“หากเรารู้ว่าความรุนแรงมีอยู่จริง แล้วยังเพิกเฉย เรานั่นแหละคือตัวปัญหา”
ความรู้สึกของ ศิริพร ทุมสิงห์ หรือ ครูจุ๊บแจง หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ ก่อการสิทธิเด็ก ในวันที่รู้สึกว่าครูก็เป็นผู้ผลิตซ้ำความรุนแรง ที่ทำให้เด็ก ๆ ถูกลิดรอนความปลอดภัย ในฐานะครู เธออยากแสดงออกให้คนในระบบการศึกษามองเห็นว่า ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นสิ่งไม่ควรเกิดขึ้นและถูกเพิกเฉย
“การศึกษาของเรามีระบบวัดผลว่ามีเด็กเก่งขึ้นเท่าไร แต่ไม่เคยวัดว่ามีเด็กบอบช้ำเท่าไร เราไม่อยากให้เด็ก ๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่คุ้นชินกับความรุนแรงและไม่มีความกล้าหาญออกมาปกป้องเด็กรุ่นถัดไปที่อยู่ในอำนาจนิยมแบบเดียวกัน”
The Active ชวน ครูจุ๊บแจง มาบอกเล่าประเด็นดังกล่าว รวมถึงการแท็กทีม ครูก่อการสิทธิเด็ก ที่แม้จะถูกจับจ้องถึงความคิดครูหลุดขั้ว แต่อย่างน้อย ๆ นักเรียนจะได้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทิ้งให้ต่อสู้เพียงลำพัง
“อำนาจนิยมในโรงเรียน” ให้มันจบที่รุ่นครู
ก่อนหน้านี้ การเป็นครูแนะแนวที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี และได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ก่อการครู ที่ทำให้ได้ฟังเหตุการณ์จากเพื่อน ๆ ว่ามีเด็ก ๆ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนทำให้อยากช่วยเหลือเพื่อนครูและเด็กเหล่านั้น ด้วยการประสานงานเจ้าหน้าที่และนักจิตวิทยาในพื้นที่ ด้วยหวังให้เด็กได้รับความช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุดและปลอดภัย
แต่ความจริงที่เกิดขึ้น กลับพบว่ามักจะไปติดที่ระบบบริหารจัดการของโรงเรียนต่าง ๆ ที่ต้องผ่านการตัดสินใจของผู้บริหารและมีเอกสารยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า จากเรื่องที่ควรจะเป็นความลับมันก็ไม่ลับอีกต่อไป ความปลอดภัยที่เด็กควรได้ก็ไม่ถูกคำนึงถึง
ความรู้สึกสงสารเด็กและเจ็บปวดไปกับพวกเขา จึงตัดสินใจรวมกลุ่มพี่ ๆ ในโครงการ ก่อการครู ร่วมกันสร้างเครือข่าย ก่อการสิทธิเด็ก ตั้งใจกันว่าจะช่วยลดปัจจัยไม่ให้เด็ก ๆ ตกเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุแห่งความรุนแรง
และไม่เพียงจัดการกับปัญหา ล่วงละเมิด ผลกระทบจากความรุนแรงที่เด็ก ๆ ได้รับไม่ว่าจะในครอบครัวและพื้นที่การชุมนุมซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อพัฒนาการรอบด้าน ทั้งเนื้อตัวร่างกาย สัมพันธภาพทางสังคม สติปัญญา จิตใจและจิตวิญญาณที่ถูกพรากจากพฤติกรรมที่มักใช้ความรุนแรงสร้างความหวาดกลัวกับเด็กเพื่อควบคุมพวกเขาจากการกระทำความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อหล่อเลี้ยงความเชื่อภายใต้ ระบบอำนาจนิยม และ ระบบสังคมปิตาธิปไตย จะถูกทำให้เห็นด้วยว่า ยังมีกลุ่มครูที่พร้อมต่อสู้ไปกับพวกเขา
ก้าวที่หนึ่ง “ก่อการสิทธิเด็ก”
รวมเวลากว่า 1 ปีแล้วที่เราเริ่มสร้างเครือข่าย ก่อการสิทธิเด็ก ร่วมกับ ครูโบว์ และ ครูยุทธ เพื่อนครูต่างโรงเรียนที่รู้จักกันจากโครงการก่อการครู และเป็นเวลาพอ ๆ กับที่ย้ายมาเป็นครูแนะแนวอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี
พวกเราเริ่ม ก่อการสิทธิเด็ก ด้วยการรณรงค์ให้คุณครูเข้าใจเรื่องการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เราพบว่ามีครูสนใจเข้าร่วมน้อยมาก คิดว่าคงเป็นเพราะความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศ มันติดขัดมายาคติของวิธีคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ เลยมองไม่เห็นความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ ใช้บริบทของเพศมากำหนดความผิดถูกตามที่สังคมคาดหวัง จนลืมไปว่าสิ่งที่เด็ก ๆ พวกเขามีสิทธิ์เลือกที่จะเป็น แต่ก็โดนตัดสินเพียงแค่พฤติกรรม เสื้อผ้า ทรงผม แล้วก็ไม่ช่วยเหลือพวกเขาจากการถูกล่วงละเมิดหรือถูกคุกคาม
“เสียงของคนที่ถูกกระทำ มันถูกลดทอนคุณค่าด้วยการโดนตำหนิว่าเป็นตัวสร้างปัญหา ถูกด่วนตัดสินไปแล้วว่าเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้นในโรงเรียน หรืออาจจะมองว่าถ้าครูเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้เราจะได้รับความเสียหายจากการถูกตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัยในคดีความ”
ยิ่งทำงานลึกลงไป พวกเรายิ่งค้นพบว่ามีครูและผู้บริหารการศึกษาจำนวนมาก ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพที่เด็กพึงมีในโรงเรียน เช่น ปัญหาเรื่องทรงผม การแต่งกายชุดนักเรียนที่ก้าวไม่ข้าม ความไม่เป็นธรรมในการให้คะแนน การด่าทอทำให้อับอาย การตี ริบทรัพย์ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ และไม่อยากให้แสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้น
“อำนาจนิยม ระบบสังคมปิตาธิปไตย ความรุนแรง ล้วนสัมพันธ์กัน”
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ยกตัวอย่างเมื่อคนกลุ่มหนึ่งหรือคน ๆ หนึ่งมีอำนาจ ย่อมถือว่าสิ่งที่ตนแสดงออกต้องไม่มีใครลุกมาขัดขวาง เมื่อทำอย่างนั้นมานานพอ จนเป็นที่ยอมรับ พวกเขาก็ไม่หันมารับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากความเชื่อของตนเองและพวกพ้อง หากมีใครทักท้วงต่อต้าน ก็จะใช้ความรุนแรงกับคนที่มาแสดงความคิดเห็น ใช้วิธีปิดหูปิดตา ปฏิเสธที่จะรับฟังหรือเลือกปกป้องความเชื่อแบบเดิม สร้างความชอบธรรมให้แก่ความเชื่อที่ตนยึดถือ ในแบบปิดหูปิดตาที่ให้อำนาจและผลประโยชน์แก่เพศสภาพชายและชนชั้นที่เป็นไปตามอุดมคติของสังคม ส่งผลกระทบเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทุกวันนี้
พวกเรายังพบว่า เหตุผลใหญ่ที่ครูยังใช้ความรุนแรงในห้องเรียน ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากหลงระเริงอยู่ในอำนาจ แต่เป็นเพราะว่าแท้จริงแล้วครูเองก็ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการพฤติกรรมเด็ก และขาดความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาพัฒนาการ จึงขาดระบบส่งต่อและฟื้นฟูพัฒนาการเด็กที่มีประสิทธิภาพ มองไม่เห็นถึงสัญญาณที่เด็กขอความช่วยเหลือจากทางกายภาพว่านั่นเป็นพฤติกรรมที่เด็ก ๆ ได้รับความรุนแรงจากบ้านจนมาส่งผลต่อพฤติกรรมที่โรงเรียน
การที่เด็กคนหนึ่งเป็นคนดื้อ ก้าวร้าว มันมีนัยหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ แต่เมื่อครูตัดสินเพียงแค่ว่าเขาคือเด็กดื้อ เขาจะถูกทำให้กลายเป็นแค่เด็กสมาธิสั้น เพียงเพราะที่บ้านขาดคนสนใจ เพื่อน ๆ ก็มองเขาเป็นตัวประหลาด เพราะครูบอกเพื่อนว่าเขาคือคนสมาธิสั้น ที่เรียนรู้อะไรไม่ได้ แล้วก็ถูกทิ้งไว้หลังห้อง ไม่ให้ได้รับการพัฒนาเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์
“แล้วจะเอาอะไรมาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ แล้วจะบอกได้ไงว่าไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง ในเมื่อเขาไม่เคยเข้ามาสู่ระบบการเรียนรู้ในห้องเรียนเลย นั้นก็คือความรุนแรงในรูปแบบการเพิกเฉยที่ครูเองก็ไม่มีความรู้เรื่องการทารุณกรรมเด็ก”
จากครูสู่ “ผู้ปกป้อง”
ในปีที่ผ่านมา เรียกว่าถึงจุดที่หลายส่วนแตกหัก เหตุการณ์เด็กถูกขึ้นบัญชี Watch List เป็นบุคคลถูกเฝ้าระวังจากการเคลื่อนไหวประเด็นการเมือง หรือเด็กชายถูกจับกุมขณะอยู่ในพื้นที่การชุมนุมแล้วต้องขึ้นศาลในความผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกกระทำความรุนแรงในพื้นที่แสดงออกทางการเมืองที่แทบไม่มีครูคนใดออกมาปกป้องลูกศิษย์ตนเอง
การเป็นครูและคนที่น่าจะสังเกตเด็ก ๆ ได้เร็วที่สุดหายไปไหน จากสมการที่จะสามารถช่วยเหลือและปกป้องคุ้มครองเด็กได้? เด็กเองก็ไม่เหลือใครที่จะพึ่งพิง นี่อาจนำไปสู่สถานการณ์ร้ายแรงที่สุด คือ การตายของเด็ก
น่าเศร้าที่พวกเรายิ่งทำงาน ยิ่งค้นเจอบาดแผลของตัวเองและของเด็ก ๆ ในสังคมไทย นี่คงเป็นความท้าทายในฐานะครูที่จะต้องจริงจังเรื่องสิทธิเด็ก เพื่อให้ศิษย์ของเราได้รับการดูแลและเข้าถึงกระบวนการเยียวยาฟื้นฟู มีส่วนที่จะป้องกันและส่งเสริมให้ไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ควรได้รับ
แน่นอนว่าเรายังคงเป็นครูตัวเล็ก ๆ ที่ทำงานแบบมดงาน แต่ถ้าถามว่าเราทำอะไรไปบ้าง? รอบปีที่ผ่านมา เราไม่เคยนิ่งเฉยและพยายามขยับเท่าที่กำลังไหว เช่น ชวนครูมาร่วมกระบวนการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ โดยได้สร้างครูแกนนำทั่วทั้งประเทศกลุ่มแรก 85 คน ให้เข้าใจเรื่องความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ พูดถึงสิทธิเด็กโดยปรับห้องเรียนให้มีความเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชน คือการเป็นครูที่รับฟังและให้เด็กใช้ความคิดเชิงวิพากษ์กับเราได้
“เราพยายามสร้างกระบวนการที่จะส่งต่อเด็กเข้าสู่ระบบเยียวยาฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว และคำนึงถึงเด็กว่าจะได้รับความปลอดภัยจากกระบวนการนี้ ไม่ถูกซ้ำเติมหรือใช้ความรุนแรงกับประเด็นละเอียดอ่อนที่เด็กได้รับผลกระทบ สามารถเข้าถึงหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือเด็กได้มากยิ่งขึ้น เพราะเราเห็นว่าถ้าไม่มีใครทำก็คงเป็นเราที่ต้องทำ”
การทำงานของพวกเราเดินทางไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ไปด้วย เราเคยเปิดคลับเฮาส์หยิบยกสถานการณ์หรือเรื่องราวมาพูดคุยอย่างเปิดกว้าง เช่น ความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศ การกลั่นแกล้ง ที่มีกลุ่ม นักเรียนเลว ทำคู่มือเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดในโรงเรียน
จะเห็นว่าสิ่งที่เราทำตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสงสัยใคร่รู้และอยากจะเข้าใจประเด็นต่าง ๆ มากกว่านี้ พร้อมเคียงข้างกับคนที่กำลังฟังเรา ฉันเห็นว่าคุณครูเองมีการเปลี่ยนแปลง มีคนสะท้อนมาว่าตัวเขานั้นเปิดรับฟังมากขึ้นจากแต่ก่อน เขานำเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ไปใช้คุยกับผู้ปกครอง มีครูที่อีกไม่กี่ปีจะเกษียณบอกว่าได้เอาไปปรับใช้ เริ่มต้นห้องเรียนแบบใหม่ที่เข้าใจเด็ก ๆ มากขึ้น นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกับหลาย ๆ เครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวครู องค์กร หรือตัวเด็ก ๆ เอง
เด็ก ๆ ไม่ได้ถูกทิ้งให้ต่อสู้เพียงลำพัง
ถึงตอนนี้ พวกเราตั้งใจไว้ว่า ก่อการสิทธิเด็ก จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้ สิทธิเด็ก ถูกพูดถึงโดยเห็นประโยชน์ของพวกเขาเป็นหลัก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมแล้วส่งผลกระทบกับเด็ก เป็นหน้าที่ของรัฐ ต้องรับผิดชอบและเข้าจัดการอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนในสังคม หากรัฐไม่ทำหน้าที่หรือปฏิบัติโดยขาดความเข้าใจของบริบทก็จะกลายส่วนซ้ำเติมผู้เสียหายเสียเอง
มากไปกว่านั้น คือ กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะออกมารับฟังสิ่งที่พวกเรากำลังช่วยงานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ ในสังคมมากกว่านี้ เพราะพวกเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ ถ้ายังมองไม่เห็นถึงความหลากหลายที่เด็กเป็น เราจะยังคงจัดหลักสูตรแบบเดิมที่เข้าไปครอบงำเด็กให้เกิดสมรรถนะตามที่ชาติต้องการ โดยไม่ได้มองถึงพัฒนาการเด็กเป็นสำคัญ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็จะมาทำร้ายตัวเด็กและทำร้ายคุณค่าครูในระบบการศึกษา
“เมื่อครูไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ตามที่รัฐอยากให้เป็น เด็กไม่ได้เป็นอย่างที่ครูอยากเห็นในห้องเรียน ครูยังคงใช้ความรุนแรงจัดการให้เด็กนั่งและตั้งใจฟังเพื่อให้ได้เรียนรู้ตามตัวชี้วัดที่กระทรวงอยากได้ มันเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่มาซ้ำเติมคุณครูโดยไม่รู้ตัวแล้ววัดผลการศึกษาโดยการบอกว่าเรามีเด็กเก่งเพิ่มขึ้นมาเท่าไร แต่ไม่ได้เห็นว่ามีเด็กบอกช้ำเท่าไรจากความรุนแรงที่ได้รับทั้งกายและใจจากการแบกความทรมานนี้”
ในฐานะครู พวกเราไม่อยากเห็นเด็กกับครอบครัวใส่ผ้าคลุม แต่ระบุพื้นที่อยู่อาศัยและรายละเอียดที่โดนกระทำต่อหน้ารายการทีวีและสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งที่มีหน่วยงานทำหน้าที่โดยตรงและมีกฎหมายคุ้มครอง พวกเราไม่อยากฟังว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความยุติธรรมหรือได้รับความบอบช้ำจากครูในโรงเรียนที่ไม่ช่วยเหลือหรือช่วยแบบครึ่งทาง ไม่อยากได้ยินว่าผู้บริหารที่ขาดความเข้าใจแล้วไล่เด็กไปสถานีตำรวจด้วยตัวคนเดียว ไม่อยากเจอสำนักข่าวที่ออกไปตามบ้านเด็กผู้เสียหาย แล้วสัมภาษณ์คนในพื้นที่ แล้วทำภาพออกมาเป็นสามมิติ หรือมาขอข่าวจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ได้รับความเสียหายโดยไม่ตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของสภาพจิตใจเด็ก ไม่อยากเจอตำรวจที่ขาดความชำนาญด้านการทำงานเกี่ยวกับเด็ก เลือกจะทำคดีล่วงละเมิดหรือคดีทำร้ายร่างกายให้เป็นเพียงบันทึกประจำวัน รวมถึงคนที่ทำหน้าที่ในสถานีตำรวจพูดกับผู้ปกครองว่าจะให้เลือกลูกหรือคดีเพราะเด็กถูกล่วงละเมิดจากคนใกล้ตัว หรือทีมสหวิชาชีพที่ขาดความเข้าใจในเชิงรุกแล้วประนีประนอมว่าความรุนแรงนี้เป็นแค่เรื่องในบ้าน ไม่อยากเห็นระบบศาลที่ไม่มีความยืดหยุ่นหรือขาดความละเอียดรอบด้านในประเด็นเด็ก นั่นเป็นสิ่งที่เราเองก็ไม่อยากให้เกิด
หากเรายอมรับว่าสิ่งนี้มีอยู่จริง และเรายังเพิกเฉย เรานั่นแหละคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหายังคงดำเนินต่อไป ก่อการสิทธิเด็ก ตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่า หากเรารู้ว่ามีปัญหาแล้วยังนิ่งนอนใจ นั่นแปลว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน ทั้งในฐานะครูและฐานะคนทำงานเพื่อเด็กเราควรส่งเสียงออกมาเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมกับเด็กยิ่งขึ้น เพื่อให้คนในระบบการศึกษาทุกภาคส่วนให้น้ำหนักถึงการทารุณกรรมเด็กว่าไม่ควรเกิดขึ้นและไม่ควรถูกเพิกเฉยอีกต่อไป