หมดฝนตุลาคม! น้ำท่วมภาคกลาง ปิดจบหรือยัง?

สถานการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือปีนี้รุนแรง มวลน้ำมหาศาลหลากเข้าท่วมหลายจังหวัด โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สร้างความตื่นตระหนกให้กับภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ซึ่งกังวลว่ามวลน้ำเหล่านี้จะไหลมาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนทำให้น้ำท่วมซ้ำรอยครั้งใหญ่เมื่อปี 54 หรือไม่

แต่ในความจริงแล้วปัจจัยที่จะส่งผลให้น้ำท่วมภาคกลาง กรุงเทพมหานคร จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ภาคกลาง ปริมาณน้ำหนุนจากทะเล น้ำท่า รวมถึงการบริหารจัดการ 4 เขื่อนหลัก The Active รวบรวมข้อมูลและปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อให้เห็นสถานการณ์ที่ชัดเจนขึ้น เพื่อตอบคำถามที่ว่า “อุทกภัยครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นซ้ำรอยอดีตหรือไม่?

เปรียบเทียบ 4 ปัจจัยหลักน้ำท่วม ปี 54 และ 67

หากถามว่าวันนี้ภาคกลางรอดแล้วหรือไม่? ปัจจัยแรกที่ต้องวิเคราะห์ คือ การดูแม่น้ำทุกสายที่จะไหลมารวมกัน จนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีต้นน้ำหลายสาย ตั้งแต่แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และ แม่น้ำน่าน แม่น้ำ 4 สายสำคัญที่ไหลมาบรรจบกันที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งระหว่างทางมี เขื่อนใหญ่รองรับน้ำก่อนระบายออกมา มีทั้งเขื่อนภูมิพลรับน้ำจากแม่น้ำปิง เขื่อนสิริกิติ์ลุ่มน้ำน่าน

โดยน้ำทั้ง 4 สาย จะไหลมารวมกันที่สถานีวัดน้ำ C2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นจุดรวมน้ำก่อนเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหากดูข้อมูลที่น้ำท่วมใหญ่ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ปี 2554 พบว่าจุด C2 มีอัตราการไหลของน้ำ 4,344 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไหลสูงสุด 4,686 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ 30 ก.ย. 67 ณ จุดเดียวกัน มีอัตราการไหลของน้ำ 1,991 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านในปีนี้น้อยกว่ามาก เมื่อต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา ณ จุดนี้ มีมวลน้ำที่น้อยกว่า ก็เท่ากับว่าการบริหารจัดการน้ำตอนล่างในปีนี้ มีโจทย์ในการบริหารจัดการมวลน้ำ ที่ไม่หนักหนาเท่ากับปี 54

เมื่อน้ำจากตอนบนไหลลงมาลุ่มเจ้าพระยา ปัจจัยที่ต้องจับตาต่อมาก็คือ สถานีวัดน้ำ C13 ที่เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่อาจชี้วัดว่าน้ำจะท่วมภาคกลางและกรุงเทพมหานครหรือไม่ โดยต้องดูปริมาณน้ำที่เราจะบริหารจัดการได้ด้วยเขื่อนเจ้าพระยา จะมากหรือน้อยก็ต้องแบ่งกันไปในลุ่มน้ำที่มี

ปี 2554 มีอัตราการไหล 3,628 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (21 ก.ย.2554) ค่อนข้างเยอะ ทั้งน้ำเหนือที่ไหลมาสมทบต่อเนื่อง และยังไม่รวมกับฝนที่ตกมากในลุ่มภาคกลาง จึงทำให้ปี 2554 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ แต่ปี 2567 มีอัตราการไหล 1,899 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (เมื่อ 30 ก.ย.67) ซึ่งปีนี้ปริมาณน้ำก็ยังคงน้อยกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

กลไกในการบริหารจัดการน้ำปีนี้ มุ่งระบายไปแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นการระบายแบบทางตรง ขณะที่หน่วยงานรัฐยอมรับการบริหารจัดการน้ำในแม่เจ้าพระยาออกสู่ทะเลจะใช้เวลาระบายน้ำได้เร็ว เพียงไม่กี่วัน ขณะที่ปีนี้ผันไปทางแม่น้ำน้อย และแม่น้ำท่าจีนไม่มาก เพราะเป็นลุ่มน้ำขนาดเล็ก ศักยภาพลำน้ำค่อนข้างเล็กและแคบกว่า ซึ่งใช้เวลาในการระบายเกือบเดือน แต่ใช่ว่าการบริหารจัดการน้ำจะผันออกอย่างเดียว สำหรับลุ่มเจ้าพระยาก็มีพื้นที่รับน้ำหรือทุ่งรับน้ำในการบริหารจัดการด้วย ซึ่งความต่างของการบริหารจัดการน้ำภาคกลางในปีนี้จะพบว่า น้ำเหนือมาเป็นระลอก ที่มีช่วงเวลาให้ระบายน้ำได้ต่างจากปี 2554 และปี 2565 ที่ ฝนในภาคกลางก็มาก แต่ปีนี้ภาคกลางฝนตกตอนกลางของไทยยังอยู่ในการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานได้

แค่ปัจจัยน้ำเหนือยังไม่พอ ปัจจัยฝนก็เป็นส่วนสำคัญที่ชี้วัดว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ หากมองภาพใหญ่ของปริมาณฝนในประเทศไทยที่มาสมทบให้ภาคกลางมีมวลน้ำมากขึ้น จากข้อมูลกรมชลประทานถ้าเทียบปริมาณฝน เมื่อปี 2554 (1 ม.ค. -24 ก.ย.) พบว่า มีปริมาณฝน 1,576 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ คิดเป็น + 32 % เมื่อเทียบปริมาณฝน (1 ม.ค. -24 ก.ย. 67) พบว่า มีปริมาณฝน 1,291 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ คิดเป็น -3 % ซึ่งปี 67 มีปริมาณฝนที่น้อยกว่า 285 มิลิเมตร

ขณะที่พายุในปี 2554 มีจำนวน 5 ลูก ได้แก่ ไห่หม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด นาลแก แต่ปีนี้ มีพายุ 1 ลูก ได้แก่ ซูริก ซึ่งเกิดช่วงเดือนกันยายน แต่ยังอาจนิ่งนอนใจได้เพราะปีนี้ยังไม่หมดฤดูฝน จึงยังต้องจับตาและเฝ้าระวังต่อ

ขณะที่น้ำจากเขื่อนเป็นอีกปัจจัย ซึ่งย้อนไปเมื่อปี 2554 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาพรวมมีน้ำมากถึงร้อยละ 90 และน้ำในเจ้าพระยา 69 % ซึ่งถือว่าน้ำเต็มเขื่อน บวกกับฝนมาก น้ำทะเลก็หนุน จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ต่างจากปีนี้ ที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาพรวม มีน้ำ 75 % และน้ำในเจ้าพระยา 73 % ซึ่งมีน้ำไม่มากจึงทำให้การระบายของน้ำจากเขื่อนโดยเฉพาะลุ่มน้ำภาคกลาง มีจังหวะการระบายน้ำได้ดีกว่า เพราะฝนไม่มากเท่า 2554 น้ำหนุนสูงมาเป็นระยะ ขณะที่น้ำจากเขื่อนก็ระบายไม่มาก เนื่องจากเก็บน้ำไว้ใช้อนาคต

ขณะที่น้ำท่า ที่สถานี C2 จังหวัดนครสวรรค์ ปี 2567 น้อยกว่า ปี 2554 อยู่ 2,353 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนปริมาณน้ำท่า ที่สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ปี 2567 น้อยกว่า ปี 2554 1,729 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำรวจการบริหารจัดการน้ำในลุ่มภาคกลาง ช่วงน้ำมาก

ในการจัดการมวลน้ำลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยาตอนล่าง ป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปีนี้ หน่วยงานรัฐพยายามตั้งรับ โดยในวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุม
หน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 10/2567 พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
ที่จังหวัดสุโขทัย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล สทนช. และประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำชับการจัดการสถานการณ์น้ำและปัญหาอุทกภัย ที่ให้ทุกฝ่ายร่วมมือใกล้ชิด ตั้งแต่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ไปจนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และเป็นข้อมูลให้จังหวัดต่าง ๆ นำไปเตรียมความพร้อมรับมือ โดยกำชับให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม พบว่ามวลน้ำจากลุ่มน้ำยมที่ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยเป็นปริมาณน้ำสูงสุดแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตัวเมืองสุโขทัย ขณะที่แก้มลิงทุ่งทะเลหลวงที่ขณะนั้นก็มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก สทนช. ได้มีการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทานเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลสุโขทัยที่ตั้งอยู่ท้ายทุ่งทะเลหลวง ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

โดบจังหวัดสุโขทัยได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการของโรงพยาบาล แต่เหตุการณ์คันกั้นน้ำขาดที่คนสุโขทัยเผชิญเวลานั้น แม้จะสร้างความกังวลใจไม่น้อยกับประชาชนแต่ก็มีการเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการซ่อมแซมในจุดที่ประสบปัญหาคันกั้นน้ำขาดให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูฝนหน้า

สำหรับการระบายน้ำจากทุ่งลุ่มต่ำต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร โดยเฉพาะทุ่งบางระกำที่มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักและเริ่มส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน เวลานั้นก็เลือกการลดระดับน้ำในแม่น้ำน่านเพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากทุ่งได้ดีขึ้น โดยได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้อยู่ในอัตรา 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ไปจนถึงช่วงประมาณวันที่ 13 ต.ค. 67 ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์น้ำภายในเขื่อนสิริกิติ์อีกครั้ง เพื่อปรับอัตราการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด

ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินมวลน้ำจากลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ซึ่งจะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที พร้อมกันนี้ จะมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 200 – 300 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งในเวลานั้นมีการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดยระบายน้ำไปบริเวณเหนือเขื่อนทั้งทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ในอัตรา 300 ลบ.ม. ต่อวินาที และคงการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 2,200 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อป้องกันผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ

โดยการระบายน้ำท้ายเขื่อนในอัตรา 2,000 – 2,200 ลบ.ม. ต่อวินาที แม้จะส่งผลกระทบในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบริเวณจังหวัดชัยนาท อำเภอสรรพยา และวัดสิงห์ ตำบลโพนางดำตก จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี พรหมบุรี และอินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จังหวัดอ่างทอง อำเภอป่าโมกและไชโย (วัดไชโย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา บางบาล ผักไห่ (ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง) และเสนา (ตำบลหัวเวียง) จังหวัดปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานีและสามโคก จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด (ตำบลท่าอิฐ) อำเมืองนนทบุรี (ตำบลไทรม้าและบางไผ่) แต่ก็ได้แจ้งให้จังหวัดท้ายเขื่อนเตรียมยกของขึ้นที่สูงในระดับการระบายน้ำในอัตรา 2,400 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อเตรียมพร้อมล่วงหน้าในกรณีมีปริมาณฝนตกมากเกินกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้พื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี จะได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงด้วย ก็ประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าไว้แล้ว

การรับน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา

จากข้อมูลกรมชลประทาน วันที่ 13 ตุลาคม 2567 ลุ่มเจ้าพระยามี 11 ทุ่งรับน้ำที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ 100 % ได้แก่ ทุ่งบางระกำ ที่เป็นทุ่งรับน้ำที่มีพื้นที่มากที่สุด กว่า 265,000 ไร่ รับน้ำเกินแผน 131 % สำหรับทุ่งนี้หน่วยงานรัฐและเกษตรกรมีข้อตกลงก่อนหน้านี้ว่า ต้องการให้นำน้ำเข้าเพื่อการประมงในพื้นที่ในช่วงฤดูฝน ขณะที่ทุ่งรับน้ำทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้าย คลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง และทุ่งรับน้ำฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา รวม 11 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่รวม กว่า 1,252,649 ไร่ พบปริมาณน้ำในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 มีน้ำเข้าทุ่งรวมทั้งหมดเพียง 58 %

เสนอ ‘ตัดยอดน้ำ’ ลดท่วมซ้ำซาก

อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในพื้นที่รับน้ำ ที่ชาวบ้านรู้อยู่แล้วว่าแต่ละปีต้องเผชิญกับน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พรรคประชาชนในฐานะ สส.ในพื้นที่ ระบุว่า น้ำจากต้นทางที่ไปภาคกลาง เช่น จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง จนมาถึงอยุธยา หลายจังหวัดไม่มีทุ่งรับน้ำเหมือนกับที่อยุธยา ปัจจุบันน้ำจึงถูกปล่อยรวดเดียวมาที่นี่ ซึ่งเป็นปราการสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม กทม.พื้นที่เศรษฐกิจ

“ถ้าเราจะแก้ปัญหาลดผลกระทบให้คนจังหวัดอยุธยา ระหว่างทาง ต้อง มีพื้นที่รับน้ำ หรือ ทุ่งรับน้ำ ไม่ว่าจะท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก จะช่วยกักเก็บน้ำระหว่างทาง หรือตัดยอดน้ำ เพื่อไม่ให้ไหลมากองที่อยุธยาที่เดียว ไม่งั้นอยุธยาก็ต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้งแบบนี้ตลอดไป”

สอดคล้องกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งบอกว่าปีนี้พวกเขาต้องอยู่กับน้ำท่วมถึง 2 ระลอกแล้ว แต่ละรอบท่วมนานนับ 3 สัปดาห์ น้ำที่ท่วมไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นน้ำที่เกิดจากการบริหารจัดการของภาครัฐ แม้ว่าพวกเขาจะเคยชินในฐานะคนอยู่กับน้ำ แต่ก็ยอมรับว่าการใช้ชีวิตแต่ละวันลำบาก เดินทางสัญจรไม่สะดวก อย่าให้คนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำต้องแบกรับผลกระทบฝ่ายเดียว ต้องมีการเยียวยา สื่อสารเตือนด้วย

สันติ โฉมยงค์ เครือข่ายภาคประชาชน  จ.พระนครศรีอยุธยา ให้สัมภาษณ์ว่า ภาคประชาชนเริ่มก่อตัวจัดตั้งหลังน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 จึงมีการรวมกลุ่มประชาชนที่สนใจด้านน้ำ จาก 7 ทุ่งรับน้ำ ทำข้อมูลแผนที่ ประเมินสถานการณ์ จุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมมาตั้งแต่ช่วงต้นปี และเริ่มเตือนตั้งแต่เริ่มมีการระบายน้ำอยู่ที่ 500 ลบ.ม. กลไกสำคัญของการรวมกลุ่มภาคประชาชน ยังมีบทบาทสำคัญในการแปลงข้อมูลภาพกว้างจากการเตือนภัยในระดับรัฐ จากตัวเลขน้ำหน่วยลูกบาศก์เมตร เป็นภาษาที่เข้าใจเลยว่า ชาวบ้านจะต้องรับน้ำสูงระดับใด และใช้เวลาเดินทางนานกี่วัน 

สันติ ย้ำว่า  ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ เป็นชาวบ้านนอกคันกั้นน้ำ แช่น้ำนานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ขณะที่ชาวบ้านในคันกั้นน้ำ ที่ทำนา, ทำธุรกิจ ฯลฯ น้ำกลับไม่ท่วม ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำ การมีเครือข่ายภาคประชาชน ที่ช่วยกันติดตาม กำกับเรื่องน้ำ และเก็บข้อมูลเพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการของคนที่อยู่กับน้ำ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ภาคประชาชนยังต้องทำงานต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำระหว่างประชาชน กับภาครัฐ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และลดผลกระทบ ความทุกข์ใจของคนรับน้ำได้มากที่สุด


”คนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ไม่ได้อยู่ในสมการพูดคุยเวลาพูดถึงคนที่ถูกน้ำท่วม เราพยายามต่อสู้เรียกร้อง เพราะไม่ได้ท่วมเพราะธรรมชาติ แต่เขาท่วมจากการจัดการของภาครัฐ ท่อรอด ประตูน้ำ เป็นการบริหารจัดการทั้งสิ้น ซึ่งสามารถบริหารได้เลย เช่น น้ำจากภาคเหนือ ผันน้ำไปทุ่งรับน้ำทางภาคเหนือได้ไหม ที่เขาต้องการใช้ประโยชน์ ไม่ใช่เอามากองที่อยุธยาอยางเดียว เพื่อไม่ให้เข้ากทม.”

คนกรุงเทพ รอดน้ำท่วมแล้วหรือยัง ?

แม้ว่าสถานการณ์ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะส่งผลต่อ ภาคกลางและกทม. โดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลหนุนปลายเดือนตุลาคมนี้ และต้องจับตาปริมาณน้ำฝนซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะสิ้นสุดภายในเดือนตุลาคมนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทุกครั้งที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ ยืนยันทุกครั้ง ว่า กทม.ยังไม่น่ากังวล โดยเฉพาะชุมชนที่อยูในแนวคันกั้นน้ำ แต่สำหรับชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ 16 ชุมชน ต้องเตรียมยกของขึ้นที่สูง ตรวจสอบปลั๊กไฟ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ เขตดุสิต เป็นหนึ่งใน 16 ชุมชนที่ ที่อยู่นอกคั้นกั้นน้ำ มีบ้านเรือนประมาณ 10 หลังคาเรือน ชาวบ้านที่นี่รับรู้ข่าวสารการแจ้งเตือนช่วงวันที่น้ำอาจล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนจากปัจจัยน้ำทะเลหนุนและการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา แต่ชาวบ้านยังคงไม่ยกข้าวของขึ้นที่สูง

“นิติ สถาพรนานนท์” บอกว่าครอบครัวอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยรุ่นทวด พวกเขาเป็นชาวชุมชนดั้งเดิม ที่ปลูกบ้านยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสร้างสะพานกรุงธน ครอบครัวนี้ยังไม่ตัดสินใจยกของขึ้นที่สูง แม้จะได้รับคำเตือน แม้เวลานี้แม่น้ำเจ้าพระยาก็เริ่มปริ่มถึงชานบ้าน เขาเฝ้าระวังระดับน้ำ โดยอาศัยตารางน้ำขึ้นน้ำลง ของกองทัพเรือ เฝ้าสังเกตการณ์ โดยเชื่อว่าหากพ้นเดือนตุลาคมไป จะไม่มีอะไรให้ต้องกังวล

“ปีนี้น้ำจะไม่มากเท่าปี 2565 สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ กับกรุงเทพฯ แตกต่างกัน เชื่อว่ายังพอมีเวลาให้สังเกตและบริหารจัดการได้”

เช่นเดียวกับอีกหลายชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังจนกว่าสถานการณ์จะผ่านพ้นช่วงการแจ้งเตือน พวกเขาเคยชินกับการรับมือน้ำท่วมบ้าน และหวังว่าระดับน้ำในปีนี้จะไม่สูงและท่วมนานจนเกินไป ซึ่งพอรับได้ในฐานะคนอยู่ริมน้ำ ขณะที่จังหวัด นนทบุรี ปุทุมธานี บางชุมชนก็เริ่มมีน้ำท่วมขัง แต่ไม่สูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และยังเฝ้าระวังติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เปิดเผย แนวโน้มสถานการณ์น้ำปีนี้ กรุงเทพมหานคร จับตาตั้งแต่ต้น แต่พอดูการคาดการณ์ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทร C 29 ก่อนเข้ากรุงเทพมหานคร ยังไม่ถึง 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่อาจทำให้เสี่ยง ขณะที่ปัจจุบัน(วันที่ 17 ต.ค. 2567) ที่สถานีบางไทร ระบายอยู่ที่ 1,270 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเมื่อ(16 ต.ค. 67) 1,326 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่กระทบมาก

แม้มีน้ำทะเลหนุนสูงกับน้ำเหนือก็เชื่อว่าไม่ทำให้ท่วมหนัก เพราะจะมีเพียงจุดเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ที่ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ส่วนน้ำฝนไม่มาก แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเพราะเตรียมเรื่องลอกท่อและความเสี่ยงแล้ว

ขณะที่ช่วงปลายเดือนตุลาคม มีคำเตือนน้ำทะเลหนุนสูง ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน อาจกระทบไม่มาก และคิดว่าฝนที่จะตกในพื้นที่ ช่วง 19-22 ตุลาคม อาจทำให้บางจุดท่วมขังรถสัญจรได้ไม่ถึงขั้นหนักเหมือนปี 2554 รวมถึงกทม.ยังมีการทบทวนอำนาจที่ กทม. มี เพื่อยกระดับการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติ

“ระดับน้ำในคลอง ประตู ยังต่ำกว่าที่เรากังวล ยังห่างอยู่เมตรกว่าๆ ซึ่งห่างจากระดับที่เรารับได้ ฝนยังมีบางพื้นที่ บางจุดอาจท่วมรอระบาย แต่ยังพอสัญญจรได้ ระบายให้รวมเร็วเพื่อไม่ให้กระทบ มั่นใจบริหารจัดการได้ ในระดับผลกระทบที่น่าจะไม่มาก เตรียมทุกอย่าง ด้วยความระมัดระวังให้กระทบสั้นที่สุด ค่อนข้างมั่นใจไม่เหมือนปี 54”

ลุ่มน้ำท่าจีนตอนล่าง เตรียมตัวรับมวลน้ำ


การลงพื้นที่สำรวจของทีมข่าว บริเวณสะพานแดง (สะพานวัดกลางบางแก้ว) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พบว่า ได้ดำเนินการติดตั้งแนวกันน้ำ (Big Bag) และเครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อป้องกันน้ำท่วมคลองบางแก้ว และเป็นประตูกั้นน้ำหนุนจากแม่น้ำท่าจีน เอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน และเส้นทางการจราจร รวมถึงพื้นที่การเกษตรริมคลอง

เดิมทีหากเป็นช่วงเวลานี้ของทุกปี ชาวชุมชนปากท่า ต.บางกระเบา อ.นครชัยศรี กว่า 20 หลังคาเรือน ต้องจมอยู่กับน้ำในระดับเข่า เพราะอยู่ในจุดพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำของ จ.นครปฐม แต่ในปีนี้คนที่อยู่ติดกับคลองบางแก้ว สังเกตว่า ระดับน้ำมีเอ่อล้นตลิ่งเป็นบางวัน ยังไม่กระทบกับวิถีชีวิตมากนัก

ประทีป เหลืองทองคำ กำนัน ต.บางกระเบา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม บอกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการร่วมมือของหลายภาคส่วนในจังหวัด ที่นำบทเรียนน้ำท่วมปี 2564 ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครปฐม, อ.สามพราน และ อ.นครชัยศรี ได้รับผลกระทบจมน้ำต่อเนื่องถึง 2 เดือน จึงมีการวางแผนรับมือประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งการป้องกัน แจ้งเตือน และอพยพกรณีฉุกเฉิน

สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำ 3 อำเภอ 24 ตำบล เป็นการวางแผนการบริหารจัดการน้ำขึ้นใหม่ โดยสำรวจเส้นทางน้ำผ่านตลอดระยะทาง 35 – 40 กิโลเมตร หาแนวทางลดผลกระทบทั้งในรูปแบบระบบปิด คือ จัดการภายในจังหวัด และระบบเปิด คือ จัดการน้ำข้ามจังหวัด โดยมี 3 หลักการสำคัญ

การพร่องน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ช่วง อ.สามพรานตอนล่าง ให้ไหลออกพื้นที่อ่าวไทยเพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ทางการเกษตร การจัดการจราจรน้ำ จัดสรรการกระจายตัวระบบคูคลอง และมีการพักชะลอน้ำ ลดปัญหาคอขวดจากพื้นที่ทางน้ำที่มีความคดเคี้ยว รวมถึง สะพาน ท่อลอดที่ต้องมีการวางระบบการผันน้ำที่มีประสิทธิภาพ ส่วนการระบายน้ำการสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังพื้นที่สำคัญ ต้องสอดรับกับการพร่องน้ำล่วงหน้า

ดังนั้นต้องมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำคงค้างในพื้นที่ปริมาณน้ำที่จะเข้ามาเติมทั้งน้ำฝน และน้ำจากจังหวัดอื่นเพื่อประเมินสถานการณ์ และจัดการน้ำให้ทันท่วงที ผ่านการจัดตั้งศูนย์ปฏิการณ์ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ประชุมหารือร่วมกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฤดูฝนเพื่อบริหารจัดการการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด 107 แห่งและสถานีสูบน้ำอีก 52 แห่ง ให้สอดรับกับสถานการณ์ รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่ยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐ ท้องถิ่น บริหารจัดการน้ำ เฝ้าระวังเตือนภัย เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันจากทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นความเข้มแข็งในการรับมือระดับชุมชน

อีกปัจจัยที่ทำให้ลุ่มแม่น้ำท่าจีนอาจจะไม่กระทบมากนักในปีนี้ เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำในรอบนี้ เป็นการผันน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่าผันลงฝังแม่น้ำท่าจีน มวลน้ำส่วนใหญ่จึงไม่ไหลผ่านจุดนี้ ขณะที่ปริมาณฝน และน้ำทะเลหนุนก็ยังเฝ้าระวังภายใต้การจัดการและแผนรับมือที่มีเตรียมพร้อมไว้แล้วในจุดเสี่ยงที่สำคัญ

ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ที่ทำให้วางใจได้ระดับหนึ่งว่าสิ้นหน้าฝนปีนี้พื้นที่ภาคกลางคงไม่ท่วมหนักอย่างที่เกิดความกังวลในช่วงก่อนหน้านี้ พร้อมเตรียมจับตาเฝ้าระวังไปยังพื้นที่ภาคใต้ที่คาดการณ์ว่าจะมีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์