คาร์บอนเครดิต สู่เป้าหมาย Net Zero ของไทย

โลกร้อนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า ถ้าช้ากว่านี้โลกอาจจะรวนเกินเยียวยา มีผลทำให้หลายประเทศต้องเร่งประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่เป้าหมายไม่ได้พูดแค่เอาเท่ สิ่งสำคัญคือกระบวนการที่จะพาไปถึง

The Active รวบรวมความเคลื่อนไหวทั้งกลไกภาครัฐ การกำกับควบคุม โอกาสในตลาดคาร์บอน ไปจนถึงแนวทางการประเมินคาร์บอนที่เริ่มได้ตั้งแต่ตัวเรา

ยกเครื่องกลไกรัฐ แก้ปัญหาโลกรวน

World Economic Forum และธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าข่ายเสี่ยงสูงจากวิกฤตภูมิอากาศ เนื่องจากมีพื้นที่ส่วนใหญ่พึ่งพาเกษตรกรรม มีแรงงานในภาคเกษตร 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรมีสัดส่วน 21% ในตะกร้าเงินเฟ้อไทย และเศรษฐกิจไทยยังขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศมีผลโดยตรงต่อภาคการเกษตร และทรัพยากรทางธรรมชาติ

หากทบทวนผลการประเมินความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ปี 2543-2562 เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 0.82% ของ GDP เป็นอันดับที่ 9 ของโลก ปี 2554 งบประมาณฟื้นฟูจากอุทกภัย 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 2563 เกิดภัยแล้งยาวนาน ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง 33% กระทั่ง ปี 2564 ยังเกิดน้ำท่วมภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้พื้นที่เกษตรเสียหายอย่างน้อย 6 แสนไร่

“อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นราว ๆ 1.5 องศา หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ด้านผลกระทบพบว่า ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 48 เซนติเมตร เกิดความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในแถบเมดิเตอเรเนียน ออสเตรเลีย บราซิล และเอเชีย ด้านอาหาร ประสบปัญหาการผลิต ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง ด้านพืชและสัตว์ พบว่า 9 ใน 10 ของแนวปะการังได้รับความเสี่ยงจากการถูกทำลาย ซึ่งหากว่าไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่ หรือหากอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่านี้ ผลกระทบจะรุนแรงมากขึ้น และอาจทำให้ครึ่งหนึ่งของพืชและสัตว์ท้องถิ่นสูญพันธุ์”

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ช่วงเวลานี้ภาครัฐจึงเร่งดำเนินการวางกลไกการจัดการในทุกระดับ เริ่มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังจะเปิดตัว ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกลาง ในการส่งเสริมสนับสนุน ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เช่น ข้อมูลการลดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้และสื่อสารข้อมูลองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ ที่มีการติดตาม พยากรณ์และคาดการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการแจ้งเตือน การแก้ไขปัญหา การรับมือ และการปรับตัวกับความเสี่ยงเชิงพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นฐานข้อมูลรัฐให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้

ขณะที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 สำหรับกรมนี้ มีพันธกิจในการบรรลุเป้าหมายชาติ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีบทบาทในการขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพเข้าถึงการเงิน เทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับทุกภาคส่วนและทุกระดับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

และเป็นการแสดงให้ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ได้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทย ในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 หรืออีก 42 ปี ดังที่ได้ประกาศไว้บนเวทีการประชุม COP27

นอกจากนี้ยังมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ…. เพื่อเป็นกลไกทางนิติบัญญัติในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเนื้อหาประกอบด้วย 8 หมวดสำคัญ 56 มาตรา ว่าด้วยเรื่องกฎระเบียบของคาร์บอนเครดิต พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต เพิ่มช่องทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก สร้างการตระหนักรู้ทุกภาคส่วนร่วมกัน และจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศใช้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ เรื่องภาคีคาร์บอนยังต้องผ่านกระทรวงการคลัง ในการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับผู้ที่ปล่อยคาร์บอนสูงและไม่มีแนวทางที่จะดูดซับคาร์บอนหรือไม่มีเครดิตคาร์บอนเพียงพอที่จะทดแทน จะเรียกว่า carbon tax ซึ่งคาดว่าจะสามารถกำหนดอัตราภาษี ภายในปี 2566

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า หลังจากนี้นโยบายของไทยและการดำเนินการของรัฐจะจริงจังกับการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ไทยจำเป็นที่จะต้องนำหลักการมาบรรจุผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับที่ 13 รวมไปถึงแผนการดำเนินงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและแนวทาง Net Zero ที่ไทยประกาศกับนานาชาติ ไว้ว่าภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 จากการดำเนินการตามปกติ จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืน) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

“สำหรับประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 จากการดำเนินการตามปกติ จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 การที่ประเทศเราแสดงเจตจำนงค์แบบนี้จะช่วยกระตุ้นเรื่องการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องกลับมาดำเนินการภายในประเทศของเราเอง สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะแรกคือร้อยละ 20-25 เราอาจจะทำได้ แต่ถ้าเราจะลดการปล่อยให้ได้มากกว่านั้น ก็อาจจะต้องอาศัยการสนับสนุนอนุเคราะห์จากประเทศอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน เทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่าน ขณะเดียวกันการจะเป็น Net Zero ได้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนเช่นกัน”

เกียรติชาย อธิบายว่า การประเมินผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบว่า ภาคส่วนใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปล่อยคาร์บอน หรือที่เรียกว่า รอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) เพื่อจัดทำเป็นรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเผยแพร่สู่เวทีโลกต่อหนึ่ง จากการเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ที่จัดขึ้นในทุกปี

“สำหรับประเทศไทย ผลการประเมินกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกครั้งล่าสุด ปี 2018 พบว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดกว่า 370 ล้านตัน และสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ 86 ล้านตัน เท่ากับว่าปล่อยสุทธิอยู่ราวๆ สองร้อยล้านกว่าๆ ซึ่งต้องเอาเรื่องนี้ไปรายงานต่อที่ประชุมนานาชาติว่าแต่ละปีแต่ละประเทศนั้นปล่อยคาร์บอนกันเท่าไหร่บ้าง ตอนนี้ไทยอยู่ในลำดับที่ราว ๆ 19-20 จากทั่วโลก แต่เราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในระดับ 9 ของโลก เพราะภูมิศาสตร์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่มีความอ่อนไหวสูง สำหรับในประเทศเราก็พยายามส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีการวางแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนทุกระดับ”

สำหรับศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนในของไทย มาจากป่าชายเลน ป่าธรรมชาติ ป่าในเมือง มีการประเมินว่าหากได้รับการฟื้นฟู และเติมพื้นที่ป่าต่างๆ เข้าไปอีก จะสามารถดูดซับได้สูงสุด 120 ล้านตันคาร์บอน ขณะเดียวกันก็ต้องไปลดการปล่อยคาร์บอนจากต้นทางด้วย ทั้งเรื่องของพลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรม และภาคการเกษตร

“ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็ได้มีข้อกำหนดแล้วว่าแต่ละองค์กรที่ขึ้นทะเบียนจะต้องทำรายงานการปล่อยคาร์บอน ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนภายในหน่วยงานแต่ละแห่งด้วย แม้แต่การขายของจะต้องมีการประเมินว่ากว่าจะผลิตออกมามีต้นทุนทางทรัพยากรอย่างไร ปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ หรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะต้องรายงานเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งหมดนี้ อบก. จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการประเมิน”

คาร์บอนเครดิต คืออะไร?

“คาร์บอนเครดิต” คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด หรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น การนำไปปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงาน การนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ ต่างๆ

เกียรติชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาคาร์บอนเครดิต มีจุดเริ่มต้นจากการตื่นตัวในการสร้างสมดุลให้ชั้นบรรยากาศของโลกของนานาประเทศผ่านพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ในปี 1997 ให้ประเทศพัฒนาแล้ว 37 ประเทศ (Annex 1) จะต้องลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกลง โดยจะมีการออกกฎหมายกำหนดระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี และเริ่มใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ที่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกเกินระดับที่กำหนด ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ร่วมลงนามรวมถึงประเทศไทยจะต้องใช้ความพยายามในการลดก๊าชเรือนกระจก

ต่อมาในการประชุมที่กรุงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 นานาชาติได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มก่อนยุคก่อนอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียล และยังกำหนดหลักการซื้อขายก๊าชเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) โดยอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ หรือ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งหลักการนี้ เป็นจุดกำเนิดของการประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) จำนวน 1 ตัน เป็นตัวเงินเพื่อซื้อขายระหว่างบริษัท จนเกิดเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั่วโลก

การเปิดให้มีการซื้อขายหรือมีตลาดคาร์บอนเครดิตช่วยทำให้ต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกของอุตสาหกรรมลดลง เพราะโรงงานแต่ละแห่งมีต้นทุนในการลดก๊าชเรือนกระจกไม่เท่ากัน แทนที่จะให้โรงงานทุกแห่งลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น ก็ให้โรงงานที่มีต้นทุนต่ำทำหน้าที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกในปริมาณสูง และนำคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นไปขายให้กับโรงงานที่มีต้นทุนสูง ทำให้ปริมาณก๊าชเรือนกระจกในภาพรวมลดลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำลง 

ซึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การซื้อขายแบบที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย (Mandatory Basis) ซึ่งมักจะเกิดในประเทศพัฒนาแล้วที่ลงนามในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารโตเกียว เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยประเทศเหล่านี้จะมีข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมักจะมีการอนุญาตให้ผู้ซื้อสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ซื้อมาหักล้างกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนปล่อยออกไป เพื่อทำให้โดยรวมแล้วระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้

ปัจจุบันมีตลาดกลางหรือตลาดอนุพันธ์หลายแห่งที่เปิดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เช่น ตลาดอนุพันธ์ ICE (International Continental Exchange), ตลาด Nasdaq และตลาด EEX (European Energy Exchange) สำหรับซื้อขายอีกลักษณะหนึ่งอยู่ในรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) คือ ไม่ได้จัดขึ้นภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย แต่เกิดขึ้นตามความสมัครใจของผู้ซื้อและผู้ขาย

สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดตั้ง “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดทำมาตรฐานการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เชิญชวนให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกเข้ามาขึ้นทะเบียน รวมทั้งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง

นอกจากนี้ องค์กรและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กลุ่ม ปตท. ฯลฯ เล็งเห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและให้ความสนใจกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น โดยมีการนำโรงงานที่ใช้พลังงานสีเขียวไปขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานคาร์บอนเครดิต และมีการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนและระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตของตนเอง แต่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังเป็นการซื้อขายโดยสมัครใจ การซื้อขายจึงจำกัดอยู่ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ (B2B)

ตลาดคาร์บอนในไทย

ปัจจุบัน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้จัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ Thailand Carbon Neutral Network เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคท้องถิ่น/ชุมชน ในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันประกอบด้วยองค์กรผู้ริเริ่มด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก 460 องค์กร องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก 91 องค์กร และองค์กรผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ทั้งหมด 4 องค์กร ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ แนวทางการดำเนินงาน และการประกาศเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัลในระดับองค์กรและสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรับรองและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายในประเทศภายใต้เครือข่ายฯ

“คนที่ทำธุรกิจแล้วการปล่อยคาร์บอนน้อยก็จะได้เครดิต คนที่เปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์ดีเซลเป็นไฟฟ้า คนที่เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มป่า คนที่หาวิธีการดูดซับคาร์บอนได้จะมีเครดิต ซึ่งเอามาขายให้กับคนที่ไม่สามารถจะลดการปล่อยคาร์บอนได้ แปลว่าบริษัทต่างๆ จะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะถูกกดดันมากขึ้นจากผู้ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ที่จะมาซื้อของ ผู้ที่จะส่งออก ผู้ที่จะมาท่องเที่ยว จัดประชุมสัมมนา จะต้องทำรายงานเรื่องนี้หมดเลย และจะต้องมีแนวทางที่จะชดเชยคาร์บอนของตัวเองด้วย เพื่อบอกฉันมีส่วน ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสของคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน ธุรกิจหมุนเวียน จะเป็นโอกาสใหม่ในการลงทุน นอกจากจะได้รายได้จากธุรกิจยังได้เครดิตสูงสุด”

เกียรติชาย กล่าวว่า ปัจจุบัน อบก. มีการจัดทำมาตรฐาน ที่ชื่อ T-VER มีชื่อเต็มว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เรียกย่อว่า T-VER (อ่านว่า ที-เวอ) ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้วยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลายหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

โดย อบก. จะเป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากโครงการ T-VER โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ จะเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งสามารถนำไปใช้รายงาน ใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล การจัดงานอีเว้นท์ และจากการผลิตผลิตภัณฑ์ ได้

ยกตัวอย่างเช่น คาร์บอนเครดิตจากกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่ใช้ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วที่มีพันธกรณีต้องลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโตกับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไก CDM คาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ที่ TGO ให้การรับรอง เป็นต้น

“ปัจจุบันมี 350 โปรเจกต์ ขึ้นทะเบียนการขายคาร์บอนเครดิตกับ T-VER และมี 146 โปรเจคส์ ที่ได้รับการรับรองทะเบียนขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ตามมาตรฐาน Measurable, Reportable and Verifiable (MRV) ผ่านบอร์ดเรา ซึ่งใบรับรองนี้สามารถเปลี่ยนมือได้ ซื้อขายได้ เหมือนโฉนด และสามารถซื้อขายโดยกำหนดราคากันเอง ซึ่งเรากำลังพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะซื้อขายได้สะดวก กำลังทำข้อตกลงกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการเสนอซื้อ-ขาย รวมไปถึงการจัดทำมาตรฐาน T-VER standart เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับประเทศด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ต้องติดตามคือ มาตรฐาน CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU”

เกียรติชาย ย้ำว่า องค์กร หน่วยงาน หรือภาคธุรกิจการค้าต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการวัดค่าการปล่อยคาร์บอนของตัวเองด้วยมาตรฐานโลก ต้องมีการจัดทำรายงาน หากปล่อยคาร์บอนเกินก็ต้องซื้อเครดิต เพราะถ้าไม่มีคาร์บอนเครดิตมาช่วยก็จะดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ได้ แปลว่าตลาดคาร์บอนก็จะเติบโตขึ้น เพราะก็ต้องมีโปรเจคส์ในตลาดคาร์บอนมาให้ซื้อ และต้องมีโปรเจคส์ที่หลากหลายมาให้เลือก ราคาที่ไม่เท่ากัน มาตรฐานที่ต่างกัน

“ความสำคัญของตลาดคาร์บอนจะมีมากขึ้น จากที่เป็นภาคสมัครใจเฉยๆ จะต้องกลายเป็น business model เพราะถ้าไม่ทำ แบงค์จะไม่ให้กู้ นักลงทุนไม่ร่วมด้วย และมีต้นทุนรุมเร้าเต็มไปหมดหากยังนิ่งเฉยต่อการปล่อยคาร์บอน และถ้ามีแผนระยะยาวในการลดคาร์บอนลงเรื่อยๆ ก็จะดูดี นี่คือการอยู่รอดของการทำธุรกิจ ต่อนักลงทุน ต่อผู้ให้กู้ ต่อผู้ซื้อ ถ้าปล่อยเยอะก็อาจจะโดนค่าปรับได้ ตอนนี้ถ้าสายการบินจะบินได้ต้องมีเครดิตมาชดเชยเช่นกัน”

กระบวนการติดตามคาร์บอนฟุตพริ้นท์

ศ.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การคำนวนปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะเป็นคำตอบที่ทำให้ทราบว่าใครปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ อยู่ในกระบวนไหนบ้าง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ

  1. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของมนุษย์ (Daily activity) คือ ปริมาณรวมของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การเดินทาง การใช้พลังงาน และรับประทานอาหาร ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น
  2. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products: CFP) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลิดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต/การประกอบชิ้นงาน การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน รวมถึงการขนส่งที่เกี่ยวข้อง
  3. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยและดูดกลับจากกิจกรรมขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนสถานที่ทำงาน โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
  4. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศ (Country) คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ ซึ่งจะมีการคำนวณว่าแต่ละประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากหรือน้อยเพียงใด

Carbon Footprint = Activity data X Emission Factor

Activity data คือ ข้อมูลกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ ที่มีหน่วยวัดชัดเจน Emission Factor คือ ค่าสัมประสิทธิ์การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือค่าคงที่ที่ใช้เปลี่ยน Activity data ให้เป็นค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ชวนทุกคนมาชวนกันดูว่าแต่ละวันปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ โดยปกติจะอยู่ราวๆ 15 กิโลคาร์บอนต่อวัน สำหรับคนเมือง 40-50 กิโลคาร์บอนต่อวัน อาจจะเริ่มจากการวัดเรา จากนั้นประเมินที่ผลิตภัณฑ์ ถ้าของคุณภาพเดียวกัน ราคาพอๆ กัน แต่เราอาจจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า แปลว่าการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า”

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่เริ่มได้จากตัวเรา บ้านของเรา หน่วยงานของเรา องค์กรของเรา และจะนำไปสู่ประเทศของเรา ซึ่งถ้ากลับมาถามว่าอีกไกลแค่ไหนจึงจะใกล้เป้าหมาย net zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยระยะเวลาก็อีกกว่า 40 ปี แต่ถ้าถามเชิงปฏิบัติก็ยังไม่ใกล้อยู่ดี แต่ถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาล พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โลกร้อน หน่วยงานองคาพยพต่างๆ ขับเคลื่อน ทั้งศูนย์การเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรฐานต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ก็คงจะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้น และยิ่งทำได้เร็ว ทำได้ไวเท่าไหร่ ก็จะเป็นโอกาสในเวทีโลกเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์