แนน – อรุชิตา อุตมะโภคิน บรรณาธิการข่าว Thai PBS
ประสบการณ์ทางการเมืองบนท้องถนนของแนนเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว อายุ 6 ขวบ พ่อจูงเธอไปประท้วงต่อต้านรัฐประหารครั้งที่ 11 นำโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ที่ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ และพยายามผลักดัน พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี
กลัวไหม? โตยังไม่ทันได้รู้สึกกลัว แต่มากลัวหลังเหตุการณ์สักสองสามปี เมื่อเห็นภาพเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน จากวิดีโอที่พ่อซื้อมาเก็บไว้ แนนดูแล้วดูอีก เหมือนหมกมุ่นอยู่กับประสบการณ์ทางการเมืองครั้งแรกของตัวเอง เพราะอยากรู้ว่าแท้จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แนนเรียนรู้เรื่องราวทางการเมืองมากขึ้นจากพ่อซึ่งเป็นคนชุมพร เดินทางมาลงหลักปักฐานที่กรุงเทพฯ เขาสนใจการเมือง ติดตามดูข่าวประชุมสภา อ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า และเป็นคนที่คอยเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้แนนฟัง บรรยากาศในบ้านมีส่วนปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ เธอจึงค่อนข้างกระตือรือร้นสนใจการเมือง โตขึ้นมาหน่อยเธออ่าน a day weekly ทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นนิตยสารการเมืองและเศรษฐกิจก่อนจะปิดตัวลง ช่วงวัยของความอยากรู้อยากเห็น เธอขวนขวายค้นหาอ่านหนังสือเพิ่มเติม เรียกได้ว่าขยันกว่าอ่านตำราเรียน เธออยากรู้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่โรงเรียนให้ไม่ได้ และมักจะเอาไปคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ เสมอ ตอนเรียนมัธยมเธอกลายเป็นฮาร์ดคอร์การเมืองในหมู่เพื่อน ๆ
ความท้าทายแรก
สนใจสายสังคม การเมือง และกฎหมาย แนนเลือกสอบเข้ารัฐประศาสนศาสตร์ โดยเลือกเฉพาะเจาะจงลงไปที่การบริหารงานยุติธรรม (กฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ) ขณะเรียนอยู่ปี 4 หลายครั้งขณะที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือกิจกรรมของเอ็นจีโอ ได้ฟังเรื่องเล่าจากนักกิจกรรมรุ่นพี่ ๆ และเรียนรู้จากการช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะจากสามจังหวัดชายแดนใต้และคดีที่ดิน ที่ถูกฟ้องและละเมิดสิทธิโดยรัฐ เธอคิดว่าเมื่อใดที่ชาวบ้านได้รู้กฎหมายมากขึ้น ก็สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้มากขึ้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่เธอเลือกที่จะใช้ความรู้ของตัวเองช่วยเหลือชาวบ้าน เธอเลือกที่จะฝึกงานที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นอกจากช่วยชาวบ้าน ในขณะเรียนปีสุดท้าย เธอใช้ความรู้ด้านกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ปีนั้นบังเอิญมหาวิทยาลัยมีนโยบายเปลี่ยนกฎเกณฑ์การเรียนการสอนระหว่างปีการศึกษา ถ้ากฎใหม่นี้ถูกบังคับใช้ เธอและเพื่อนอาจเรียนไม่จบในปีการศึกษาที่ตั้งใจไว้ เมื่อคิดดีแล้ว แนนเป็นตัวตั้งตัวตีล่าชื่อเพื่อนนักศึกษาเพื่อยื่นอุทธรณ์กับอธิการบดี แต่เรื่องถูกปัดตกไป เพราะกฎเกณฑ์ฉบับนั้นได้ประกาศใช้แล้ว เธอจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว และฟ้องมหาวิทยาลัยเพราะออกคำสั่งมิชอบ (เปลี่ยนกฎเกณฑ์กลางปีการศึกษา และบังคับใช้ย้อนหลังกับนักศึกษาในปีก่อนหน้า) แนนเขียนสำนวนเองขณะที่ทำงานที่คณะกรรมการสิทธิฯ ตลกร้ายก็คือวันที่ต้องสู้กันในศาล อาจารย์ที่สอนกฎหมายในวิชาเรียนของเธอก็อยู่ที่นั่นด้วย อย่างไรก็ตามในระหว่างพิจารณาคดี ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ส่วนมหาวิทยาลัยเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อถอนฟ้อง โดยจะเลื่อนกฎเกณฑ์การเรียนการสอนฉบับใหม่ออกไปในปีการศึกษาถัดไป เธอและเพื่อนจึงเรียนจบในเวลา 3 ปีครึ่งอย่างที่ตั้งใจไว้
ความท้าทายที่สอง (จากกฎหมายสู่หนทางประชาธิปไตย) ความท้าทายครั้งที่สอง นักสิทธิ
หลังจากฝึกงาน แนนได้เข้าทำงานต่อในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ โดยเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับผิดชอบคำร้องด้านกฎหมายจากชาวบ้านที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม และลงพื้นที่ที่เรือนจำในกรุงเทพฯ ได้เห็นกรณีชาวบ้านถูกฟ้องร้องมากขึ้นจากความไม่รู้ด้านกฎหมาย แนนเลือกไปเรียนต่อนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต เพื่อดูแลช่วยเหลือชาวบ้านชายแดนใต้ ที่มีกรณีฟ้องร้องโดยรัฐในคดีความมั่นคง ซ้อมทรมาน รวมถึงคดีพิพาทเรื่องทรัพยากรที่ดินและป่าไม้
แม้ว่าปัญหามันจะเยอะจนแก้ไม่มีวันหมดและใช้เวลาในชีวิตเนิ่นนาน แนนตั้งเป้าหมายไว้ใกล้ ๆ คือช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับชาวบ้านไปก่อน ไม่ได้หวังไปไกลว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่มันทำให้เธอเรียนรู้ว่ากรรมการสิทธิฯ มีอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ปากคำหรือข้อเท็จจริงได้ ทำให้รู้สึกว่าการทำหน้าที่ตรงนี้เหมือนเอาไฟไปส่องในที่มืด ให้รู้ว่าสิ่งที่คุณทำอย่างไม่ถูกต้อง วันหนึ่งพวกคุณอาจจะโดนเรียกมาให้ข้อมูล มันอาจจะทำให้พวกเขารู้สึกถูกเพ่งเล็งจนต้องระมัดระวังในการที่จะทำอะไรผิด ๆ มากขึ้น กลไกตรวจสอบเหล่านี้มันอาจช่วยให้การกระทำผิดลดน้อยลง
อาจจะเป็นความหวังอยู่ในใจก็ได้ว่าประเทศน่าจะดีขึ้นได้ แม้ว่าตอนทำงานใหม่ ๆ จะไม่ได้ฝันไปไกลว่าจะสามารถเปลี่ยนนโยบายในภาพใหญ่ได้ แต่ใครจะรู้ หากคนตัวเล็ก ๆ ช่วยกันผลักดัน ขยับเพดานไปทีละเล็ก ทีละน้อย หลังรัฐประหารครั้งที่ 12 ปี 2549 นำโดย พล.อ. สนธิ บุณยรัตกลิน ยึดอำนาจ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แนนเข้าไปทำงานองค์กรเอ็นจีโอที่เน้นการพัฒนาด้านประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพ มีหลายโพรเจ็กต์ที่เน้นส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน ทำงานข้อมูล จัดทำโครงการฐานข้อมูลนักการเมือง และธรรมาภิบาล และต่อมาเธอกลายเป็นนักข่าว
ความท้าทายครั้งที่สาม นักข่าวและบรรณาธิการ
ก่อนได้รับการบรรจุเป็นพนักงานไทยพีบีเอส ซึ่งรับผิดชอบทำข้อมูลและเป็นนักข่าวสายสกูป ทำสารคดีเชิงข่าว เป็นผู้ประกาศ และผู้ดำเนินรายการ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าว แนนเคยเป็นฟรีแลนซ์ให้กับสถานีข่าวแห่งนี้มาก่อน และที่นี่อีกเช่นกันที่แนนได้เรียกร้องความเป็นธรรมต่อเงื่อนไขการทำงานร่วมกับชาวฟรีแลนซ์ เพราะอยู่ในกลุ่มของการจ้างแบบฟรีแลนซ์หรือเหมาจ่าย ในเงื่อนไขที่ต้องเข้าออฟฟิศด้วย ดังนั้น แม้จะเป็นฟรีแลนซ์ก็ต้องเข้าออกงานเหมือนพนักงานประจำ กติกาถูกกำหนดแบบก้ำกึ่ง พนักงานประจำก็ไม่ใช่ ฟรีแลนซ์ก็ไม่เชิง เพราะไม่ได้รับเงินล่วงเวลา ไม่มีเบี้ยเลี้ยงเมื่อออกนอกพื้นที่ ไม่ได้สิทธิรักษาพยาบาล ประกันอุบัติเหตุ แต่งานข่าวต่างจากงานทั่วไปที่ต้องไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว หลายครั้งต้องลงพื้นที่ยาวนาน งานบางชิ้นจึงไม่จบง่าย ๆ ยังไม่นับบางพื้นที่ที่ต้องเสี่ยงอันตราย
แนนรวมกลุ่มกับชาวฟรีแลนซ์ก่อตั้งกลุ่มที่เรียกกันเล่น ๆ ว่าแนวร่วมฟรีแลนซ์เพื่อความยุติธรรม เพื่อใช้เป็นตัวแทนในการพูดคุยและหารือกับผู้บริหารเพื่อสิทธิบางอย่าง แก้กติกาบางข้อเพื่อให้การทำงานเอื้อต่อการดำรงชีวิต ซึ่งสิ่งนี้คงเป็นช่องโหว่ที่ผู้บริหารเห็นและให้ความสำคัญอยู่แล้ว กติกาจึงถูกแก้ไข สิทธิการทำงานบางข้อได้รับการตอบสนอง เงื่อนไขการทำงานดีขึ้น ชีวิตจึงดำเนินต่อไป และเงื่อนไขการจ้างงานเหล่านั้นยังถูกใช้กับพนักงานสัญญาจ้างในองค์กรนี้จนถึงปัจจุบัน
ความท้าทายครั้งที่สี่
ความท้าทายของการทำงานข่าวในปัจจุบันที่มีความขัดแย้งตลอดเวลาคืออะไร? ความท้าทายของเราคือจะสร้างสมดุลของความเห็นต่างในสังคมได้ไหม มันยากตรงที่เราจำเป็นต้องหาเหตุผลอีกด้านมาถ่วงดุลไว้ตลอดเวลา แม้ว่าอีกด้านจะมีมาก ก็ต้องหาส่วนน้อยมาเสมอ
โดยเฉพาะตอนนี้เพดานการเสนอข่าวถูกยกขึ้นไป สิ่งที่ไม่เคยรายงานก็ต้องหาวิธีที่จะพูดออกไป จะไม่ให้พูดได้ไหม เราว่าไม่ได้ เพราะในฐานะนักข่าวมันคือการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ความคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การวิพากษ์คำพิพากษาของศาล เรายึดหลักการของเราให้มั่นว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่อะไร เราว่าความท้าทายมันขึ้นอยู่กับว่ารีพอร์ตแบบไหนไม่เติมเชื้อไฟ หาวิธีการเล่าเรื่องที่เหมาะสมมากกว่า ที่ควรทำคือหาเหตุผลผ่านการถกเถียง ไม่ใช่การปิดกั้นหรือห้ามทำ
คุณเรียนกฎหมาย เคยทำงานด้านสิทธิ เคยรณรงค์ประชาธิปไตย เป็นนักข่าวเน้นวาระทางสังคม คุณมองวิกฤตศรัทธาศาลยุติธรรมอย่างไร
ถ้าตอบในนามส่วนตัว ศาลยุติธรรมที่คนเคยหวังว่าเป็นที่พึ่งที่จะธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ก็ถูกท้าทายมากขึ้น ยุคก่อน ๆ การเรียนการสอนวิชากฎหมายเน้นการท่องตัวบท ท่องจำ หลักกฎหมายต้องแม่น ศึกษาฎีกาให้เยอะ แต่ระยะหลัง เราเห็นอาจารย์สอนกฎหมายหลายคนพยายามที่จะทำให้นักเรียนกฎหมายได้ออกไปสัมผัสกับโลก กับสังคม กับชีวิตผู้คนจริง ๆ มากขึ้น
จริงอยู่ว่าการเอาตัวเองออกไปสัมผัสกับผู้คน มักถูกตักเตือนว่าจะมีผลต่อการใช้ดุลยพินิจ เมื่อก่อนเราคงคล้อยตามคำเตือนนี้ แต่เพราะโลกและสังคมมันซับซ้อนขึ้น บางอย่างหลักกฎหมายที่แม่นยำ ก็อาจไม่พอ เวลาได้คุยกับอดีตอัยการหรือผู้พิพากษาหลายท่าน จึงได้รับเสียงสะท้อนว่า เอาเข้าจริงเมื่อทำหน้าที่อยู่ตรงนั้น มันก็มีตัวช่วยได้ไม่มากนัก เพราะสุดท้าย มันเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
ส่วนวิธีคิดของคนที่วิพากษ์วิจารณ์ คือ ศาลอยู่ในฝั่งที่รักษาไว้ซึ่งแบบแผนที่มีแต่เดิม ขณะที่โลกมันก้าวไปข้างหน้า คือเขามีชีวิต เติบโตมาในโลกวิธีคิดวัฒนธรรมแบบหนึ่ง มีฐานประวัติศาสตร์และความเชื่อแบบหนึ่ง เวลาใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีความ มันก็จะอยู่บนฐานคิดแบบเดียวกัน ซึ่งไม่หลากหลายและไม่มากพอที่จะสร้างความเชื่อมั่น และไม่ทันต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน เพราะเอาเข้าจริง เราก็ตอบคำถามของประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่ได้ว่าเวลาผิด ทำไมผิดอยู่ฝั่งเดียว
ซึ่งมันก็เป็นเหตุผลที่ศาลควรรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ได้บ้าง มันจะนำไปสู่การปรับตัว
มันก็น่ากลัวหากสถาบันที่จะให้ความเป็นธรรมกับสังคมจะไม่ได้รับการยอมรับ แต่การชี้ขาดและมีผลต่อชะตาชีวิตผู้คนเป็นสิ่งที่ทำให้ศาลยังทรงอำนาจอยู่ สุดท้ายมันจะไม่มีคนที่เป็นที่พึ่ง พอที่พึ่งไม่มี อย่างที่เราเห็นในต่างประเทศ มันอาจจะเกิดความรุนแรง
ทุกสถาบันควรวิจารณ์ได้ มันต่างกัน ระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์ศาลด้วยหลักวิชาการ เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ กับการดูหมิ่นหรือใส่ร้ายป้ายสี เราตัดสินไม่ได้หรอกว่าคำตัดสินมันถูกหรือผิด เพราะเราก็มองต่างมุมกันเสมอ ระหว่างคนได้ประโยชน์กับคนเสียประโยชน์ แต่มันอยู่ที่ความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมที่เกิดขึ้นมากกว่า