กลายเป็นกระแสดราม่า ประกันสังคมจำกัดวงเงินทำฟัน 900 บาทต่อปี หลังจากที่ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วินิจฉัยว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงไม่น้อย
บทบาทหลังจากนี้ของบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ทั้งฝั่งนายจ้าง และลูกจ้าง ที่กำลังจะเข้าทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ จึงถือเป็นอีกความหวังของการผลักดัน สิทธิทันตกรรมของผู้ประกันตน ให้เท่ากับคนที่ใช้สิทธิสุขภาพอื่น ๆ ทั้ง 3 กองทุน
สมชาย กระจ่างแสง ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน คือหนึ่งในผู้ร้องต่อ กสม. ยอมรับว่า Mindset ของประกันสังคม มองสุขภาพช่องปากไม่ใช่โรค จึงไม่ได้กำหนดอยู่ในค่าใช้จ่ายที่จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ทำให้จำกัดวงเงินไว้ ซึ่งก่อนหน้านั้นจำกัดอยู่เพียงแค่ 600 บาท ก่อนขยับขึ้นมาเป็น 900 บาทในปี 2559 แต่ทางกลุ่มผู้ร้อง ก็ยังเห็นว่าไม่เพียงพอ
เมื่อเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม ระหว่าง ‘สิทธิบัตรทอง’ กับ ‘ประกันสังคม’ ก็ยิ่งทำให้เห็นความแตกต่าง โดยเฉพาะที่มาของงบประมาณ สำหรับประกันสังคม ผู้ประกันตนเป็นคนจ่ายสมทบเอง ในขณะที่บัตรทอง ใช้ภาษีที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน ผ่าน สปสช. ไม่ต้องจ่ายเองสักบาท แถมยังไม่ถูกจำกัดวงเงินทำฟัน
แต่ประกันสังคม ก็เคลมว่าสิทธิประโยชน์ทันตกรรมของตนเหนือกว่า เพราะผู้ประกันตนสามารถไปทำฟันได้แทบทุกคลินิกเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคม ไม่ต้องต่อคิวรอเหมือนอย่างคนสิทธิบัตรทอง ทำฟันได้เฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐตามสิทธิเท่านั้น
ทว่า ผลสำรวจการเข้าถึงสิทธิทันตกรรม จากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 กลับพบตัวเลขที่สวนทาง โดย กลุ่มผู้ประกันตนกลายเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงสิทธิทันตกรรมน้อยกว่าสิทธิอื่น ๆ เพียง 3.67% เท่านั้น จากผู้ประกันตน ทั้งหมด 13.52 ล้านคน ขณะที่บัตรทอง สามารถเข้าถึงทันตกรรมได้ 21.41% จากทั้งหมด 19.93 ล้านคน ไม่ต้องพูดถึงสิทธิข้าราชการ ที่เข้าถึงมากกว่าคนทุกสิทธิคือ 38.40% จากทั้งหมด 1.68 ล้านคน
จุดเริ่มต้นสิทธิทำฟันไม่จำกัดวงเงิน ?
ทำไม ? ผู้ประกันตนจึงเข้าถึงสิทธิทันตกรรมได้น้อยกว่าคนสิทธิอื่น ๆ ทั้งที่มีหน่วยบริการที่เป็นคลินิกเอกชนที่ครอบคลุมมากกว่า ประเด็นนี้ ทพ.วีระ อิสระธานันท์ แอดมินเพจ Doctor กล้วย อธิบายว่า กลุ่มวัยแรงงานมักมีปัญหาช่องปาก การจำกัดวงเงินทำให้พวกเขาต้องทนปวดฟัน แม้จะสามารถไปทำฟันได้ในคลินิกเอกชนแทบทุกที่ แต่ข้อจำกัดเรื่องวงเงิน 900 บาท เป็นกำแพงที่ทำให้เข้าไม่ถึงการดูแลช่องปากอย่างเต็มที่
จึงเสนอว่า ควรปูพรมตรวจสุขภาพช่องปากของผู้ประกันตนทุกคน เพื่อเก็บข้อมูลจะทำให้สามารถประเมินได้ว่า จะต้องใช้งบประมาณด้านทันตกรรมแก่ผู้ประกันตนในจำนวนเท่าไร และตัดปัญหาข้อกังวลว่า จะเกิดการรักษาที่เกินความจำเป็นของคลินิกไปพร้อมกันด้วย
ทพ.วีระ เป็นหมอฟันของโรงพยาบาลชุมชนแม่จัน จ.เชียงราย และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันสิทธิทำฟันเท่าเทียมมาหลายสิบปี บอกว่า มองเห็นความหวังการผลักดันสิทธิทำฟันแบบไม่จำกัดวงเงินแก่ผู้ประกันตนครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ เพราะเป็นครั้งแรกที่ กสม. มีคำวินิจฉัยชี้ว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประกอบกับมีบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็น่าจะได้เห็นการยกระดับสิทธิทันตกรรมของผู้ประกันตนได้บอร์ดชุดนี้
โจทย์ยาก ทำฟันเหมาจ่าย
ตัดภาพไปที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะของผู้จุดประเด็นนี้ ได้เชิญตัวแทน สำนักงานประกันสังคม มาหารือ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกกับ The Active ว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นในเชิงหลักการ และเป้าหมายที่ตรงกันว่าควรยกระดับสิทธิประโยชน์สุขภาพของผู้ประกันตนให้เท่ากับ หรือดีกว่าบัตรทอง ซึ่งตัวแทนจากประกันสังคม ก็ตอบรับข้อเสนอ โดยจะเร่งนำไปศึกษา และเสนอเข้าไปยังบอร์ดประกันสังคมโดยเร็วที่สุด ขณะที่ กสม. ก็มีกลไกติดตามทวงถามความคืบหน้าในทุก ๆ 90 วัน
ด้าน นิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม ที่เข้าประชุมร่วมกันบอกว่า ก่อนอื่นก็ต้องยอมรับว่าสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมในส่วนของทันตกรรมมีข้อดีในแง่ของการเข้าถึงสถานบริการเอกชนได้ทุกที่ และหลังจากนี้ก็จะมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในลักษณะเหมาจ่าย
“มีข้อกังวลว่า คลินิกเอกชนอาจจะตั้งราคาสูงเกินจริง หรือมีการทำหัตถการที่ไม่จำเป็น ต้องหากลไกเข้ามาอุดช่องโหว่นี้ โดยต้องไปถาม Povider หรือผู้ให้บริการ ซึ่งก็คือคลินิกทันตกรรมเอกชนเช่นกันว่ามองอย่างไร รวมถึงข้อเสนอให้กำหนดราคากลาง จะทำอย่างไร ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการยังบอกไม่ได้ แต่น่าจะมีข่าวดีเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง กสม. ก็มีกลไกติดตามอยู่ด้วย”
นิยดา เสนีย์มโนมัย
โจทย์ที่ประกันสังคมทิ้งไว้ คือต้องคุยกับ ผู้ให้บริการที่เป็นคลินิกเอกชน The Active จึงติดต่อไปที่ ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกสมาคมทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับคำตอบว่า เห็นด้วยที่วงเงินทำฟัน 900 บาทน้อยไป แต่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดราคากลาง เพราะจะทำให้คุณภาพมาตรฐานทันตกรรมต่ำลง ประชาชนจะวิ่งไปทำฟันในคลินิกที่มีชื่อเสียง มีหมอเก่ง ๆ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐ ก็จะไม่มีคนไข้เข้าไปทำฟัน เพราะไม่มีใครอยากไปรอคิว
เมื่อเทียบราคาทำฟันระหว่าง คลินิกเอกชนทั่วไป กับ หน่วยบริการรัฐ พบว่า ต่างกันหลายร้อยบาท เช่น ขูดหินปูนคลินิก อยู่ที่ 900-1,800 บาท ส่วนขูดหินปูนที่ศูนย์บริการสาธารณสุขฯ อยู่ที่ 280 บาทเป็นต้น จึงเห็นว่าเป็นความท้าทายที่จะกำหนดราคากลางออกมา
นายกทันตแพทยสมาคมฯ ยังไม่เห็นด้วยที่จะทำฟันแบบไม่จำกัดวงเงิน โดยเสนอว่า ควรเพิ่มวงเงินมากกว่า 900 บาท/คน/ปี ครอบคลุมหัตถการกี่ประเภท เพิ่มวงเงินให้สูงขึ้นตามสัดส่วน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
เสียงจากตัวแทนคลินิกทันตกรรมเอกชน มีน้ำหนักอย่างมากในการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะยกระดับสิทธิประโยชน์ทันตกรรมของผู้ประกันตนเป็นแบบเหมาจ่ายได้หรือไม่
ขณะเดียวกันบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ก็แบกความคาดหวังของผู้ประกันไว้ ซึ่งถ้าหากพิจารณาดูโครงสร้างของบอร์ดประกันสังคมจะพบว่า มีจำนวนที่นั่งอยู่ 21 ที่นั่ง แบ่งเป็น 3 ฝ่าย ลูกจ้าง 7 นายจ้าง 7 และผู้แทนของรัฐอีก 7 ที่นั่ง
กลุ่มที่เป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง น่าจะเอาด้วยกับการยกระดับสิทธิทำฟันเหมาจ่าย ขณะที่กลุ่มนายจ้าง อาจจะเป็นกลุ่มที่ลูกจ้างต้องไปล็อบบี้ ยังไม่นับรวมผู้แทนของรัฐที่จะมองเรื่องนี้อย่างไร และปัจจุบันเราก็ยังไม่เห็นผลการศึกษาของประกันสังคมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิทันตกรรมว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร
การจุดกระแสทำฟันของกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ อย่างน้อยก็นำมาสู่การถกเถียง และนำข้อมูลออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธหลักการพื้นฐาน ว่า สิทธิของประกันสังคมที่ผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบทุกเดือน ไม่ควรจะน้อยกว่าสิทธิบัตรทอง ซึ่งผู้ใช้บริการไม่ได้จ่ายอะไร