“เยียวยากลุ่มเปราะบาง” ข้อสอบเดิมรัฐบาล กับการระบาดโควิด-19 รอบใหม่

ยังไม่ทันฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 รอบแรก หลายคนที่ตกงาน กำลังจะถูกซ้ำเติมจากการระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะ “กลุ่มคนเปราะบาง” หาเช้ากินค่ำ แรงงานภาคบริการที่พบว่าต้องตกงานสูงสุด

ข้อสอบเดิม ๆ ที่ภาครัฐเพิ่งเจอ แต่คำถาม คือ การรับมือ จะเหมือนหรือต้องแตกต่างจากเดิม

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ผลสำรวจชี้ชัดว่า ผู้หญิง หนึ่งในกลุ่มเปราะบาง เป็นกลุ่มแรงงานที่เสี่ยงจะตกงานมากที่สุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า การทำงานของผู้หญิงในไตรมาส 3 ของปี 2563 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด มีงานทำลดลง 2.3% ขณะที่ ผู้ชาย มีงานทำลดลง 1.5%

อาชีพที่ว่างงานมากที่สุดสำหรับแรงงานหญิง ก็คือ พนักงานภาคบริการและขายของหน้าร้าน ที่ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 283%

ทำไมเราต้องสนใจอัตราการว่างงานของแรงงานหญิง

ด้านหนึ่ง ประชากรหญิงในวัยแรงงานมีถึง 29.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 51.7 % ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด ขณะที่หลายคนอยู่ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องแบกรับภาระของครอบครัวและเผชิญกับชะตากรรมในภาวะวิกฤตไปพร้อมกัน

จิราภรณ์ ศรีลาหอม อดีตพนักงานภาคบริการ เมืองพัทยา เพิ่งถูกเลิกจ้างจากการเป็นหัวหน้าแม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เธอตัดสินใจพาครอบครัว คือ ลูกสาววัย 7 ขวบมาอยู่รวมกับพี่สาว และน้องสาวในห้องเช่าเล็ก ๆ รวมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะพี่น้องทั้งสามคนต่างทยอยตกงานในภาคบริการ หลังการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี

แม้ จิราภรณ์ จะได้รับค่าชดเชย แต่ต้องนำเงินไปปลดหนี้สินที่กู้มาใช้จ่ายระหว่างรับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว ตั้งแต่การใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบแรก

ส่วนค่าใช้จ่ายประจำวันนับจากนี้ ต้องพึ่งพาเงินชดเชยจากประกันสังคม เดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 6 เดือน และยังไม่รู้อนาคตว่า จะได้กลับไปทำงานอีกเมื่อไหร่ ท่ามกลางการระบาดรอบใหม่

เธอเคยคิดจะเปลี่ยนอาชีพไปค้าขาย เพื่อประคับประคองครอบครัวในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อให้ลูกสาววัย 7 ขวบได้เรียนต่อ แต่ก็ไม่มีทุนสำรองเพียงพอ

ภัทรมน อินสองใจ อดีตพนักงานภาคบริการเมืองพัทยา พี่สาวของจิราภรณ์ บอกว่า ต้องหันมาพึ่งพาพี่น้อง เพราะจะกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด ก็ไร้ที่ดินทำกิน

“เลือกอยู่ในเมือง หวังจะพอมีรายได้จากการจ้างงาน แต่หากในอีก 1-2 เดือน ยังไม่มีงานทำ คิดจะย้ายไปนอนใต้สะพานกลับรถบริเวณแยกกระทิงลาย ในเขตอำเภอบางละมุง ที่อยู่ไม่ไกลจากห้องแถวแห่งนี้มากนัก เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้องพักและเงินผ่อนรถจักรยานยนต์”

มีการคาดการณ์กันว่า การระบาดรอบใหม่ จะส่งผลกระทบทั้งต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลิกจ้างงาน ปัญหาที่ตามมา คือ หนี้ครัวเรือน ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91 % ต่อจีดีพี หรือ สูงกว่านั้น ไม่นับรวมปัญหาสังคมที่จะตามมา  


ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุว่า รายงานภาวะสังคมของ สศช. พบผลกระทบจากโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือน เพิ่มขึ้นถึง 33 % สวนทางกับรายได้ที่ลดลงถึง 54% รวมทั้งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นในระบบ 14 % และนอกระบบเพิ่มขึ้น 9 % รวมแล้ว 23 %

ขณะที่ผลสำรวจ คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19 พบว่า 60.24 % รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด อีก 31.21 กว่า% ลดลงกึ่งหนึ่ง และมีเพียง 8.55 % ที่รายได้เท่าเดิม

“ตอนนี้เรามีฐานข้อมูลระดับหนึ่งที่จะระบุตัวตนคนที่มีปัญหา คนที่มีความขัดสนในชีวิตอาจจะเป็นคนจนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน หรือจะอยู่บนเส้นความยากจน เรามีข้อมูลตรงนี้โดยมีระบบ TP Map ที่ทำขึ้นมา ใช้ข้อมูลจากกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยอันนี้มีอยู่แล้ว ตอนนี้กำลังจะนำไปใช้ในแง่ของการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านคณะกรรมการศูนย์บริหารจัดการความยากจน ที่รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน จะใช้ข้อมูลส่วนนี้ ซึ่งระบุตัวตนได้ ไปใช้ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่”

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ บอกว่า ในระยะยาวการกระตุ้นกำลังซื้ออาจไม่ยั่งยืนเท่ากับการดูแลอัตราการจ้างงาน โดยเฉพาะหากมีการเยียวยารอบใหม่ ต้องให้น้ำหนักไปที่กลุ่มคนเปราะบาง ที่ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยต่าง ๆ ได้มากพอ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า จะมีถึง 3 ล้านคน ที่ต้องเปลี่ยนอาชีพหรือตกงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนสูงวัย และการศึกษาไม่สูง

“เท่าที่ได้ยินจากสภาพัฒน์ฯ มา ก็คงจะไม่อนุมัติเพิ่มแล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่ แต่ตรงนี้ไม่ใช่โจทย์เงิน แต่เป็นโจทย์ความคิดมากกว่า ก็ต้องพยายามระดมความคิดให้มากว่าจะใช้เงิน ส่วนนี้อย่างไร ก็คงจะต้องทำอีกสักรอบ สองรอบ ยิ่งถ้ารอบสอง เช่น เกิดโชคไม่ดีกรุงเทพฯ ต้องชัตดาวน์ด้วย ถ้าอย่างนั้น การเยียวยาคงต้องกลับเข้ามาใหม่อีกรอบ พ.ร.บ.เงินกู้ฯ เป็นไปได้ว่าอาจจะต้องมีฉบับที่ 2 ถ้าสถานการณ์มันแย่มาก ซึ่งก็ต้องเรียนรู้จากบทเรียนฉบับแรกว่าต้องให้มันยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่เป็นข้อจำกัดมากเกินไป”

เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ทำให้ภาครัฐประกาศยกระดับมาตรการควบคุมโรคเข้มข้นขึ้น ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบโดยเฉพาะกับคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ และกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง จึงเปรียบเหมือนโจทย์ปัญหาเดิมที่รัฐบาลเพิ่งทำข้อสอบไป ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากมีมาตรการเยียวยารอบใหม่ ก็เปรียบเหมือนการทำข้อสอบรอบสองของรัฐบาล จึงถูกคาดหวังว่า คำตอบที่ได้จะตรงจุดปัญหามากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS