กรุงเทพฯ เมืองคนเหงา : ฮีลใจให้คลายเศร้าไปกับ งาน Better Mind Better Bangkok 2024

จากผลสำรวจของแอปพลิเคชันสติ (Sati App) แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาและเยียวยาสุขภาพจิตออนไลน์ เผยว่า 5 ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ โทรมาระบายความรู้สึกมากที่สุดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง 2. ปัญหาครอบครัว 3. ความเครียดจากการทำงาน 4. ความเหงา และ 5. ความเครียดจากการเรียน

และหากถอยมองออกมาเป็นภาพใหญ่ของประเทศ จากการสำรวจคนไทย 5 ล้านคนในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563-2567) พบว่ากลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงสุดมีอายุเพียง 20 ปี และในปี พ.ศ. 2566 มีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้นถึง 7.94 รายต่อประชากรแสนคน (ผลสำรวจของ TIMS Impact Report 2023-2024, Sati App Impact Report 2023-2024)

ตัวเลขนี้ไม่ใช่น้อย แต่แสดงถึงสภาวะวิกฤตในสังคมไทย ที่จำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตกระจุกตัว จนปล่อยด้านความสัมพันธ์ ความเปลี่ยวเหงาโดดเดี่ยวถูกละเลยถึงเพียงนี้

The Active ชวนคุยกับ กับ ซานจู – อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Sati (สติ) ที่ชวนให้เรามองลึกลงไปถึงปัญหาสุขภาพใจ พร้อมกับเรื่องราวงานนิทรรศการและการเสวนาทางสุขภาพจิตอย่าง Better Mind Better Bangkok 2024 

“เราเก็บข้อมูลสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เจอว่าคนมีปัญหาเรื่องความเหงา โดดเดี่ยว และความสัมพันธ์สูงมาก แต่ปัญหาคือ นอกจากจะไม่รู้จักอารมณ์ของตัวเองแล้ว ยังไม่รู้วิธีรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ด้วย” ซานจูเริ่มอธิบาย

การรับรู้อารมณ์ของตัวเองสำคัญมาก ราต่างถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กว่าอารมณ์เชิงลบเป็นสิ่งไม่ดี เลยทำให้สังคมให้คุณค่าแต่กับอารมณ์เชิงบวก เวลาเรามีความสุข เรากล้าแชร์ กล้าบอกต่อ กล้าแสดงออกมา แต่เวลาที่เราโกรธ เศร้า หรือเหงา เรากลับต้องพยายามเก็บซ่อนมันเอาไว้ใต้พรม

ซานจู – อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Sati (สติ)

“ทุกอารมณ์สำคัญกับเราหมดไม่ว่าเชิงบวกหรือลบ เราอย่าไปด้อยค่า อย่าไปพยายามเก็บซ่อนหลงลืมมันเพราะวันหนึ่งมันจะระเบิดออกมา แต่เราต้องกลับมาเข้าใจว่าหากเราโกรธ เรามีอาการอย่างไรหรือเพราะอะไร หรือเรารู้สึกอิจฉาใช่ไหม แล้วเราจะดูแลตัวเองยังไงต่างหาก

“บางคนเวลาโกรธ มือสั่น ขาสั่น เหงื่ออก หายใจถี่ ฯลฯ อาการเหล่านี้ขอให้หมั่นสังเกตตัวเองไว้ ว่าเวลาเรามีอารมณ์อย่างหนึ่ง ร่างกายเราจะมีปฏิกิริยาแบบไหน มันจะทำให้เรากลับมาดูแลตัวเองได้ง่ายขึ้น” ซานจูอธิบายเพิ่มว่าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ควรทำให้สังคมมองเห็นถึงความสำคัญของการรักษาสุขภาพจิต” ซานจูอธิบายว่าทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Better Mind Better Bangkok 2024 หรือ งานวันสุขภาพจิตโลก ที่ในปีนี้เลือกใช้ธีม “L.O.V.E. ความรักตัวเอง ความรักต่อเพื่อนร่วมโลก ความรักในการที่จะมีสุขภาวะชีวิตที่ดี และความรักที่จะได้เชื่อมต่อความสัมพันธ์ดี ๆ ในสังคม”

สำหรับหัวข้อในงาน จะแบ่งเป็น 4 panels ได้แก่ 

  • L – Loving Yourself : The Art of Self-Care – รักตัวเอง 

ใคร ๆ ก็บอกให้รักตัวเอง แต่จริง ๆ แล้ว “รักตัวเอง” แปลว่าอะไร ต้องทำยังไง หรือต้องมีเครื่องมืออะไรในการรักตัวเองบ้าง

  • O – Opening Hearts : Embracing Social Inclusion – รักเพื่อนร่วมโลก

ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย สังคมพยายามบอกเราว่าตอนนี้โลกโอบกอดและเปิดรับทุกคน แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ panel นี้จึงจะพาให้ผู้คนมาทำความเข้าใจ ว่าตอนนี้เราอยู่ในท่ามกลางความหลากหลายแบบไหน และเข้าใจกันจริงหรือเปล่า

  • V – Valuing Lives – Understand Well-Being – รักในการที่จะมีสุขภาวะชีวิตที่ดี

ที่ผ่านมา เวลาเราคิดเรื่องสุขภาพจิต มันเป็นการคิดในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ไม่ได้ถูกมองในภารรวมที่มีมิติทั้งสุขภาพกาย (Biological factors) สุขภาพใจ (Psychological factors) และสุขภาพทางสังคม (Social factors)

  •  E – Enhancing Connection – Fostering Community Support – รักที่จะเชื่อมต่อความสัมพันธ์ดี ๆ ในสังคม

เนื่องจากตอนนี้เห็นว่าความเหงาของคนเมืองสูงขึ้นเรื่อย ๆ การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนจริง ๆ ก็น้อยลง รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับตัวเองที่ไม่ดีพอด้วย panel นี้จะช่วยให้กลับมารู้จักอารมณ์ รู้จักตัวเอง และรู้ว่าจะสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับคนรอบ ๆ ตัวได้อย่างไร

“เราอยากให้งานนี้เป็นพื้นที่ฮีลใจของทุกคน หากคุณมีคนรอบข้างที่ไม่รู้จะช่วยเหลือเขาอย่างไร งานนี้จะมีข้อมูลมากมายให้ได้นำกลับไปใช้ และหากคุณอาจกำลังเป็นคนป่วยที่ไม่มีใครเข้าใจ ที่นี่จะทำให้คุณรู้ว่าคุณไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว แต่มีคนกำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วยทางใจเหมือนคุณอยู่เช่นกัน” ซานจูกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับงานนี้ ซานจูแอบกระซิบบอกเราว่า ผู้ที่มาถึงงานก่อน 100 คนแรก จะได้รับ “กล่องปฐมพยาบาลทางใจ” กลับไปด้วย ในกล่องจิ๋วใบนั้นจะมีทั้ง stressball บีบคลายเครียด ยาดมเตือนสติ หรือคู่มือ grounding techniques (เทคนิคการตั้งหลัก/สติ) กลับบ้านไปกันอีกด้วย

มาร่วมบอกรักตัวเองและปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นได้ที่งาน Better Mind, Better Bangkok 2024 โดยความร่วมมือของ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมย์เบลลีน นิวยอร์ก (Maybelline Brave Together) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มูลนิธิเพื่อคนไทย ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และ สามย่านมิตรทาวน์ ในวันอาทิตย์ที่ 6 ต.ค. 67 ณ สามย่าน มิตรทาวน์ ชั้น 3  เวลา 11.00 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่