อ่านอยู่ได้!!! ในวันที่ร้านหนังสือต้องก้าวออกจาก SAFE ZONE

“การสร้างนักอ่านคนหนึ่ง เราไม่สามารถที่จะให้เขาเริ่มต้นโดยการหยิบหนังสือรางวัลโนเบลให้เขาอ่านได้ ความสนุกของห้องสมุดหรือร้านหนังสือมันอยู่ที่ความหลากหลายมากกว่า” 

“หนังสือเป็นทะเลของความรู้ ถ้าเราส่งเสริมแนวเดียวอาจทำให้ความรู้ถูกจำกัด ดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดถ้านิยายวายจะไปอยู่บนชั้นหนังสือของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้”

ครั้งสุดท้ายที่คุณซื้อหนังสือจากร้านหนังสือคือเมื่อไหร่..?

เอาใหม่.. ครั้งสุดท้ายที่คุณตั้งใจเดินเข้าไปในร้านเพื่อเลือกซื้อหนังสือคือเมื่อไหร่ 

ที่ต้องถามแบบนี้เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้อ่านไม่ได้หยิบขึ้นมาระหว่างรอทำธุระ หรือรอรอบฉายหนังเรื่องโปรดที่จองตั๋วเอาไว้ เพราะในเวลานี้บรรดาร้านหนังสือต่าง ๆ  โดยเฉพาะร้านอิสระที่กำลังต้องการกลุ่มนักอ่านทั้ง“หน้าเก่า” และ “หน้าใหม่” รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อต่อลมหายใจในวันที่ใกล้หมดแรง

“ไม่คิดว่าสาหัสขนาดนั้น” 

วิภว์ บูรพาเดชะ อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บอกกับเราแบบนั้น แม้คนในแวดวงจะรู้อยู่เต็มอกว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา สื่อที่เคยมีอิทธิพลอย่าง ‘หนังสือ’ กำลังถูกช่วงชิงเวลารวมถึงรายได้ จากทางเลือกใหม่ ๆ ระหว่างประโยคนั้นพลันก็รู้สึกได้ว่าขณะที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่ภายในร้านหนังสือของเขา แทบจะไร้เสียงรบกวนของการเปิดประตูเข้าออกของลูกค้าเข้ามาให้หงุดหงิดใจ

เขาเล่าต่อว่า อุตสาหกรรมหนังสือไทยอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาพักใหญ่แล้ว รายได้ลดลงโดยเฉพาะนิตยสารที่ตายไปเกือบหมด ส่วนหนังสือที่เป็นรูปเล่มขายดีเป็นบางประเภทแล้วพอมาเจอกับโควิด-19 ทำให้เราจัดงานหนังสือแห่งชาติไม่ได้อีก สำนักพิมพ์ก็เริ่มลำบากเพราะไม่มีช่องทางปล่อยของ โดยเฉพาะคนที่มีหน้าร้านก็ไม่มีคนเข้า รายได้ย่ำแย่ ต้องปิดร้านเพราะแบกรับค่าเช่าร้านไม่ไหว เจ้าของที่ยกเว้นค่าเช่าให้ไม่ได้แล้วเลยต้องปิดตัวไปหลายร้านเหมือนกัน ซึ่งแต่เดิมร้านหนังสือก็จะมีความลำบากกว่าชาวบ้านเขาอยู่แล้ว สังเกตได้จากก่อนโควิด-19  chain store (ร้านปลีก) ก็ค่อย ๆ ลดสาขาลง ทำให้การดิ้นรนของร้านหนังสือมีเรื่องที่ต้องปรับตัวอยู่เยอะเหมือนกัน ขายออนไลน์เปิดพรีออเดอร์มากขึ้น บางคนอาจจะลดหน้าร้านลงไปก็มี ทำให้ทางเข้าของรายได้น้อยลง ๆ แต่โดยรวมวงการหนังสือยังไม่ถือว่าล้มหายตายจาก มีลบ ๆ บวก ๆ บ้าง แต่เราก็ยังได้เห็นสำนักพิมพ์ที่เกิดใหม่ หรือหนังสือบางเล่มที่ขายดีขึ้นมาเป็นระยะ ๆ

หรือเราต้องยอมรับว่าร้านหนังสือจริง ๆ ไม่จำเป็นแล้ว

ในมุมของผมที่เป็นคนรักการอ่าน ผมยังชอบบรรยากาศร้านหนังสืออยู่ ทุกวันนี้ก็ยังไปเดินตามร้านหนังสือที่เหลืออยู่ ส่วนหลักฐานชัด ๆ เลยคือช่วงหลังมีนิยายแปล เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ที่เซ็ทฉากเป็นร้านหนังสือ มันแปลว่าร้านหนังสือยังมีบรรยากาศบางอย่างที่คนน่าจะถวิลหาอยู่ ไม่ใช่แค่คนรุ่นเก่า แต่คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักอ่านก็น่าจะยังชอบร้านหนังสืออยู่ เวลาเราเข้าไปร้านก็จะเห็นหนังสือจำนวนมาก ๆ แล้วเราได้จับต้องปกหนังสือ ได้พลิกอ่านด้วย อาจจะได้พูดคุยกับคนขายถ้าเขาแนะนำได้ และมันเหมือนการที่เห็นวงการหนังสือที่เป็นรูปธรรมว่า ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง แนวไหนขายดี เล่มไหนพิมพ์ซ้ำ ได้เห็นกองหนังสือของนักเขียนคนเขียนหลาย ๆ คน แหม่ม วีรพร นิติประภา ,วินทร์ เลียววาริณ ได้เห็นภาพรวมของวงการหนังสือมันก็ได้เห็นความฝันของคนในแวดวงนี้ว่ามันกำลังมีชีวิตชีวาอยู่ในร้านหนังสือ มันไม่เหมือนกับการซื้อในออนไลน์แน่ ๆ 

ภาพ: kinokuniya thailand

ทางรอด คือต้องเพิ่มความหลากหลาย

คิโนะคูนิยะ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำร้านหนังสือ ที่ประทับใจคือเขามีปริมาณหนังสือที่เยอะ ไม่ว่าคุณจะชอบแนวไหนก็ต้องมีให้คุณเลือกแน่ ๆ และพอมันเยอะการเลือกซื้อหนังสือก็จะเปิดกว้าง สมมติเราเบื่อวรรณกรรมก็เราก็ไปอ่านนิตยสารแฟชั่นก็ได้ อีกส่วนคือพอเป็นร้านญี่ปุ่นก็จะมีหนังสือญี่ปุ่นให้คนที่ชอบเลือกอ่านได้ มีการจัดหมวดหมู่ประเภทหนังสือที่ชัดเจนทำให้ง่ายต่อการเดิน บวกกับมีร้านกาแฟทำในการนั่งรอ นั่งอ่านหนังสือทำได้ ที่สำคัญคือเขาปรับตัวได้ดีมากไม่ว่าจะเป็นตลาดออนไลน์ ขายในโซเชียลยิ่งในทวิตเตอร์คนที่ทำให้คิโนะคูนิยะดังมาก ๆ 

“ความหลากหลายเป็นเรื่องจำเป็นนะครับ วงการหนังสือมันเป็นทะเลของความรู้ ถ้าเราจะไปอ่านแบบแนวเดียวหรือส่งเสริมแนวเดียว อาจจะทำให้ความรู้ถูกจำกัด แต่ถ้าเราส่งเสริมหลาย ๆ แนว มีคนออกมาพูดถึงเยอะๆ ให้มีทางเลือก เช่น หนังสือประวัติศาสตร์มีหลาย ๆ แบบได้มั้ยไม่ใช่ความเห็นแค่ฝั่งเดียว หรือนิยายที่เหมาะสำหรับนักอ่านวัยรุ่นสายวาย วรรณกรรมสายแข็ง สายรางวัลหน่อยให้เขาลองอ่าน มันจะทำให้ประสบการณ์ในการอ่านโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนี่ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสร้างนักอ่านด้วย”

นโยบายส่งเสริมการเป็นเมืองนักอ่าน โดยเริ่มจากห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของ กทม. ดูจะเป็นการปลูกฝั่งค่านิยมการอ่านที่ง่ายที่สุด แต่ วิภว์ ในฐานะนักอ่านคนหนึ่ง มองว่า ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงมากกว่าปริมาณของหนังสือที่เพิ่มขึ้น โดยมองว่า ห้องสมุดเป็นบริการขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของชุมชนของเมืองที่ทำได้ง่ายมาก ๆ ต้องการพื้นที่ไม่เยอะเป็นห้องว่างก็พอแล้ว ในชุมชนควรจะมีเยอะ ๆ หลากหลายได้ยิ่งดี เช่น ละแวกนี้มีคนเมียนมาอาศัยอยู่เยอะก็อาจจะเติมหนังสือให้เขามีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านว่าคนเมียนมาเป็นอย่างไร มีวรรณกรรมพม่า วรรณกรรมอาเซียน สามารถปรับคอนเทนต์ ได้หากทำระบบดี ๆ ซึ่งถ้าทำได้มันจะเกิดวงจรของห้องสมุดที่มีข้อมูลมหาศาล และมีนักอ่านที่น่าจะได้ประโยชน์เยอะ ซึ่งรัฐต้องลงทุนแต่คิดว่าไม่เยอะ และบุคลากรที่มีความรู้เรื่องหนังสืออย่างบรรณารักษ์อยู่แล้วก็ให้มาทำตรงนี้ อย่าเป็นห้องโล่ง ๆ ที่มีแค่หนังสือ ควรมีคนมีการประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยน เวียนหนังสือ เช่น เดือนนี้หนังสือแฮร์รี่พอตเตอร์เซ็ตหนึ่งออกใหม่อาจจะสั่งมาแล้วไว้ที่ห้องสมุด 6 แห่ง พอถึงเวลา 6 เดือนก็ย้ายไปอีกที่หนึ่ง นั่นหมายความว่าสาขา A จะมีเวลาอ่าน 6 เดือนอาจจะต้องรีบอ่าน คล้าย ๆ กับพวก Netflix ที่มีโอกาสได้ดูแค่ไม่กี่เดือน

ปัจจัยที่จะทำให้ชุมชนนักอ่านแข็งแรงขึ้นได้

ส่วนตัวคิดว่าควรจะเริ่มจากการสร้างการเป็นปัจเจก ทีละคน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เด็กที่มีครอบครัวรักการอ่าน ซึ่งบ้านเราอาจจะไม่ได้ส่งเสริมการอ่านสักเท่าไหร่ ขั้นต่อไปคือโรงเรียนควรจะมีห้องสมุดหรือถ้ามีในหลักสูตรได้ก็ดี อย่างเรามีการอ่านนอกเวลาอาจจะทำให้เป็นเรื่องที่อ่านสนุกมากกว่านี้ได้ พอเป็นวัยรุ่นเขาก็อาจจะอ่านตามเพื่อน แปลว่าหนังสือเป็นเทรนด์หรือแฟชั่นได้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของ Marketing แล้วซึ่งคนไทยเก่งมาก

แต่ถามว่าดีกว่านี้ได้ไหมเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชนมากกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่นการลดหย่อนภาษี ซึ่งจริง ๆ ภาครัฐเคยทำบ้าง เช่น ช็อปดีมีคืนซื้อหนังสือแล้วลดหย่อนภาษีได้ อยากให้ทำให้ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี อีกส่วนหนึ่งคือภาคเอกชนส่งเสริมได้ลดค่าที่เช่ากับร้านหนังสือในราคาที่ถูกลงหน่อย จัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียนแบบจริงจังต่อเนื่อง

หนังสือแพงขึ้น สวนทางกับรายรับของนักอ่าน

ถ้าพูดถึงชนชั้นกลางที่เป็นนักอ่าน ก็ไม่ถึงกับน้อยลงมีคนใหม่เข้ามาเรื่อยเรื่อย ๆ อย่างเด็กวัยรุ่นที่อ่านหนังสือมากขึ้นพร้อมที่จะซื้อหนังสือ เพียงแต่อาจจะกระจุกอยู่กับหนังสือแบบใดแบบหนึ่ง เช่นหนังสือแปลวรรณกรรมร่วมสมัย หรือเป็นนิยายวายไปเลย ช่วงหลังจะมีหนังสือประวัติศาตร์เยอะมากขึ้น แต่สำหรับคนที่ไม่มีกำลังซื้ออาจจะลดน้อยลงเพราะจะซื้อหนังสือเล่มละ 300 บาท ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ 

“ถามว่าทำยังไงให้ถูกลงกว่านี้ ผมคิดว่าถ้าเพิ่มค่าแรงมันไม่แฟร์เพราะตอนนี้ทุกคนก็ไม่ได้รวย ค่ากระดาษที่โรงพิมพ์ก็ไม่ค่อยแน่ใจเพราะเขาก็มีความลำบาก แต่ว่าถ้าภาครัฐมีนโยบายในการช่วยเหลือส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตามในวงจรเหล่านี้ ก็จะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมหนังสือทั้งระบบ ถามว่ามีเหตุผลอะไรที่รัฐต้องมาอุ้ม ถ้าภาครัฐเล็งเห็นว่าการอ่านเป็นเรื่องสำคัญของประชาชนก็ต้องช่วยตรงนี้ ซึ่งมันมีหลายประเทศที่เล็งเห็น ผมพูดแค่นี้แล้วกัน”

นิยามของเมืองหนังสือ คืออะไร

คิดแล้วปวดหัวเหมือนกันนะ (หัวเราะ) อย่างกรุงเทพช่วงหนึ่งอยากจะเป็นเมืองภาพยนตร์โลก เมืองแห่งแฟชั่น แต่ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม กลับมาที่เรื่องของเมืองหนังสือผมคิดว่า น่าจะวัดกันที่นักอ่าน เพราะถ้าเยอะจริงทุกอย่างมันจะตามมาเอง อาจจะมีร้านหนังสือเยอะ มีประเภทหนังสือที่หลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ และมีห้องสมุดที่มีคุณภาพ มีคนถือหนังสือติดตัว อ่านเล่มนี้จบซื้ออีกเล่มหนึ่งใหม่ ทุกอย่างจะเกิดเป็นรูปธรรมของมันเอง ซึ่งถามว่านโยบายที่ชัชชาติให้มีหนังสือบ้านละ 3 เล่ม พัฒนาห้องสมุด รูปธรรมโอเคหมดเลยนะ และถ้าทำได้จะเป็นการทดลองว่าถ้าทำพื้นฐานให้ชัดเจน ทุกคนมีหนังสือให้อ่าน มีพื้นที่ในการอ่านเยอะขึ้นมันจะสำเร็จไหม แต่ที่สำคัญข้อหนึ่งคือต้องทำงานต่อเนื่อง มีการวัดผลว่าอะไรเวิร์คไม่เวิร์ค ต่อไปจะมียุทธศาสตร์อย่างไรเติมอะไรดี เราควรจะมีอิเวนต์เยอะขึ้นไหม หรือเป็นแคมเพนการประกวดงานเขียนเพื่อพัฒนาวงการหนังสือไปด้วย ผมว่า 4-5 ปีเราทำได้แน่นอน

“หากภาครัฐทำให้เห็นวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจน คนในแวดวงหนังสือแม้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยร่ำรวย แต่หากขอความร่วมมือก็พร้อมที่จะสนับสนุนเพราะส่วนใหญ่เป็นคนรักการอ่าน และอยากให้นักอ่านมีจำนวนเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้วงการหนังสือ ศิลปกรรม ของไทยเติบโตจนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาลเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เหมือนกับบางประเทศที่ทำสำเสร็จมาแล้วจากความร่วมมือของรัฐ เอกชน และประชาชน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน