มรดกความจน ก้าวแรกสู่ตลาดแรงงานเด็ก

แรงงานเด็ก 2023

เด็กไทยจำนวนไม่น้อย (จำใจ)ต้องเลือกเส้นทางการเป็นแรงงานตั้งแต่ยังเด็ก เพราะปัญหาฐานะทางการเงินของครอบครัว เด็กวัยเรียนต้องทำงานรับจ้าง หารายได้เลี้ยงตัวเอง บางคนต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครอบครัวมีรายได้ลดลงอย่างมาก จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รายงานความเคลื่อนไหวแรงงานเด็ก ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 พบว่า มีกำลังแรงงานที่เป็นเด็ก 141,608 คน เป็นผู้มีงานทำ 131,338 คน ผู้ว่างงาน 9,630 คน และกำลังแรงงานที่รอฤดูกาล 640 คน โดยเป็นผู้ที่ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 69,698 คน คิดเป็นร้อย 53.1 อยู่ในภาคเกษตรกรรม 61,640 คน คิดเป็นร้อยละ 46.9

นอกจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและครอบครัว การที่ไทยมีแรงงานเด็กจำนวนมากอาจสะท้อนได้ชัดว่ามีเด็กไทยที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ต้องการหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแก้ไข

หนึ่งในความเคลื่อนไหว เมื่อวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล 12 มิถุนายน 2566 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มีแนวคิดหลักในปีนี้ว่า ‘ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับทุกคน ยุติการใช้แรงงานเด็ก’ (Social Justice for All. End Child Labour) ซึ่ง บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประกาศว่าจะมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในมิติต่าง ๆ เพื่อให้เด็กทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานหลักในการคุ้มครองแรงงาน ทำหน้าที่สร้างความตระหนักรู้และสื่อสารต่อสาธารณะเรื่องการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายทุกรูปแบบ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย การส่งเสริมกลไกความร่วมมือทุกภาคส่วนในการดำเนินการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การช่วยเหลือ คุ้มครอง บำบัดฟื้นฟู เยียวยาตามหลักสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมอย่างครอบคลุมและยั่งยืน

ความยากจนซ้อนทับ ผลักเด็กออกจากระบบการศึกษา

ปี 2566 ไทยยังพบภาวะวิกฤตทางการศึกษา เป็นผลเกี่ยวเนื่องส่งผลให้มีแรงงานเด็กเพิ่มขึ้น…

การหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กไทย เกิดจากความยากจน ทำให้เด็กต้องออกมาช่วยเหลือพ่อแม่ทำงาน และสาเหตุอีกครึ่งหนึ่งมาจากครอบครัวกับระบบโรงเรียน คือสิ่งที่ ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ความเห็นไว้ในเวที “เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ”

ศ.สมพงษ์ บอกอีกว่า ในระบบครอบครัว เด็กได้รับผลกระทบจากมรดกความยากจน และผลกระทบจากการตกงานในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เรียกว่า “ความยากจนทับซ้อน” เด็กและครอบครัวไม่สามารถดึงตัวเองออกจากกับดักความยากจนได้ตามลำพัง ถ้าไม่มีใครช่วย พวกเขาจะต้องอยู่ในวงจรความยากจนต่อไปอย่างแน่นอน อีกทั้งในปีที่แล้ว มีเด็กยากจนอยู่ประมาณ 9 แสนคน ผู้ที่มีรายได้ลดลงเหลือ 1 พันกว่าบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.3 กว่าล้านคน พวกเขาเหล่านี้ต้องตกอยู่ในภาวะยากจนต่อเนื่องไปอีก 3 ปี แม้จะได้รับเงินบางส่วนที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นก็ตาม

ความขัดสนของครอบครัวผลักให้เด็กหลายคนจำยอมต้องออกจากระบบการศึกษา แม้คนในสังคมมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย แต่แน่ใจจริงหรือว่าเด็กเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือ มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับอานิสงส์ของความคลี่คลายที่ว่า

“ในขณะนี้รายได้ของพวกเขาตกลง แม้มีหลายคนบอกว่าสถานการณ์คลี่คลาย แต่ความจริงแล้วมันอยู่แค่ข้างบน แต่ข้างล่างจริง ๆ ไม่ได้รับอานิสงส์ของการเปลี่ยนแปลงหรือได้รับเงินจากสิ่งที่มันดีขึ้น”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ – กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ.

แล้วจะดึงเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาอย่างไร? ศ.สมพงษ์ ให้ความเห็นว่า “ต้องช่วยเหลือโดยการสร้างอาชีพให้ผู้ปกครอง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน” ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยพยายามแก้ไขมานานแล้ว แต่หากมองในมุมกว้าง สังคมไทยก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้เท่าที่ควร

หากมีโลกการศึกษาที่หลากหลายให้กับเด็กตามศักยภาพ ตามความถนัด ตามความสนใจ เด็กเหล่านี้ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง จะทำอย่างไรให้เด็กทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ และถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลเด็ก ก็จะสามารถรู้ว่าจังหวะไหนควรเข้าไปช่วยเหลือเด็ก เพื่อป้องกันให้เด็กที่ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา

เพราะความยากจนของครอบครัว แรงงานเด็กจึงไม่มีทางเลือก

“บางครอบครัวสืบทอดมรดกมาตั้งแต่รุ่นก่อนหน้า รุ่นตัวเองก็ยังยากจน และกำลังจะสืบทอดไปยังรุ่นลูก”

สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน – หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ครอบครัวและเศรษฐกิจมีส่วนที่ทำให้เด็กกลายเป็นแรงงาน ปัญหาครอบครัวยากจนกับเศรษฐกิจนั้นแยกจากกันไม่ได้ ซึ่ง 2 ปัญหานี้เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

อีกทั้งยังให้ความเห็นว่า แท้จริงแล้วมรดกความยากจนไม่ใช่เพียงการมีรายได้น้อย แต่ยังรวมถึงทัศนคติของครอบครัวนั้น ๆ ที่มองความยากจนของตนเอง ซึ่งหลายครอบครัวมองว่าการที่จะสามารถหลุดออกจากความยากจนนั้นมีโอกาสน้อยเหลือเกิน และเป็นสิ่งที่ยากจะแก้ไข

จะเห็นว่าเส้นทางสู่การเป็นแรงงานเด็กล้วนมีสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวนั้น ๆ เมื่อเด็กจากครอบครัวเหล่านี้กลายเป็นแรงงานในภาคเศรษฐกิจ สังคมไทยควรให้ความตระหนักถึงตัวตนของแรงงานเด็กได้อย่างไร และควรที่จะทำความเข้าใจกับลักษณะนิยามของแรงงานเด็กใช่หรือไม่

สำหรับนิยามของ แรงงานเด็ก (Child labour) ตามอนุสัญญาว่าด้วยอายุขั้นต่ำ (ฉบับที่ 138) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้กำหนดอายุขั้นต่ำของลูกจ้างไว้ คือ อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี สำหรับงานทั่วไป ส่วนไม่ต่ำกว่า 13 ปี สำหรับงานเบา และไม่ต่ำกว่า 18 ปี สำหรับงานอันตราย แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนานั้น ได้กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับงานทั่วไปเป็น 14 ปี งานเบาเป็น 12 – 14 ปี และงานอันตรายเป็น 16 ปี นอกจากนี้ แรงงานเด็กยังหมายถึง เด็กที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 138 โดยการทำงานนั้นเป็นงานเต็มเวลา มีชั่วโมงการทำงานระหว่าง 14 – 43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือตามที่กฎหมายในประเทศกำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย หรือจิตใจ และเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ

หรือหากเป็นนิยามในเชิงวิชาการ ‘แรงงานผู้เยาว์’ (Child worker) คือผู้ที่มีอายุ 15 – 17 ปี ซึ่งกฎหมายไทยยังไม่ได้แยกความแตกต่าง แรงงานที่เป็นเด็กกลุ่มอายุตามเกณฑ์ให้รับเข้าทำงานได้ว่าเป็นแรงงานผู้เยาว์ ซึ่งเป็นแรงงานที่ทำงานปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม และแรงงานผู้เยาว์ ยังหมายรวมถึงเด็กที่ทำงานเบาไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตในกลุ่มอายุที่ไม่ต่ำกว่า 13 ปี

ยกระดับความเห็นอกเห็นใจ สู่รูปแบบจ้างงานที่เป็นธรรม

ในสังคมไทยจะเห็นว่ามีแรงงานเด็กในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เด็กที่รับจ้างตามร้านอาหาร เดินขายของตามท้องถนน รวมถึงการหารายได้เสริมในช่วงปิดเทอม แต่ในอีกมุมหนึ่ง การใช้แรงงานของเด็กก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของบางธุรกิจ

เดือนมกราคม ปี 2565 ภาพเด็กจำนวนหนึ่งใส่ชุดนักเรียนเดินขายนมเปรี้ยวให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณสี่แยกรอบเมือง จ.อุดรธานี ถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ ยังเป็นภาพคุ้นตาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ทำให้โรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน ส่วนผู้ปกครองของเด็กหลายคนก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เด็กหลายคนต้องเลือกออกมาเดินขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกไฟแดง แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนภายนอกที่มองเข้าไป อาจมองว่าธุรกิจลักษณะนี้ถูกนำมาเรียกความเห็นอกเห็นใจของผู้บริโภคหรือไม่ เพราะมีกระแสที่ว่าบริษัทนมเปรี้ยวมีการโฆษณาชักชวนคนมางานหารรายได้เสริม

คนจน

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว The Isaander โดยตั้งคำถามถึงมิติวัฒนธรรมว่าการสวมใส่ชุดนักเรียนอาจช่วยให้ดึงความเป็นเด็กออกมาและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าหรือไม่ เนื่องจากไทยเป็นสังคมที่ให้ความเห็นอกเห็นใจกับเด็กที่ทำงานหารายได้เสริม ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ซึ่งมองว่าเป็นค่านิยมของเด็กที่ดี ส่วนประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด อาจทำให้หลายคนเลือกที่จะซื้อนมเปรี้ยว แต่ไม่ได้ซื้อเพราะอยากดื่ม แต่ต้องการช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของตนเอง

ในแง่ของรูปแบบการจ้างงานของบริษัท อรรคณัฐ มองว่าเป็นเหมือน “การผลักความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง” เนื่องจากมีความไม่แน่นอนด้านสวัสดิการและชั่วโมงในการทำงาน นอกจากนี้เด็กอาจถูกเอารัดเอาเปรียบได้ เพราะแม้จะมีกฎหมายแรงงานที่บัญญัติถึงการใช้แรงงานเด็ก แต่ก็ไม่มีการปรับแก้ให้เข้ากับรูปแบบการจ้างงานในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาเช่นนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมว่าแรงงานเด็กจะได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่

แม้เต็มใจเป็นแรงงาน แต่ผลประโยชน์ของเด็กก็สำคัญ

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกกับ The Active ว่า ปัจจุบันมีการใช้แรงงานเด็กหลายรูปแบบ หากเป็นรูปแบบที่เลวร้าย ก็คือ วงจรยาเสพติด การค้าประเวณี ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย ทางหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเร่งแก้ไข บางครั้งมีการนำเด็กมาขอทาน สิ่งนี้จะกระทบกับโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาอาชีพ

ส่วนกรณีที่เด็กบางส่วนออกมาทำงานบางอย่างเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ในมุมนี้อาจมองได้ว่าเด็กมีความตั้งใจอยากช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว ซึ่งมียากจนหรือขัดสน แต่ในแง่ของสิทธิเด็ก เด็กควรจะได้รับการคุ้มครอง เพราะในวัยหนึ่งเขาควรได้มีโอกาสไปเรียน มีโอกาสพัฒนา ไม่ควรอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่ออันตราย การที่เด็กต้องมาทำงานก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจในเหตุผลและสาเหตุได้ แต่หน้าที่ของรัฐก็ควรจะปกป้องคุ้มครองให้เด็กมีโอกาสได้รับการศึกษา มีสภาพแวดล้อมที่ดี จึงมีข้อกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่สามารถที่จะใช้แรงงานได้

“จริง ๆ แล้วปัญหาความยากจน ก็ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการใช้แรงงานเด็ก ทำให้เด็กต้องมาใช้แรงงาน เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน”

วสันต์ ภัยหลีกลี้ – กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วสันต์ กล่าวอีกว่า การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิด การใช้แรงงานเด็ก จำเป็นจะต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และไม่เลือกปฏิบัติ ต้องมีการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานกับกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือสำนักอื่น ๆ ต้องสร้างความตระหนักการใช้แรงงานเด็ก และการใช้แรงงานบังคับ

“การใช้แรงงานเด็ก คือ เด็กต้องใช้แรงงาน เลี้ยงชีพ หารายได้ อยู่ในสภาพที่เป็นการจ้างงาน ก็ถือว่าเข้าข่ายลักษณะการใช้แรงงาน ต้องดูว่าประโยชน์สูงสุดของเด็กคืออะไร”

วสันต์ ภัยหลีกลี้ – กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วสันต์ บอกว่าผลประโยชน์สูงสุดของเด็กต้องเป็นสำคัญ เด็กอาจจะได้เรียนรู้ มีพัฒนาการ อาจจะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ามีการใช้งานเด็กอย่างหนัก เด็กไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้มีโอกาสไปเรียน กระทบกับพัฒนาการของเด็ก สิ่งนี้ก็จะเป็นผลเสีย ต้องไปพิจารณาในรายละเอียด บางทีอาจมีข้อยกเว้นบางเรื่องว่าสามารถให้ทำได้

ซึ่งประเด็นนี้อาจสอดรับกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองแรงงานเด็กที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ ในข้อที่ระบุว่า กฎหมายหรือกฎระเบียบในประเทศอาจอนุญาตให้มีการจ้างงานหรือการทำงานของบุคคลอายุ 13 – 15 ปี ในงานเบาได้ ซึ่งเป็นงานที่ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือการพัฒนา หรือไม่ส่งผลเสียหายต่อการศึกษา และข้อที่ระบุว่า อาจยอมให้มีข้อยกเว้นเพื่อการเข้าร่วมในการแสดงทางศิลปะ โดยได้รับใบอนุญาตเป็นราย ๆ ไป ใบอนุญาตที่ออกให้ต้องจำกัดชั่วโมงทำงาน และกำหนดเงื่อนไข ซึ่งการจ้างแรงงานหรือการทำงานนั้นได้รับอนุญาต

บทส่งท้าย

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าสังคมไทยที่ยังต้องเผชิญปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อแรงงานเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ถึงแม้จะไม่ได้การใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้ายอย่างในอดีตก็ตาม แต่การทำงานของเด็กยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเคร่งครัด น่าเป็นห่วงว่าอาจเกิดช่องโหว่เหล่านี้มากขึ้น และกลายเป็นปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่ยากจะแก้ไข  

แม้มีการกำหนดวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของการใช้แรงงานเด็ก การที่แรงงานเด็กไม่ได้รับการคุ้มครอง รวมถึงการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือแรงงานเด็กเหล่านั้นได้ทันท่วงที อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่ไม่ได้มีเพียงรูปแบบที่เลวร้ายอย่างเดียว แต่มีรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจไม่เป็นอันตรายต่อเด็กด้วย ก็ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ‘แรงงานเด็ก’ นั้นเป็นปัญหาหรือความต้องการของเด็กเพื่อจะได้มีช่องทางหารายได้กันแน่ ดังนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างระบบการศึกษาที่ดี จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กต้องเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา กลายเป็นแรงงานเด็กที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี