ถึงเวลายกเครื่อง ระบบ ‘เตือนภัยพิบัติ’

ประสิทธิภาพของ ‘ระบบเตือนภัยพิบัติ’ และ ‘แผนจัดการภัยพิบัติ’ ถูกพูดถึง และกลายเป็นคำถามใหญ่มาตลอดเมื่อเกิดภัยพิบัติเกิดขึ้นในประเทศไทย วิกฤตน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือรอบนี้ก็เช่นกัน

เอาแค่กรณีของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย… ทั้ง ๆ ที่การคาดการณ์ฝน ปริมาณน้ำ พอจะบอกได้เลยว่านี่ไม่ใช่เรื่อง ‘กะทันหัน’ ที่ไม่รู้เลยว่าจะมาตอนไหน เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลในมือ แต่ทำไม ? ประชาชนยังติดอยู่ภายในบ้านจำนวนมาก พื้นที่เศรษฐกิจป้องกันแทบไม่ได้ จนความเสียหายมันรุนแรงชนิดที่แทบไม่มีใครเตรียมเก็บข้าวของ และอพยพได้ทัน

ระบบเตือนภัยอยู่ไหน ? จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนถามหากันทั่วบ้านทั่วเมือง หรือจริง ๆ แล้วมีระบบนี้อยู่ แต่คนไม่เชื่อถือ!

เมื่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่ว่าเริ่มคลี่คลาย กลับเข้าสู่โหมดการฟื้นฟู ก็ถึงเวลาที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องกลับมาล้อมลงคุยกัน(อีกครั้ง) ซึ่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม (สกสว.), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) พร้อมด้วยนักวิชาการ และตัวแทนชุมชน ร่วมกัน ถอดบทเรียน

ทำยังไง ? ระบบเตือนภัยพิบัติ จะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมและดินถล่มได้จริง

The Active สรุปหลักคิด วิธีการ ผ่านมุมมองข้อเสนอจากหลายภาคส่วน ตามทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ด้วย 3 เสาหลัก คือ ภาควิชาการงานวิจัย, ภาคนโยบายรัฐ และ ชุมชน

วิกฤตความเชื่อมั่น ‘ระบบเตือนภัยพิบัติ’ ท่ามกลางจุดอ่อน ‘การสื่อสาร’ ? 

หลายคนคงได้ยินว่าเรามีความเสี่ยงหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นเชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย ในรอบเดือนที่ผ่านมา แต่ทำไมระบบเตือนภัยจึงไม่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้ นี่คือสิ่งที่ รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดหัวชวนสนทนา โดยตั้งคำถามกับระบบ ว่า ปัญหาอยู่ที่ประชาชน “ไม่เชื่อฟัง” เพราะ “ไม่เชื่อใจ” ทำให้ไม่อพยพออกจากพื้นที่ หรือจริง ๆ แล้วเรากำลังเจอกับปัญหาใหญ่ถึง 2 เรื่องใหญ่ นอกจากระบบเตือนภัย แล้วอาจมีปัญหาด้าน ‘การสื่อสาร’ด้วย

ระบบเตือนภัย ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับจังหวัด เราอยู่ในระดับที่ใช้ได้พอสมควร ในระดับโลกก็มีการวิจัยเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องปฏิบัติ และทำให้ละเอียด ถูกต้อง รอบคอบมากยิ่งขึ้น จุดอ่อนของเรา คือเรื่องการสื่อสารในพื้นที่ เพราะว่าการสื่อสารข้อมูลจากส่วนกลางไปยังพื้นที่ ก็อาจจะยังไม่ถูกต้อง 100% และอาจจะยังไม่ทันการณ์ มีส่วนที่ต้องปรับปรุง”

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผอ.แผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รศ.สุจริต ยังหยิบยกงานวิจัยใน จ.ตาก ที่พบว่า ถ้าพื้นที่มีข้อมูล มีบุคลากร มีความรู้ มีเครื่องมือที่ใช้การได้ การจัดการก็จะดีขึ้น ความสูญเสียจะลดลง ซึ่งจะดีกว่าพื้นที่ที่ไม่มีเลย โดยในแง่ชุมชนก็มีข้อเรียกร้องว่า อยากได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางเพื่อให้มีความพร้อมที่มากขึ้นเช่นกัน ในฐานะหน่วยงานภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนาระบบเตือนภัย และพัฒนาความสามารถของชุมชนเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้มากขึ้น

“อันดับแรกจะเริ่มจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงก่อน และนำไปสู่หมู่บ้านที่ต้องดูแล ซึ่งตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 หมู่บ้าน ที่ต้องมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อให้ครอบคลุมการรับมือในระยะเวลาที่สมควร”

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

‘แผนที่น้ำท่วม’ สู่แผนจัดการภัยที่ยั่งยืน

รศ.สุจริต มีข้อเสนอ ว่า ควรมี แผนที่น้ำท่วม เพื่อให้เตรียมความพร้อมรับมือระดับชุมชน โดย

  • ระยะสั้น ชาวบ้านจะรู้สึกว่า ไม่เจอ ก็ไม่เชื่อ ทำให้ไม่อพยพ ดังนั้นต้องปรับตรงนี้เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นโดยใช้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยง เพราะลักษณะภูมิประเทศในแต่ละที่มีความแตกต่างกัน จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลของพื้นที่กับข้อมูลส่วนกลางประกอบกัน

  • ระยะยาว ต้องยกระดับ เรื่องควบคุมการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยให้ก่อสร้างเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสม ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องชี้แจงชาวบ้านให้เกิดความเข้าใจ ย้ายไปในที่ที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

  • การจัดให้มีองค์กรเพื่อดูแลเรื่องภัยพิบัติในระยะยาว เพราะตอนนี้ยังเป็นศูนย์เฉพาะกิจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ก็ประกาศ

  • การตั้งกองทุน ไม่ว่าจะเป็นประกันภัย เงินที่นำมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายวิจัยต้องไปออกแบบ

Community-Based คืนชีพ ‘Mr.เตือนภัย’ ระดับชุมชน

“เรามองพื้นที่ต้นน้ำ ภูเขา ชุมชนที่อยู่บนภูเขา ด้านล่างเป็นตีนเขา น้ำก็ไหลเข้ามาในเมือง หากวิเคราะห์จากสามัญสำนึก จะเห็นว่าการเตือนภัยที่ยากและทันท่วงที คือ การเตือนภัยในพื้นที่ภูเขา เพราะอยู่ใกล้จุดที่เกิดดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ขณะที่การเตือนภัยน้ำท่วมในเมือง ที่นำไหลไปตามร่องน้ำ”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม จากคณะวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชวนมองภาพน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมเมือง ให้เป็นสเต็ป โดยระบุว่า จากงานวิจัยหลายชิ้น มีกระบวนการที่จะคาดการณ์ความเร็ว ระยะเวลาที่น้ำจะมาได้พอสมควร หรือ กล่าวง่าย ๆ คือในกรณีน้ำท่วมเมือง แบบจำลอง หรือ กระบวนการต่าง ๆ น่าจะดีพอสมควร และคนที่อยู่ส่วนกลาง นักวิชาการ ผู้ที่อยู่ในส่วนราชการที่ดูแลโดยตรง น่าจะสามารถพินิจและคาดการณ์ได้ในระดับที่ค่อนข้างดี

แต่ตามหมู่บ้านหรือชุมชนที่ใกล้แหล่งเสี่ยงภัย ส่วนใหญ่จะมีเวลาน้อย จากการพูดคุยได้ข้อสรุปว่าในพื้นที่ป่าเขา ทั้ง ปภ. และ กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า มีประมาณ 10,000 หมู่บ้านนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ 10,000 หมู่บ้าน 53 จังหวัด หน่วยงานส่วนกลางจะเอาคนไปเฝ้าตลอดเวลา ดังนั้น กระบวนการเตือนภัยฐานชุมชน หรือที่เรียกว่า Community-Based จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้หมายถึงการผลักภาระให้ชุมชนดูแลกันเอง

“ฟังไปอาจจะมองว่าเป็นการผลักภาระไปให้ชุมชนดูแลกันเองหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่หลักของ Community-Based ที่สำคัญคือเมื่อภัยจะมา นักวิชาการจากส่วนกลาง จะเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ที่มันมีโอกาสจะเกิด เมื่อมีภัยที่คาดว่าจะมาภายใน 2-3 วัน เราก็จะเตือนภัยล่วงหน้า แบบจำลองต่าง ๆ สสน. ก็ทำแบบจำลอง กรมอุตุนิยมวิทยาก็ทำแบบจำลองล่วงหน้าได้ เมื่อข้อมูลถูกเตือนไปแล้ว ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับไปชุมชนจะเริ่มกระบวนการเฝ้าระวังตนเอง”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม

ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม อธิบายเพิ่มว่า Community-Based จะต้องดำเนินการภายใต้ 3 สิ่ง ที่ภาครัฐและนักวิชาการให้ได้ คือ

  1. องค์ความรู้ ว่า ตอนไหนเสี่ยง ต้องตัดสินใจอพยพ

  2. เครื่องมือ ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ไ้ด้สะท้อนความต้องการเครื่องมือที่ทันสมัย เพราะของเดิมที่เคยได้ไปเกิดการเสื่อมสภาพเมื่อเวลาผ่านไป

  3. การประสานงาน โดยต้องสรุปให้เขาทราบว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องดำเนินการอย่างไร

สิ่งเหล่านี้คือ Community-Based ที่หน่วยงานราชการ หรือ นักวิชาการ เติมเต็มให้ได้ แต่ต้องเกิดจากชุมชนย้อนขึ้นมา ที่ผ่านมาเราใช้ระบบเอาความรู้ เอาเครื่องมือไปให้ ซึ่งมันอาจจะเป็นการทำตามหน้าที่ไป แต่ทุกวันนี้สิ่งสำคัญที่ต้องรื้อฟื้น คือ การสร้างระบบเตือนภัยฐานชุมชน เช่น ปภ. เคยมี “อาสาสมัครเตือนภัย มิสเตอร์เตือนภัย” หรือ กรมทรัพยากรธรณีก็มีเครือข่ายที่ดูเรื่องดินโคลนถล่ม แต่ต้องมีงบประมาณไปส่งเสริมเพื่อให้เกิดการคุยกันในชุมชน และในชุมชน ต้องตอบคำถาม 3 ข้อของตัวเองให้ได้

“ขอให้ทุกคนนึกภาพชุมชนตัวเอง บ้านตัวเอง หรือคอนโดฯ ถ้าเราเจอเหตุการณ์นี้จะทำอย่างไร โดยที่ยังไม่มีความรู้ แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ คือ จะหนีตอนไหน จะหนีอย่างไร และ จะหนีไปไหน เมื่อได้ 3 อย่างนี้จากชุมชน จะนำไปสู่การร้องขอจากชุมชน ว่าอยากได้อะไร เช่น อยากได้แผนที่แบบไหน อยากได้เครื่องมืออะไร อยากได้องค์ความรู้อะไรเพิ่มเติม ดังนั้นก็จะลายเป็น Bottom-up และ Top-down ที่มาเจอกันตรงกลางได้”

“ผมคิดว่ามันจะทำให้การเตือนภัยที่ลงไปในพื้นที่ชุมชน สามารถที่จะเตือนตัวเอง มีองค์ความรู้ โดยมีพี่เลี้ยงที่เป็นนักวิจัย หน่วยงานรัฐ ส่วนชุมชนจะเป็นคนขึ้นเวทีชกเอง เพราะหน่วยงานอาจะเข้าไปตอนสถานการณ์ฉุกเฉินทันทีไม่ได้ เพราะเวลาเกิดดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก การสื่อสารถูกตัดขาดหมด จึงเกิดเป็นข้อเสนอว่า นักวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่พี่เลี้ยงสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ และต้องเทรนด์นักชก หรือ ชาวบ้าน ให้ดี”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

ส่วนการเตือนภัย หรือการจัดการน้ำหลาก หรือน้ำท่วมในเมือง ต้องบอกว่า มีแบบจำลองอยู่พอสมควร ก็จะคล้ายกับดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ที่จะต้องมีการซักซ้อม และต้องมีเครื่องมือเพิ่มในการเตือนภัย 

“องค์กรไหนที่ดูแลเรื่องการป้องกันภัย เรื่องน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ป้องกัน ด้วยการสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรม ในการที่จะลดแรงผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ไม่มีนะครับ แล้วในทางกลับกัน ในการวิจัยก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมีเรื่องกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น การก่อสร้างถาวร ที่จะไปลดกระแสน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคป่าไม้ ก็ทำไมได้ อุทยานทำไม่ได้ แต่ในประเทศที่เขามีภัยรุนแรง เขาก็ทำได้หมด”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

รศ.สุทธิศักดิ์ มองว่าจากนี้ต้องมาคิดใหม่ ว่า ควรจะปรับงานวิจัย ปรับกฎหมาย และศึกษาดูว่า มีโครงสร้างที่ ปภ. สามารถทำได้หรือไม่ รวมทั้งหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรม

“เราหนีกันอย่างนี้เป็น 100 ปีไม่ไหวนะครับ พูดตรง ๆ ต่อให้กรมอุตุฯ เตือนแม่นแค่ไหน เราหนีกันไปตลอดไม่ได้ ต้องมาคิดกันว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

10,000 หมู่บ้าน พื้นที่เสี่ยงภัย กับการรับมือ

รศ.สุทธิศักดิ์ ยังชวนมองภาพใหญ่ในระยะสั้น อย่าง พื้นที่ อ.แม่สาย ชุมชนถ้ำผาจม ชุมชนเกาะทราย เป็นพื้นที่ที่ไม่ควรอยู่อาศัยโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่ที่ดินตะกอนไหลมาทับ และจากงานวิจัยที่เคยทำ กับ สกสว. เรื่องแผ่นดินไหว ได้ไปเจาะดินแถวนั้นดู พบว่า มีชั้นดินตะกอนที่ทับถมมาในอดีตมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีการหาอายุ ซึ่งอาจจะต้องกลับไปหาอายุว่าที่ อ.แม่สาย มีการถล่มแบบนั้นมากี่ครั้ง กี่รอบ ซึ่งจะเป็นคำตอบได้ว่า จริง ๆ แล้วเราอาจจะต้องมีเขตเศรษฐกิจใหม่หรือไม่ ?

“สิ่งที่ทำได้ ณ เวลานี้ พบว่า ประชาชนหลายหมู่บ้าน อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย และพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าว ประกาศอยู่ในลิสต์ ของ ปภ. และกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ เป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก คำถามคือตอนนี้ ต้องทำอย่างไรกับพี่น้องที่อยู่ในหมู่หมู่บ้านเหล่านั้น ถูกพิสูจน์ในที่เชียงรายแล้วว่าเมื่อฝนตกหนัก พื้นที่ตามรายชื่อเหล่านั้น หลายหมู่บ้านที่ดินถล่ม หรือเกิดน้ำป่า กับพี่น้องทางภาคใต้ตอนนี้ ต้องมานั่งดูลิสต์แล้ว นายอำเภอต้องมานั่งดูแล้วว่าในหมู่บ้านไหนที่จะต้องเฝ้าระวัง โดยอาจจะต้องหาช่องทางในการรับข้อมูลจากส่วนกลางให้ชัดเจน ซึ่งส่วนกลางก็น่าจะพร้อมอยู่แล้วในการเชื่อมโยงข้อมูลไป เพื่อให้คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอพยพก่อนที่จะเกิดเหตุขึ้น”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

‘การสื่อสาร’ สิ่งแรกที่หน่วยงานต้องคิดทำก่อนเกิดภัย

ในมุมมองของ ศรเทพ วรรณรัตน์ นักบริหารนโยบายวิจัยและพัฒนา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) บอกว่า การทำงานของ สสน. คือ การคาดการณ์การรับมือภัยพิบัติ ตอนนี้คาดการณ์ว่า จากนี้ไปฝนจะเริ่มตกหนักในทางใต้ และค่อนข้างที่จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาด้วย

ศรเทพ วรรณรัตน์ นักบริหารนโยบายวิจัยและพัฒนา สสน.

“สำหรับกรณีตัวอย่างของปีที่แล้ว ก็การคาดการณ์จากครั้งที่เกิดปีที่แล้วคือ 25 ธ.ค. 2566 เราพบสิ่งบอกเหตุตั้งแต่ 5 ธ.ค. และได้มีการเตรียมการโดยประสานงานให้ชุมชนเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึง ปภ. สทนช. เพื่อให้เกิดการสั่งการล่วงหน้า พอถึงช่วงเกิดเหตุเราก็ได้มีการเคลื่อนกำลังลงไปรับมือกับสถานการณ์ คือสิ่งที่ สสน. และการได้มาร่วมพูดคุยครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับขึ้นไปอีกเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการคาดการณ์ สามารถสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานได้ดียิ่งขึ้น”

ศรเทพ วรรณรัตน์

ขณะที่ อาร์ม จินตนาดิลก ผู้อำนวยการส่วนวิชาการการเตือนภัย ปภ. ย้ำว่า ปภ. ทำหน้าที่แจ้งเตือน และส่งเสริมกันป้องกันเหตุ มีการส่ง SMS โดยเก็บเบอร์โทรศัพท์ของประชาชนที่อยู่ใกล้กับบริเวณเสาส่งสัญญาณจะมีการใช้ SMS แจ้งเตือนก่อนระยะสั้น ซึ่งในระยะยาวจะพัฒาเป็นระบบ Cell Broadcast Service เพื่อกระจายข้อความไปยังพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ ในรูปแบบสัญญาณเตือน ส่วนตัวเวอร์ชันที่ใช้ส่งอยู่ปัจจุบัน เป็นลักษณะของการส่งเป็นข้อความ 

“ขอประชาสัมพันธ์ว่า ชื่อผู้ส่ง ใช้ตัวย่อว่า CBS (Cell Broadcast Service) และหากเป็น SMS ปัจจุบันจะใช้ DDPM ซึ่งเป็นชื่อย่อภาษาอังกฤษกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย โดยจะไม่มีลิงก์ให้กด ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือกดลิงก์นี้ หรือขอเงินเยียวยากดลิงค์นี้ จะไม่มีรูปแบบนี้เด็ดขาด จะเป็นเพียงข้อความการแจ้งเตือนเท่านั้น”

อาร์ม จินตนาดิลก
อาร์ม จินตนาดิลก ผู้อำนวยการส่วนวิชาการการเตือนภัย ปภ.

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ คือ การสื่อสารให้เข้าใจ “สิ่งที่เกิด” โดยไม่ต้องตีความ ซึ่งปัจจุบัน ปภ. แจ้งเตือน โดยไม่ใช้ศัพท์ทางการแล้ว 

“เราแจ้งชัดเจนเลยว่าภัยที่เกิดขึ้นคืออะไร เช่น อุทกภัย เป็นน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง เราไม่บอกว่าเป็นปรากฎการณ์ จะไม่ใช้ศัพท์แบบนั้น แต่ใช้การดูข้อมูลจากศูนย์วิชาการ ไม่ว่าจะเป็นทาง สสน. กรมอุตุนิยมวิทยา แล้วแปลงออกมาเป็นคำพูดที่เข้าใจง่าย”

อาร์ม จินตนาดิลก

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของ One Map ที่รวมข้อมูลประชาชนเข้าดูได้ทันทีจากที่เดียว ทำได้หรือไม่ ? รศ.สุทธิศักดิ์ ระบุว่า หมู่บ้าน ในพื้นที่เสี่ยงภัยกว่า 10,000 หมู่บ้าน มีจำนวนไม่น้อยที่ทางชุมชน ร่วมมือกับหน่วยงานทางวิชาการจัดทำแผนที่อพยพชุมชน แต่ต้องค่อย ๆ ดำเนินการ ซึ่งมีหลายชุมชนที่เริ่มทำไปแล้ว แต่มีอีกหลายชุมชนที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากชุมชนอาจจะไม่สามารถรวมตัวกันได้ โดยเฉพาะชุมชนเมือง เมื่อเทียบกับชุมชนที่อยู่ในชนบท ซึ่งอาจจะไม่ง่ายนักในการรวมตัวหรือทำศูนย์อพยพ แต่สิ่งที่อยากให้ดำเนินการตอนนี้ จากส่วนราชการ คือ การสนับสนุนเรื่อง “ซ้อมอพยพ”

“การซ้อมอพยพมันก็จะต้องมีแผนที่ ซึ่งจะต้องมีการคุยกัน อพยพทำอย่างไรก็ต้องมีเครื่องมือ ก็ร้องขอเครื่องมือมา และสิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องทำเวลานี้ก็คือสำหรับพี่น้องที่อยู่ทางภาคใต้ในชุมชนที่มีการดำเนินการทำแผนที่อพยพอยู่แล้ว ต้องมีการอัปเดตเพราะเชื่อว่าแผนที่อาจจะทำมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว เพราะเวลาเกิดเหตุแต่ละครั้ง หมู่บ้านที่เกิดเหตุจะถูกตัดขาดจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นโคลนถล่ม หรือน้ำป่าไหลหลาก ในแผนอพยพจะต้องมีทางอพยพเดินเท้า โดยไม่ใช้รถ เป็นสิ่งที่น่าจะต้องทำ”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

แผนอพยพเฉพาะพื้นที่ เป็นไปได้ไหม ? 

รศ.สุทธิศักดิ์ ย้ำว่า “จำเป็นต้องมี” เพราะ หากมองในระดับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ที่ดูแล ในพื้นที่เขามีการดูเรื่องการเตือนภัย ซ้อมแผนรับมือสึนามิอยู่ตลอดในพื้นที่เสี่ยงภัย และมีการซ้อมหลายอย่าง แต่ละภัยพิบัติจะมีวิธีการหนีที่แตกต่างกัน เช่น เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวไม่ใช่หนีเลย แต่ว่าต้องหลบก่อน น้ำป่าไหลหลาก ก็ต้องวิ่ง ถ้าเจออัคคีภัย ต้องรีบก้มลงให้ต่ำ เป็นต้น เพราะฉะนั้นในหมู่บ้านก็เหมือนกันต้องสร้างกระบวนการเตรียมความพร้อม

หลายหมู่บ้านก็มีกระบวนการสร้าง Community-Base การเตือนภัยระบบฐานชุมชน มีหลายหมู่บ้านที่เคยทำขบวนการนี้มาก่อน หลาย 10 ปีแล้ว แล้วก็รอดหลายหมู่บ้าน แม้กระทั่งของเชียงรายหลายหมู่บ้านอพยพก่อน โดยการตัดสินใจด้วยตัวเอง จากการได้รับข้อมูลและความรู้การประมวลผลซึ่งในส่วนนี้น่าสนใจว่าถ้านักวิชาการลงไปติดตามพื้นที่ที่ปลอดภัยจากวิกฤตครั้งนี้เป็นอย่างไร”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

ขณะที่ ผู้อำนวยการส่วนวิชาการการเตือนภัย ปภ. ชี้ว่า การซ้อมแผน ปภ. ได้สนับสนุนให้ทางพื้นที่มีการฝึกซ้อมกันเป็นประจำทุกปี อย่างภาคใต้ในช่วงปลายปีก็จะมีการซักซ้อมโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงงบฯ ที่เตรียมจะใช้ในปีงบประมาณ 2568 ก็มีการสนับสนุนการทำงานในรูปแบบ Community-Based และ เรื่องของการเตือนภัย เพื่อให้มีการถ่ายทอดข้อมูลในการเตือนภัยให้กับพื้นที่ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่นำไปเสริม

แม้ว่าประเทศไทยจะมีแผนรับมือภัยพิบัติ แต่ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องการติดตาม ทบทวน และการสนับสนุนงบประมาณที่ต่อเนื่องหรือไม่ ตัวแทนจาก ปภ. ระบุว่า ทบทวนแผนของพื้นที่ทุก ๆ 5 ปี ซึ่งขึ้นอยู่ ประชาชนและชุมชนด้วยว่าให้ความตระหนักในการฝึกซ้อมและดำเนินการตามแผนมากเพียงใด 

“ต้องบอกว่าแผนเตรียมความพร้อมระดับจังหวัดเรามีอยู่แล้ว ส่วนสิ่งที่ยังไม่มีทุกพื้นที่ คือ แผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะนี้ ปภ. พยายามลงไปในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจัดทำแผนบรรเทาสาธารณะภัยของ อปท. ให้ครบทั้งหมด 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ

อาร์ม จินตนาดิลก

รศ.สุทธิศักดิ์ ยังเสนอด้วยว่า ควรสนับสนุนให้มี “ปราชญ์ชุมชน” ที่เข้ามาทำหน้าที่ร่วมด้วย เนื่องจาก คนของหน่วยราชการ เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะมีการโยกย้ายตามความเจริญก้าวหน้าของหน้าที่การงาน ถ้าใครที่ทำงานด้านภัยพิบัติจะทราบดีว่า ผ่านไป 5 ปี คนที่เคยคุยด้วย ก็เปลี่ยนไปหมด แต่ชาวบ้านที่เป็นตลาดในชุมชนเขาไม่เปลี่ยน ไม่ไปไหน จะทำอย่างไรให้เกิดการสนับสนุนแบบไม่จำเป็นต้องใช้ตำแหน่งในการจ้าง แต่ให้มีเป็นงบประมาณที่จะสนับสนุนไปในพื้นที่ เพื่อที่จะให้เกิดความยั่งยืน

“ถ้าหากสังเกตชุมชนที่รอดจากภัยพิบัติ จะมีพ่อหลวง หรือมีสักคนหนึ่งที่เป็นแกนหลัก ในการนำความรู้ไปคุยกับเขาต้องสนับสนุนให้เกิดบุคลากรเหล่านั้น ส่วนของแผน ที่จะให้ประชาชน ใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะอยู่หรือไปจากพื้นที่ เมื่อไหร่ต้องไป ไปอย่างไร ไปที่ไหน” 

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

ในส่วนของ ปภ. ยอมรับว่า ปัจจุบัน มิสเตอร์เตือนภัยในบางพื้นที่ยังคงทำหน้าที่ได้ดีอยู่ แต่บางพื้นที่ไม่ทำงานแล้ว ซึ่งพยายามเข้าไปรื้อฟื้นให้มีการทำงานต่าง ๆ 

‘อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก’ ในมือท้องถิ่น เสี่ยง! เพราะอาจดูแลไม่ไหว

อีกประเด็นที่เป็นปัญหา คือ เรื่องอ่างเก็บน้ำ ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะปัจจุบัน ถ้าเป็นอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลางไม่ค่อยกังวล เพราะว่าส่วนใหญ่เจ้าของเขื่อนดูแลอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานอย่างกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ชื่อหลังนี้อาจจะไม่คุ้นแต่เขาเป็นเจ้าของเขื่อนหลายแห่ง

แต่หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเขื่อนมากที่สุดในประเทศไทย คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เนื่องจากในกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานราชการที่เคยเป็นเจ้าของเขื่อนและสร้างมา เมื่อมีกฎหมายท้องถิ่น ทำให้ต้องโอนอ่างเก็บน้ำที่มีความจุต่ำกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปให้ท้องถิ่นดูแล จึงมีเหตุผล และข้อเสนอเรื่องความปลอดภัยดังนี้

  • ปริมาตรน้ำ 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร มากเกินไป มีความเสี่ยง และอันตรายกับชุมชน  ไม่ได้หมายความว่า อปท. ไม่เก่ง แต่เป็นภารกิจที่หนักเกินไปสำหรับ อปท. ที่ต้องดูแลหลายอย่าง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะ

  • สิ่งที่ควรจะทำในระยะยาว คือ การปรับให้อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีความเสี่ยง กลับมาเป็นของหน่วยงานราชการ เพื่อจะได้งบฯ ประจำเข้ามาดูแล

  • ต้องทำข้อมูลว่าตรงไหนมีความเสี่ยงที่จะทำให้ชุมชนใกล้เคียงได้รับผลกระทบ

  • อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงาน บางอ่างก็ไม่ใหญ่มาก หลายอ่างเก็บน้ำ มักจะไม่มี Emergency Spillway ไม่มีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน ดังนั้น เวลาพูดถึง ปัญหาสภาพพูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างที่ได้ยินว่า Rain Bomb อ่างเล็กรับไม่ได้ เวลาน้ำล้นแค่ 15 เซนติเมตรจากสันเขื่อนตามวิจัยก็พบว่าพัง

  • ต้องพิจารณา เรื่อง ทางระบายน้ำฉุกเฉิน ทั้ง 2 แบบ ก่อนเกิดเหตุพื้นที่ไหนทำได้ทำ หรือต้องวางแผนว่าเมื่อเกิดเหตุอาจจะต้องเจาะเขื่อน ตำแหน่งไหน ที่ไม่ให้พังตรงกลางเขื่อน 

“ช่วงนี้เป็นสถานการณ์ที่สำคัญ เดี๋ยวฝนจะลงภาคใต้ อ่างเก็บน้ำเล็ก ๆ มีเยอะ โดยเฉพาะที่ภาคอีสาน น่ากลัวมากเพราะมีอ่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เต็มไปหมดเลย ก็คงจะมี 2 เรื่องนี้ที่ต้องทำ”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

ถอดบทเรียน สู่ ‘สมุดปกขาว’ ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ถึงตรงนี้ รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ย้ำว่า ระบบป้องกันและเตือนภัยพิบัติน้ำท่วมและดินถล่มในปัจจุบันยังบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่ทันกาล ทำให้การประมวลผลและตัดสินใจล่าช้า รวมถึงปัญหาความแม่นยำของการคาดการณ์สถานการณ์ และโครงสร้างพื้นฐานทั้งอุปกรณ์ตรวจวัดและระบบเครือข่ายยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์

แม้ว่ามีงานวิจัย แต่ในเชิงการบูรณาการ การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ยังมีจุดอ่อน ประกอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นภาพสะท้อนสิ่งที่เราจะปรับปรุงได้โดยใช้ความรู้ ผลงานทางวิชาการ นวัตกรรม ที่มีอยู่ และที่สำคัญมากที่สุด คือการจัดการเชิงระบบ ซึ่งได้มีการพูดกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่กำลังพัฒนาเรื่องนี้ นี่จึงเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ผลจากการหารือจะรวบรวมเป็นสมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบาย เป็น Policy Brief เป็นข้อเสนอที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยมองถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะเข้ามาร่วมในการดำเนินการและสนับสนุน ซึ่งช่องทางที่จะนำเสนอ คือ มีคณะกรรมการของ สกสว. และเสนอไปที่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอีกทางคือ เสนอที่กระทรวง อว. เพื่อนำข้อเสนอนี้เข้าสู่ ครม. นอกจากนี้ กระทรวง อว. ก็มีหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ที่มี ปภ. จะใช้กลไกดำเนินการในเรื่องเร่งด่วน”

รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล

ขณะเดียวกัน กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีแผนทำภารกิจเร่งด่วนซึ่งน่าจะนำแผนนี้เข้ามาช่วยในการทำงานร่วมกับทาง ปภ. ในตัวโมเดลการจัดการต่าง ๆ ทั้งการสร้าง ปราชญ์ชาวบ้าน การทบทวนข้อมูล ทบทวนแผนต่าง ๆ  ทางกองทุนน่าจะร่วมสนับสนุน ปภ. โดยมีทีมนักวิชาการเข้าไปทำงานร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจกับระบบ ศึกษาจุดแข็งว่าต้องส่งเสริมอย่างไร หรือมีจุดอ่อนจุดที่ต้องปรับปรุงให้รอบด้านอย่างไรต่อไป เป็นลักษณะของ Action Research หรือ การวิจัยเชิงปฏิบัติ