‘ต้นทุน’ ที่แตกต่าง อุปสรรคความเท่าเทียมโรงเรียนเล็กพื้นที่ห่างไกล

ไม่ได้ขอเพิ่มเพื่อให้ได้มากกว่า แต่ขอเพิ่มเพื่อให้เท่าเทียม

เมื่อไม่มีทางเลือก การขอรับบริจาคก็อาจกลายเป็นทางออกของการเพิ่มคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียน ขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ในวันที่หลายโรงเรียนในประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบไม่ทันรู้ตัว จากการจัดสรรงบประมาณที่ดูจะไม่เป็นธรรมต่อโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ด้วยการคำนวณแบบเหมาจ่ายรายหัว

ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กจำนวนมากจะได้รับงบฯโดยรวมเป็นจำนวนมาก แต่หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กไม่เกิน 120 คน ก็จะได้รับงบประมาณที่ลดหลั่นลงไป ตามสัดส่วนนักเรียน รวมถึงอุปกรณ์การเรียนและสาธารณูปโภค ก็น้อยลงไปด้วย ทั้งที่ หากพิจารณาในความเป็นจริงแล้วจะพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลล้วนแต่มี ‘ต้นทุน’ ที่มากกว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนที่อยู่ในเมือง

ปลายเดือนพฤษภาคม เราเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปที่อำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ  จังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงเพื่อสำรวจโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร  

รายจ่ายที่เหมือนกัน แต่ต้นทุนแตกต่างกัน

พื้นที่ถูกรายล้อมไปด้วยภูเขา ตรงกลางเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนบ้านห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่นี่มีอาคารราว ๆ 4 หลัง ทั้งอาคารเรียน อาคารเอนกประสงค์ 87 คือจำนวนของนักเรียนในโรงเรียนนี้ บุคลากรครูอีก 6 คน ที่นี่ไม่มีครูธุรการ ไม่มีนักการภารโรง และปัจจุบันที่นี่ไม่มีผู้บริหาร ตำแหน่งทั้งหมดที่ขาดไปครูในโรงเรียนจะรับหน้าที่ช่วยกันดูแล 

ข้ามรั้วโรงเรียนออกไปเป็นชุมชนซึ่งชาวบ้านที่นี่มีทั้งไทย ลาว มอญ เมียนมาและกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่รับจ้างรายวัน มีรายได้น้อย วันไหนที่ไม่ได้ทำงานก็จะไม่มีเงิน เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จึงมีปัญฐานะยากจน ผู้ปกครองมีรายได้น้อย มีปัญหาเรื่องการสนับสนุนบุตรหลานทั้ง เรื่องอาหาร เสื้อผ้า ค่าเดินทาง ซึ่งโรงเรียนจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ 

บุญรี วุฒิธรรมฐาน รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเขย่ง เล่าผ่านประสบการณ์ตลอด 27 ปีที่ทำงานที่นี่มาว่า ปัญหาการขาดแคลนปัจจัย 4 เกิดขึ้นได้ง่ายมากสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่ชายขอบแบบนี้ โรงเรียนและครูจึงคอย เป็นสะพานที่จะช่วยเหลือด้วยการทำเรื่อง ทำโครงการไปที่เขตพื้นที่การศึกษา  

ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยได้ระดับหนึ่งแต่ยอมรับว่ายังไม่เพียงพอ หลายครั้งจำเป็นต้องไปขอความช่วยเหลือจากเอกชน คนใจบุญที่เขาเห็นความสำคัญของเด็กและการศึกษา  

“เขาผ่านมาเห็น เขาก็ถามว่าเราต้องการอะไร ที่อยากจะให้ช่วยเหลือ ส่วนรัฐบาลก็ช่วยเหลือในส่วนของงบประมาณรายหัวของเด็ก เรามีเด็ก 87 คน เขาให้เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ มันไม่สามารถจัดสรร จัดการบริหารได้ การช่วยเหลือเด็กค่อนข้างลำบาก”

นอกจากการสอนอีกหนึ่งหน้าที่ซึ่งครูบุญรีเล่าว่าเป็นความจำเป็น นั่นคือการต้องเป็น ‘คนขี้ขอ’ 

“พูดง่าย ๆ หน้าเราจะต้องไม่บาง (หัวเราะ)  เราต้องขี้ขอ ถ้าเขาจะมองเราเป็นคนขี้ขอ สำหรับครูไม่เป็นปัญหา แค่ว่า เราได้ทำให้เด็กคนหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง ได้มีโอกาสเท่าเทียมคนอื่นเขาเท่านั้นพอแล้วสำหรับครู”

เสียงหัวเราะที่ปนมากับคำตอบมันบ่งบอกถึงความตลกร้ายของสิ่งที่เกิดขึ้น ภาพที่ปรากฏตลอดเกี่ยวกับเด็กชายขอบ ที่ติดชายแดน คือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาการเข้าไม่ถึงสื่อการสอนขั้นพื้นฐานต่าง ๆ  การที่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพื่อให้เด็ก ๆ เท่าเทียมกับคนอื่น จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ ครูบุญรีจะสื่อสาร ไม่ใช่ขอเพื่อให้ได้มากกว่า แต่ขอเพื่อให้เท่าเทียม

เมื่อโรงเรียนมีขนาดที่เล็กตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เงื่อนไขพื้นที่มีกองเป็นภูเขา จำนวนครูบวกกับนักเรียนยังไม่ถึงร้อย งบฯ ที่ได้ก็น้อยตาม การได้รับการศึกษาและความเป็นอยู่เป็นปัญหาคลาสสิกของโรงเรียนขนาดเล็ก แม้รัฐจะมีงบประมาณรายหัวให้มาแต่มันจำกัด

“ถ้าจะขอเพิ่มเติมไม่รู้เขาจะให้ได้ไหม ให้ได้หรือเปล่า ถ้าเขาให้ได้อย่างที่ให้อาหารกลางวันก็จะดี มันก็จะทำให้ง่ายต่อการสนับสนุนเด็กได้มากขึ้น”

นอกจากปัญหาเรื่องปากท้อง ในส่วนของอาคารเรียนก็มีผลจากจำนวนนักเรียนที่น้อย  ครูบุญรี เล่าว่า โรงเรียนขนาดเล็กจะขอตึกเพิ่มยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย ตลอดการทำงานที่นี่ มีข้อมูลว่ารัฐให้ มีอาคาร 2 หลัง 6 ห้องเรียนอายุประมาณ 30- 40 ปี ได้เงินมาบูรณะบ้าง แต่อาคารที่เห็นในโรงเรียนนอกจากนั้นทั้งห้องสมุด อาคารสหกรณ์ ตึกเสริมทั้งหลายได้จากการบริจาคจากคนที่เขาเห็นความสำคัญเรื่องของการศึกษา 

โรงเรียนเล็กพื้นที่ห่างไกล  การโย้กย้ายบุคลากรเกิดขึ้นได้ง่าย

อย่างที่ว่า โรงเรียนขนาดเล็กการทำงานต่าง ๆ ครูจะต้องทำหนัก เพิ่มเป็นหลายเท่า ครูโรงเรียนรัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่สอนอย่างเดียว ครูรัฐบาลจับฉ่าย ต้องทำทั้งสอน หน้าที่นักการภารโรง ธุรการ บัญชีต้องทำทุกอย่างครูจำนวนไม่น้อยมีโอกาสเขาก็โย้กย้ายไปในที่ ๆ ดีกว่า  แม้จะพยายามจ้างครูเพิ่มแต่งบประมาณที่โรงเรียนมี และต้องกระจายไปบริการส่วนต่าง ๆ ก็เหลือไม่มากพอ หรือแม้มีครูที่สอบบรรจุลงได้ ส่วนมากเขาก็เป็นคนต่างจังหวัดที่สอบมา อยู่ได้ปี 2 ปี เขามีโอกาส เขาก็ย้าย พอย้ายไปครูก็ขาด กลายเป็นปัญหาแบบนี้วนซ้ำ ๆ  

“โรงเรียนเรามีเด็กหลากหลายเชื้อชาติ เมื่อมีครูจากที่อื่นมาบรรจุเขาก็ต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ ถ้าเขาไม่ได้เข้าใจภาษาไทยครูก็ต้องเหนื่อยหน่อย ต้องพยายามเข้าใจภาษา ครูต้องเรียนรู้ภาษาท้องถิ่น พอจะเข้าใจเขาก็ย้าย”

ครูบุญรี พูดย้ำก่อนบทสนทนาจะจบลงว่า ปัญหาร่วมของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล คือเรื่องประมาณ และบุคลากร โดยงบประมาณรายหัวซึ่งได้จัดสรรเหมือนกับโรงเรียนขนาดใหญ่ส่งผลให้รายรับไม่เท่ากัน แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายเหมือนกัน ดังนั้นการบริหารจัดการงบประมาณ น่าจะเป็นเป็นปัญหาสูงสุดเหมือนกันทุกโรงเรียนขนาดเล็ก 

โรงเรียนใหญ่ แต่อยู่ในที่ห่างไกล ใช่ว่าจะไม่มีปัญหางบประมาณ

ถัดจากทองผาภูมิไปเป็นเขตของสังขละบุรี เรากำลังนั่งรถเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อเดินทางไปที่โรงเรียนกองม่องทะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หลังจากรถหักออกจากถนนเส้นหลัก ทางลาดยางกลายเป็นทางลูกรัง สองข้างทางเป็นป่า เราเดินทางไปที่นี่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ระหว่างทางถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อถูกเติมด้วยน้ำฝนจนเต็ม

เสียงเครื่องปั่นไฟดังตลอดทั้งวัน แผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกวางกระจายอยู่รอบพื้นที่ อีกทั้งท่อน้ำประปาที่ถูกต่อทอดยาวลงมาจากภูเขา จุดศูนย์กลางโรงเรียนเป็นสนามกีฬา ที่ใช้ทำทั้งกิจกรรมในวิชาเรียน ออกกำลังกาย และเข้าแถวเคารพธงชาติเช้าของวันจันทร์หลังเสร็จกิจกรรมหน้าเสาธง เสียงเจื้อยแจ้ว เด็กนักเรียนนับร้อยกำลังเดินต่อแถวเข้าห้องในคาบเรียนแรกของวัน  เรามาถึงที่โรงเรียนแล้ว 

โรงเรียนกองม่องทะ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้วยพื้นที่ขนาดกว้างใหญ่ มีหมู่บ้านกระจายอยู่ท่ามภูเขา โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนแม่ข่ายที่มีโรงเรียนลูกข่าย 4 สาขา เป็นโรงเรียน 2 สาขา  ห้องเรียนอีก 2 สาขา เพื่อให้กระจายการศึกษาเข้าถึงเด็กในพื้นที่ห่างไกลได้มากที่สุด ซึ่งมีนักเรียนในการดูแลรวมราว 500 คน  

อีกทั้ง ที่นี่ยังมีนักเรียนหอพัก อย่างที่เกริ่นไปว่า พื้นที่บนเขาบนดอย การเดินทางค่อนข้างลำบากและแต่ละหมู่บ้านก็ตั้งอยู่ไกลจากโรงเรียน จากการพูดคุยกับเด็กหอพักในโรงเรียนนี้พบว่า บ้านของเธออยู่บนเขา ห่างจากโรงเรียน 90 กิโลเมตร ในลักษณะนี้จะพบว่าโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลมักจะมีหอพักนอน เพื่อที่จะให้เด็ก ๆ ที่บ้านอยู่ไกลจากโรงเรียนได้พักนอนเวลาเปิดเทอม  

จำนวนนักเรียนเกือบครึ่งพันคือตัวเลขที่เกินมาตรฐานโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ความน่าสนใจของพื้นที่นี้ คือ แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่แต่ที่นี่ยังต้องพึ่งพาการขอบริจาคเหมือนโรงเรียนขนาดเล็กเช่นกัน ทำไมถึงเป็นแบบนั้น  

แม้จะไม่ใช่โรงเรียนขนาดเล็ก แต่จากทำเลที่ตั้งและการเดินทางมาโรงเรียนก็อาจบอกได้ว่าโรงเรียนนี้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร การเข้าถึงสิ่งอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานยังไม่สะดวก อย่างที่เล่าว่า การเข้าถึงไฟฟ้าที่ต้องอาศัยโซลาร์เซลล์ และประปายังใช้ระบบต่อจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทุกอย่างที่ไล่มาจำเป็นต้องใช้เงินที่ได้จากงบฯรายหัว มาเฉลี่ยในส่วนนี้  

สำหรับนักเรียนพักนอนเวลาเปิดเทอม-ปิดเทอม ครูจะต้องไป รับ-ส่ง เด็ก ๆ ด้วยรถยนต์ที่มีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุน หรือบางทีก็เป็นรถยนต์ส่วนตัวของครูเอง เวลาที่มีการเยี่ยมบ้านเด็ก ๆ ครูต้องเดินทางขึ้นเขาลงห้วยราว 10 ลูก 

ระหว่างเดินดูโรงเรียน หนึ่งในครูโรงเรียนกองม่องทะ เล่าให้ฟังว่า การเดินทางบนเขาบนดอย บนภูเขาที่สูงชัน จำต้องใช้เวลานานกว่าปกติ ยิ่งในช่วงฤดูฝน ยิ่งต้องระมัดระวัง และต้องใช้ความเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ บางทีครูไม่สามารถขับรถเองได้ก็จำเป็นต้องจ้างชาวบ้าน ซึ่งค่าจ้างเหมาไปแต่ละทีก็สูงลิ้ว

ขณะในระเบียบการเบิกจ่ายของราชการ ยังใช้วิธีการคำนวณตามระยะทางแบบพื้นราบ ฉะนั้นส่วนต่างที่เพิ่มมาก็ตกไปเป็น “ภาระ” ของครู และโรงเรียนที่จะต้องจ่าย 

โครงการบอกบุญ ร่วมสมทบทุนเพื่อเด็กบนดอยสูงในที่ห่างไกล

ที่ผ่านมาโรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการรับบริจาค และผ้าป่า แต่ก็ทำได้ไม่บ่อย มีหลายครั้งที่โรงเรียนต้องหาทางรอดด้วยวิธีการอื่น ทำให้เห็นว่า แม้เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีข้อจำกัดในพื้นที่ตั้งก็ประสบกับปัญหาอยู่เช่นกัน

เหตุผลนี้จึงทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก ในพื้นที่ห่างไกลจำนวนไม่น้อยจะต้องอาศัยการขอรับบริจาคโดยตรง หรืออีกอย่างหนึ่งที่เรามักเห็นคือการบริจาคจากคนดัง ดารา นักร้อง การทำค่ายอาสาสร้างอาคาร ค่ายอาสาสอน การทำผ้าป่า ลักษณะนี้มักมาในรูปแบบของการทำบุญ สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็ก และพื้นที่ห่างไกล การสนับสนุนลักษณะนี้ควรเป็นการสนับสนุนโรงเรียนที่ดีให้ดีขึ้นไปอีก

แต่ในไทยกลับกลายเป็นว่า การบริจาคเกิดขึ้นกับโรงเรียนที่ติดลบให้มีทุนลืมตาอ้าปากได้บางช่วงเวลา ไม่ได้สร้างความยั่งยืนขนาดนั้น ฉะนั้นถึงเวลาหรือยังที่ฝ่ายที่กำหนดนโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณและแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม

ปฏิรูปงบประมาณ ปรับอัตราอุดหนุน รร.ขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล

จากการสำรวจของธนาคารโลก (World Bank) ปี 2563 ระบุว่า นอกจากโรงเรียนขนาดเล็กโดยทั่วไปแล้ว ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (protected schools) จำนวนประมาณ 1,155 แห่ง ที่อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ อีกทั้งประสบปัญหาขาดแคลนครู ทำให้การเรียนรู้ของเด็กขาดความต่อเนื่อง

ขณะที่ ข้อมูล สพฐ. ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน) ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงบนดอย พื้นที่สันเขา บนเกาะ หรือตั้งในอำเภอติดชายแดน จำนวน 1,092 โรง มีนักเรียน  81,036 คน  

สูตรการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันไม่ได้ช่วยทำให้คุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ดีขึ้น แต่กลับทำให้ช่องว่าง  และเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น อีกทั้งทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยิ่งเสียเปรียบ ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งที่โรงเรียนเหล่านี้มักต้องดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางในสัดส่วนที่สูงและมีปัญหาในหลายมิติ

งานวิจัยแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปีงบประมาณ 2564 ที่เป็นความร่วมมือของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า รัฐควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการจัดสรรงบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity-based Budgeting) ไม่ใช่การจัดสรรงบประมาณด้วยสูตรเดียวกันทั้งประเทศ แต่ใช้หลักการเน้นความจำเป็นของนักเรียน ความแตกต่างของพื้นที่ ขนาดของโรงเรียน และความขาดแคลนของบุคลากร   มาคิดคำนวณอยู่ในสูตรการจัดสรรงบประมาณด้วย

สิ่งนี้จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านประสิทธิภาพ และความเสมอภาคไปพร้อมกันได้ (Equity & Efficiency Gain) 

รศ.ชัยยุทธ  ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์   อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการงานวิจัยแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปีงบประมาณ 2564  เล่าว่า มีการคุยเรื่องการดูแลโรงเรียนขนาดเล็กกันมานานมาก แต่พบว่าการดูแลที่ผ่านมาไม่ต่อเนื่อง 

“ฉะนั้นปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เราต้องการเจตจำนงที่ชัดเจนว่าเราจะดูแลเขาอย่างไร แต่โรงเรียนขนาดเล็กมีหลายส่วน ส่วนที่เขาช่วยตัวเองไม่ได้ พวกที่อยู่พื้นที่ห่างไกลกันดารเรียกว่าตัดขาดจากคนอื่นอันนี้จำเป็นจะต้องดูแล”

ฉะนั้น ในแง่ของการที่จะสร้างความเสมอภาค และสร้างโอกาส  รศ.ชัยยุทธ มองว่า ต้องจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น 

หนึ่ง ความจำเป็นของเด็ก เด็กไม่เหมือนกัน เด็กที่ไม่มีความพร้อมค่าใช้จ่ายเขาต้องสูงกว่า โรงเรียนที่ไม่พร้อม การเดินทางที่ไม่สะดวกเขาก็ต้องใช้จ่ายสูงกว่า 

สอง เรื่องของครู ที่ไม่ครบแก้ปัญหาอย่างไร ข้อเสนอเราพูดถึงเกณฑ์ใช้อยู่ในปัจจุบัน โรงเรียนที่ขาดมากเราคิดว่าควรช่วย 

“ความเท่าเทียมมี 2 มิติ เรามองว่าทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้เหมือนกัน ในการใช้ของบางอย่างต้องเหมือนกัน  แต่เด็กบางคนมีความจำเป็นมากกว่าก็ต้องเพิ่มให้ อย่างแรกเรามองทุกคนแนวราบว่าต้องเหมือนกันให้เท่ากัน อีกอย่าง คือ แนวตั้งมองเห็นความแตกต่างของแต่ละคน” 

ข้อเสนอสูตรคำนวนอัตราการอุดหนุนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล

1.​ การอุดหนุนเพิ่มเติมตามความจำเป็นของนักเรียน

-นักเรียนทุกคน ​​​150 บาท/คน

-นักเรียนยากจน ​​​150 บาท/คน

-นักเรียนพิการเรียนรวม ​​150 บาท/คน

-นักเรียนพักนอน ​​​700 บาท/คน

2. ​การอุดหนุนเพิ่มเติมตามความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศ

-โรงเรียนบนเกาะ /สันเขา /พื้นที่สูง ​​​​300 บาท/คน

-โรงเรียนในพื้นที่ชายแดนไม่เกิน 10 กิโลเมตร ​​400 บาท/คน

-โรงเรียนในอำเภอที่ติดชายแดนและห่างจากชายแดนมากกว่า 10 กิโลเมตร 450 บาท/คน

เป็นที่น่าสังเกตว่าโรงเรียนในอำเภอที่ติดชายแดนและห่างจากชายแดนมากกว่า 10 กิโลเมตร ได้รับอัตราอุดหนุนสูงกว่าโรงเรียนในพื้นที่ที่ห่างไกลมากกว่า เนื่องมาจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูงกว่าสถานศึกษาในพื้นที่อื่น ๆ

3. ​การอุดหนุนเพิ่มเติมตามขนาดโรงเรียน

-โรงเรียนขนาด 41-50 คน ​​450  บาท/คน

-โรงเรียนขนาด 51-60 คน ​​250  บาท/คน

-โรงเรียนขนาด 61-70 คน ​​200 บาท/คน

-โรงเรียนขนาด 71-100 คน​ ​150 บาท/คน

-โรงเรียนขนาด 101-120 คน ​​100 บาท/คน

4. ​การอุดหนุนเพิ่มเติมตามความขาดแคลนบุคลากร

ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรถูกจำแนกออกเป็น ค่าใช้จ่ายในการจ้างครูอัตราจ้าง และค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรสายสนับสนุน (ธุรการ ภารโรง อื่น ๆ)

สุดท้าย รศ.ชัยยุทธ ให้ความเห็นว่า จ.กาญจนบุรีเป็นพื้นที่ ๆ ทำให้เห็นความหลากหลายในพื้นที่ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงความลึกซึ้งของปัญหาก็อาจจะยังไม่มากเท่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะทางภาคเหนือ และการคิดสูตรการจัดสรรงบประมาณที่เป็นไปตัวอย่าง ทำให้หน่วยงานด้านงบประมาณการศึกษาไม่ต้องมานั่งเก็บข้อมูลทุกปี แต่ให้โรงเรียนรายงานมาก็จะเห็นความต้องการของแต่ละพื้นที่ อันนี้เป็นสูตรที่ต่างประเทศใช้กันเยอะ แต่ไทยยังไม่มี 

  

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ