“เด็กหนุ่มผู้ปรากฏตัวพร้อมหมุดใหม่” | พลวัตการเคลื่อนไหว 2563

เด็กคนนี้เป็นใคร? อาจเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของใครหลายคน ตั้งแต่วันแรกที่ได้เห็นเขาปรากฏตัว พร้อม “หมุดคณะราษฎร 2563”

แม้เป็นเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่หมุดทองเหลืองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 11 นิ้ว ถูกฝังบนพื้นซีเมนต์ของท้องสนามหลวง ก่อนจะถูกนำออกไปหลังจบการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังมีเจ้าหน้าที่เข้าไปปิดล้อมพื้นที่บริเวณจุดปักหมุด แต่ภาพของเยาวชนผู้ถือหมุดคณะราษฎรหมุดที่สอง ยังถูกบันทึกไว้ และยังพบเห็นเขาอีกหลายครั้งในการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ๆ ที่จัดโดยแนวร่วมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “ราษฎร 2563”

จากวันที่ 19 – 20 ก.ย. ผ่านไปไม่ถึง 3 เดือน เขากลายเป็น ผู้ต้องหา ตามหมายเรียกของสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จากการร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อ 15 ต.ค. 2563

The Active คุยกับ “ภูมิ” คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ จากกลุ่มนักเรียนไท ว่าเขามองเห็นอะไรบนถนนที่ร่วมเคลื่อนไหวตลอดปี 2563

เยาวชนผู้ถือหมุดคณะราษฎร 2563

การถือหมุดคณะราษฎร 2563 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ภูมิ” ทำกิจกรรมทางการเมือง?

กลางปีที่แล้ว (2562) ได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านการศึกษาร่วมกับ “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” ตอนนั้นมีการรณรงค์หลายเรื่อง เช่น เรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน เปลี่ยนหลักสูตรการสอนในโรงเรียน กิจกรรมการแสดงออกด้วยศิลปะเพื่อประท้วงกฎระเบียบในโรงเรียน รวมทั้งการรวบรวมรายชื่อนักเรียนทั่วประเทศ เพื่อยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้เพิกถอนระเบียบทรงผม เพราะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

กลายมาเป็นคนถือหมุดคณะราษฎร 2563 ได้อย่างไร

พอทำกิจกรรมด้านการศึกษามาเรื่อย ๆ ไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงฯ หลายครั้ง ก็เริ่มเห็นว่าปัญหามันอยู่ที่การเมือง อยู่ที่รัฐบาล คิดว่าถ้าแก้ที่การเมืองได้ ก็จะทำให้ปัญหามันหมดไป ก็เลยคิดว่าถ้ามัวแต่ประท้วงแค่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่ระบบ ก็เลยเปลี่ยนไปพุ่งเป้าที่รัฐบาล เพราะถ้ายังอยู่แค่ที่กระทรวงศึกษาธิการ โอกาสที่จะทำให้กระทรวงฯ ยอมเปลี่ยนมันน้อยมาก แต่ก่อนเวทีสนามหลวง (19 – 20 ก.ย. 2563) ก็ไปร่วมชุมนุมเวทีย่อย ๆ มาก่อน

ส่วนที่กลายเป็นคนถือหมุดคณะราษฎร 2563 เพราะวันนั้นเป็นนักเรียนคนเดียวที่ช่วยงานอยู่หลังเวที ตอนที่พี่ ๆ ให้เป็นคนถือหมุด ก็ตกลงช่วยโดยไม่ได้คิดอะไร คือ ตอนนั้นพี่ ๆ ต้องการให้มีนักเรียนในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่แท้จริง เพราะนักศึกษาก็ยังไม่ใช่ พี่ ๆ ต้องการสื่อสารว่าการปักหมุดเป็นเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ของประชาชน

คิดว่าตัวเองเด็กไปไหม กับทำกิจกรรมทางการเมือง

ไม่ เพราะการเรียกร้องมันเป็นเรื่องของทุกคนที่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ สามารถออกมาเป็นแกนนำเองได้ เพราะปัญหาทุกอย่างในสังคมเป็นปัญหาที่ทุกคนเจออยู่แล้ว ทุกคนสามารถออกมาเคลื่อนไหว จึงคิดว่าไม่เด็กเกินไป

ส่วนที่ผู่ใหญ่บอกว่า เด็กจะรู้เรื่องอะไร คิดว่าเป็นเพียงวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้เด็กออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เหมือนที่สังคมไทยยังมีความคิดว่า เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ซึ่งคิดว่าเป็นความคิดที่ค่อนข้างเก่า เพราะจริง ๆ แล้ว เด็กทุกคนรู้เรื่อง และสามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ รู้เรื่องการเมืองได้

ความรุนแรงจากรัฐ เมื่อเด็กออกไปม็อบ

ภูมิอยู่ในวันสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันด้วย (16 ต.ค.) ตกใจไหมที่รัฐตัดสินใจใช้วิธีสลายการชุมนุม ทั้งที่มีเด็ก ๆ รุ่นเดียวกันเยอะมาก

ค่อนข้างตกใจ ตอนนั้นกำลังปราศรัยเรื่องการชุมนุมเสื้อแดงที่เคยโดนสลายการชุมนุมและได้พูดชื่อคนเสื้อแดงที่โดนยิงตาย ตอนที่กำลังพูด ก็โดนฉีดน้ำจนแสบตา แต่ไม่โดนน้ำสีฟ้า

ไม่คิดว่ารัฐจะใช้วิธีการสลายการชุมนุมกับคนที่กำลังชุมนุมอย่างสันติ และวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเยาวชน เพราะจัดม็อบที่สยาม มีรถไฟฟ้า อยู่ใกล้โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ก็เลยมีเด็กนักเรียนไปร่วมม็อบเยอะมาก คิดว่ารัฐก็น่าจะรู้ว่าส่วนใหญ่ในม็อบเป็นเยาวชน แต่เขาคงไม่สนใจ และวันนั้นไม่มีใครเตรียมตัวที่จะมาโดนสลายการชุมนุม ก็เลยเละมาก

พอเริ่มมีการฉีดน้ำ ก็พยายามบอกผู้ชุมนุมไม่ให้วิ่งฝ่าเข้าไป เพราะทุกคนเหมือนตกใจและจะวิ่งไปทางสี่แยก ก็เลยพยายามพูดอยู่บนรถไม่ให้คนวิ่งไป พูดอยู่สักระยะ ก็ลงไปช่วยเก็บของหลังเวที แล้วก็เดินออกไปกับทีมงานและพาผู้ชุมนุมเข้าไปด้านในจุฬาฯ และหลบอยู่ในนั้นจนเหตุการณ์คลี่คลาย เป็นครั้งแรกที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็ตกใจพอสมควร แต่ต้องคุมสติกันให้ได้

ส่วนวันที่มีการสลายการชุมนุมที่เกียกกาย (17 พ.ย.) ไปร่วมด้วย แต่ไปถึงช่วงท้าย ๆ สถานการณ์แล้ว ก็รู้สึกว่าโดนแก๊สน้ำตาอยู่บ้าง แม้ไม่เยอะมาก แต่ไม่ตกใจแล้ว และไม่คิดว่าเขาจะใช้แก๊สน้ำตามากขนาดนั้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล (เช้ามืดวันที่ 15 ต.ค.) วันนั้น รู้ว่าจะมีการสลายการชุมนุม เลยกลับก่อนตอนประมาณตีสาม พี่ ๆ ให้แกนนำและทีมงานกลับออกไปก่อน ก็เลยเดินออกไปก่อน ซึ่งวันนั้นก็ไม่คิดว่ารัฐจะเอาจริงเหมือนกัน

ในความรู้สึก ถ้าเทียบอาวุธคิดว่าเหตุการณ์ที่เกียกกายมีการใช้อาวุธที่รุนแรงกว่า แต่วันนั้นผู้ชุมนุมเตรียมมาอย่างดี มีการ์ดมาคอยดูแลเต็มที่ ต่างกับเหตุการณ์ที่สี่แยกปทุมวันที่ทุกคนไม่ได้เตรียมตัว เลยคิดว่าถ้าเทียบกันแล้ว เหตุการณ์ที่สี่แยกปทุมวันมีความรุนแรงมากกว่า เพราะไม่ได้เตรียมตัวกันมา และไม่มีใครคิดว่ารัฐจะใช้วิธีการแบบนี้

การโดนคดีจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลกระทบต่อชีวิตนักเรียน?

ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตนักเรียน จะมีเรื่องการเสียเวลา เพราะต้องไปขึ้นศาล ไปโรงพัก ต้องเสียเวลาไปทั้งวัน

กังวลอนาคตไหม ที่ต้องถูกบันทึกว่า เคยมีคดีติดตัว และเป็นคดีการเมืองด้วย

ตอนแรกก็กังวลอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ไม่กังวลแล้ว ด้วยความที่เป็นคดีการเมือง ที่เรายืนยันว่าเราไม่ผิด แต่เป็นรัฐต่างหากที่พยายามใช้ข้อหาต่อประชาชน ทั้งที่เป็นการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ เป็นรัฐที่พยายามดำเนินคดีต่อประชาชน และถ้าในอนาคตมีผลต่อการทำงาน ก็คิดว่าปัญหาน่าจะเป็นปัญหาที่คนจ้างงานมากกว่าที่คิดแบบนั้น

ย้อนมองม็อบนักเรียน

คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเคลื่อนไหวของม็อบนักเรียน “จุดติด”

จริง ๆ ก่อนหน้าขบวนนักเรียน ก็มีกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทที่พยายามทำขบวนนักเรียนมาก่อน แต่ที่เกิดเป็นภาพใหญ่ในช่วงกลางปีนี้ เริ่มต้นจากที่เกิดกระแสแฟลชม็อบมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นักเรียนหลายกลุ่มก็เลยคิดว่าอยากทำบ้าง คิดว่านักเรียนควรจะมีม็อบบ้าง ก็เลยไปจัดม็อบกันเองในโรงเรียน ก็เลยเกิดเป็นกระแสขึ้นจากนักเรียนจากแต่ละโรงเรียนทำม็อบกันแบบแพร่หลาย จนทำให้กระแสนักเรียนจุดติด พอออกมาม็อบบนถนน ก็เลยยิ่งจุดติด เพราะเป็นการเคลื่อนไหวทั่วประเทศ

เวลามีม็อบใหญ่ คิดว่าอะไรเป็นจุดเชื่อมให้แต่ละกลุ่มมารวมกันได้

จุดเชื่อม คือ ทุกคนอยากให้ประเทศดีกว่านี้ แม้นักเรียนแต่ละกลุ่มจะมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน แต่ประเด็นที่ร่วมกัน คือ ทุกคนอยากเห็นสังคมไทยดีกว่านี้ ซึ่งกลุ่มนักเรียนส่วนใหญ่ก็จะยึดตาม 3 ข้อเรียกร้องของพี่ระดับมหาวิทยาลัย

ถ้าเฉพาะข้อเรียกร้องของนักเรียน มีข้อไหนที่คืบหน้าบ้าง แล้วที่ไม่คืบหน้า คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญ

มีคืบหน้าบ้างตรงที่กระทรวงศึกษาธิการก็มีทีท่าในการรับฟังนักเรียนมากขึ้น แต่ก็แค่รับฟัง ไม่ได้เอาไปปฏิบัติจริง ไม่ได้แก้ไขจริง

แต่ก็มีข้าราชการกระทรวงฯ บางคน ค่อนข้างจะเห็นด้วยที่ต้องแก้ไขกฎระเบียบ แต่พอปัญหามันอยู่ที่ระบบ ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับเล็ก ไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้ารัฐมนตรีหรือผู้บริหารไม่ฟัง เจ้าหน้าที่ระดับล่าง แม้จะเห็นด้วยกับนักเรียน แต่เขาก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ อุปสรรคมันเลยอยู่ที่ระบบ

กับท่าทีตอบรับของ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ?

ไม่โอเค เพราะเขาไม่ตอบรับข้อเรียกร้องนักเรียน

การที่ม็อบนักเรียนปีนี้จุดติดขึ้นมาแล้ว คิดว่าจะมีผลต่อปี 2564 ไหม

จากท่าทีของรัฐบาล คิดว่าก็ต้องเรียกร้องให้หนักขึ้น แต่ถ้าโควิด-19 ยังแรงอยู่ ก็คงจะทำม็อบเหมือนเดิมไม่ได้ แม้เราจะใส่หน้ากากป้องกัน แต่มันก็ระบาดได้อยู่ดี และความชอบธรรมของม็อบก็จะไม่มี อาจต้องคิดรูปแบบการประท้วงแบบใหม่แทน

มุมมองต่อปัญหาการศึกษาไทย

ภูมิเคยบอกว่า ปัญหาการบังคับแต่งกาย และการลงโทษนักเรียนด้วยวิธีรุนแรง มาจากระบบอำนาจนิยม เกี่ยวกันอย่างไร

มาจากความคิดของสังคมไทยที่ว่า เด็กต้องฟังผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ถูกเสมอ อย่างสุภาษิตที่ว่า เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด หรือผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน ซึ่งความคิดแบบนี้ฝังรากลึกมานาน มีความคิดว่าผู้ใหญ่ต้องสั่งสอนเด็ก ดังนั้น การที่ครูตีเด็ก ก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว อำนาจนิยมคือ ครูใช้อำนาจกับเด็กได้ สังคมไทยยังไม่ค่อยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

ภูมิเคยปราศรัยเรื่องเหตุการณ์กรณีตากใบ จ.นราธิวาส ตอนนั้นทำไมถึงสนใจประเด็นนี้ แล้วหาข้อมูลจากไหน

ก็อ่านตามหนังสือ บทความ หรือเว็บไซต์ แต่ห้องเรียนไม่เคยสอน โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตากใบ (25 ต.ค.2547) เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง เลยพูดเรื่องนี้เพราะต้องการให้คนไม่ลืมว่า รัฐไทยเคยใช้ความรุนแรงกับคนที่นั่น ที่สนใจเรื่องนี้เพราะเคยอ่านเจอในหนังสือ ก็เลยสนใจมาตลอด

เวลาอ่านก็จะอ่านข้อมูลทั้ง 2 ฝั่ง แล้วเอามาวิเคราะห์ว่าข้อมูลแต่ละฝั่งเป็นอย่างไร ข้อมูลไหนถูกต้องหรือน่าเชื่อถือ ซึ่งทั้งเรื่องตากใบหรือเหตุการณ์ความรุนแรงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (6 ต.ค. 2519) ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน คือไม่ว่าจะเป็นอย่างไร รัฐก็ไม่ควรเอาปืนไปยิงประชาชน

แล้วคิดว่าเพราะอะไรเรื่องพวกนี้ถึงไม่อยู่ในตำราเรียน

คิดว่ามีความพยายามที่จะให้เชื่อแต่ข้อมูลที่รัฐต้องการให้เชื่อ ก็เลยให้ข้อมูลด้านเดียว เป็นปัญหาที่ระบบ

ถ้าจะปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาอย่างยั่งยืน เข้าใจว่าอย่างไร

เข้าใจว่าการปฏิรูป คือ การทำให้ดีขึ้น และเห็นว่าการศึกษาไทยควรต้องปฏิรูปจริง ๆ เพราะยังมีกฎระเบียบเก่า ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก ยังมีการเรียนการสอนที่ไม่ได้ทำให้เด็กสามารถเอาไปใช้ได้จริงในอนาคต และโรงเรียนแทนที่จะพื้นที่จำลองการใช้ชีวิตในสังคมจริง กลับทำให้เด็กไปอยู่ในสังคมที่ไม่มีสิทธิและเสรีภาพ

ปัญหาครูก็ต้องแก้เพราะเงินเดือนครูน้อยมาก ไม่ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตในสังคม และควรจะทำให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีการศึกษาที่ดีขึ้นกว่านี้ เพราะก็ส่งผลให้นักเรียนต่างจังหวัดต้องย้ายมาเรียนกรุงเทพฯ หรือนักเรียนที่อยู่ในจังหวัดเล็ก ๆ ต้องย้ายมาเรียนในเมืองใหญ่ ทำให้เด็กไม่ได้อยู่บ้าน เรื่องการสอนก็ต้องปฏิรูป เพราะการศึกษาไทยสอนให้เด็กไม่ได้คิด ให้เด็กเรียนแค่เพื่อไปสอบ

ความรู้สึกของเด็กวัย 16 เมื่อไปม็อบ

ในการไปชุมนุมแต่ละครั้ง ถ้ามองด้วยความรู้สึก ภูมิเห็นอะไรในนั้นบ้าง

เห็นความรู้สึกของคนที่ชุมนุมว่าสังคมไทยยังไม่ไปไหน ยังมีกฎระเบียบที่ไม่ตอบสนอง ทั้งที่ประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดีมาก แต่เพราะยังมีทุนผูกขาด เลยอยากให้ประเทศมันดีขึ้น ต้องการอยู่ในประเทศที่ดีกว่านี้ ก็เลยออกไปประท้วง เพื่อทำให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในประเทศยอมรับข้อเรียกร้อง

สิ่งที่ประทับใจในม็อบ

ประทับใจที่เห็นคนในม็อบมีน้ำใจ เป็นพื้นที่ที่ทำให้แต่ละคนสามารถแสดงความคิดของตัวเองได้เต็มที่ เพราะในม็อบไม่ได้มีแค่ 3 ข้อเรียกร้อง แต่ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น การศึกษา คนพิการ ธุรกิจ ศาสนา ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิเสรีภาพ

คิดว่าม็อบเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนสามารถแสดงข้อเรียกร้องของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็สะท้อนว่าประเทศนี้มีปัญหามาก แม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชนก็ยังไม่มี เลยทำให้คนออกมาเรียกร้องเยอะมาก แต่ผู้มีอำนาจก็ยังไม่ยอมรับฟัง

ประวัติศาสตร์จะบันทึกเหตุการณ์ วันที่ภูมิถือหมุดคณะราษฎร 2563 อย่างไร

ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์บันทึกแค่ชื่อผม ในฐานะเด็กชายผู้ปักหมุดคณะราษฎร 2563 เพราะวันนั้นไม่ได้มีแค่ผม แต่ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์เวลานั้นร่วมกัน มันควรถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ประชาชน

ครอบครัวมีปัญหาที่ภูมิออกมาทำกิจกรรมไหม แล้วภูมิแก้ปัญหายังไง

มีปัญหา ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการออกมาอยู่ข้างนอกคนเดียว แม้ตอนนี้จะยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะพอโดนคดีก็เลยเป็นห่วงกัน ตอนแรกก็เครียด เพราะต้องออกมาอยู่คนเดียว แต่ตอนนี้ไม่เครียดแล้ว และเราก็เข้าใจเขาด้วย

อยากพูดอะไรกับครอบครัวที่มีเด็กในวัยเดียวกับภูมิ และอาจกำลังเจอสถานการณ์แบบเดียวกัน

อยากให้คุยกัน เราอาจจะแค่ความคิดต่างกัน ขอแค่รับฟังกัน

มองย้อนกลับไปจากวันแรกที่เริ่มทำกิจกรรมจนถึงวันนี้ รู้สึกไหมว่าชีวิตเราเปลี่ยนไป

ก็เปลี่ยนไปเยอะ ต้องมีการทำงาน ต้องคุยกับคนมากขึ้น จากเดิมแค่เรียนแล้วก็กลับบ้าน ส่วนการจัดสรรเวลาก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างเข้าห้องสอบกับไปม็อบ ก็ต้องประเมินวันนั้นว่าเหตุการณ์ที่ม็อบเป็นอย่างไร และวันนั้นสอบอะไร ไปสอบวันอื่นแทนได้ไหม ต้องดูก่อน

อีก 2 ปี จะอายุครบ 18 อยากได้อะไรเป็นของขวัญวันเกิดอายุ 18 ปี

3 ข้อเราจะสำเร็จใช่ไหม อยากได้ความสำเร็จทั้ง 3 ข้อ เป็นของขวัญ

พูดอะไรทิ้งท้าย

อยากพูดว่าเหมือนสังคมจะเข้าใจว่า คนที่ออกมาทำกิจกรรมเพราะอยากดัง อยากมีชื่อเสียง แต่จริง ๆ แล้ว คิดว่าไม่มีใครต้องการอยากดัง ก็แค่อยากจะออกมาเรียกร้อง ออกมาพูดในสิ่งที่อยากพูด และอยากจะเห็นโลกที่ดีกว่านี้มากกว่า ถ้า 3 ข้อเรียกร้องไม่เกิด ก็จะทำกิจกรรมไปเรื่อย ๆ

และอยากให้ผู้ใหญ่เลิกมองว่าเด็กไม่มีความคิด ผู้ใหญ่อาจจะไม่ต้องเห็นด้วยกับ 3 ข้อเรียกร้องของพวกเรา หรือต้องออกมาเรียกร้องด้วย เพราะทุกคนก็มีความคิดของตัวเอง แต่แค่ทำความเข้าใจและฟังกัน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์