นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ | แก้รัฐธรรมนูญ คืนศักดิ์ศรีให้กฎหมาย

เมื่อ การชุมนุมของประชาชนเป็น “สิทธิ” หน้าที่ของรัฐจึงมีเพียง “ต้องรับฟัง” และไม่ “คุกคาม” ด้วยกฎหมาย

เมื่อ “ปฎิรูป” คือ เป้าหมาย “รัฐประหาร” จึงไม่ใช่วิธีการ มีแต่ “แก้รัฐธรรมนูญ” เท่านั้น ที่จะพาประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริง

เมื่อ “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” มีเพียงการ “เลือกตั้ง ส.ว.” เท่านั้นที่เป็นคำตอบเดียว หากทำไม่ได้ ก็ไม่ควรมีอีกต่อไป

The Active ชวนอ่านมุมมองและความเห็นของ “นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” อดีตสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งคณะแรกของประเทศไทย และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 2 ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในวิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบัน

มองความเคลื่อนไหว ในสายตา “สิทธิมนุษยชน”

นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า สัญญาณที่ส่งผ่านมาจากการชุมนุมที่เริ่มจากเยาวชน และเริ่มไต่ระดับในเชิงปริมาณจากไม่กี่จุด กลายเป็นเกิดขึ้นทั่วประเทศ สะท้อนว่าสังคมไทยยังมีพัฒนาการในเรื่องของ หลักสิทธิมนุษยชนที่ไม่ถูกต้อง และทำให้การบริหารบ้านเมืองเกิดปัญหาขึ้น เพราะคำว่าประชาธิปไตยนั้น ต้องยึดหลักการทำงานของภาครัฐในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐที่ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม หรือที่เรียกว่านิติรัฐ นิติธรรม

ประการแรก รัฐต้องยอมรับในเรื่อง สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะศตวรรษนี้ต้องยอมรับความหลากหลาย คือ เห็นต่าง คิดต่าง และพูดต่างกัน ซึ่งแท้จริงแล้วความแตกต่างเหล่านี้ถือเป็นเรื่องดีของประชาธิปไตย เพราะถ้าคิดเหมือนกันหมด ก็กลายเป็นลงเหว การที่เยาวชน นักศึกษา และนักเรียน ออกมาพูดในความเห็นต่าง มันทำให้เกิดอาการช็อก อย่างที่หลายคนบอกว่า เป็น แผ่นดินไหวทางวัฒนธรรม มันแสดงให้เห็นว่า เขาได้รับรู้ปัญหาต่าง ๆ มาเยอะ เขาจึงออกมาแสดงความเห็นต่าง

สำคัญคือรัฐมีหน้าที่ต้องมองให้เห็นและจัดการความเห็นต่างนั้นอย่างถูกต้อง อย่ามองความเห็นต่างเป็นศัตรู อย่ามองความเห็นต่างว่าเป็นกบฏ อย่ามองความเห็นต่างเป็นเรื่องชังชาติ ไม่รักชาติ เพราะถ้ามองอย่างนั้น เราจะกลับไปสู่อดีตของการทำให้เกิดปัญหาความรุนแรง คือการใช้กำลังปราบปราม ซึ่งการใช้อำนาจในสถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ ประเทศไทยถอยหลัง

สิทธิที่สองที่มีความสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย คือ สิทธิในการชุมนุม สังคมไทยในช่วงหลังผ่อนคลายโควิด-19 เกิดการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ คือใช้เวลาจำกัด ไม่ยืดเยื้อเป็นวัน ๆ เป็นการชุมนุมอย่างสงบสันติ และมีความหลากหลาย ถ้าได้นั่งฟังก็จะเห็นความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ ทั้งความเข้มข้นในเชิงคุณภาพที่แตกต่างกันและในเชิงการแสดงออกที่แตกต่างจากอดีต

“ซึ่งหมายความว่ารัฐต้องไม่มองว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง แต่แน่นอนว่าในการปราศรัยมันอาจจะมีอารมณ์ ซึ่งก็ต้องใช้หลักความเมตตา เพราะเขายังมีวัยวุฒิที่น้อยกว่าเรา การพูดจาบางครั้งอาจไม่ถูกต้อง เหมือนลูกหลานเราที่บางทีก็อาจจะใช้คำพูดที่เราฟังแล้วสะอึก ก็ต้องใช้หลักเมตตา หลักขันติธรรม และดูว่าแก่นแกนของการชุมนุมคือเรื่องอะไร”

ซึ่งส่วนใหญ่หนีไม่พ้นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียน เกี่ยวข้องกับนักเรียนหญิง หรือเกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาก็พบว่ามีวิกฤตศรัทธาในคุณภาพการศึกษา คือ ไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะทำอะไร ดังนั้น ต้องมองอย่างเข้าใจและแยกแยะว่า สิ่งที่ทำให้เขามาชุมนุมเพราะปัญหามันหมักหมมมานาน แม้รัฐบาลจะบอกว่า เป็นปัญหาจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่ก็ต้องย้ำว่า อะไรเป็นสิทธิของเขาก็เป็น หน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับฟัง

การอ้างกฎหมาย : บ้านเมืองสงบ แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

การอ้างกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้อำนาจ แต่ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มองเห็นหลักสิทธิมนุษยชนหรือหลักความเป็นธรรม ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นายแพทย์นิรันดร์เห็นว่า ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ร่างขึ้นจาก คสช. ที่มองว่าต้องการจัดการบ้านเมืองให้เป็นระบบ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สร้างปัญหามาก ตั้งแต่การเลือกตั้ง การใช้อำนาจ รวมทั้งการลิดรอนหลักสิทธิมนุษยชน คือมันสงบราบคาบ แต่มัน ไม่ใช่ประชาธิปไตย

“ถ้าอ้างกฎหมาย ก็เรียกว่าเป็นการปกครองโดยอ้างกฎหมาย แต่ไม่ใช่การปกครองที่ยึดหลักกฎหมายที่เป็นธรรม ที่เรียกว่านิติรัฐ นิติธรรม เพราะกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่เราร่างเอง จึงอยากให้เปิดใจให้กว้างและต้องระวัง สังคมไทยมักจะตีความเพื่อประโยชน์ต่อการใช้อำนาจของตนเอง ซึ่งผิด และหลงคิดว่าการใช้อำนาจตนเองเป็นการใช้อำนาจเพื่อรักษาบ้านเมือง แต่มันไม่ใช่”

นอกจากนี้ ยังเป็นการ ใช้กฎหมายเพื่อเลือกปฏิบัติ เช่น คดี “บอส กระทิงแดง” ทำให้คนหนุ่มสาวที่ติดตามข้อมูลจากทวิตเตอร์เลยยอมรับไม่ได้และลุกขึ้นมาถกเถียง เพราะระบบที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมถูกทำลาย เมื่อเขาต้องอยู่อีกนาน เขาจึงเชื่อว่ามันต้องเกิดขึ้นกับเขาวันใดวันหนึ่ง

“การอ้างว่าปกครองด้วยกฎหมาย ต้องระวังให้ดีว่าเราได้ใช้กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมหรือเปล่า หรือมีจุดประสงค์เพื่อจะรักษาอำนาจของเรา ถึงจะบอกว่าอำนาจนี้ก็เพื่อปกครองบ้านเมืองให้สงบ แต่การตีความคำว่าบ้านเมืองสงบในแบบที่เป็นอยู่ มันไม่ใช่ บ้านเมืองสงบหมายความว่า ทุกคนมีสุขภาวะที่ดี อยู่ดี และมีความเป็นสุขอยู่ร่วมกัน มีความเข้าใจกัน และรับฟังความเห็นแตกต่าง”

ไม่ใช้มาตรการแก้ปัญหาที่เกินกว่าเหตุ

นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า จากข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ขณะนี้เห็นสัญญาณที่ดีว่า 2 ข้อเรียกร้องคือ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ได้รับการขานรับจากหลายฝ่าย แต่มี เรื่องเดียวที่ยังต้องระวัง คือ การคุกคาม เพราะพบว่ายังมีการติดตามคุกคามนักเรียน นักศึกษา และประชาชน

“แม้กระทั่งการออกหมายจับ ไม่เป็นหมายเรียก ก็แสดงว่าต้องการใช้มาตรการในการคุกคาม เทียบกันกับหมายเรียกแล้ว หมายจับน่ากลัวกว่ามาก แต่จริง ๆ ตำรวจต้องใช้หมายเรียกตามขั้นตอน และให้เขาไปแสดงตัว สภาพแบบนี้ไม่ควรเกิดในสังคมไทย ยิ่งใช้กระบวนการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายด้วย เขาก็รู้สึกว่านี่คือกลั่นแกล้ง ยิ่งไม่เชื่อ และจะแฟลชม็อบไปเรื่อย ๆ”

เมื่อไม่สามารถคาดเดาได้ว่ารัฐบาลจะทนสถานการณ์นี้ได้นานแค่ไหน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ อย่าใช้มาตรการที่เกินเลย ทั้งเรื่องการคุกคามและความรุนแรง แต่ต้องใช้มาตรการที่มีสติมาคุยกัน ใช้กระบวนสภาเข้ามาจัดการ และปล่อยให้เป็นการทำงานโดยตัวแทนประชาชน

ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องที่ อ่อนไหว นายแพทย์นิรันดร์เห็นว่า ต้องแยกแยะให้ดี และต้องสกัดข้อเรียกร้องเหล่านั้นว่า อะไรเป็นความจริง อะไรที่ยังคลุมเครือ ก็ต้องทำให้จริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ทุกคนรัก แต่ด้วยความรัก เขาจึงกล้าออกมาพูด อย่าไปติดที่คำว่า ต้องจบในรุ่นเขา เพราะจริง ๆ แล้วเขากลัวว่าถ้าไม่จบในรุ่นเขา เขาต้องเจอกับสิ่งที่รัฐบาลทำอะไรที่เกินเลย

“ผมคิดว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดนั้น ยังเป็นแค่เสรีภาพในการแสดงความเห็น ยังไม่มีโอกาสที่จะล้มล้างสถาบัน และยังเป็นความจริงตามกฎหมาย สิ่งที่สังคมไทยต้องมาใช้สติปัญญาในการแยกแยะคือ ตรงนี้มีอะไรที่ล้นเกินไหม มีอาการอะไรที่เกินเลยที่จะทำให้สถาบันเสียหายไหม ถ้าเสียหายต้องแก้ และคุยกันได้”

ปฏิรูปประเทศ ต้องไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ

เรื่องการปฏิรูป อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นในสังคมไทย เพียงแต่ว่าเราจะสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์อย่างไร นายแพทย์นิรันดร์ ย้ำว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่าปฏิรูปก่อนว่า ปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติ การปฏิรูปจริง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นคือปี 2540 ที่ทำให้มีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่พอใช้ไป 10 ปี ก็บอกกันว่าไม่ดี มีปัญหาและเปลี่ยนไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แบบนี้แสดงว่า ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิรูป ที่ต้องใช้เวลา

มีคนให้ความเห็นว่า มีรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับเดียวก็เป็นการปฏิรูปแล้วนั้น นายแพทย์นิรันดร์เห็นว่า เป็นความคิดที่ผิด และแม้ผลจากรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิดระบอบทักษิณที่เป็นเรื่องผิดพลาด แต่ก็ไม่จำเป็นต้อง ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมาดูว่าความผิดพลาดอยู่ตรงไหน และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระทำที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริตเชิงนโยบาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“การรัฐประหารปี 2549 ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยกำลังตามหลังเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ นี่จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ประเทศไทยต้องการการปฏิรูป แต่การปฏิรูปนี้ใจร้อนไม่ได้ ถ้าใจร้อน ก็เป็นปฏิวัติ สังคมไทยทำอย่างนั้นไม่ได้ และก็ไม่ควรเป็นแบบนั้น”

แก้รัฐธรรมนูญ – ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง

นายแพทย์นิรันดร์ เห็นว่า สิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอย่างแรกคือ แก้รัฐธรรมนูญ เพราะต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหามา ทั้งเรื่องระบบการเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระ รวมทั้งปัญหา ส.ว. ทั้งหมดคือการ ทำลายความเชื่อใจ ต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ด้วยการทำลายองค์กรต่าง ๆ ที่พยายามสร้างขึ้นมา เพราะความเชื่อใจต้องเกิดจากการที่องค์กรต้องมีความรู้ มีพฤติกรรมที่อยู่บนหลักเหตุผล และยึดหลักประโยชน์สาธารณะ ความเชื่อใจมันถึงจะเกิดขึ้น

“แต่ขณะนี้มันถูกทำลายหมดแล้วด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าทุกอย่างไปรับใช้นายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นอย่างนั้น ถึงต้องปรับรัฐธรรมนูญก่อน”

ขณะที่ปัญหา ส.ว. ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข ในฐานะที่เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเห็นว่า ส.ว. ชุดปัจจุบันยังมีความไม่ถูกต้อง เพราะ ได้มาด้วยการมีสิ่งแฝงเร้น โดยยืนยันว่า ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะเมื่อบอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ก็ต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลแต่งตั้ง จึงจะเกิดความเชื่อถือ ดังนั้น ส.ว.ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง ถ้า ส.ว.ไม่สามารถมาจากการเลือกตั้ง ก็ยกเลิกไปเลย

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น สภาผัวเมีย ก็หาวิธีแก้เพราะเป็นความผิดพลาดของการ ออกแบบทางเทคนิค ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาขึ้นเพราะครั้งนั้นเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก ก็ย่อมเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง แต่ถ้าให้เป็นสรรหา ก็ หนีไม่พ้นคนที่มีอำนาจ

“อย่าลืมว่าหลังปี 2475 ที่เถียงกันมากคือ ส.ว. เพราะ ส.ว.คือพี่เลี้ยง แต่สมัยนี้มันไม่ใช่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงแล้ว และอย่าลืมว่าการปกครองเราเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม ถ้าเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมไม่ใช่ประชาสัมพันธ์  ส.ว.ก็อาจจะไม่จำเป็น แต่ถ้าทำไม่ได้อย่างนี้ ก็เลิกไปเถอะ ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณ และทำให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว