ในวันที่ฝุ่นกระจายฟุ้งทั่วประเทศไทย แอปพลิเคชัน ทั้ง Air 4 Thai, Air visual หรือสายตาของตัวเราเอง ก็ประจักษ์ชัดแจ้ง ว่าปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นทั่วท้องฟ้า
อย่างกรุงเทพมหานคร วันที่ 15 ม.ค. 2564 ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเกือบทุกพื้นที่ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ช่วง 7 นาฬิกา อยู่ระหว่าง 70 – 111 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย ขณะที่ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคเหนือ ต่างก็มีค่าฝุ่นจิ๋วระดับอันตรายมากต่อสุขภาพเช่นกัน
ทำไมแอปฯ รายงานค่าฝุ่นไม่ตรงกัน
ปริมาณค่าฝุ่นที่รายงานจาก 2 แอปพลิเคชัน เราเห็นสีและตัวเลขที่ต่างกัน ไม่ต้องแปลกใจ เพราะแอปพลิเคชัน Air visual ใช้ตัวเลขอ้างอิงจากกรมควบคุมมลพิษเหมือนกับ Air 4 Thai แต่เวลาเข้าสูตรคำนวณ จะใช้คนละสูตร และการรายงานของ Air visual ก็อ้างอิงตามเกณฑ์มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนของ Air 4 Thai รายงานอิงตามเกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตัวเลขและแถบสีจึงต่างกัน และแอปฯ Air visual ตัวเลขยังสูงกว่ามาก
ดังนั้น จุดสังเกตเมื่อเราใช้งาน นอกจากรู้ที่มาของข้อมูลแล้ว ต้องดูด้วยว่าตัวเลขเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง หรือรายชั่วโมงกันแน่ ถ้าทางการแพทย์ ก็จะแนะนำให้ดูตัวเลขรายชั่วโมง แต่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็นข้อมูลที่บันทึกไว้อ้างอิงในระดับนโยบาย และนำไปคำนาณอีกครั้ง เป็นค่าเฉลี่ยแบบรายปี ซึ่งตัวเลขก็จะต่ำกว่าเดิม หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยรายวันนั้นเอง
ฝุ่นมาแล้วก็ไป ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ จริงหรือ ?
ฝุ่น PM 2.5 ไม่เคยหายไปไหน ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศตามปริมาณที่แหล่งกำเนิดปล่อยออกมาแต่ละวัน แต่ฤดูร้อน และฤดูฝน ช่วยบรรเทาปัดเป่าฝุ่นให้ แต่เมื่อไม่มีตัวช่วยตัวนี้ เราเลยสัมผัสได้ มองเห็น โดยเฉพาะปริมาณฝุ่นพิษจิ๋วช่วงปลายปีถึงต้นปี ดังนั้น สภาพอากาศ และแหล่งกำเนิดฝุ่น จึงเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เพราะช่วงปลายปีอุณหภูมิลดลง อากาศเย็นจะมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศร้อน จึงทำให้เกิด ความกดอากาศสูง มักเป็นปัจจัยของปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันในชั้นบรรยากาศ ที่ระดับใกล้ผิวพื้น ให้การลอยตัวขึ้นของอากาศไม่ดีและเกิดลมสงบ หรือเรียกว่า inversion ซึ่งเป็นอุปสรรคของการแพร่กระจายของฝุ่นละออง
และถ้าระดับอุณหภูมิผกผันลดระดับลง จะเพิ่มความเข้มข้นของฝุ่นละอองในบรรยากาศมากขึ้น สภาพอากาศจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ลม ทิศทางลม อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจะรับมือเรื่องนี้ ต้องจัดการกับแหล่งกำเนิด ปัจจัยที่เราควบคุมได้
แหล่งกำเนิดฝุ่นมีหลายแหล่ง
ถ้าในเขตเมืองไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด แหล่งกำเนิดแหล่งนี้ยังคงเป็นสัดส่วนของการปล่อยมลพิษที่มากที่สุดและต้องเร่งจัดการ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ฝุ่น กทม. มาจากแหล่งนี้ ถึง 72 % โดยยานพาหนะ ประเภทดีเซล รถบรรทุก รถบัส มีสัดส่วนการปล่อยฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด เพราะเครื่องยนต์ดีเซลมีระบบการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซิน จึงทำให้การปล่อยมลพิษมีมากกว่า ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ปี 2563 พบว่า รถยนต์ดีเซลที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร มี 10.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ราว 7 แสนคัน รถเหล่านี้ มาตรฐานเครื่องยนต์ยังเป็นเพียงแค่ ยูโร 3 (Euro emissions standards ควบคุมอัตราการปล่อยมลพิษของรถยนต์) ขณะที่รถกระบะถ้าเป็นรุ่นใหม่ ๆ จะเป็นเครื่องยนต์ยูโร 4
นอกจากนี้ คุณภาพน้ำมันที่ประเภทเครื่องยนต์เติม ก็ยังมีผลต่อปริมาณการปล่อยฝุ่นด้วย ส่วนมาตรฐานน้ำมันในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นเพียง มาตรฐานยูโร 4 พอลองคำนวณแล้ว จะพบว่า รถบรรทุก รถบัส กทม. มีอยู่ 2 แสนคัน จะปล่อยมลพิษ 25.8 กิโลกรัมต่อกิโลเมตร ส่วนรถกระบะ ในกรุงเทพมีอยู่ 2.6 ล้านคัน จะปล่อยมลพิษ ออกมา 1,638 กิโลกรัม ต่อกิโลเมตร ลองคิดดูว่า 1 ปี ฝุ่นจะถูกปล่อยออกมามากน้อยแค่ไหน ส่วนการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตั้งเป้าไว้ในปี 2567
แต่คงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้การจราจรในกรุงเทพมหานครรถโล่งมากนะ จริงอยู่ ว่าช่วงนี้ปริมาณฝุ่นจากแหล่งนี้ลดลง แต่ช่วงนี้ฝุ่นจากแหล่งหลักเน้นหนักไปที่การเผาในภาคการเกษตร
การเผาในภาคการเกษตร
ฝุ่นจากแหล่งนี้ จะเป็นปัจจัยหลักตามช่วงเวลาของการจัดการเศษวัชพืชในไร่ และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตั้งแต่เดือน พ.ย.- เม.ย. ไม่ว่าจะเป็นการเผาตอซังข้าว การเผาอ้อยในช่วงฤดูกาลเปิดหีบ การเผาข้าวโพดและการเผาป่าในแถบภาคเหนือ
ข้อมูลจากสมุดปกฟ้า เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ระบุว่า โดยภาพรวมประเทศไทยมีพื้นที่เผาในที่โล่งแจ้งทั้งจากป่าและพืชเศรษฐกิจหลักประมาณ 39.18 ล้านไร่ ในปี 2562 โดยข้าวนาปี นาปรัง จะเป็นพืชหลักที่พบสัดส่วนการเผามากที่สุด การรายงาน เก็บรวบรวมข้อมูล และการลดการเผาก็ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่มีระบบเหมือนกับกับอ้อย ที่มีโรงงานเป็นตัวหลักในการจัดการหรือสามารถตั้งเป้าในการลดในแต่ละปีได้ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพื้นที่ป่ามีการเผาร้อยละ 29.00 57.00 และ 34.00 ของพื้นที่เก็บเกี่ยว
พื้นที่เก็บเกี่ยวและพื้นที่เผาในที่โล่งแจ้งของภาคการเกษตรและป่าไม้ พ.ศ. 2562
ชนิดพืช | พื้นที่เก็บเกี่ยว(ไร่) | สัดส่วนการเผาต่อพื้นที่ | พื้นที่เผา(ไร่) |
ข้าวนาปี | 5,939,0340 | 29.00 | 17,223,199 |
ข้าวนาปรัง | 1,1510,030 | 57 | 6,560,717 |
อ้อย | 1,1469,285 | 66.28 | 7,601,842 |
ข้าวโพด | 6,809,848 | 34.00 | 2,315,348 |
ป่า | – | – | 5,478,013 |
รวม | 39,179,119 |
หากดูข้อมูลสัดส่วนของปริมาณอ้อยสดจากโรงงานในประเทศไทยทั้งหมด 57 โรง ในฤดูกาลเปิดหีบ 2563/64 ณ วันที่ 10 ม.ค. 2564 พบว่า สัดส่วนของอ้อยสดปีนี้อยู่ที่ 78.76 % ปริมาณอ้อยไฟไหม้ 21.42 % แม้จะยังต่ำกว่าเป้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเอาไว้ที่อ้อยไฟไหม้ 20 % แต่ปีนี้พื้นที่การปลูกอ้อยและผลผลิตลดลงเนื่องจากภัยแล้ง
โรงงานอุตสาหกรรม
ถ้าอ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ การปล่อยฝุ่นจากแหล่งนี้น้อยกว่า 2 แหล่งแรก แต่ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ การวัดปริมาณฝุ่นที่ปลายปล่องของโรงงานอุตสาหกรรมที่จัดว่าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ จะยังไม่มีการวัดฝุ่น PM 2.5 ยกเว้นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดบ้างแล้วแต่ไม่มาก เช่น โรงงานไฟฟ้า ส่วนโรงงานอื่น ๆ ก็จะเป็นเพียงการวัดฝุ่นรวมเท่านั้น
โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษในบ้านเรา ช่วงระยะ 3-4 ปี ให้หลัง ขยายตัวและเติบโตในพื้นที่ภาคตะวันออก แหล่งสร้างเม็ดเงินจากการลงทุนอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ก็คือโรงงานประเภทรีไซเคิล ซึ่งโรงงานที่จำกัดด้วยคำนี้มีวัสดุที่นำมารีไซเคิลหลากหลาย เช่น โลหะ พลาสติก ของเสียประเภทของเหลว และอื่น ๆ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2560 ระบุว่าโรงงานหลอม และ ผลิตโละ ปล่อยสารไดออกซิน 37.0 I-TEQ และถ้ารวมทุกแหล่งกำเนิด พบสารชนิดนี้ถูกปล่อยออกมารวมทั้งสิ้น 1,303 I-TEQ
โดย 2 แหล่งแรกที่ปล่อยมากที่สุด ยังเป็น การเผาขยะและเผาในที่โล่งแจ้ง ข้อเสนอของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในการควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม คือ การใช้กฎหมายติดตาม รายงานการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือ เรียกว่า กฎหมาย PRTR ซึ่งยังอยู่ระหว่างการผลักดันเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา หากมีกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้อรายงานการปล่อยมลพิษในแต่ละปี เปิดเผยสู่สาธารณะอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ลดความขัดแย้งและปัญหาการปนเปื้อนของชุมชนที่อาศัยในพื้นที่อุตสาหกรรม
การเผาป่า
ปัญหาไฟป่าเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดในภาคเหนือ ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562-31 ก.ค. 2563 พบว่าจุดความร้อนที่พบในเขตป่าของ 9 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 88,808 จุด โดยพบในเขตป่ามากที่สุด จำนวน 79,820 คิดเป็นร้อยละ 90 แยกเป็นป่าธรรมชาติ 72,390 จุด คิดเป็นร้อยละ 82 พื้นที่เกษตรกรรมในเขตป่า จำนวน 7,430 จุด คิดเป็นร้อยละ 8
เดโช ไชยทับ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ระบุว่า ปัญหาไฟป่าในภาคเหนือ มีความซ้อนทับกับวิถีชีวิต และภูมิปัญญาของการทำเกษตรและลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ดังนั้นการใช้จุดความร้อนเป็นตัวกำหนดการตั้งเป้าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถสะท้อนถึงความพยายามของการแก้ไขปัญหา และการปรับตัวของคนในพื้นที่ได้ เช่น มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด จุดความร้อนเท่ากับศูนย์
ขณะที่ปัญหาใหญ่ของคนในพื้นที่ คือ การไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรป่า ทั้ง ๆ ที่มีชุมชนจำนวนมากอาศัยอยู่ในป่า และพวกเขาคือกำลังสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมเจ้าหน้าที่ในการดูแล อนุรักษ์ และดับไฟป่า การทำงานที่ผ่านมา ที่แยกส่วนและไม่เคยให้อำนาจชาวบ้าน รวมถึงการโอนถ่ายภารกิจสู่ท้องถิ่นที่ไม่เป็นระบบไร้หลักการและแผน ส่งผลให้การจัดสรรงบประมาณ รวมถึง หน้าที่ ไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ปี2564 หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม เอกชน และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา จึงร่วมกันทำงานและปรับแผนการตั้งรับ และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันภาคเหนือ โดยเน้นให้ชุมชนกำหนดแผนการบริหารจัดการพื้นที่ เชื้อเพลิง มีงบประมาณสนับสนุนโดยผ่านชุมชนโดยตรงเป็นปีแรก รวมถึง การใช้แอปพลิเคชันร่วมบริหารจัดการเผา โดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศเป็นหลักในการอนุญาตการเผา ตามข้อมูลพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก พื้นที่เสี่ยง จะได้รับการจัดการและทำงานเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น