจเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งความกลัวดังกล่าว คือ ความกลัวที่ไม่มีที่มาที่ไป และไม่มีเหตุผลรองรับ ว่าอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงเพียงใด และเป็นความกลัวที่ไม่เคยมาพร้อมกับวิธีจัดการปัญหานั้น ๆ”

ลภนพัฒน์ สะท้อนมุมมอง

แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว ยังเห็นว่า โรงเรียนที่มีหน้าที่จัดการศึกษา ควรทำให้เด็กได้เรียนรู้ ว่า การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และการมีกาลเทศะนั้นควรทำอย่างไร เพราะในชีวิตจริง เมื่อเด็กต้องก้าวไปอยู่ในสังคมที่ไม่มีกฎเกณฑ์มาบังคับ พวกเขาก็จะไม่ทำตามสิ่งที่ถูกบังคับมาในโรงเรียน เพราะไม่ได้ตระหนักรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง แต่ถูกตีกรอบและสั่งให้ทำตาม

จากพื้นที่เรียนรู้ – ค้นหาตัวตน สู่ความคิดสร้างสรรค์เด็กไทย

“โรงเรียน คือ สังคมจำลองให้เด็กได้เรียนรู้ ก่อนไปใช้ชีวิตในสังคมจริง”

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว

โรงเรียนจึงควรเป็นสังคมจำลองของเด็กอย่างแท้จริง เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ และลองทำในสิ่งที่ต้องการ รวมถึงได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขานอกเหนือจากวิชาการ ว่าอยากเป็นใคร และต้องการแสดงตัวตนอย่างไร

“โรงเรียนควรเป็นพื้นที่เพื่อการทดลองของเด็ก ในช่วงวัยที่เขาทำอะไรผิดพลาดแล้วยังไม่มีใครไปตัดสินเขา ในช่วงวัยที่เขายังอยู่ในพื้นที่(ที่ควรจะ) ปลอดภัย ไม่ใช่ให้เขาไปลองในสนามจริง หรือในสังคมจริงตอนเขาโตขึ้น แล้วมาบอกว่า ทำไมคนสมัยนี้ไม่มีกาลเทศะ แต่งตัวไม่เป็น ทำผมไม่เรียบร้อย ไม่มีมารยาททางสังคม”

ลภนพัฒน์ ขยายความ

แต่บทบาทของโรงเรียนที่ควรต้องเกิดขึ้น กลับยังสวนทางกับความจริง นี่เป็นอีกประเด็นที่ ผศ.อดิศร ยอมรับว่า โรงเรียนไทยยังคงขาดพื้นที่ในการแสดงออก สะท้อนว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และการสรรสร้างนวัตกรรม ซึ่งโรงเรียนควรให้พื้นที่อิสระแก่เด็กในการแสดงออก การเป็นตัวของตัวเอง และการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพราะหากโรงเรียนปิดกั้นเด็กตั้งแต่เรื่องง่ายที่สุด อย่างสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขาเอง แล้วสังคมจะคาดหวังให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นไปสร้างนวัตกรรมให้กับสังคม มีอิสรภาพทางความคิด และมีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร

“การที่เด็กทุกคนสามารถแต่งกายเสรีได้ ไม่ได้หมายความว่า จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่อย่างน้อยสิ่งนี้จะเป็นประตูที่เปิดให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสทดลองทำบางสิ่งบางอย่าง ภายใต้ขอบเขต กติกา หรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครองและคุณครูไปพร้อม ๆ กับพวกเขา”

ผศ.อดิศร ให้ความเห็น

เมื่อ “สิทธิเด็ก” อยู่ข้างหลัง…อำนาจซ่อนเร้น

สำหรับพื้นฐานของสมรสเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ และสิทธิของนักเรียนในโรงเรียนนั้น ลภนพัฒน์ เชื่อว่า มีแนวคิดเดียวกัน คือ สิทธิมนุษยชน หากโรงเรียนไทยยังคงไม่ให้ความสำคัญกับสิทธินี้มากนัก นี่อาจเป็นบันไดก้าวแรก ที่นำไปสู่การถูกละเมิดสิทธิได้ง่าย โดยเริ่มจากสิทธิเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทรงผม เครื่องแบบ ต่อไปถึงการถูกลงโทษด้วยความรุนแรง หรือการมีสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ไม่ปลอดภัย และไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ สุดท้ายก็จะไปจนถึงการละเมิดสิทธิที่ใหญ่ขึ้น

การละเมิดสิทธินี้จะกลายเป็นวงจรต่อไปเรื่อย ๆ เพราะระบบการศึกษาไทยก็จะผลิตคนที่ชินชากับการถูกละเมิดสิทธิมาหล่อเลี้ยงวงจรดังกล่าวอย่างไม่รู้จบสิ้น เพื่อให้วันหนึ่งถ้ามีคนฉุกคิดได้ และต้องการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ก็จะถูกคนในวงจรต่อต้าน เพื่อปกป้องวงจรที่ผลิตคนแบบพวกเขาออกมา

“เรารู้ว่าไม้อ่อนดัดง่าย เด็กเชื่อฟัง สอนอะไรก็จะจำ ฉะนั้นต้องดัดตั้งแต่ตอนนี้ ถ้าเราดัดให้เด็กถูกละเมิดสิทธิได้ง่าย ยินยอมที่จะถูกพรากอะไรบางอย่างไป ยินยอมที่จะถูกกดทับ ถูกกดขี่ พอโตขึ้นมา เด็กก็จะชิน จะรู้สึกว่านี่คือเรื่องปกติ และไม่รู้ว่าเสรีภาพคืออะไร เสรีภาพคือเรื่องแปลก ไม่ถูกต้อง”

ลภนพัฒน์ สะท้อนความกังวล

เช่นเดียวกับ ผศ.อดิศร ที่เชื่อว่า เมื่อไรก็ตามที่คนคิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือคนอื่นถือเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ใส่ใจความคิด และความรู้สึกของอีกฝ่าย พอเขาได้ใช้อำนาจกดทับผู้อื่นในเรื่องหนึ่ง สุดท้ายการกดทับนี้ก็จะขยายต่อไปยังเรื่องอื่น ๆ ด้วย

“หากมองถึงระบบการศึกษา ครูที่เป็นผู้ใหญ่ก็ถูกอำนาจกดทับจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเช่นกัน กล่าวคือ กดทับต่อกันเป็นทอด ๆ
จนกลายเป็นเรื่องปกติ”

ดังนั้นทุกคนจึงกลายเป็นคนที่ตกร่องอยู่ในวงจรของระบบอำนาจที่ลดหลั่นกันตามตำแหน่งและฐานะทางสังคม ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักปิดปากเงียบ เพราะรู้สึกว่า นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องอดทน และพอการกดทับที่ว่านี้กลายเป็นวงจร การมองเห็นปัญหาจึงเป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนจะรู้สึกว่า ตัวเองก็ทนได้กับการถูกเลือกปฏิบัติเช่นนี้

กรอบเพศในโรงเรียน ตอกย้ำการกดทับทางเพศ

ลภนพัฒน์สะท้อนว่า โรงเรียนไทยไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก ทำให้คนถูกหล่อหลอมออกมาในรูปแบบเดียวกัน คือ ไม่กล้าแปลกแยก ไม่กล้าแตกต่างจากคนอื่น ไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง และมีแนวความคิดว่า ไม่ควรทำตัวเด่น ซึ่งเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ขัดกับแนวความคิดนี้ เพราะเป็นเรื่องของปัจเจก เรื่องที่ทุกคนควรจะรู้จักตัวเอง ได้เป็นตัวของตัวเอง และได้แสดงตัวตนของตัวเอง

ดังนั้น เมื่อโรงเรียนไทยไม่ใช่พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีความแตกต่างหรือความหลากหลายได้ สุดท้ายโรงเรียนก็จะกลายเป็นพื้นที่ของการกดทับทางเพศรูปแบบหนึ่ง เพราะไม่ได้ส่งเสริมการแสดงออกอัตลักษณ์และตัวตนของปัจเจกบุคคล และไม่ได้ส่งเสริมให้ทุกคนได้เรียนรู้หรือรู้จักตัวเอง

เห็นได้จากการที่ระบบการศึกษายังปรากฏ กรอบการแบ่งเพศแบบทวิลักษณ์ (Binary) โดยเด็กที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์อยู่ภายในกรอบนี้ ก็จะถูกปกปิดด้วยความเป็นชายและความเป็นหญิง ทั้งนี้นักเรียนหลายคนที่ไม่ได้ต้องการใช้ชีวิตในกรอบเพศทวิลักษณ์ ก็ต้องอดทน เพราะระบบการศึกษาไม่ได้เอื้อให้เขาเป็นตัวของตัวเอง

ผ่าน “สมรสเท่าเทียม” ทิศทางการศึกษาไทยยังไงต่อ ?

ปัญหาการกดทับทางเพศจึงเป็นเหตุผลหลัก ที่หลังจากสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว การศึกษาไทยควรต้องเดินหน้าต่อ เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น ทั้งในโรงเรียนและสังคมโดยรวม

ผศ.อดิศร ให้ความเห็นว่า มีหลายส่วนในระบบการศึกษาที่ควรเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มตั้งแต่วิธีคิดเบื้องต้นที่ยัง แบ่งโลกเป็นชายกับหญิง อย่างชัดเจน หรือกรอบการแบ่งเพศแบบทวิลักษณ์นี้เอง ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดที่ฝังแน่นในระบบการศึกษาไทย ทั้งในเรื่องของกฎระเบียบการแต่งกาย และเรื่องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) ต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น ห้องน้ำ ที่ยังจำกัดคนให้อยู่ในกรอบเพศตามที่ควรจะเป็น

ตลอดจนถึง หลักสูตร การเรียนการสอน หนังสือ และตำราเรียน ต่าง ๆ ที่เนื้อหาบางส่วนยังคงมีปัญหา เช่น การพูดถึงครอบครัว การแต่งงาน ที่ยังผูกกับความเป็นชายและหญิง อีกทั้งหนังสือและตำราเรียนบางเล่ม ยังมีการพูดถึงกลุ่มคนเพศหลากหลายในแง่ลบ หรือมองว่าเป็นความผิดปกติ ไม่ต่างจากตัวละครในเนื้อหาของหนังสือและตำราต่าง ๆ ซึ่งมองว่า ควรยกตัวอย่างบุคคลที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศ แต่รวมไปถึงความหลากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรม ความพิการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมร่วมสมัย 

อีกส่วนที่ควรปรับเปลี่ยน คือ กระบวนการฝึกครู ทั้งในมหาวิทยาลัย และสถาบันฝึกหัดครูต่าง ๆ ที่ควรเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะจบไปเป็นครู ให้มีความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย และมีความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งของลูกศิษย์และเพื่อนครูคนอื่น ๆ

รวมถึงเตรียมความพร้อมของ วิธีการจัดการชั้นเรียน คือ ให้คำนึงถึงนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่เพียงความหลากหลายของตัวนักเรียนเอง แต่รวมไปถึงของครอบครัวนักเรียนด้วย เช่น ครอบครัวที่มีพ่อกับพ่อ หรือแม่กับแม่ เพื่อให้เด็กทุกคนรู้สึกว่า เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการเรียนรู้ และไม่ถูกผลักออกจากระบบ เพียงเพราะมีความแตกต่าง

ในกรณีของครูอยู่นั้น ผศ.อดิศร ชี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องจัดฝึกอบรม โดยไม่ใช่เฉพาะเรื่องทางกฎหมาย หรือเรื่องทางเทคนิคการจัดการชั้นเรียน แต่รวมถึงเรื่องที่สำคัญกว่านั้น คือ ฐานคิดหรือกระบวนทัศน์ของครูในระบบการศึกษา ที่จะต้องก้าวตามโลกให้ทัน อย่างไรก็ตามได้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันครูหลายคนในระบบ ทั้งในโรงเรียนรัฐหรือเอกชนก็เริ่มมีการปรับตัวและทัศนคติของตัวเองให้โอบรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น

หากมองในส่วนของ นิเวศโรงเรียน ผศ.อดิศร ก็มองว่า มี 2 ส่วนหลักที่ควรปรับเปลี่ยน คือ กฎระเบียบ ของโรงเรียน ที่ต้องปรับไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนทำผิดกฎโรงเรียน เพียงเพราะโรงเรียนไม่อนุญาตให้เขาแต่งกาย หรือไว้ทรงผมตามเพศวิถี

อีกส่วนหนึ่ง คือ สภาพแวดล้อม ตั้งแต่ภายในชั้นเรียนจนถึงระดับโรงเรียน ที่จะต้องมีมาตรการป้องกันการกลั่นแกล้ง รังแก ดูถูก หรือเลือกปฏิบัติกับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่า การที่เขาเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ ทำให้ต้องรับผลจากการถูกกลั่นแกล้ง

ทั้งนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยในโรงเรียน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช่เพียงเฉพาะครู แต่เพื่อน ๆ นักเรียนด้วยกันเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความเคารพในความหลากหลาย และความเข้าอกเข้าใจต่อกันได้

รั้วความเท่าเทียมในโรงเรียนต้องเข้มแข็ง

ผศ.อดิศร ยังให้ความเห็นอีกว่า การสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน มีความสำคัญต่อความเท่าเทียมของสังคม เนื่องจากสังคมทุกวันนี้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของอัตลักษณ์ วัฒนธรรม วิธีคิด และความเชื่อต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมหนึ่ง ๆ

การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทั้งของตัวเองและผู้อื่น รวมถึงการเชื่อว่า ทุกคนล้วนเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ เสรีภาพในการคิด การแสดงออก การได้รับสวัสดิการและการดูแลอย่างเท่าเทียมกันนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน

โดยสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นสอนได้ตั้งแต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นวิธีคิดที่ควรปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กที่จะโตไปเป็นอนาคตของชาติเติบโตขึ้นมาแล้วมองว่า ความหลากหลายเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และเขาสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ที่มีความแตกต่างได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะมีหน้าที่ในการรองรับว่า การเลือกปฏิบัติเป็นความผิด

โดยเฉพาะในช่วงแรกที่สังคมอาจยังติดขัดในการปรับตัว กฎหมายก็อาจต้องเข้ามาช่วยดูแลในช่วงเบื้องต้น แต่เมื่อไรก็ตามที่สังคมมีความเป็นปกติธรรมดาเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ คนมองว่าความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ กฎหมายก็จะจำเป็นน้อยลง เพราะผู้คนจะไม่เอาเรื่องเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้าย และทำลายผู้อื่น

ทั้งนี้ เรื่องเครื่องแต่งกาย และทรงผม เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่สะท้อนอีกหลาย ๆ เรื่องที่เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย คือ การที่คนไม่สามารถยอมรับในความแตกต่างหลากหลายได้ และสิ่งใดก็ตามที่ขัดกับความเชื่อของเขา เขาก็จะไม่เชื่อสิ่งนั้น โดยไม่พยายามที่จะหาหลักฐาน หรือความเป็นจริง

ประเด็นความเท่าเทียมเป็นเรื่องของคนทุกคนในสังคม เพราะแม้จุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามถึงการเดินหน้าของระบบการศึกษา อาจมาจากแรงกระเพื่อมของการผ่านสมรสเท่าเทียม แต่ไม่ใช่เพียงประชาชนที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายดังกล่าว

ทว่าหลักใหญ่ใจความของการก่อร่างความเท่าเทียม คือ เมื่อไรก็ตามที่คนทุกคนในสังคมได้รับการยอมรับและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่คุณภาพชีวิตของคนทุกคนถูกยกระดับขึ้นมาเท่า ๆ กัน และกลับกัน สังคมไหนก็ตามที่ทอดทิ้งคนบางกลุ่มไว้ และปล่อยให้พวกเขากลายเป็นปัญหาอื่น ๆ ตามมา สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตกันด้วยความหวาดกลัวและความทุกข์ยาก

“สังคมไทยกำลังเดินมาถูกทาง ในแง่ของการพยายามโอบรับความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะต้องออกมาเรียกร้อง เพราะความเท่าเทียมเป็นเรื่องที่คนทุกคนควรต้องเห็นความสำคัญ และร่วมกันส่งเสียงด้วยเช่นกัน”

ผศ.อดิศร ฝากความหวังทิ้งท้าย

เมื่อความหวังของความเท่าเทียมได้ถูกจุดติดขึ้นในสังคม การโหมไฟแห่งความหวังนี้ให้ส่องสว่างมากขึ้น เป็นหน้าที่และความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันขับเคลื่อน และผลักดันรากฐานการมองเห็นความสำคัญในสิทธิ และเสรีภาพของผู้คนภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน

รากฐานที่ว่านี้ จะแข็งแรงและเข้มแข็งขึ้นได้ ต้องได้รับการบ่มเพาะ และปลูกฝังตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาไทยจึงไม่ควรหยุดเดินหน้า และควรก้าวต่อไป เพื่อหวังจะได้เห็นสังคมไทยเกิดความเท่าเทียมขึ้นอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พรยมล ดลธนเสถียร

นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย