วิพากษ์ ท้าทาย “พระพุทธศาสนา” เป็นเรื่องธรรมดา | พระไพศาล วิสาโล

“พระพุทธศาสนา” กับความท้าทายที่พร้อมให้พิสูจน์… 

“วันนี้ วันพระ” วลีเชื่อมสังคมไทยกับพุทธศาสนาในหลายบริบท ผ่านสปอตโทรทัศน์ ย้ำเตือนวันสำคัญ บางครั้งสอดแทรกพระธรรมคำสอน หรือประโยคธรรมคำเทศนาของพระสงฆ์รูปดัง

หากไปตามหมู่บ้านร้านตลาด วลีนี้ จะปรากฏอยู่บนแผงขายดอกไม้ พวงมาลัย หวังพุทธศาสนิกซื้อหาเพื่อนำไปบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือไหว้สาเจ้าที่เจ้าทาง บ้างก็บรรพบุรุษ บางร้านติดป้ายแจ้งเตือนล่วงหน้า “พรุ่งนี้ วันพระ” บอกกล่าวแจ้งข่าวคนร่วมสมัย ที่อาจห่างหายจากศาสตร์การนับข้างขึ้นข้างแรม เพราะถูกแทนที่ด้วยปฏิทิน

โลกสมัยใหม่ทุกองคาพยพปรับเปลี่ยน หลักคิด อำนาจ ความเชื่อ ความจริง ก็ถูกท้าทาย ไม่เว้นแม้แต่วงการสงฆ์ ที่รวมไปถึงพระธรรมคำสอนและพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

ปรากฏการณ์คนมากกว่า 2 แสน ชมไลฟ์สดของ 2 พระมหาชื่อดังแห่งวัดสร้อยทอง พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต อาจเป็นครั้งแรกที่ผู้คนจำนวนมากรวมตัวกันฟังพระสนทนากันโดยมิได้นัดหมาย ก่อนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

The Active ไม่ชวนหาคำตอบถึงเหตุผล ลีลา หรือคำพูดชวนขันโดนใจวัยรุ่น จากวาทะการเทศน์ แต่ชวนมองปรากฏการณ์สังคมที่กำลังแลกเปลี่ยนกรอบความคิด ที่มีต่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่ จากทัศนะของ ‘พระไพศาล วิสาโล’ (วงศ์วรวิสิทธิ์) เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ พระนักเผยแผ่ พระนักวิชาการ นักคิดนักเขียนพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ และยังถือเป็นพระนักปฏิบัติธรรม นักบรรยายธรรมที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการเผยแผ่ธรรมะ

ปรากฏการณ์นี้ พระไพศาลเห็นว่าเป็นเรื่อง “ธรรมดาปกติ” และการวิพากษ์เป็นสิ่งที่ “พุทธศาสนา” เผชิญทุกยุคทุกสมัย นัยหนึ่งก็ทำให้สืบทอดมาได้นับพันปี เพราะการท้าทายที่พร้อมให้พิสูจน์

ภาพ: สถาบันอาศรมศิลป์

การเทศน์หรือบรรยายธรรมแบบขำขัน มีมาตั้งแต่อดีต

ทุกสมัยมีการเทศน์แบบสนุก เมื่อ 200-300 ปีก่อนก็มี เช่น การเทศน์ธรรมาสน์ เทศน์แหล่ การแหล่เป็นความบันเทิงของชาวบ้าน เช่น การเทศน์เลียนแบบชูชก (เทศน์กัณฑ์ชูชก) ก็ออกท่าทางเหมือนชูชก คนก็หัวเราะกัน การเทศน์แบบนี้เคยเฟื่องฟูในยุคหนึ่ง กระทั่งพระผู้ใหญ่ในระดับแกนนำในการปฏิรูปสงฆ์ก็สั่งห้าม ต้องเข้าใจว่าเมื่อ 100 กว่าปีก่อน มีการปฏิรูปคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์ก็พยายามปฏิรูปคณะสงฆ์ โดยเฉพาะการเทศน์ ให้มีเนื้อหาสาระเทศน์ตามคัมภีร์ คือ พระไตรปิฏก ต้องสำรวม เมื่อมีการสั่งห้ามไม่ให้เทศน์แบบนี้ ก็ซาไป แต่ในชนบทยังมี แต่ก็ซาไป เพราะคนเริ่มไม่นิยมแล้ว เพราะมีการเทศน์แบบใหม่เกิดขึ้น

มันมีการต่อสู้กัน ระหว่างการเทศน์แบบสำรวม มาตรฐาน กับการเทศน์แบบชาวบ้าน เฮฮา สนุกสนาน แต่หลัง ๆ ก็ค่อย ๆ เลือนหายตามกาลเวลา เพราะมีการเทศน์แบบใหม่เกิดขึ้น

พระอาจารย์พยอม (พระราชธรรมนิเทศ – พยอม กลฺยาโณ) ก็สนุกเหมือนกัน เทศน์ตลก อย่างเทปของท่านขายได้มากกว่าเทปเพลงอีก มันก็มีมาเรื่อย เพียงแต่ว่าฝ่ายที่เป็นผู้ปกครองขณะสงฆ์หรือฝ่ายหัวเก่าจะคุมได้มากน้อยแค่ไหน สมัยนี้คุมไม่ได้แล้ว เพราะขาดความศรัทธาจากญาติโยม หรือแม้แต่พระสงฆ์ด้วยกัน เรื่องนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าสมัยนี้สื่อโซเชียลทำให้เรื่องนี้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง ปฏิกิริยาจึงกว้างขวางเช่นกัน

ควรมีทางเลือกฟังเทศน์หลากหลายตามที่ตัวเองชอบ ?

เห็นด้วย แต่ก็ต้องมีการควบคุมกันเองในหมู่คณะสงฆ์ ในสมัยที่คณะสงฆ์เข้มแข็งโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ ก็จะเห็นว่าเท่าไหร่จะพอเหมาะพอควร มันควรจะเป็นแบบนั้น เหมือนวงการสื่อที่ต้องคุมกันเอง ไม่ใช่ปล่อยเสรี แต่ก็ไม่ควรคุมมากเกินไป ถ้าไม่เกินเลยมากนัก ก็ควรอนุญาตให้ทำได้ ต้องใจกว้างและเข้าใจสังคมด้วย 

บทบาทพระสงฆ์ การเทศน์ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ?

“มันต้องปรับเปลี่ยนอยู่แล้ว ปัญหาคือว่าชาวพุทธมีหลายเฉด หลายกลุ่ม หลากหลาย ดังนั้น วิธีการเทศน์ วิธีการใด วิธีการหนึ่ง มันไม่สามารถที่จะตอบสนองตอบโจทย์ความต้องการของชาวพุทธได้ทั้งหมด”

เช่น การเทศน์ของอาตมาก็อาจเหมาะกับวัย 40-60 ปี แต่ว่าคนอายุต่ำกว่า 20 วัยรุ่น การเทศน์ของอาตมาไม่มีผลต่อเขาเท่าไหร่ ต้องมีวิธีการเทศน์อีกแบบหนึ่ง ที่จะสื่อกับคนเหล่านี้ได้ วิธีการสื่อแบบนี้อาจจะเหมาะกับวัยรุ่น Gen Z  ชาวพุทธก็เช่นเดียวกัน มีหลายกลุ่ม หลายเฉดแตกต่างกันไปตามวัย วุฒิการศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจ ไม่มีวิธีการใดที่จะแสดงธรรมะที่เหมาะกับคนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้ เลยจำเป็นต้องมีความหลากหลายในการเทศน์ มันก็มักจะถูกใจคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ถูกใจคนกลุ่มหนึ่งเสมอไป เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ

ลีลาการเทศน์ปรับเปลี่ยนตามกลุ่มเป้าหมาย แต่ประโยชน์จากการฟังธรรมคืออะไร

ต้องทำให้ลดความเห็นแก่ตัว รู้จักตัวเอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับผู้อื่น รู้จักแก้ทุกข์ได้ด้วยตัวเอง สรุปง่าย ๆ ด้วยคำพูดท่านอาจารย์พุทธทาสที่ว่า สงบเย็นและเป็นประโยชน์ การเทศน์ต้องทำให้คนเข้าถึงความสงบเย็นและจิตใจ ไม่ใช่ความสุขจากการเสพ จากการบริโภค ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เสียสละ มีเมตตา อาตมาว่าอันนี้เป็นเรื่องหลัก ๆ ความสนุกสนานก็เป็นแค่ส่วนประกอบ เป็นสื่อสะพาน สมัยนี้เราต้องยอมรับว่าทุกอย่างมันเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ไปแล้ว 

อย่างข่าวก็มีเส้นแบ่งระหว่างข่าวและเอนเตอร์เทนเมนต์ที่บางมาก ดราม่าหรือสารคดีข่าวก็แยกไม่ออก ความบันเทิงมันเป็นสิ่งที่จำเป็นในทุกองคาพยพ เพราะคนเครียดหรือเป็นเพราะคู่แข่งเยอะ จึงต้องเอาความสนุกความบันเทิงมาเป็นตัวนำ ธรรมะก็หนีไม่พ้นปรากฏการณ์แบบนี้ 

ธรรมะที่จะสื่อกับคนวงกว้างได้ มันก็ต้องมีความสนุก มีความบันเทิงบ้าง จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ อันนี้สำหรับคนกลุ่มใหญ่ แต่สำหรับคนกลุ่มเล็กมันไม่จำเป็นหรอก 

สมัยนี้จะพาคนเข้าหาธรรมะ มันก็ต้องมีความสนุกเป็นตัวดึง เหมือนคนกลุ่มหนึ่งจะดึงเข้ามาให้สนใจธรรมะ คุณก็ต้องดึงเรื่องของวัตถุมงคล เรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ทุกวันนี้ยังมีหลายสำนักที่ใช้สิ่งนี้เป็นตัวล่อเพื่อดึงหาเข้าธรรมะ เป็นเรื่องที่รับได้ แต่ถ้าหากว่ามีแต่เรื่องของอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์ล้วน ๆ ที่คนไม่ได้เข้าถึงธรรมะเลย อันนี้ไม่เหมาะ อันนี้มันเป็นสิ่งที่มีมาโดยตลอด ทุกยุคทุกสมัย 

ลีลา ความสนุก มาตรฐานแค่ไหนถึงเรียกว่าเหมาะ ?

สมัยนี้ไม่มีมาตรฐานแล้วหละ มาตรฐานทั้งหลายทั้งปวงถูกท้าทาย ถูกรื้อสร้าง ทุกวงการไม่มีมาตรฐาน ก็อาจจะมี แต่ถูกท้าทาย ในยุคนี้อาตมาคิดว่าไม่มีมาตรฐานแล้วหละ โดยเฉพาะที่ยอมรับของทุกฝ่าย คนรุ่นใหม่จะไม่ยอมรับมาตรฐาน ว่าพระต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ 

การติดกัณฑ์เทศน์ ขอบริจาค โฆษณาสินค้า ชื่อเสียงตัวตน ขัดกับหลักธรรมคำสอนไหม ?

เรื่องชื่อเสียง เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ถ้าไม่ระวังก็อาจจะเสียผู้เสียคนได้ มันมีทุกยุคทุกสมัย พระดังจากการเทศน์ แม้ว่าจะไม่ได้ผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะสมัยนั้นยังไม่มี ท่านก็หลงในลาภสักการะได้อยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องที่เจ้าตัวต้องระมัดระวัง ถ้ามีกัลยาณมิตรที่ดีก็จะช่วยเตือนไม่ให้ไปในทางที่ผิด อันนี้เรื่องชื่อเสียงนะ 

ส่วนเรื่องเงินก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน ต้องทำให้โปร่งใส เป็นเรื่องของศรัทธาญาติโยมที่เขาศรัทธาถวาย ไม่ใช่การที่ไปร้องขอ เรียกเพื่อเป็นเงินรางวัล แม้จะพูดหยอกก็ต้องระวัง เพราะมันเป็นสิ่งที่พระไม่ควรทำ และแม้จะไม่ได้ขอ มีคนถวาย ทำให้แน่ใจว่ามันไม่ได้เข้าพกเข้าห่อ เข้ากระเป๋าตัวเอง แต่ว่าถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม อาจจะมีการทำบัญชีให้ชัดเจน ไม่ใช่บัญชีส่วนตัว เพราะตามพระวินัยเทศน์ แสดงธรรมเพื่อรับเงิน ไม่มีการร้องขอแม้แต่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วมีคนมาถวายอาหารให้ ท่านก็ไม่รับ เพราะว่าการแสดงธรรมเสมือนเป็นการแสดงรางวัลหรือการแสดงการตอบแทน และยังมีพระวินัยที่ห้ามพระจับเงินจับทองเพราะนั้นเรื่องเงินทอง ขื่อเสียงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

การท้าทาย สะท้อนถึงความถดถอย หรือสังคมกำลังเปิดกว้าง?

อาตมามองว่ามันเป็นแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ (Modernization) สมัยอาตมาเป็นเด็ก ศาสนาถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกท้าทาย นักคิดอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ก็วิจารณ์ศาสนาอย่างรุนแรง รุ่นอาตมาเองก็วิจารณ์ศาสนา แต่พอคนเหล่านี้แก่ตัวลง ก็หันมาเข้าวัดปฏิบัติธรรม มันธรรมดานะ ในการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อาตมาไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องตื่นเต้นอะไรเลย เขาก็ไม่ได้วิจารณ์แค่ศาสนา วิจารณ์อย่างอื่นด้วย วิจารณ์พ่อแม่ ตอนอาตมาเป็นวัยรุ่น อาตมาก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา

จริง ๆ แล้วสำหรับพุทธศาสนา เป็นเรื่องธรรมดามาก ศาสนาที่อยู่มาได้ทุกวันนี้ คงทนต่อการทดสอบ พร้อมจะให้ท้าทาย พร้อมที่จะถูกทดสอบ คนที่ตั้งคำถามว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหม ก็มีคนตั้งคำถามแบบนี้มาตลอด

ในทางพุทธศาสนา ไม่สำคัญว่าพระพุทธเจ้าจะมีจริงหรือเปล่า พระพุทธเจ้าไม่มีจริงก็ได้ เพราะอาตมาถือว่าคำสอนของพุทธศาสนาหรือของพระพุทธเจ้ามันช่วยคนได้หรือไม่ แล้วที่ผ่านมามันพิสูจน์ว่าถ้าปฏิบัติจริง ช่วยให้ทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้นได้ 

แต่แน่นอนว่าศาสนาเหมือนกับสิ่งอื่น บางช่วงก็มีขึ้น มีลง บางช่วงเติมแต่ง ถูกใช้ในทางที่ผิด เพราะฉะนั้น ศาสนาบางยุค บางสมัย ก็ไม่น่าศรัทธา แต่เป็นเรื่องของสถาบันมากกว่าเนื้อตัวศาสนาเอง หรือหลักธรรมในศาสนาเอง

การแสดงความคิดเห็น หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง พระสงฆ์ควรมีท่าทีอย่างไรเพื่อประโยชน์ต่อสังคม

อาตมาให้หลักการกว้าง ๆ อย่าถึงขั้นไปเป็นฝักเป็นฝ่ายกับใคร เพราะว่าทำแบบนั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือ เอาธรรมะมานำแสดง มานำเสนอ เพื่อให้คนตัดสินเองว่าสิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร หรือไม่ควรเป็นอย่างไร อาตมาคิดว่าตรงนั้นเป็นสิ่งที่น่าจะเหมาะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะพูดอะไร ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าพูดอะไร แต่อยู่ที่ว่าคนพูดเป็นใคร อยู่พวกเดียวกับเราไหม เป็นพวกเราหรือเปล่า เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเนื้อหาที่แสดงจริง ๆ 

อาตมารู้สึกว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสียงสรรเสริญที่เกิดขึ้นในกรณีไลฟ์สดที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา ท่าทีของผู้แสดง มันขึ้นอยู่กับว่าผู้พูดอยู่ฝ่ายไหน ถ้าอยู่ฝ่ายเดียวกัน ก็สรรเสริญ ถ้าอยู่คนละฝ่าย ก็วิพากษ์วิจารณ์ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวงการนะ 

เพราะฉะนั้น ตอนนี้คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าพูดดีไหม แต่อยู่ฝ่ายไหน ทำให้การแสดงความเห็นบางครั้ง แม้จะพูดดียังไงก็ไม่ฟัง ถ้ารู้สึกว่าอยู่คนละฝ่ายกับตัว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงความเห็นจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม ในทางธรรมอธิบายปรากฏการ์นี้อย่างไร

ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและวิธีคิด ซึ่งคนจำนวนหนึ่งก็ตามไม่ทัน รับไม่ได้ ขัดอกขัดใจในทางพระพุทธศาสนา คือ เรื่องของอปทาน ยึดติด เมื่อยึดติดวิธีการใด วิธีการหนึ่ง รูปแบบหนึ่ง พอมันเปลี่ยนไปด้วยเหตุที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป หลายคนรู้สึกว่ารับไม่ได้ เพราะมันไม่เป็นไปตามที่ตัวเองคาดหวัง ตอนนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปเร็วมาก แล้วคนที่เขายึดติดกับบางสิ่งบางอย่างในอดีต และเห็นบางสิ่งมันแปรเปลี่ยนไป หรือกำลังเปลี่ยนไป ก็รู้สึกตกใจ รู้สึกรับไม่ได้ รู้สึกถูกคุกคาม ก็มีแนวโน้มว่าเกิดความกลัว เกิดความระแวง นำไปสู่ปฏิกิริยาที่เป็นการต่อต้าน หรือไปในทางสุดโต่งมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก 

เมื่อยุคสมัยแบบโลกาภิวัฒน์ มันแพร่ไปสู่ประเทศใด ก็จะมีคนต่อต้าน โลกาภิวัฒน์ก็จะสวิงกลับไปที่ Conservative หรืออนุรักษ์นิยม พวกนี้ก็จะเข้าหาศาสนาในแบบหัวเก่า ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม อิสลาม คริสต์ ในอเมริกาก็มีที่คริสต์สวิงกลับไปที่เป็นพวกหัวเก่า หรือในตะวันออกกลางก็มี ในหลายประเทศนับถือศาสนาอิสลามก็เป็นแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง เป็นเรื่องธรรมดาต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ตัวเองรับไม่ได้ ไม่เข้าใจ เกิดเป็นสองขั้ว คือ ขั้วหัวใหม่กับขั้วเก่า แล้วก็ปะทะกัน 

อันนี้คือสิ่งที่อาตมาคิดว่าเกิดขึ้นในเมืองไทยเช่นเดียวกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งหลายฝ่ายรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองรัก นับถือ กำลังจะหายไป เขาก็เลยต่อต้าน ก็เรียกว่าสวิงไปอนุรักษ์นิยมหรือสุดขั้นก็มี 

ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าอปทาน เรื่องของความยึดติด คนเราเมื่อยึดติดสิ่งใด เมื่อสูญเสียไป ก็จะรู้สึกสั่นคลอนเป็นทุกข์ ก็จะพยายามทำทุกอย่างที่จะรักษาสิ่งที่ยึดถือเอาไว้  ก็จะเกิดความรู้สึกกลัว โกรธ เกลียดขึ้นมา ก็เลยเกิดการปะทะกัน

ความคืบหน้าของการปฏิรูปสงฆ์ที่พยายามก่อนหน้านี้ ? 

มันควรปฏิรูปนานแล้ว เพราะปัญหาพระสงฆ์มีเยอะ เมื่อเทียบกับปัญหาไลฟ์สดถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในวัด หรือที่เกิดกับพระที่หนักหนาสาหัสกว่านี้ รวมทั้งปัญหาพระที่มีจำนวนน้อยลงไปเรื่อย คุณภาพพระสงฆ์มีคุณภาพต่ำลงไปเรื่อย การสอบมีการทุจริตในห้องสอบมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณภาพการสอนก็ต่ำลงเรื่อย ๆ พวกนี้ล้วนบ่งชี้ว่าควรจะต้องมีการปฏิรูปคณะสงฆ์ แต่ก็ไม่มีใครจะเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ และในไทยเองก็ไม่มีการริเริ่มที่มาจากพระสงฆ์เอง ยกเว้นสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นครั้งเดียวที่การปฏิรูปพระสงฆ์มาจากพระสงฆ์เอง ที่เหลือก็มาจากฝ่ายบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ 

เพราะฉะนั้น ปัจจุบันอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่ที่รัฐบาล แต่รัฐบาลก็ไม่แตะเรื่องนี้ พระสงฆ์ก็ไม่ได้สนใจ มีแต่ชาวบ้านประชาชนผลักดัน แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจเหมือนกัน เลยเป็นปัญหาที่ไม่มีเจ้าภาพ ตอนนี้ควรพูดคุยเรื่องปฏิรูปอีกครั้ง แต่ไม่ทราบว่ามีการพูดคุยกันหรือเปล่า แต่การรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ให้ทรุดไปกว่านี้ คณะสงฆ์ก็มองว่ายาก จะรื้อให้ดีกว่านี้ยิ่งยากไปใหญ่

ควบคุมกันเองในระดับท้องถิ่นและยืดหยุ่น ?

ไม่ใช่การควบคุม แต่ต้องเป็นการตรวจสอบ ส่งเสริมด้วย และที่จริงอาตมาเห็นว่าไม่ใช่แค่พระสงฆ์นะ แต่มันควรมีส่วนร่วมของฆราวาสด้วย มีสภาจังหวัดลงมาถึงระดับตำบล เป็นสภาที่พระสงฆ์และฆราวาสได้ปรึกษาหารือกับเกี่ยวกับการจัดการพระสงฆ์ พุทธศาสนาในท้องถิ่นจะทำให้พุทธศาสนาเข้มแข็ง ตอบสนองปัญหาสังคมในท้องถิ่นได้ดีขึ้น แต่นี่ก็เป็นแค่ความคิดแต่ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ท้ายที่สุด ไม่ว่าเวลานี้ ธรรมที่พุทธศาสนิกชนควรยึดถือปฏิบัติจะมีรูปแบบ วิธีการ เนื้อหาแบบใด สุดแท้แต่จริตของแต่ละคน  

“ขอให้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต ตั้งมั่นในความเพียร หมั่นมองตน ฝึกตนให้เจริญงอกงาม ถ้าเราหมั่นมองตน เราจะพบความสุขว่าอยู่ที่ใจเรา และรู้จักนำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็เจริญงอกงามและนำมาใช้ต่อส่วนรวมได้ ธรรมะช่วยให้เราได้รู้จักตัวเอง ได้พบความสุขภายใน เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ทำเพื่อประโยชน์เพื่อส่วนรวม ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป เจริญพร”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์