แก้รถติดกรุงเทพฯ ไม่ได้ ! หากไม่ทำให้รถเมล์น่าขึ้น

115 ปี ของการให้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ เดิมเคยมีสถานะเป็นขนส่งมวลชนหลัก แต่วันนี้ถูกนิยามว่าเป็นขนส่งมวลชนรอง และให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนหลักแทน ดังนั้นการส่งเสริมขนส่งมวลชนจะไม่สำเร็จ หากไม่ทำให้คนอยากขึ้นรถเมล์เป็นอันดับแรก อย่างไรเสียหากเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้า ทั้งในแง่ราคาและเส้นทางการวิ่ง รถเมล์ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดี ทั้งถูกกว่า และครอบคลุมเส้นทางมากกว่า

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมรถเมล์ถึงสภาพเก่า มาก็ช้ารอนาน ขึ้นไปแล้วก็ยังหาที่นั่งยาก ?

ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับนโยบายการบริหารจัดการรถเมล์ แม้ว่าวันนี้ขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ อย่างรถเมล์จะอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลกลาง แต่แผนพัฒนากรุงเทพฯ ก็มีส่วนกำหนดความเป็นไปของรถเมล์ไม่ใช่น้อย 

เห็นได้ชัดเจนจากแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) แม้จะมีแผนปฏิรูปเส้นทางและคุณภาพรถเมล์ แต่ระบุให้รถไฟฟ้ากลายมาเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่งมวลชนหลักที่กรุงเทพฯ ให้การสนับสนุนมากกว่า และรถเมล์กลายเป็นขนส่งมวลชนรอง มีผลทำให้สายรถเมล์ค่อยๆ หายไปทีละสาย มีระยะทางที่ลดลง และประชาชนที่ใช้บริการมีตัวเลือกการเดินทางที่น้อยลง สวนทางกับค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น

Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลสายรถเมล์ในกรุงเทพฯ ทั้งของ ขสมก. และของผู้ประกอบการเอกชน จากเว็บไซต์ของ ขสมก. ไทยสมายล์บัส สมาร์ทบัส และเว็บไซต์ Bangkok Transit รวมทั้งหมด 226 สาย พบว่า เขตที่มีสายรถเมล์ผ่านมากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ ราชเทวี (64 สาย) รองลงมาคือ พระนคร (58 สาย) จตุจักร (57 สาย) ตามด้วยพญาไท (47 สาย) และ ปทุมวัน (46 สาย) ไม่แปลกที่ส่วนใหญ่เป็นเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยห้างร้านและสถานประกอบการต่างๆ

ส่วนเขตที่มีจำนวนสายรถเมล์ผ่านน้อยที่สุด คือ คลองสามวา 2 สาย ทุ่งครุ ลาดกระบัง ลาดพร้าว และหนองจอก 3 สาย โดยทั้ง 5 เขต อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลางและชั้นนอก 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้เขตเหล่านี้อาจไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจ หรือมีการเคลื่อนตัวของแรงงานจำนวนมากในทุกวัน แต่ก็มีประชากรอาศัยมากกว่า 100,000 คน ในทุกเขต ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเขตอื่นๆ ในกรุงเทพฯ 

ยกตัวอย่าง เขตคลองสามวา มีประชากร 2 แสนกว่าคน มีรถเมล์แค่ 2 สาย เท่ากับ 1 สาย รองรับประชากรกว่าแสนคน แล้วรถไฟฟ้าที่ว่าจะให้เป็นขนส่งมวลชนหลักไปถึงแค่ไหน ก็ยังไม่มี คนแถวนั้นก็ต้องอาศัยรถยนต์ส่วนตัวเป็นที่พึ่ง เห็นได้ชัดว่า รถเมล์ ที่เรียกว่าขนส่งมวลชน แต่มีมวลชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึง และไม่ได้รับการบริการตรงนี้

ขณะที่ สวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเดือนธันวาคม 2564 พบว่าประเด็นที่คนกรุงเทพฯ อยากให้พัฒนาอย่างเร่งด่วน มากถึง 85.14% คือ ‘แก้ปัญหาการจราจร ระบบขนส่งสาธารณะ’ แต่คงจะทำได้ยาก หากไม่มีการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนให้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น

“เราจะใช้รถเมล์สนับสนุนรถไฟฟ้า แต่เมื่อก้าวออกจากบ้านแล้ว คนไม่เชื่อในระบบรถเมล์ว่าจะทำให้ไปทันเวลาที่เหมาะสม หรือถ้าค่าขนส่งมวลชนโดยเฉลี่ยแล้วยังแพงหรือพอๆ กับการใช้รถยนต์ส่วนตัว คนก็จะอยากใช้รถยนต์ส่วนตัวอยู่ดี ไม่มีใครอยากใช้รถเมล์อายุ 30 ปี บันไดพื้นไม้เก่าพัง ถ้าการเปลี่ยนรถดีกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

วริทธิ์ธร สุขสบาย ตัวแทนกลุ่ม ‘เมล์เดย์’

แล้วตอนนี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใดที่นโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง…

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8 บอกว่า จะทำให้รถเมล์ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้นทั้งสายหลักและสายรอง / โดยใช้รถเมล์ใหม่ ชานต่ำ ปรับอากาศ ควันไม่ดำ และมีมี GPS เช็กตำแหน่งรถได้

เช่นเดียว กับวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1 ระบุว่าจะยกระดับรถเมล์ ปรับปรุงคุณภาพรถเมล์ เพิ่มเส้นทางเดินรถเมล์ให้ผ่านชุมชน เพื่อคนทุกกลุ่ม และส่งเสริมเศรษฐกิจตามเส้นทางเดินรถเพื่อกระจายรายได้ตามรายทาง

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 ระบุ เชื่อมโยงการสัญจร รถ ราง เรือ คล้ายๆ กับ สกนธี ภัททิยะกุล เบอร์ 3 ที่จะเชื่อมโยงระบบ ล้อ ราง เรือ เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะหลัก ให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากที่จะทบทวนแล้วว่าหลังจากที่ผู้ว่าฯ สมัยหน้าเริ่มทำงาน จะทำตามนโยบายที่บอกไว้หรือไม่ อาจจะต้องมองไปถึงคำใหญ่ว่าปฏิรูปการเดินรถเมล์ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือกลไกการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้ายิ่งทำให้การเดินรถมาดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นโอกาสของการแก้ปัญหารถติด และยังรวมถึงการลดฝุ่นควันจากการใช้รถในเมืองด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้