“น้ำจะท่วม กทม.มั้ย? ” “ต้องเอารถไปจอดที่ไหน จะเหมือนปี 54 ? ”
หลากหลายคำถามของคนในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามมา หลังเห็นการรายงานภาพและข่าวน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือ ตั้งแต่เชียงราย น่าน พะเยา ซึ่งคนในพื้นที่พูดกันปากต่อปากว่า ท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี และมวลน้ำกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่จังหวัดสุโขทัย และค่อย ๆ เคลื่อนตัวสู่ลำน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคกลาง
คำถามคือ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ จะส่งผลต่อน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางหรือ กทม.หรือไม่ คงต้องวิเคราะห์จากหลายปัจจัยสาเหตุ ทั้งเหตุผลที่ปีนี้น้ำท่วมหนักที่ภาคเหนือ ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่เวลานี้ แนวโน้มฝนและพายุที่คาดการณ์กันว่า ปีนี้ฤดูฝนของเราจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม
The Active ชวนหาคำตอบเรื่องนี้กับ ภวิสร ชื่นชุ่ม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คาดการณ์ว่า ปีนี้ไทยเผชิญกับภาวะลานีญาตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป และสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้การพยากรณ์และการรับมือยากขึ้น น้ำจะท่วมหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยรวมถึงมาตรการรับมือที่ต้องปรับให้ทันกับสถานการณ์
“โลกรวน” ปัจจัยหลักภัยพิบัติโลก
อาจารย์ภวิสร ชื่นชุ่ม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปีนี้แนวโน้มสถานการณ์น้ำและโลกร้อนเริ่มรุนแรงขึ้นต่อจากนี้ไปไทยจะมีสภาพอากาศไม่เหมือนเดิมท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปีนี้ไทยจะเผชิญภาวะลานีญาตั้งแตเดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้ปริมาณฝนเกิดขึ้นมากกว่าปกติ
อิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปีจะส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญฝนตกชุก อันอาจส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้
ปี 2567 คาดปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคมมีแนวโน้มมากกว่าระดับปกติประมาณ10-15% ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนนี้มีโอกาสเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันโดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก (Flood-prone Areas หรือ Flood Bed)
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงน้ำท่วมเป็นวงกว้างโดยรวมยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากปริมาณฝนที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปีจะทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมทั้งปีกลับมาอยู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยที่ประมาณ 1,613 มิลลิเมตร ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับมหาอุทกภัยปี 2554 ที่มีปริมาณฝนอยู่ที่ 1,948 มิลลิเมตร
ทำไมภาคเหนือหลายจังหวัดตกหนัก
ทาง จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ จ.น่าน ตกต่อเนื่องและมีตกหนักติดต่อหลายวัน แต่ถ้ามาเทียบกับปีที่แล้วฝนไม่ตกและตกน้อยมาก ซึ่งหากเรามาดูฝนสะสม เทียบกัน 1 ม.ค. -21 ส.ค. 67 ปีนี้ฝนเยอะจากอิทธิพลร่องฝน เหนืออีสาน และจังหวัดติดริมแม่น้ำโขงฝนมากทำให้น้ำล้นตลิ่ง แต่ปีที่แล้ว 2566 ฝนตกไม่มาก แต่ว่าก็จะมีบ้าง ในลุ่มน้ำน่าน น้ำยม
ฝนตกน้ำท่วม น้ำภาคเหนือจะไปไหน
น้ำท่วมรอบนี้อยู่ตอนบนของไทยและอยู่เหนือเขื่อนใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำ 4 สายนี้จะไหลมารวมกันในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก่อนที่น้ำจะไหลมา เรามี 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2567 พบทั้งเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียง 43 % เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อน 63% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 37 % เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียง 28 % ถือว่าน้ำยังน้อย อย่างฝนที่ตกท่วมจังหวัดน่าน น้ำบางส่วนก็จะไหลลงเขื่อนสิริกิติ์
กันยายน 2567 ภาคกลางจะเริ่มเสี่ยงฝนตกหนักน้ำท่วมจากร่องฝน
เวลานี้ต้องจับตาแนวโน้มฝนเพราะร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ จะขยับมาทางภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ไม่ถึง 1 สัปดาห์ หรือประมาณช่วงต้น กันยายน 2567 และซึ่งช่วงนี้จะมีพายุพาดผ่านเข้ามาประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งหากเป็นช่วงจังหวะที่ฝนในพื้นที่ก็ตกบวกพายุและน้ำเหนือก็อาจทำให้ภาคกลางท่วมหนักเช่นกัน จากสถิติจะพบว่าในรอบ 2-3 ปีร่องฝนมักมาเวียนบริเวณนี้อาจต้องระวังและเตรียมพร้อม เพราะคาดการณ์ได้ยากยิ่งในสถานการณ์โลกร้อน ทำให้อากาศแปรปรวนสูง
การเตือนภัยน้ำท่วมไทยดีแล้วหรือยัง
คำเตือนต้องเข้าใจง่าย ต่อการปรับตัวใช้ชีวิต เช่น ถ้าบอก น้ำไหลผ่าน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจยังเข้าถึงใจผู้ประสบภัยน้อยกว่า แต่หากปรับการเตือนภัยว่าน้ำมาเท่าไหร่ และสูงขึ้นกี่เมตรจะทำให้เข้าถึงใจประชาชนมากกว่า
“ทุกวันนี้เราจะยังเห็นว่าเมื่อเกิดเหตุรัฐมนตรีบางส่วนมักลงไปในพื้นที่เลยซึ่งอาจมีนัยยะเชิงการเมือง แต่ความจริงแล้วการให้องค์ความรู้ชุมชนให้เข้มเข็งและมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นรับมือได้ดีจะทำให้ลดความสูญเสียมากกว่า”
มองสาธารณรัฐประชาชนจีนกระจายอำนาจรับมือภัยพิบัติ
อย่างในประเทศจีนหากเกิดภัยพิบัติเจ้าหน้าที่จะเข้าถึงพื้นที่อย่างรวดเร็วโดยผู้ว่าฯมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ และจะมีกฎหมายเด็ดขาดกับข้อสั่งการหรือเตือนภัยหากมีการเตือนภัยแล้วคนในพื้นที่จะเชื่อและรับฟังและรีบอพยพไปในที่ปลอดภัย อย่างในจีนถ้ามีการเสียชีวิตในพื้นที่ ผู้ว่าฯอาจมีการคาดโทษ แต่ถ้ามากกว่า 1 จังหวัด อาจต้องยกระดับถึงระดับรัฐมนตรี เข้ามาช่วยซึ่งแตกต่างจากไทย
กรุงเทพน้ำจะท่วมไหม ?
ปัจจุบันลุ่มเจ้าพระยายังมีน้ำสมทบไม่มาก ขณะเดียวกัน ช่วง กลางสิงหาคมถึงสิ้นเดือนนี้ยังไม่ใช่ช่วงที่ กทม.จะท่วมหนัก น้ำที่จะทำให้ท่วมกรุงเทพฯได้ มี 4 สาเหตุ ถ้าน้ำจะท่วมภาคกลางหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
(1) น้ำเหนือจำนวนมาก ทำให้เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์มีความจุเต็มเขื่อน
(2) น้ำทะเลหนุน
(3) ฝนตกหนักในภาคกลาง
(4) พายุตามฤดูมรสุม
ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ไว้ว่า กรุงเทพมหานคร หากจะท่วมมักจะมาจากฝนตกหนักในพื้นที่แต่ละเขตและจุดอ่อนของท่อระบายน้ำที่อาจทำให้รับมือได้ยาก แต่ก็มีการคาดการณ์ว่ากันยายนจะเป็นช่วงที่ฝนเฉลี่ยสะสมมากที่สุดของปี อาจท่วมบางแห่งในฤดูฝน
ข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการน้ำไทย
อาจารย์ภวิสร ชื่นชุ่ม วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันหน่วยงานด้านน้ำมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากขึ้น แต่ก็อยากเห็นการสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการหรือการสั่งการ เพราะขณะนี้เรามี กนช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการวางนโยบายระยะสั้นระยะยาวอาจต้องคิดให้รอบคอบและช่วยเหลือให้ทันท่วงที ในระยะยาวถ้าต้องอยู่กับภัยพิบัติทามกลางโลกร้อน เราต้องมองถึงความยั่งยืน แม้จะมีแผนการจัดการน้ำ 20 ปี แต่อาจต้องมีการปรับให้ทันสมัย และต้องสร้างความเข้มแข็งในชุมชนกับการรับมือ ที่สำคัญการมีงบประมาณในการสร้างองค์ความรู้ในชุมชนจะทำให้ประชาชนปลอดภัย ลดผลกระทบมากกว่านำเงินมาชดเชยเยียวยา