เรียนสถาบันไหนก็(ไม่)เหมือนกัน

ข้อเสนอยกระดับ ‘ราชภัฏ’ เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นเชื่อมโยงชุมชน
รศ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

จบจากสถาบันมีชื่อเสียง มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น (connection) ระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง แม้เวลานี้วิธีเหล่านี้อาจถูกพูดถึงน้อยลง เพราะผู้ประกอบการไม่น้อยเริ่มมองหาแรงงานจาก ทัศนคติ การทำงานได้มากกว่า ใบปริญญาและชื่อเสียงของสถาบันที่จบมา แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีบัณฑิตไม่น้อยที่มักจะเคยได้ยินคำถามเวลาไปสมัครงานว่า…

“น้องจบมาจากที่ไหน?”

คำถามนี้คงสร้างความลำบากใจไม่น้อยสำหรับบัณฑิตบางคน การอุดหนุนทรัพยากรที่เพียงพอและเหมาะสมให้กับสถาบันการศึกษาทุกระดับของประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ คู่ขนานไปกับการหาวิธีเพื่อสร้างเอกลักษณ์-ความแตกต่างให้กับบัณฑิตแต่ละสถาบันฯ ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเจริญกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองก็ทำให้สถาบันอุดมศึกษาในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบเรื่องโอกาสในการหางานทำ

“ตลาดแรงงานเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทำให้โอกาสในการทำงานสูงอยู่ในกรุงเทพมหานคร กับเขตอุตสาหกรรมหรือเมืองท่องเที่ยว กลายเป็นว่านักศึกษาจบมาสุดท้ายก็ต้องออกจากพื้นที่ (ภูมิลำเนา) หางานยาก ค่าแรงต่ำ ระบบอุตสาหกรรมเราไม่ได้เป็นโครงสร้างประเทศที่พัฒนาแล้ว… การปรับโครงสร้างใหม่ให้ราชภัฏฯ อยู่ในสังกัด อบจ. เพื่อให้มหาวิทยาลัยยึดโยงกับประชาชน”

รศ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง
สถาบัน ราชภัฏ

The Active พูดคุยประเด็นนี้ กับ รองศาสตราจารย์ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง ผู้ตั้งคำถามถึงงบประมาณที่แตกต่างกันระหว่างมหาวิทยาลัยทั่วไป กับ ม.ราชภัฏ ผ่านงานวิจัย “ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของรัฐ (ปี 2490-2562)” และมีข้อเสนอสำคัญให้ ยกระดับ ม.ราชภัฏ ให้เป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ผ่านหลักการกระจายอำนาจ

ความเป็น “ราชภัฏ”

อาจารย์วอร์ม ภิญญพันธุ์ เล่าว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็น ม.ราชภัฏฯ ที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ ม.ราชภัฏฯ ด้วยกันเอง แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น เช่น ม.มหิดล, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ขอนแก่น, ม.เชียงใหม่ ฯลฯ จะพบว่า ได้รับงบประมาณน้อยกว่าหลายเท่าตัว เช่น ผลการศึกษาที่ถูกอ้างอิงไว้ใน “งานวิจัยประวัติศาสตร์การศึกษาไทยภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของรัฐ” ที่พบว่างบประมาณที่รัฐอุดหนุนกับ ม.ราชภัฏฯ น้อยกว่า เมื่อเทียบกับอีกหลาย ๆ มหาวิทยาลัย

โดยปัจจัยหนึ่งมีผลมาจาก พัฒนาการระหว่างมหาวิทยาลัย เช่น ม.มหิดล, ม.ธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์ฯ, ม.ธรรมศาสตร์, ม.ศิลปากร เป็นมหาวิทยาลัย 5 แห่งแรกของประเทศที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยระดับชาติ ขณะที่ราชภัฏฯ มีฐานมาจากการเป็น “วิทยาลัยครู” หรือ “โรงเรียนผลิตครู” ขึ้นตรงอยู่กับกรมฝึกหัดครูภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ จึงทำให้การกำหนดเกณฑ์สอน ภาระงาน ยังคงติดอยู่ในกรอบคิดระบบราชการ

รศ.ภิญญพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า แม้จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ราชภัฏฯ ได้รับงบประมาณที่แตกต่าง (แทบจะต่ำที่สุด) เมื่อเทียบกับหลาย ๆ มหาวิทยาลัย แต่สำหรับบางมหาวิทยาลัย ที่สามารถหาเงินได้เอง และสามารถอยู่ได้ด้วยการลงทุนต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าที่ดิน, เงินจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ฯลฯ มหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็ยังคงได้รับงบประมาณไม่แตกต่างจากเดิม ทั้งที่มีศักยภาพและสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ข้อจำกัดฉุดรั้งความเป็น “ราชภัฏ”

  • บุคลากรภาระงานโหลด : อาจารย์วอร์ม อธิบายถึงสิ่งแวดล้อมและข้อจำกัดที่ทำให้ ม.ราชภัฏ ถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพการเรียนการสอนหลายประการ เช่น ภาระงานของบุคลากรที่ค่อนข้างหนักจนเกินไป บางคนสอนเกิน 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางคนสอนสูงถึง 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การสอนหนัก จึงหมายถึงอาจารย์เองก็อาจจะไม่มีเวลาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ต่างจากบางมหาวิทยาลัยที่อาจารย์รับหน้าที่สอนน้อย โดยส่วนตัวอาจารย์มองว่า การพัฒนาตัวเอง ส่งผลต่อการพัฒนางานวิจัยด้านวิชาการ ขณะที่ตัวเลขงบประมาณที่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็น ค่าจ้าง-เงินเดือนบุคลากร ทำให้ส่วนของงบประมาณการพัฒนานักศึกษามีน้อย
  • ความเหลื่อมล้ำระหว่างคุณภาพ ม.ราชภัฏฯ ในเมือง และต่างจังหวัด ประเด็นสำคัญ คือ ม.ราชภัฏฯ เป็นสถาบันที่รองรับนักศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ขาดทุนทรัพย์ ขาดโอกาสเข้าเรียน แต่หากเทียบกันระหว่าง ม.ราชภัฏฯ ในเมืองกับต่างจังหวัด ก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ความต่างกันของโครงสร้างพื้นฐานในมหาวิทยาลัย อย่างห้องสมุดหรือหลักสูตรที่เปิด ฯลฯ นอกจากบางมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดยังต้องรับนักศึกษาด้อยโอกาส ที่มีความพิการซ้ำซ้อน ขณะที่หากจะให้โครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยรองรับคนพิการได้ ก็อาจจะต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น
สถาบัน ราชภัฏ

กระจายอำนาจเพิ่มศักยภาพ “ราชภัฏฯ เป็น มหาวิทยาลัยของท้องถิ่น”

หากจะพูดถึงระบบการศึกษาของไทย มีหลากหลายปัญหาที่รอให้แก้ไข การแก้เฉพาะอุดมศึกษา อาจเป็นเพียงแค่ปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาใหญ่เรื่องตลาดแรงงาน ทำให้โอกาสการทำงานอยู่กับ กทม. และ เขตอุตสาหกรรม และเมืองท่องเที่ยวเท่านั้น กลายเป็นว่า นักศึกษาที่จบมาสุดท้ายก็ต้องออกนอกพื้นที่ ทำงานหาเช้ากินค่ำ ค่าแรงต่ำ เพราะระบบอุตสาหกรรมของไทยไม่ได้เหมือนกับโครงสร้างของประเทศที่พัฒนาแล้ว

รศ.ภิญญพันธุ์ จึงมีข้อเสนอให้ยกระดับ ม.ราชภัฏฯ โดยเน้นไปที่การผูกโยงกับชุมชนและท้องถิ่นเป็นสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ

  1. สนับสนุนงบประมาณด้านวิชาการ เช่น งบฯ วิจัยพิเศษโดยมองว่า เวลานี้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ยังไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก จึงมีข้อเสนอควรมีสำนักพิมพ์ ตีพิมพ์ผลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก
  2. ประเด็นต่อมา คือ สนับสนุนการบริหารและการลงทุนเพื่อให้สถาบันฯ อยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยมองว่าการรวมตัวที่เข้มแข็งเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการต่อรอง
  3. การปรับโครงสร้างใหม่ให้ราชภัฏฯ อยู่ในสังกัด อบจ. เช่น การให้นายก อบจ. มานั่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย หมายความว่า มหาวิทยาลัย ก็จะถูกยึดโยงกับประชาชน หากออกนอกลู่นอกทาง ชุมชนก็จะเป็นคนตรวจสอบมหาวิทยาลัยเอง

เรียนสถาบันไหนก็เหมือนกัน ใช่หรือไม่? 1 ใน 7 คำถามของ Thailand Talks 2022 แพลตฟอร์มจับคู่คนแปลกหน้าที่เห็นต่าง ให้มาพูดคุยกัน เพื่อยกระดับการแลกเปลี่ยนความเห็นของคนที่คิดไม่เหมือนกัน หรือขัดแย้งกันให้สามารถคุยกันได้ ในวันที่ 24 กันยายน 2565

วิธีการลงทะเบียน

1. ตอบคำถาม จำนวน 7 ข้อ ทาง https://thailandtalks.org/register

2. ยืนยันการสมัคร ผ่านทางอีเมล

3. รอรับผลการจับคู่ ภายในวันที่ 16 กันยายน

4. ยืนยันการพบคู่ ภายในวันที่ 19 กันยายน

5. แล้วพบกันในงาน Thailand Talks วันเสาร์ ที่ 24 กันยายน 2022!

Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน