LBT Sapphic เมื่อแสงไฟแห่งการ ‘ยอมรับ’ ส่อง(ไม่)ถึง

แพทย์ : จะแต่งงาน มีลูกไหม ?

(..) : ไม่ได้ต้องการจะมีลูก

แพทย์ : ทำไมล่ะ ? เป็นผู้หญิงก็ต้องแต่งงานมีลูกสิ ทำไมถึงไม่อยากมีลูก ?

“แล้วเราก็ช็อก หรือนี่เป็นความเข้าใจของหมอว่า ผู้หญิงต้องคู่กับผู้ชายเท่านั้น”

ประสบการณ์ตรงของ ‘ปลา – ดาราณี ทองศิริ’ ผู้ร่วมก่อตั้งเฟมินิสต้า และผู้อำนวยการหลักสูตร School of Feminists บอกเล่าความอึดอัดใจที่เกิดขึ้นระหว่างเข้ารับบริการทางการแพทย์

ปลา – ดาราณี ทองศิริ

ทัศนคติของหมอที่พบเจอกับตัวเอง ยิ่งตอกย้ำความยากของการหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ ‘ผู้หญิง’ และก็ยิ่งทำให้ ปลา สัมผัสได้เลยว่าความเจ็บปวดใจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกกี่เท่า ถ้าหมอรู้ว่าเธอ…ไม่ใช่ผู้หญิงที่มีอัตลักษณ์ตรงตามที่สังคมคาดหวังไว้

ไม่เพียงแค่คำถามที่ทำให้รู้สึกได้ แต่ในโลกความจริงที่พบ กลับกลายเป็นข้อจำกัดที่ปรากฎอยู่ใน รายงานผลการศึกษาสำรวจสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่ม LBT ซึ่ง ปลา ตั้งใจมาถ่ายทอดเรื่องราวนี้กับ The Active เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาวะของกลุ่มLBT Sapphic กำลังเผชิญอยู่

นิยาม LBT Sapphic

เมื่อนึกถึงกลุ่ม ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) เราจะเห็นกลุ่ม G (Gay) และ T (Transgender) ที่เป็นหญิงข้ามเพศ (Trans Women) โดดเด่นขึ้นมา แต่ท่ามกลางตัวอักษรที่กำลังนำพาให้สังคมเข้าใจ และยอมรับในโลกแห่งความหลากหลาย กลับยังมีคนอีกกลุ่มที่นิยามตัวตนว่าเป็น กลุ่ม LBT (Lesbian, Bisexual, Transgender) หรือ LBT Sapphic เชื่อว่า พวกเธอยังไม่ถูกพูดถึง และยอมรับในอัตลักษณ์อย่างกว้างขวาง หากเทียบกับผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่น ๆ

LBT Sapphic คือ กลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง ให้ความหมายครอบคลุมตั้งแต่บุคคลที่นิยามว่าตนเองเป็นผู้หญิง ไปจนถึงบุคคลที่รู้สึกรักผู้หญิง ปลา ให้ความหมายของคำ ๆ นับรวมกับกลุ่มที่เป็นหญิงข้ามเพศ ที่รักผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง หรือแม้กระทั่ง Trans Lesbian (ความสัมพันธ์ร่วมกันของหญิงข้ามเพศกับหญิงข้ามเพศ) ก็ถือว่าอยู่ในร่มของ Sapphic เช่นกัน

แม้จะมีพื้นที่ของกลุ่มหญิงรักหญิง อย่าง ‘อัญจารี’ มาตั้งแต่ปี 2529 แล้วก็ตาม แต่เมื่อไรที่ต้องพูดถึง ระบบเพศ ในสังคมไทย สำหรับปลาแล้ว เสียงของผู้หญิงมักเบากว่าผู้ชายเสมอ และมากไปกว่านั้นคือเสียงของ ‘ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ’ ที่พยายามส่งออกไป ยิ่งแผ่วเบาจนสังคมแทบไม่เคยรับรู้เลยการมีอยู่ของกลุ่ม LBT Sapphic

“ในความเป็นผู้หญิงมันก็ยากอยู่แล้วที่ออกมาพูด พื้นที่มันไม่ได้เท่ากันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เมื่อซับซ้อนขึ้นไปอีก ก็ยิ่งพูดไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จำกัด อย่างพื้นที่ทางศาสนา พื้นที่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งเราพูดมาโดยตลอด แต่ไม่มีคนฟัง”

ปลา สะท้อนปมในใจ

เมื่อการยอมรับ ความเข้าใจ ไปไม่ถึง

ถ้าลองจินตนาการว่าคุณเป็น LBT Sapphic… สมมติว่าวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าไม่มีใครอยู่เคียงข้างคุณ ไม่มีใครเปิดใจรับฟังคุณจะทำอย่างไร ?

ผลการศึกษาจาก รายงานผลการศึกษาสำรวจสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่ม LBT ของปลา จากการสัมภาษณ์กลุ่ม LBT Sapphic จำนวน 25 คน ชี้ให้เห็นว่าการขาดความรู้ความเข้าใจ หรือการที่สังคมไม่ยอมรับ LBT Sapphic ส่งผลต่อสุขภาวะถึง 5 ด้าน กระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ ไม่ใช่แค่เพียง สุขภาวะทางกาย และจิตใจเท่านั้น แต่คือสุขภาวะทางสังคม สุขภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงสุขภาวะทางกฎหมายและนโยบาย จากเหตุผลเพียงแค่การ ‘ไม่ยอมรับ’

เมื่อสังคมไม่ยอมรับและขาดความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับการมีพื้นที่ในแลกเปลี่ยนพูดคุยหรือการรวมกลุ่มมีน้อยกว่าชุมชนอื่น ๆ ทำให้การที่จะเปิดเผยตัวตนของกลุ่ม LBT Sapphic เป็นเรื่องยากและหลายคนไม่กล้าที่จะแสดงความเป็นตัวตนของตัวเอง ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนจึงต้องอยู่ในสภาวะจำยอมให้ตัวเองต้องโดดเดี่ยวอย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะหากเกิดปัญหาจากความสัมพันธ์คู่รักและต้องการคำปรึกษาจากคนรอบตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัว พวกเธอกลับต้องเก็บความรู้สึกของตัวเองไว้ และไม่สามารถบอกกับใครได้ ซึ่งก็จะนำไปสู่ภาวะทางร่างกาย ต้องใช้ยานอนหลับ ใช้สารเสพติด เป็นโรคซึมเศร้า จนสุดท้ายต้องจบชีวิตของตัวเองลง

มีตัวตน แต่บอกใครไม่ได้

สมมติว่าวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าคุณอยู่ในร่างกายที่ไม่ใช่ร่างกายอย่างที่คุณพอใจ คุณจะรู้สึกอย่างไร ? รู้สึกแย่ ไม่ชอบ อึดอัดหรือเปล่า ?

สำหรับ ทอมและชายข้ามเพศ แล้วความรู้สึกเช่นนี้ เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน กับภาวะที่ไม่พอใจและรู้สึกไม่ปลอดภัยกับร่างกายที่เกิดมาเป็นหญิง โดยสิ่งที่สังคมหรือรัฐมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างการผ่าตัดหน้าอกหรือการเทกฮอร์โมนนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทอมและชายข้ามเพศ ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ ไม่ได้เข้าถึงบริการได้โดยง่าย เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายสูง การให้บริการก็ขาดความเข้าใจ จึงเป็นเหตุทำให้ทอมหรือชายข้ามเพศบางคน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายตัวเองให้เป็นไปตามที่ชอบได้

“มีทอมหลายคนรัดหน้าอกตั้งแต่ ป.5-ป.6 จนอายุมากขึ้น ทำให้มีภาวะปวดหลัง ปวดไหล่ หลายคนมีภาวะกระทั่งเป็นหนองเป็นฝี หรือกลุ่มชายข้ามเพศ ก็จะต้องเทกฮอร์โมน เทกครั้งหนึ่งก็แพง”

ปลา ขยายภาพปัญหา

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและสุขภาพใจโดยตรงของประชาชนคนหนึ่งที่รัฐควรเข้ามาสนับสนุน ซึ่งทางกลุ่ม LBT Sapphic ก็เตรียมข้อเสนอที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ที่รัฐจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือไว้แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องสื่อสารและส่งเสียงให้ไปถึงรัฐและสังคมมากขึ้นกว่านี้

“เมื่อคุณอยู่ในร่างกายที่คุณไม่ได้ต้องการ มันส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนกลายเป็นลูกโซ่ ในส่วนของรัฐก็ต้องมาดูว่าตรงไหนที่สามารถสนับสนุนได้ อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาสนับสนุนเลย”

ปลา สะท้อนมุมมอง

ไม่เพียงทอมและชายข้ามเพศที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ อัตลักษณ์อื่น ๆ ในกลุ่ม LBT Sapphic ก็พบอุปสรรคของการรับบริการจากการถูก มองว่า LBT Sapphic เป็นเรื่องผิดปกติเช่นกัน ดังนั้นการที่จะไปเปิดเผยว่าตัวเองกับแพทย์ผู้ให้บริการจึงเป็นเรื่องยาก

“หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ มีความผิดปกติที่อวัยวะเพศ เธอไม่กล้าบอกหมอว่ามีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง เพราะไม่วางใจในการให้บริการของหมอ และกลัวท่าทีของหมอเมื่อรู้ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน”

ปลา เปิดบทสนทนาใหม่

นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในงานวิจัยของปลา ทำให้เห็นว่า มีบางคนกลัวการให้บริการจากแพทย์ จนไม่กล้าพูดความจริง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อผู้ป่วยไม่ได้พูดความจริงก็จะทำให้แพทย์วินิจฉัยไม่ตรงตามอาการ และได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง หรือบางคนไม่กล้าที่จะมารักษาอาการป่วยของตัวเอง จนมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมถึงความเสี่ยงอื่น ๆ

ดังนั้นการสร้างพื้นที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างปลอดภัยและสบายใจจึงสำคัญ ซึ่งการสัมภาษณ์ LBT Sapphic หลายคนให้ความเห็นเกี่ยวกับการออกแบบบริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มนี้ โดยมีข้อเสนอ 2 แบบคือ

  1. พัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพเดิมให้ดีขึ้นให้ ครอบคลุมและความมีเข้าใจในอัตลักษณ์ LBT Sapphic

  2. ออกแบบบริการด้านสุขภาพให้เป็นระบบใหม่สำหรับกลุ่ม LBT Sapphic โดยเฉพาะ

สุขภาวะทางสังคม กาย และใจ
ส่งต่อ…ถึงสุขภาวะทางเศรษฐกิจ และกฎหมาย

นอกเหนือปัญหาสุขภาวะทางกาย จิตใจ และสังคมของ LBT Sapphic ปลายังบอกอีกว่า สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึงสุขภาวะทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ซึ่งการถูกตีตราและการบีบบังคับจากสังคมส่งผลต่อการหางานของคนกลุ่มนี้ จากการสัมภาษณ์ LBT Sapphic โดยเฉพาะกลุ่มทอมและชายข้ามเพศ แสดงให้เห็นว่าการมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากความคาดหวังของสังคม ทำให้เขาเหล่านี้ถูกปฏิเสธในการจ้างงานเพราะมีความเชื่อว่าจะเกิดปัญหาภายในบริษัทได้

ขณะที่สุขภาวะทางกฎหมายและนโยบาย สำหรับ LBT Sapphic ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ โดยเป็นที่น่ายินดีที่ร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านแล้ว ซึ่งการมีกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศแบบนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของเรื่องการรับรองสิทธิ์ต่าง ๆ หรือการปกป้องสิทธิ์ที่พึงจะได้อย่างเท่าเทียม

“การที่คู่หญิงรักหญิงใช้ชีวิตด้วยกัน 30-40 ปี อย่างเพื่อนเรา เลี้ยงลูกมาด้วยกัน เขาประสบปัญหาที่ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นผู้ปกครอง ซึ่งได้แค่คนใดคนหนึ่ง เวลาจะทำอะไรให้ลูกมันติดขัดไปหมด พอมีสมรสเท่าเทียม ชีวิตเขาน่าจะดีขึ้น หรือเวลามีความรุนแรงกันภายในครอบครัว ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองเหมือนคู่รักต่างเพศที่ไม่ใช่เป็นการทะเลาะวิวาท”

ปลา ขยายความ

ความเข้าใจ สร้างได้เริ่มจาก ‘เพศศึกษารอบด้าน’

เพศศึกษารอบด้าน เป็นข้อเสนอหนึ่งจากผู้เข้าร่วมการวิจัย​ ซึ่งมองว่า ขณะนี้การศึกษาในประเทศไทยยังก้าวไม่ทันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ยังคงมีบทเรียนที่ล้าหลัง อย่าง การสอนเรื่องโรค HIV หรือการแบ่งแยกเพศหญิงและเพศชาย รวมถึงเรียกผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศว่ามีความผิดปกติหรือเป็นอาการเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งปัจจุบันควรจะสอนให้ทุกคนเรียนรู้เรื่องความหลากหลายและมองให้คนเท่ากันทุกคน ซึ่งก็จะนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องการป้องกันการคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการใช้อำนาจกดขี่ทางเพศ โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็นนโยบายทางการศึกษาที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นเพศศึกษารอบด้านอย่างแท้จริง

“เพราะฉะนั้น ระบบการศึกษาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าใจร่วมกัน”

ปลา สะท้อนสิ่งที่อยากเห็น

จากประสบการณ์ของปลา และปัญหาจากรายงานผลการศึกษาสำรวจสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่ม LBT ทำให้เห็นถึงสิ่งที่ LBT Sapphic ต้องพบเจอ ไม่ว่าจากคนภายนอกหรือคนใกล้ชิด อย่าง คนในครอบครัว ที่ส่งผลไปยังสุขภาวะทั้ง 5 ด้าน และสามารถสะท้อนให้เห็นว่า การไม่ได้รับสุขภาวะที่ดีในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะได้รับสิทธิ์อย่างเท่าเทียมจะมีผลกระทบเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าการถูกเลือกปฏิบัติ การไม่ได้รับการยอมรับ หรือการถูกปฏิเสธ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ 25 คน ในงานวิจัยชิ้นนี้ของ ปลา – ดาราณี เท่านั้น ยังมีกลุ่ม LBT Sapphic อีกนับไม่ถ้วนที่ต้องประสบพบเจอกับปัญหาเหล่านี้ โดยที่ไม่ได้รับการสนใจจากสังคมหรือคนรอบข้างเลยแม้แต่น้อย

ปลาจึงขอเป็นคนเปิดไฟ และชี้เป้าให้แสงสว่างส่องไปถึง ให้คนทั่วไป จนถึงผู้ที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้เห็นปัญหา เพื่อเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความเข้าใจ ผลักดันกฎหมาย ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการทำให้ให้ชุมชน LBT Sapphic แข็งแรง มีสุขภาวะที่ดีในทุกด้าน