ธงรุ้งโบกสะบัด ไปพร้อมกับขบวนไพรด์พาเหรด และอีกหลากหลายกิจกรรมแทบจะทั่วพื้นที่ทุกภูมิภาคของไทย ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่เป็นช่วงเวลาของ Pride Month แต่สำหรับสังคมไทยนี่คือบันทึกอีกหน้าประวัติศาสตร์ ในความสำเร็จของ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เกิดขึ้นช่วงเวลาเดียวกันด้วย
เส้นทางการต่อสู้ที่ใช้เวลาถึง 23 ปี ผ่านการส่งต่อความหวังจากกลุ่มคนที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ แสวงหาความเท่าเทียม และตามหาสิทธิของใครหลายคนที่ตกหล่นหายไประหว่างทาง ซึ่งหากมองดูแล้วร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ อาจสะท้อนเสียงการยอมรับผ่าน พื้นที่ในสภาฯ พื้นที่สื่อ และพื้นที่ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ผ่านการจัดงานไพรด์สุดยิ่งใหญ่ในปีนี้
แต่หากมองใน มิติการอยู่ร่วมกัน นอกเหนือจาก 3 พื้นที่ที่กล่าวมา ภาพความจริงจากการยอมรับของผู้คนในสังคมทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน ต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ ครอบครัวเพศหลากหลายที่อาจประกอบด้วย พ่อ-พ่อ-ลูก หรือ แม่-แม่-ลูก นั้น มีมากน้อยเพียงใด
The Active ชวนสำรวจมุมมองของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เขตบางกะปิ ซึ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ที่ข้อมูลจาก ศูนย์สุขภาพฟ้าสีรุ้ง ระบุว่า เป็นพื้นที่ที่มี LGBTQIAN+ ที่เป็นคนเมือง และประชากรแฝงอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก
ระหว่างทางไพรด์ มองมุมความหลากหลาย…ในสายตาผู้คน
และที่นี่จึงถูกเลือกให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ขบวนพาเหรด Thailand Pride @Bangkapi 2024 ภายใต้ธีม “The Art of Togetherness ศิลปะของการอยู่ร่วมกัน” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ลองฟังเสียงสะท้อนของผู้คนในย่านบางกะปิกันสักหน่อย ว่าพวกเขามีมุมมองอย่างไรต่อประเด็นความหลากหลาย สมรสเท่าเทียม และ LGBTQIAN+
ช่วงเวลาใกล้ 16.00 น. ก่อนขบวนพาเหรด Thailand Pride @Bangkapi 2024 จะเริ่มเคลื่อนตัว เราได้พูดคุยกับ ทอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมวัดบึงทองหลาง เขากำลังซักซ้อมดนตรีกับเพื่อน ๆ ในวงโยธวาทิตของโรงเรียนที่มาร่วมเดินขบวนด้วย
ทอย เล่าว่า ปัจจุบันโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนสามารถไว้ทรงผมตามเพศสภาพได้ อีกทั้งสังคมในโรงเรียนโดยภาพรวมก็ยอมรับกลุ่ม LGBTQIAN+
พร้อมให้ความเห็นว่า หลังจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว มีความเป็นไปได้ที่สังคมในโรงเรียนจะโอบรับกลุ่ม LGBTQIAN+ มากขึ้น ซึ่งอาจเห็นได้จากการที่ทัศนคติของคนในโรงเรียนเปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงไม่ตัดสินและเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQIAN+
เมื่อขบวนเคลื่อนออกจาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บ้านเรือน ร้านค้าริมฝั่งถนนก็เริ่มหนาแน่นขึ้น ผู้คนให้ความสนใจกับขบวนพาเหรด พร้อมรถเครื่องเสียงที่ค่อย ๆ เคลื่อนผ่าน บ้างชะโงกออกมาดูทางหน้าต่าง หรือจูงเด็ก ๆ ออกมายืนดูพลางปรบมือหัวเราะชอบใจ
แม้ตลอดช่วงชีวิต 84 ปี เคยผ่านช่วงเวลาที่สังคมกำหนดคนเอาไว้แค่ 2 เพศ คือ ชาย และ หญิง แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้คุณตา กุศล ปิ่นเงิน ต้องทำความเข้าใจสังคมตามไปด้วย
ขบวนพาเหรดที่เคลื่อนผ่านหน้าร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างของเขา ทำให้ชายสูงวัยที่สวมแว่นกันแดดนั่งหน้าร้าน หันมาโบกไม้โบกมือ พร้อมกับรอยยิ้ม กลายเป็นปฏิกิริยาของคนอีกรุ่น ที่ชวนให้เราเข้าไปพูดคุย
คุณตากุศล ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีขบวนไพรด์ แต่เมื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่ก็เลยออกมานั่งชมบรรยากาศ เขามองว่า ความหลากหลายทางเพศของผู้คนเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนก็มีสิทธิทุกอย่างเหมือนกัน ฉะนั้นก็ควรได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
และอนาคตหากจะมีครอบครัวเพศหลากหลายเพิ่มขึ้นมาหลังสมรสเท่าเทียม ก็ให้ถือเสียว่า เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลที่จะเลือกสร้างครอบครัวกับใครก็ได้
ไม่ไกลจากร้านของคุณตากุศล เรายังได้พบกับ น้อง พนักงานคลินิกทันตกรรม วัย 32 ปี เธอออกมายืนหน้าคลินิกด้วยรอยยิ้ม และเช่นเดียวกับอีกหลายคน เธอไม่รู้เช่นกันว่า วันนี้มีขบวนพาเหรดเดินผ่าน แต่เมื่อเพื่อนร่วมงานบอก ก็ตั้งใจมาชื่นชมบรรยากาศ
“ความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล” คือสิ่งที่น้องคิด และแน่นอนว่าสำหรับเธอ ก็มีเพื่อนหลายคนที่เป็นกลุ่ม LGBTQIAN+ ซึ่งก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ได้มีปัญหาต่อกัน ในส่วนประเด็นของครอบครัวเพศหลากหลายนั้น น้อง เห็นว่า เป็นสิทธิ และเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลที่ไม่ควรก้าวก่ายกันด้วย
ประโยคลักษณะนี้สำหรับเยาวชน LGBTQIAN+ หลายคน เสมือนมีดกรีดตรงที่หัวใจ จนกลายเป็นร่องรอยบาดแผลไปตลอดชีวิต
ระหว่างทางของขบวนไพรด์ เราได้เจอกับครอบครัวหนึ่ง… โบว์พาลูก ๆ วัยกำลังน่ารัก 2 คน มายืนดูพาเหรด เมื่อถามถึงการเลี้ยงดูลูก เธอก็มีมุมมองที่น่าสนใจ และตรงกับโจทย์ครอบครัวในยุคนี้
“ถ้าลูกเป็น LGBTQIAN+ เหรอ พี่ยอมรับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ซีเรียสว่า น้องเขาจะเป็นเพศอะไร เป็นเพศอะไรก็ได้ ขอแค่เขามีความสุขก็พอ”
นี่อาจเป็นคำตอบดูง่าย สำหรับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของคนเป็นแม่ ในการทำให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูก ๆ และเธอเห็นด้วยกับการที่ LGBTQIAN+ มีพื้นที่ในการแสดงออกตัวตน เพราะมองว่า ทัศนคติ อิสระทางความคิด และการเป็นตัวตนไม่ควรต้องถูกตีกรอบ
ปรับทัศนคติ เปิดพื้นที่โอกาส ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนี้ การเรียนรู้ความหลากหลาย และเคารพในความแตกต่างของมนุษย์ตั้งแต่เด็กนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการรังแกกัน เพราะเมื่อก่อนมักเกิดปัญหาการกลั่นแกล้งคนที่เป็น LGBTQIAN+ แต่ในยุคนี้เธอคิดว่า ต้องให้ความเท่าเทียมกับทุกคน
ภายในขบวนพาเหรดครั้งนี้ ยังมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วม พวกเขาอยู่ในรั้วอุดมศึกษา ที่ต่างก็ได้ให้การสนับสนุน และให้อิสระต่อการแต่งกาย แต่งเครื่องแบบ ที่ไม่ยึดติดด้วยเพศกำเนิด
หนึ่งในนั้นคือ ต้นเพชร นิสิตชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (RBAC) เขามาร่วมช่วยจัดงาน และดูแลความเรียบร้อยของขบวน เขารู้สึกดีมาก ที่มหาวิทยาลัยเปิดรับ LGBTQIAN+ มากขึ้น และอนุญาตให้นิสิตนักศึกษาเพศหลากหลายสามารถแต่งกายตามเพศสภาพของตัวเองได้
นี่ยังไม่เท่ากับทัศนคติของบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่ต่างก็เปิดกว้าง ให้การต้อนรับน้อง ๆ ที่เป็นกลุ่ม LGBTQIAN+ เป็นอย่างดี และปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อทุกคน หลังสมรสเท่าเทียมผ่าน ต้นเพชร คิดว่า สังคมจะแสดงความยินดีมากขึ้น ยอมรับมากขึ้น ทำให้ทุกคนสามารถเปิดเผยความเป็นตัวเองได้มากขึ้นด้วย
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งของผู้คนในย่านบางกะปิที่มีต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ แม้นำมาอ้างอิงไม่ได้ว่านี่คือเสียงสะท้อนของผู้คนส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ คือ แนวโน้มทัศนคติต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ ในภาพรวมของกลุ่มคนหลายรุ่น หลากวัย มีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น
ในช่วงเวลาที่รอกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้ ถึงวันนั้นกฎหมายจะสามารถพลิกโฉมความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมเดิม ๆ ได้แค่ไหน นี่อาจเป็นความท้าทายของการทำให้สังคมไทย ยอมรับ เคารพ และโอบรับความแตกต่างได้อย่างแท้จริง