นโยบายแจกเงิน ทำได้จริงหรือไม่?

 

ยิ่งเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้ง ยิ่งเห็นหลายพรรคการเมืองเริ่มเปิดนโยบายซื้อใจประชาชนกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนโยบาย การแจกเงินช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่แต่ละพรรคงัดออกมาสร้างแรงจูงใจกันอย่างดุเดือด จนเกิดคำถามว่านโยบายเหล่านี้จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน

The Active รวบรวมนโยบายพรรคการเมือง โดยเน้นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินเพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน  เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ  นโยบายเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่ง เริ่มจากกลุ่มรายได้น้อย

พรรคก้าวไกล   นโยบายของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท  เงินเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน เยาวชนได้คูปองเปิดโลก สูงสุดปีละ 2,000 บาท ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาท/วัน ปรับขึ้นทุกปี ผู้ประกอบการ SME ได้ทุนตั้งตัว 200,000 รายต่อปี เงินผู้สูงวัย 3,000 บาท/เดือน

พรรคพลังประชารัฐ  นโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาท  “แม่บุตร ธิดา ประชารัฐ” สนับสนุนเงินเดือนละ 10,000 บาท จำนวน 5 เดือน เริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 4 เดือน จนถึง 9 เดือน เงินในการเลี้ยงบุตรจำนวน 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 ปี  

พรรคประชาธิปัตย์  นโยบายชาวนารับ 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน ซึ่งในรายละเอียดจะมีการแถลงในภายหลังอีกครั้ง ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปีทุกกลุ่ม ทั้ง 2,800 กลุ่ม ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาททั้งประเทศ 

พรรคภูมิใจไทย  นโยบายกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป พรรคเพื่อไทย  ค่าแรง 600 บาท/วันและค่าแรงปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท  

พรรคเสรีรวมไทย  เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ยกเลิกหนี้ กยศ. สนับสนุนภาคการศึกษาจ่ายตรงให้มหาวิทยาลัย 25,000 บาท ปีละ 2 การศึกษา เป็นเงิน 50,000 บาท ต่อคนต่อปี บำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน เบี้ยผู้พิการ 3,000 บาทต่อเดือน 

พรรคไทยสร้างไทย  เเก้หนี้ เติมทุน ให้ SMEs และ Start up  ด้วย ”กองทุนสร้างไทย” จำนวน 300,000 ล้านบาท 

พรรคชาติพัฒนากล้า  สร้างบ้านผู้สูงอายุ โดยทุ่มงบ 5 หมื่นล้าน เพื่อปรับปรุงบ้านให้ผู้สูงอายุ จำนวน 1 ล้านหลัง  

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ก็ถือว่าเข้าข่ายนโยบายช่วยเหลือประชาชนด้วยเม็ดเงินเช่นกัน แต่คนที่ได้ต้องลงทะเบียนและมีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่ามีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 14,590,000 จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมดกว่า 22 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ถือบัตรเดิมอยู่คิดเป็น 60%  

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาชี้แจงว่าสาเหตุที่คนถูกตัดสิทธิ์มากถึง 8 ล้านคน เนื่องจากระบบคัดกรองคุณสมบัติละเอียดมากขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือพุ่งเป้าไปที่ “คนจนตัวจริง” พร้อมระบุด้วยว่าตัวเลขนี้ยังสะท้อนคนที่มีรายได้น้อยลดลง ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น   

แต่ทว่า ข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดูเหมือนจะสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนเพราะจากที่ได้ลองไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พวกเขาเห็นว่าชีวิตตอนนี้หากินยากลำบากกว่าเดิมมาก ข้าวของก็แพงทุกอย่าง น้ำมันก็ขึ้น ค้าขายก็กำไรหดหาย การที่มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนแบบให้เงินนั้นจริงเป็นความหวังว่าจะได้ แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ช่วยเรื่องที่สำคัญด้านอื่น ๆ อีกด้วยและควรให้ทุกคนจะได้ไม่ต้องถูกคัดออกจากระบบลงทะเบียน

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)​ ระบุว่า นโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงโดยจะเพิ่มเงินให้แก่ประชาชนเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนเพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และเห็นด้วยว่าหลายกลุ่มถึงเวลาที่ต้องได้รับการปรับเงินให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

แต่ว่าหากดูจากตัวเลขของบางพรรคที่ระบุมาชัดเจน ซึ่ง TDRI ได้มีการศึกษาแล้วพบว่า มี 2 พรรคการเมือง ที่จะต้องใช้เงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านล้านบาท ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ จะใช้งบประมาณราวแสนล้านบาท

“งบฯที่เพิ่มมาถือว่าสูงมาก มันมากเกินไปไหม บางเรื่องอาจไม่จำเป็นที่ต้องช่วยกันมากขนาดนี้ บางกลุ่มอาจไม่ได้ต้องการช่วยแบบนี้ รัฐบาลขาดดุลงบประมาณอยู่แล้วตั้งไว้ ที่ 3 ล้านล้านบาท รายได้ไม่พอ  ดังนั้นถ้าเพิ่มอีกก็จะเป็นการขาดดุลทันที หนี้สาธารณะก็จะสูงมาก เงินก้อนนี้คิดเป็น 10% ของจีดีพี ปีหนึ่งหนี้เพิ่มขึ้น 10% ประเทศชาติมีปัญหาแน่นอนเรื่องของเครดิต ความน่าชื่อถือก็จะหายไป ต้องระวังอย่างยิ่ง”

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า หากมีการปรับลดตัวเลขให้อยู่ราวแสนล้านบาท อาจมีความเป็นไปได้มากว่า ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารงบประมาณ การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวให้เติบโต และเก็บภาษีเพิ่ม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT 

“ภาษีที่มีการพูดถึงว่าจะมีการขยับ คือมูลค่าเพิ่มหรือ vat เพราะฐานภาษีใหญ่ ทุกคนต้องจับจ่ายใช้สอย การจ่ายเพิ่มขยับเป็น 10% มีการศึกษาแล้วว่าเงินจากส่วนนี้จะได้ราวแสนล้านบาท แต่ว่าถ้าดูจากความเห็นของประชาชน พวกเขาก็ไม่ไหวในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ว่าหากจ่ายไปแล้วกลับคืนมาในรูปสวัสดิการถ้วนหน้า จะลดแรงต้านได้  และต้องให้นักการเมืองทำสัญญาใจว่าจะต้องใช้เงินตรงจุดนี้เพื่อสวัสดิการประชาชนจริง ๆ  แต่ถ้าจะทำทั้งทีและลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย ต้องขยับไปดูที่ภาษีตัวอื่น ๆ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บเงินคนรวยมาช่วยคนจน”

ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงการคลัง รายงานผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณ 2564 ที่เก็บได้จากทุกแหล่งของรัฐบาล รวมทั้งสิ้น 2,372,539 ล้านบาท ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์  ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา  ภาษีมูลค่า เพิ่ม ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา  ขณะที่รายได้ที่รัฐบาลนำส่งคลังรวมทั้งสิ้น  2,446,630 ล้านบาท แต่การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล 3,208,653 ล้านบาท  เท่ากับว่าขาดดุลเงินงบประมาณ 762,023 ล้านบาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์