บ้านในฝัน… ของคุณต้องเป็นอย่างไร ?

ฟังเสียง เรียนรู้ แลกเปลี่ยน จากปัญหา 4 ‘ชุมชนเมือง’

‘บ้าน’ คงเป็นเรื่องที่ผู้คนมักจะต้องให้ความสำคัญให้เป็นอันดับต้น ๆ ในชีวิตเป็นแน่ แต่ว่า คำว่าบ้านของแต่ละคน เป็นอย่างไรล่ะ จะต้องมีรั้ว มีประตู มีหลังคา มีสนามหญ้าให้ทำกิจกรรมทำนองนี้หรือไม่

แต่กับบางคน ‘บ้าน’ ขอแค่เป็นที่ ให้ได้พัก ได้หลับนอน อย่างปลอดภัยในแต่ละวันก็ถือว่าดีแล้ว  

กลุ่มคนเปลี่ยนเมือง ได้จัด Community Trail เส้นทางการเรียนรู้ชุมชน  โดยชวนผู้คนเดินทางไปในพื้นที่ ชุมชนเมืองเพื่อเรียนรู้ รับฟัง แลกเปลี่ยน สร้างประสบการณ์และความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนเมือง  โดยความเข้าอกเช้าใจเชิงโครงสร้างไม่ได้อยู่ในชั้นเรียน หรือตำราเล่มไหน และไม่ได้อยู่ในห้องประชุม แต่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

การสร้างประสบการณ์ชีวิตร่วมกันจึงเป็นหัวใจและรากฐาน พร้อมกับการพูดคุยกับคนรุ่นเก่าถึงการต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัย และพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ถึงการมองคำว่าบ้าน สำหรับคนรุ่นใหม่  กับการเดินเท้าสำรวจ  4 ชุมชน 4 เรื่องราว 4 สถานการณ์ปัญหา

  1. บ้านมั่นคงวังหลัง ชุมชนการค้าหลังท่าน้ำวังหลัง กับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จากกลุ่มออมทรัพย์ขยับสู่สหกรณ์ เพื่อเปลี่ยนตลาดเก่า อาคารดั้งเดิมให้เป็นบ้านมั่นคง ที่ใช้ทั้งพักอยู่อาศัย และประกอบกิจการ
  2. ชุมชนวัดดวงแข ชุมชนเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ที่ปรากฎหลักฐานในแผนที่โบราณ วัด และสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนไม่โบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ที่กำลังเผชิญปัญหาการขอพื้นที่สาธารณะคืนจากภาครัฐ เพื่อพัฒนาเป็นอาคารที่จอดรถ โดยมีเส้นแบ่งบาง ๆ ของคำว่า ‘ส่วนรวม’ กับ ‘ส่วนร่วม’
  3. ชุมชนบ้านกล้วย คลองเตย ชุมชนริมคลองหัวลำโพง ที่ผู้คนส่วนใหญ่คือภาคบริการของเมือง ทั้งพ่อค้าแม่ค้ารถเข็น แผงลอย ลูกจ้างร้านค้า ฯลฯ ถือเป็นบ้านที่ขับเคลื่อนเมืองกับแผนพัฒนาพื้นที่คลองเตย Smart City  ซึ่งมีอนาคตที่แขวนบนเส้นด้ายของการพัฒนา
  4. ชุมชนริมทางด่วนบางนา ชุมชนริมทางด่วนที่ตั้งอยู่บนที่ดินของเอกชน ที่มีการเจรจากับเจ้าของที่เอกชนจนได้ที่ดินที่จะย้ายไปอยู่ แต่การดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังอาศัยอยู่บริเวณนี้ที่มีสถานภาพเป็นชุมชนบุกรุก เข้าไม่ถึงสิทธิ์ใด ๆ จากรัฐ ตั้งแต่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จนถึงสิทธิความเป็นชุมชน

หลังจากการเดินสำรวจ สู่การบอกเล่า ผ่านมุมมองของคนนอกพื้นที่ที่ได้ไปเห็นชุมชนจากสายตา ชวนสะท้อนปัญหา ตั้งคำถามต่อว่า แล้วชุมชนและบ้านของคุณล่ะ คือแบบไหน?

จากการได้เดินสำรวจในเส้นทางชุมชนบ้านกล้วย (คลองเตย) กษิดิส ปานหร่าย สหภาพคนทำงาน มองว่า การลงพื้นที่ได้เห็นการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างเครือข่ายคนรุ่นใหม่กับคนในชุมชน ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิถีชุมชน ประวัติศาสตร์และปัญหาในชุมชน ชุมชนบ้านกล้วยพอเดินเข้าไปเห้นได้ถึงความทรุดโทรม ตรงบริเวณที่ใกล้กับริมคลองหัวลำโพง สภาพแวดล้อมที่เห็นสำหรับเราต้องบอกเลยว่ามันไม่น่าอยู่ มันมีอันตรายเรื่องเชื้อโรคและเรื่องขยะ ที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้มาจากคลองเพียงอย่างเดียว มันถูกระบายมาจากทุกแหล่งแล้วมากองอยู่ที่ชุมชนบ้านกล้วย 

“ชุมชนบ้านกล้วย เรารู้สึกว่าเราเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนตรงเส้นแบ่งของเส้นถนนสุขุมวิทฝั่งหนึ่งมีความเจริญหรูหราอีกฝั่งหนึ่งเป็นชุมชนแออัดเป็นชุมชนที่โครงสร้างบ้านก็ไม่รู้ว่าจะมั่นคงแค่ไหน แล้วไหนจะมีน้ำที่ไม่สะอาด มีขยะแล้วเราก็รู้สึกว่ามันแย่ จนเราตั้งคำถามว่าเขาอยู่กันได้อย่างไร เขาอยู่ใต้สะพาน ที่ข้างบนเป็นทางด่วน มีรถของคนชนชั้นกลางที่วิ่งอยู่ทุกวัน แล้วตรงนั้นคือเสียงดังมากถ้าเปรียบเทียบว่าเป็นเราคงอยู่ไม่ได้จริง ๆ”

เรารู้สึกดีอย่างหนึ่งคือชุมชนเข้มแข็งเขารวมตัวกัน และมีอำนาจต่อรอง ถึงแม้จะยังไม่ชนะแต่เขาก็ต่อสู้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 – ปัจจุบัน เรารู้สึกว่าอันนี้คือดีอย่างนึงที่เค้ามีส่วนร่วมแล้วเขายังมีความสามัคคีและยังคงจับมือกันอยู่ แต่แค่เรารู้สึกว่าเค้าควรที่จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้เค้าควรที่จะมีที่อยู่ ที่อาศัยที่ดีกว่านี้ มีที่อยู่อาศัยที่คิดว่ามันสามารถเป็นได้มากกว่าบ้าน คือเราอยากเห็นบ้านที่มีรายได้ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงชีพคนในครอบครัวได้ ได้เราอยากเห็นคนในชุมชนนี้เปลี่ยนแปลงเหมือนที่ต่างประเทศเขาเปลี่ยนแปลงกัน

บ้านสำหรับคุณ ต้องเป็นอย่างไร 

“เราอยากเห็นบ้านที่มากกว่าบ้าน เราอยากให้บ้านมันคือแหล่งรายได้มันคือที่ทำธุรกิจของเรามันคือแหล่งซับที่ให้เงินกับเราและเราอยากให้บ้านเราอยู่ใกล้กับพื้นที่ทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่มันพัฒนาแล้ว หรือเป็นบ้านที่ติดกับที่ทำงาน ติดกับโรงเรียนจะได้สะดวกต่อการทำงานหรือพาลูกหลานไปโรงเรียนอยู่ใกล้ตลาด อย่างน้อยมีสภาพแวดล้อมที่ดี”

สอดคล้องกับ ธนกร ปลอดภัย เยาวชน กรุงเทพฯ วัย 16 ปี ที่ให้ความเห็นว่า การมีบ้านไม่ใช่แค่การมีที่พัก แต่มันคือการสร้างโอกาสให้มีอาชีพในอนาคต คือมุมมองที่อยู่อาศัยจากมุมมองคนรุ่นใหม่  ที่ได้เล่าประสบการณ์หลังจากไปเดินชุมชนวัดดวงแข 

ผมเดินทางมาจากบางกะปิ เดินทางไปสำรวจชุมชนวัดดวงแข ผมอยู่แถบชานเมือง ก็ไม่ได้แออัดมาก แต่พอเราตัดมาที่ชุมชนวัดดวงแขจะมีความเป็นชุมชนแออัดนิดนึง ติดกับหัวลำโพง ซึ่งเป็นภาพชุมชนเมืองที่เราไม่เคยเห็น พอเรานึกภาพบางกะปิก็ไม่ได้แออัดมาก ยิ่งพอพูดถึงหัวลำโพงแล้วก็จะนึกถึงวัดหัวลำโพงนึกถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่พอเราได้ไปดูคนที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น 

เราลองนึกภาพว่ามันเหมือนซอก ๆ หนึ่งที่เดินเข้า กว้างประมาณเก้าอี้ที่เรานั่ง ทางเดินคือเท่านั้นแล้วเราก็เดินเข้าไปในซอยนั้นความรู้สึกตอนเดินเข้าไปเรารู้สึกอึดอัดแทน เพราะมันไม่มีอะไรเลยฝั่งหนึ่งเป็นประตูบ้านอีกฝั่งหนึ่งเป็นกำแพง มันทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่าง เรื่องสุขอนามัย หรือเรื่องวิถีชีวิตของคนที่อยู่ที่นั่น 

หากทำความรู้สึกต่อเรื่องที่อยู่อาศัย หรือเรื่องเมืองผมมองว่ามันดีกว่านี้ได้ ในฐานะของการเป็นชุมชน เพราะผมก็รู้สึกว่าเขาก็คือคนหนึ่ง ที่มีส่วนร่วมกับการมีอยู่ของชุมชน เพราะฉะนั้นก็รู้สึกว่า หากเขามีส่วนร่วมในชุมชน เขาก็ควรที่จะมีที่อยู่ที่มันดีขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วที่อยู่ที่มันดีขึ้น มันไม่ใช่แค่ทำให้เขาอยู่สบายขึ้นแต่มันทำให้เขามีโอกาสที่มันมากกว่านั้น เขาอาจจะสามารถต่อยอดไปจนถึงขั้นมีอาชีพ หรือลูกหลานเขาก็อาจจะมีพื้นที่ที่ดีมากขึ้นกว่าการที่มีสภาพแวดล้อมแบบนั้น

บ้านสำหรับคุณ ต้องเป็นอย่างไร 

“ก่อนที่เราจะไปถึงระดับบ้านผมรู้สึกว่าทุกคนก็ควรจะมีสิทธิ์ที่จะได้อยู่ก่อนต้องมีที่อยู่ก่อนถึงจะเป็นบ้าน อย่างที่ผมไปชุมชนวัดดวงแขคือแค่สิทธิ์ที่เขาจะอยู่ ยังไม่มีเลย ผมเลยรู้สึกว่าเมื่อเราเริ่มต้นจากการมีสิทธิ์ที่จะอยู่แล้ว เราก็ต้องมาดูในตัวบ้านตัวบ้าน ผมคิดว่าจริง ๆ ไม่ต้องมีอะไรเยอะมากก็ได้แค่เป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับพักผ่อนก็เพียงพอแล้ว ถ้าบ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัวและบ้านอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีพื้นที่สาธารณะที่พร้อม ความต้องการบ้านแค่เป็นที่พักผ่อนก็เพียงพอแล้วถ้าอยู่ในสังคมที่พร้อม”

พรวลี ด้วงเอียด เป็นคนใต้ ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเส้นทางการเรียนรู้ชุมชนในกรุงเทพฯ และได้ลงพื้นที่บ้านมั่นคงวังหลัง ชุมชนการค้าหลังท่าน้ำวังหลัง  ระบุว่า จากสานตาคนต่างจังหวัดที่เห้นการสร้างบ้านในพื้นที่จำกัดและติดกันเป้นภาพที่ทำให้เธอจั้งคำถามว่าอยู่กันได้อย่างไร ความเป็นส่วนตัวอยู่ที่ไหน

ที่นี่เหมือนเป็นสลัมเล็ก ๆ แต่มีคุณลุงคนหนึ่งเข้าไปต่อรองกับรัฐ จนได้ถูกตั้งเป็นหมู่บ้านมั่นคงขึ้นมา และทำให้เราได้รู้ว่าหมู่บ้านมั่นคงนี้เป็นบ้านที่ พื้นที่เท่ากันหมดเลย เราไม่รู้ว่าคนกรุงเทพฯ คิดอย่างไรแต่สำหรับเราที่เป็นคนต่างจังหวัดตกใจเพราะว่ามันเป็นเพียงแค่พื้นที่สี่เหลี่ยมตรงนั้นเอง 1 ไร่ 42 ตารางวาเท่านั้น ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเล็กมาก ๆ สำหรับชุมชน แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเขายังสามารถจัดสรรพื้นที่ได้ดี มีจุดที่เป็นส่วนร่วมของ คือสหกรณ์ชุมชน โดยที่ผู้ใหญ่ในชุมชนนี่แหละเป็นคนสร้างและก็ชอบคำพูดของป้าคนนึงเธอเล่าว่า “อยากให้รุ่นลูกเขา ให้คนรุ่นหลังนี่แหละเป็นผู้สืบทอดต่อไป แล้วก็รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นความน่ารักของชุมชน”

บ้านสำหรับคุณ ต้องเป็นอย่างไร 

“อย่างแรกเราควรมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองบ้าง แต่ในความเป็นจริงในพื้นที่บ้านมั่นคงวังหลัง ติดกันทั้งหมดเลย แม้แต่ทางเดินก็ยังเดินยาก จะเดินเพียงแค่ผ่านกันไปก็ยังไม่ได้ จะต้องเดินไปทีละคนหรือไม่ก็เดินเอียงข้าง  เราเลยรู้สึกว่ามันมันไม่ใช่ มันไม่ใช่มันควรจะมีที่ ที่เขาอยู่แล้วสบายกว่านี้ 

เมธี ศิริมงคล เครือข่ายสาธารณะศึกษา Feel Trip เดินสำรวจเส้นทางชุมชนริมทางด่วนบางนา ระบุว่า ชุมชนที่ตนไปเป็นสลัม ซึ่งผิดกับมุมมองที่ตนมีตั้งแต่เด็ก ที่มองว่ากรุงเทพเป็นเมืองศิวิไลซ์

เป็นสลัมซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงสาธารณูปโภค หรือว่าสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาจะต้องพบเจอ หลัก ๆ ของปัญหาที่ริมทางด่วนบางนาเจอก็คือ เขากำลังจะย้ายชุมชนไปที่อื่น การเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเช่นน้ำและไฟที่พวกเขาต้องจ่ายในราคาที่แพงเพื่อต้องแลกกับสิ่งนั้นแต่ยังไม่เท่าเทียมกับคนอื่น 

หลังจากที่ไปเห็นถ้าเอาความรู้สึกตรง ๆ คือรู้สึกแค้น รู้สึกหงุดหงิด ที่ว่าทำไมสิ่งที่เราคิดหรือว่าสิ่งที่เราอยู่ในเมืองนี้ ตรงกันข้าม กับความคิดที่เราคิดเอาไว้ และเรารู้สึกแค้นที่ว่าชุมชนนั้นเขาต่อสู้ กลับหน่วยงานต่าง ๆ คือความสิ้นหวังของเขา เขาไปขอร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน แต่ไม่มีหน่วยงานไหน จะมาดูแลเขาเลย เขาถูกปล่อยประละเลย ขอยกคำพูดหนึ่งของพี่ชาวบ้านเขาพูดว่า 

“เหมือนถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีใครสนใจเราหรือชุมชนเราเลย” ซึ่งชุมชนก็ต้องก่อร่างสร้างตัวด้วยตัวเอง จวบจนปัจจุบันชุมชนก็ยังสู้อยู่ 

บ้านสำหรับคุณ ต้องเป็นอย่างไร 

“เอาง่าย ๆ คือทุกคนมีความเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงกันได้และได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน ด้วยความเสมอภาค ไม่มีกลุ่มอำนาจใดกลุ่มอำนาจหนึ่งที่ได้รับการอำนวยเป็นพิเศษ”

ทุกคนที่อยู่ที่นี่มานานบางคนอยู่ตั้งแต่เกิด บางคนอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และหากไล่เราไปไกล จะเริ่มต้นอย่างไรสามปีของการระบาดของโควิดเศรษฐกิจมันทำให้พวกเราแย่อยู่แล้ว เขตยังจะมาไล่เรา : กาญจนา กายศิริ อดีตประธานชุมชนวัดดวงแข

นอกจากเสียงสะท้อนจากผู้คนที่เข้าไปเดินชุมชนแล้ว อีกมุมหนึ่งก็ยังเสียงบอกเล่าของคนในพื้นที่อย่าง กาญจนา กายศิริ อดีตประธานชุมชนวัดดวงแข ที่เล่า ถึงเหตุการณ์สมาชิกชุมชนวัดดวงแข 22 หลังคา ถูกสำนักงานเขตุปทุมวัน ติดประกาศไล่รื้ออย่างไม่ทันตั้งตัว ให้ชาวชุมชน 22 หลังคาย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน โดยในหนังสืออ้างว่าบริเวรนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ

“เราอยู่มาเป็น100 กว่าปี ไม่ใช่พึ่งมาอยู่แค่วันสองวันเราอยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้วก็อยู่ต่อกันมา อยากให้คิดดูสิว่าเราอยู่กันมากี่สมัยแล้วแล้วทุกคนที่อยู่เค้าก็พยายามพัฒนาบ้านของเขาภายในชุมชนให้ดีให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการรวมตัวกัน  สร้างสรรค์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและยังเป็นชุมชนดีเด่นในเขตปทุมวันชุมชนหนึ่ง”

เป็นสถานที่หนึ่งให้คนได้มาดูงานว่ามีการทำงานกันอย่างไรถึงได้เกิดการพัฒนาเกิดขึ้น เพราะพวกเราช่วยกันไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยอยู่มาก่อนหรือคนที่เกิดขึ้นมาใหม่ รวมถึงเครือข่ายและแกนนำที่เข้ามาช่วยเหลือกันสร้าง และมีเป้าหมายอยากทำให้ชุมชนน่าอยู่มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ลูกหลานได้อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ 

ทุกคนที่อยู่ที่นี่อยู่กันมานานบางคนอยู่ตั้งแต่เกิดบางคนอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ เราค้าขายเราทำงานทุกอย่างการเรียนการศึกษาของเด็ก ๆ ก็อยู่ในบริเวณนี้  และหากไล่เราไปไกล จะเริ่มต้นอย่างไรสามปีของการระบาดของโควิด เศรษฐกิจมันทำให้พวกเราแย่อยู่แล้วเขตยังจะมาไล่เรา โดยไม่มองเลยว่าเราอยู่กันมานานขนาดไหน มาถึงก็ติดป้ายแปะบอก 15 วันให้ย้ายออกจากพื้นที่ ชาวบ้านหลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับแต่ยังถือว่าโชคดีที่ยังมีเครือข่ายและหน่วยงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เครือข่ายสลัมสี่ภาค feel trip ต้องขอบคุณที่ยังเห็นพวกเรามีตัวตนอยู่ในสังคมนี้

เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องใหญ่ของคนจน ที่ผ่านมาไม่มีใครมองเห็น และถูกไล่รื้อมาตลอด การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินแล้วจะแก้ไขปัญหาได้ กว่าจะได้มามีทั้งเลือด ทั้งเนื้อ ทั้งน้ำตา : ศิริพร สวัสดี ชาวชุมชนบ้านกล้าย เขตคลองเตย กทม.

ขณะที่ ศิริพร สวัสดี ชาวชุมชนบ้านกล้าย (คลองเตย) อธิบายว่า การต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยของคนจน ซึ่งตัวของเธอเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้จะผ่านมา 10 กว่าปี แต่เหมือนว่าท่าทีและอำนาจของคนจนที่จะต่อรองกับรัฐก็ยังไม่ได้มีมากพอ 

เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องใหญ่ของคนจนที่ผ่านมา ไม่มีใครมองเห็น และถูกไล่รื้อมาตลอดชาวบ้านหลายชุมชนถูกไล่รื้อและพวกเขาไม่สามารถที่จะหาทางออกได้ กระเสือกกระสน ไม่ได้มีความรู้มากพอทำให้คนเหล่านี้ไม่มีที่อยู่อาศัยไปเรื่อย ๆ กระทั่ง ชาวชุมชนเห็นว่าหากยังเอาตัวรอดเพียงรายบุคคลหรือชุมชนก็ยังคงจะถูกไล่รื้อเรื่อย ๆ และคิดว่าไม่มีทางที่จะแก้ไขได้จึงเกิดความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ จึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อให้คนจนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาตัวเอง 

โดยมีการลงพื้นที่สำรวจว่ามีใครที่ถูกไล่รื้อบ้าง พร้อมได้ทางออกว่าหากจะแก้ไขปัญหานี้จะต้องสร้างบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็เกิดการตั้งคำถามที่ว่าแล้วจะเอาเงินมาจากที่ไหน จึงได้มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ส่งผลให้หลายชุมชนมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ใช่เพียงแค่มีเงินแล้วจะแก้ไขปัญหาได้แต่จะต้องติดต่อกับหลาย หน่วยงาน ที่อยู่อาศัยของคนจนยากมากกว่าจะได้มามีทั้งเลือด ทั้งเนื้อ ทั้งน้ำตา เมื่อก่อนเราแยกกันทำแบบตาสี ตาสาทำไปเรื่อย กระทั่งเราเห็นว่าถ้ามัวแต่ต่างคน  ต่างไปไม่มีทิศทางเรามารวมตัวกันดีไหมเป็นกลุ่มก้อนแล้วดูที่ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและมาแก้ไขกัน และทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ