ถอดบันได 3 ขั้น ทลายโครงสร้างปลดล็อก “ครูไทย”
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
แรงสะเทือนจากโรคระบาด
ผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจทั่วโลก
… สิ่งเหล่านี้ กำลังท้าทายพลเมืองทั่วโลก
ย้อนกลับมาที่ไทย บ้านเมืองกำลังเต็มไปด้วย “คำถาม” ที่ไม่เคยได้ยินจากคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมจากระบบการศึกษา
คำตอบจาก “ครู” จึงเป็นส่วนสำคัญในการกำหนด “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในโรงเรียน และสังคมนับจากนี้”
คำถาม คือ “ครูไทย” ในฐานะผู้ผลิตพลเมืองของประเทศ จะรับมืออย่างไร แล้ว “ครูในอุดมคติ” ควรเป็นแบบไหน?
The Active ถอดสาระสำคัญของ “ทิศทางครูไทย ในบริบทการศึกษาโลก” ในงานประชุมสัมมนาทางวิชาการ เพื่อยกระดับศักยภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา-ด้านนวัตกรรม “OTEPC Symposium : Enhancing Teachers’ Potential for Educational Innovation” เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563
ภาพรวมจากการรวบรวมผลสำรวจ และงานวิจัยไทยและต่างประเทศ พบว่า ครูไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการสอนแบบเดิม ไม่กล้าเปลี่ยน และไม่ตั้งคำถาม สวนทางกระแสโลกที่เด็กยุคใหม่ มีแต่คำถาม และความคิดเชิงวิพากษ์ จึงมีข้อเสนอว่า ให้ปรับกระบวนทัศน์การศึกษา และครูไทย จาก “Teaching Paradigm เป็น Learning Paradigm” เพราะกระแสโลกไม่ได้คาดหวังให้ครูสอนวิชาความรู้เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกศิษย์ด้วย
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร นักการศึกษานวัตกรรมใหม่ และ Positive Impact Maker มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอน และการบริหารการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และ CEO ของ Starfish Education เปิดเผยผลสำรวจ World Economic Forum ที่สำรวจพบว่าร้อยละ 65 ของนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาในวันนี้ จะเลือกทำงานในอาชีพที่ไม่เคยมีอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ทักษะอนาคตที่โลกต้องการก็จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมออย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษาต้องจัดเพื่อรับมือให้ทันกับทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น การจัดการศึกษาแบบเดิม ๆ จะทำให้เด็กเสียโอกาสเหมือนดังวรรคทอง ที่ John Dewey นักปฏิรูปการศึกษาชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราสอนเด็กเหมือนอย่างที่ผ่านมา เท่ากับว่า เราปล้นอนาคตพวกเขา…”
“If we teach today’s students as we taught yesterday’s,
John Dewey
we rob them of tomorrow.”
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัย Starfish Education ยังเคยร่วมทำงานวิจัยกับ TDRI และพบว่า กระบวนการ “ถาม” เป็นสิ่งที่ยากที่สุดของครูไทย เพราะครูจะสอนเหมือนที่ตัวเองเรียนมา เพราะไม่ถูกสอนมาให้ตั้งคำถาม การพัฒนาครูจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้เรียนต้องการเรียนรู้ มากกว่า สิ่งที่ครูอยากจะสอน
สอดคล้องกับงานวิจัยในประเทศอังกฤษ ที่นักวิจัยลงไปสังเกตการณ์สอนในช่วงปฏิรูประบบการศึกษา และพบว่า มี 3 หลุมดำ ที่เป็นอุปสรรคการพัฒนาครู คือ ร้อยละ 80 ของครูในอังกฤษจัดการเรียนการสอนแบบเดิมอย่างที่เคยถูกสอนมา ทั้งที่ความรู้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดเวลา ไม่กล้าเปลี่ยนวิธีการสอน และเลือกจะที่สอนโดยเริ่มจากความสนใจของตัวเอง มากกว่า ความสนใจของผู้เรียน
บันได 3 ขั้น ที่จะช่วยให้ครูก้าวผ่านหลุมดำ กับดักการพัฒนาครู
บันไดขึ้นที่ 1 นิยามคุณลักษณะครูยุคใหม่
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการปฎิรูปการศึกษา
“กระแสโลกไม่ได้คาดหวังให้ครูสอนวิชาความรู้เพียงอย่างเดียว… ครูรุ่นใหม่ หนีไม่พ้นจะต้องรู้เรื่องการเมือง และพลเมืองมากขึ้น เพื่อสร้างการรับฟังอย่างลึกซึ้งเป็นระบบ ถ้าเราค่อย ๆ สร้าง Civic literacy และ Civic culture ให้เด็กตั้งแต่เล็ก ๆ จะช่วยลดความขัดแย้งรุนแรงได้”
กระแสโลก คาดหวังรูปธรรมการสอนจากครูมากขึ้น ครูจึงควรมีแผนการสอนที่ระบุได้ชัดเจน ว่า Outcome หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กคืออะไร และวัดได้จากอะไร เพราะการรู้ผลลัพธ์จะนำมาซึ่งการพัฒนา และเชื่อมโยงไปถึงการออกแบบการเรียน การสอน
ซึ่งการเรียนการสอนก็ต้องไม่มุ่งเน้น Content หรือเนื้อหา แต่ต้องเน้นการสอนทักษะที่นำไปใช้ในอนาคตได้ ทั้งการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต หรือที่เรียกว่า ทักษะที่สามารถถ่ายโอนได้ (transferable skills) ขณะเดียวกัน ครู ต้องสร้างการสอนที่เท่าเทียม ต้องไม่ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้หลังห้อง เพราะผู้เรียนทุกคนมีความแตกต่างหลากหลาย ครูจึงจำเป็นต้องใส่ใจความถนัดของผู้เรียนรายบุคคล
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการปฎิรูปการศึกษา ย้ำว่า เด็กยุคใหม่ต้องไม่ใช้การผลิตแบบ เด็กยุคโรงงาน
“เด็กดี มีวินัย ใฝ่ระเบียบ” แต่จำเป็นต้องสร้างเด็กตามมาตรฐานสากล คือ “พูดเก่ง เขียนกระจ่าง ช่างคิด”
ดร.อมรวิชช์ ได้ถอดลักษณะของครูที่ควรมี แต่ไม่ค่อยถูกสอนในการผลิตครู จาก concept ของ OTEPC Symposium ประกอบด้วย
O – Outcome-based Education การศึกษาที่เน้นผลลัพธ์
T – Transferable skills ทักษะที่สามารถถ่ายโอนได้
E – Equity ความเท่าเทียมกัน และ Empathy ความเห็นอกเห็นใจ
P – Personalized learning ต้องรู้ความถนัดของผู้เรียนรายบุคคล
C – Coaching การสอน และให้คำแนะนำ และ Civic literacy คือ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเมือง และพลเมือง
เพราะหากสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ และวัฒนธรรมในเรื่องการเมือง และพลเมืองมากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยทำให้สถานการณ์ความเห็นต่างไม่รุนแรงมากขึ้น การเปิดพื้นที่รับฟังอย่างลึกซึ้ง อย่างเป็นระบบ จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของครูยุคใหม่ พร้อมทิ้งท้ายว่า รัฐเองก็ควรใช้พื้นที่นวัตกรรมพิเศษ เป็นพื้นที่ทดลองในด้านการผลิตครูแบบใหม่ และควรมีโครงการความร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ในเรื่องการผลิตครูระบบใหม่อย่างเป็นรูปธรรม
บันไดขึ้นที่ 2 เปลี่ยนกระบวนทัศน์ครูไทย
ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล | ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“กระบวนทัศน์การศึกษาครู ต้องเปลี่ยนจาก Teaching Paradigm เป็น Learning Paradigm และต้องมองสถาบันผลิตครู เหมือนสถาบันเตรียมแพทย์ ที่ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ ไม่ใช่แข่งกับใคร แต่ให้ครูสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ”
ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล มีประสบการณ์การเป็นครูและคนสอนครูมากว่า 28 ปี ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่า สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในระบบการศึกษา คือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์การศึกษาครูต้องเปลี่ยนจาก Teaching Paradigm เป็น Learning Paradigm ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนผ่านกระบวนการพัฒนาครู โดยใช้ชั้นเรียน และสถานศึกษาเป็นฐาน
- การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล (Individuals)
- การเรียนรู้ร่วมกันของครู (Learning Together)
- การสร้างวัฒนธรรมใหม่ : การเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน (Making the entire : school learning)
โดยก่อนและหลังการสอน ครูต้องทำความเข้าใจผู้เรียน ออกแบบบทเรียน วิเคราะห์ผลการเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ของผู้เรียน ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับงานวิจัยของ เซอร์ไมเคิล บาร์เบอร์ (Sir Michael Barber) หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านการวางระบบการปฏิรูปการศึกษาของนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ประเทศอังกฤษ เคยทำงานทำวิจัยโดย วิเคราะห์จาก 12 ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา พบว่ามีเพียง 4 ปัจจัย ที่จะช่วยทำให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ คือ
- Back to school กลับไปทำทุกอย่างที่โรงเรียนให้ดี
- focus on classroom กลับไปที่ห้องเรียนจะเปลี่ยนห้องเรียนให้ดีอย่างไร
- Teacher as key success เปลี่ยนที่ตัวคุณครูและกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียน
- school as organization การเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
บันไดขึ้นที่ 3 ครูเปลี่ยนห้องเรียนคนเดียวไม่ไหว
ผศ.ดร.อรรถพล มองว่า 2-3 ปีแรกของคุณครูใหม่ คือ ช่วงที่เปราะบางมากที่สุดของการฟูมฟักครูรุ่นใหม่ หลายประเทศลงทุนกับเรื่องนี้มาก ครูต้องผ่านช่วงที่ยากที่สุด และจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา การจะไม่ให้ครูใหม่มีแนวโน้มสอนเหมือนครูรุ่นเก่า จึงจำเป็นต้องจัดประสบการณ์การสอนอีกแบบ ให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และถอดประสบการณ์ออกมาจากห้องเรียนจริง ๆ ซึ่งปัญหาใหญ่ คือ ครูส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์จากห้องเรียนจริง การเปลี่ยนห้องเรียนฝึกครูจึงต้องหาจุดเชื่อมโยงระหว่างครูใหม่ กับ ครูประจำการให้ได้
ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตครู แต่ก็ยังเป็นวงจำกัด ไม่มีพลัง การออกแบบเชิงระบบเพื่อสนับสนุน จึงจะช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็ว และเห็นผล เพราะเมื่อครูเปลี่ยน เด็กก็จะเปลี่ยน ผลสัมฤทธิ์ก็จะเปลี่ยน เมื่อครูเป็นบุคลากรสำคัญในการพัฒนามนุษย์ ก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการผลิตครู
“ต้องมองสถาบันผลิตครู เหมือนสถาบันเตรียมแพทย์ ที่ได้รับการสนับสนุนเต็มให้ครูสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ” และไม่ปล่อยให้สถาบันผลิตครูปรับตัวตามลำพัง
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ | ศึกษาธิการภาค 2 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
“เปลี่ยนครูต้องเปลี่ยนเชิงระบบ ผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน ช่วยคุณครูหา Powerful pedagogies หรือ วิธีการสอนที่มีพลังที่สุดของครูแต่ละคนให้ได้”
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค.ศ. หน่วยงานกำกับครู เสริมว่าการฝึกครูรุ่นใหม่ เป็นโจทย์ท้าทายของสังคมไทย เพราะสิ่งที่อาจารย์พยายามทำมาตลอดชีวิตความเป็นครู คือ การเปลี่ยน Mindset ของคนที่จะออกไปเป็นครู ให้ตระหนักถึงกระบวนการเรียนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาให้มากที่สุด อาจารย์มองว่าการเปลี่ยนครูต้องเปลี่ยนเชิงระบบ ตั้งแต่
ต้นน้ำ : ครุสภา
กลางน้ำ : ก.ค.ศ.
ปลายน้ำ : หน่วยงานที่ต้องใช้ครู
เพราะ “คุณภาพผู้เรียน สะท้อนคุณภาพครู : ครูสะท้อนภาพ ผู้บริหารโรงเรียน : ผู้บริหารโรงเรียน สะท้อนคุณภาพผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา” เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดคือ การกลับไปทำ “โรงเรียน” ให้ดีที่สุด
โดยการสร้างครู สร้างกระบวนการเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากที่สุด อ้างอิงถึง 7 หลักการสำคัญของการทำให้ครูจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การทำให้ครูสามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมของผู้เรียนให้ส่งผลต่อสิ่งที่จะเรียนรู้ในเรื่องใหม่
- การสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
- การสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ภายในห้องเรียน
- การให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งจะเกิดได้จากกระบวนการตั้งคำถาม
- กระบวนการที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดจากการออกแบบกิจกรรม รวมทั้งกระบวนการให้ข้อมูลสะท้อนกลับผู้เรียน
- กระบวนการของครูที่ออกแบบและสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
- กระบวนการสร้างให้ผู้เรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะสะท้อนการประเมินวิทยฐานะของครู และเชื่อมโยงไปถึงคุณภาพผู้บริหารสถานศึกษา โดยมีตัวชี้วัดสำคัญได้แก่ Focusing on Teachers’ Learning
คือ การที่ผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน
พร้อมฝาก 5 สิ่ง ที่ผู้บริหารต้องทำให้ได้
- ช่วยคุณครูหาวิธีการสอนที่มีพลังที่สุดของครูแต่ละคนให้ได้ อำนวยให้ครูแต่ละคนค้นหา “Powerful pedagogies” ของครูและของโรงเรียน
- โรงเรียนต้องมี ต้องกล้าทดลอง ค้นหานวัตกรรมที่เหมาะกับตัวเอง “Experimentation and innovaton”
- ผู้อำนวยการต้องเป็นคนที่สามารถเกิดกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันได้ “Sharing practice”
- การจัดบรรยากาศให้เกิดการส่องสะท้อนการเรียนรู้ของคุณครูต่อเนื่อง “Reflection”
- สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียน วิธีที่เปลี่ยนครูได้ดีที่สุดคือ การเรียนรู้ของคุณครูด้วยกันเองในโรงเรียน “Learning communities-networks of teachers (PLC)”
นอกจากบันไดทั้ง 3 ขั้น ที่จะพาคุณครูไปถึงฝันแล้ว หน่วยงานกำกับครู อย่าง สำนักงาน ก.ค.ศ. ก็เตรียมที่จะพัฒนาระบบสอบบรรจุครูใหม่ โดยมียาขม ที่ระบุให้ครูต้องสอบสอน ภาค ก ข และ ค จากระบบเดิมที่ใช้การสัมภาษณ์เพียง 5-10 นาที เปลี่ยนมาเป็นการสอบสอน 40 นาที ซึ่งหากมองในเชิงระบบแล้วจะถือว่า สั่นสะเทือนกระบวนการผลิตครู ที่ต้องลงลึกวิธีการสอน เน้นการปฏิบัติมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ยังเตรียมปรับเรื่องระบบวิทยาฐานะ ให้ครูทำงานในห้องเรียนได้จริง ไม่ต้องวุ่นวายกับเอกสาร เพราะนี่คือจุดคานงัดสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนในกระบวนการผลิตครู
บทส่งท้าย
อ่านถึงตรงนี้ พอจะมีความหวังในการปฏิรูปการศึกษาขึ้นมาอีกครั้งแล้วหรือยัง แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนอยากบอกว่า การจะทำให้เรื่องใหญ่ระดับโลกเป็นจริง ทั้งในภาคนโยบายและปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกองคาพยพทางการศึกษา ที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน บนคำถามที่ว่า “เด็กไทยและประเทศไทย” จะได้ประโยชน์อะไรจากการปฏิรูปการศึกษาในมือของพวกเราทุกคน