ปัจจุบัน “การทำประมงอย่างยั่งยืน” ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการจับจ่ายของผู้บริโภค การรู้แหล่งที่มาหรือมี “มาตรฐาน” รับรองว่าอาหารทะเลที่กำลังเลือกซื้อนั้น มาจากการทำประมงที่ไม่ใช้เครื่องมือทำลายล้าง ไม่ใช้สารฟอร์มาลีนหรือสารเคมีปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และมีการดูแลแรงงานประมงเป็นอย่างดี ก็จะยิ่งช่วยทำให้อาหารทะเลจากร้านนั้นถูกเลือกซื้อมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อรายได้ของชาวประมงพื้นบ้านที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
การกำหนดมาตรฐานรับรองสินค้าประมงพื้นบ้านที่มาจากการทำประมงยั่งยืน ผ่าน “ระเบียบว่าด้วยการขอและการออกใบรับรองมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ.2563” ที่อธิบดีกรมประมงเพิ่งลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงเป็นถือเป็นก้าวสำคัญที่เครือข่ายประมงพื้นบ้านเห็นว่าจะช่วยขยายแนวคิดการทำประมงยั่งยืนให้กว้างขึ้น
ซึ่งในที่สุดแล้วผลดีจะไม่เกิดขึ้นแต่ชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อทรัพยากรทางทะเลและผู้บริโภค เพราะ การประมงยั่งยืน คือ คนจับปลาอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้
1 ตุลาคม 2563 เริ่มใช้ระเบียบมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ลงนามประกาศใช้ “ระเบียบว่าด้วยการขอและการออกใบรับรองมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ. 2563” โดยระเบียบฯ นี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป
ระเบียบฯ ระบุว่า เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่น ในการจัดการ บำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในทะเล การทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน และการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้านให้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
โดยสาระสำคัญของระเบียบฯ กำหนดให้ “ผู้ทำการประมงพื้นบ้าน” หรือ “ผู้แปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน” สามารถยื่นขอการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงพื้นบ้านจากกรมประมงได้ โดย “การทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน” ที่จะได้รับการรับรอง ต้องเป็นการทำการประมงโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของชุมชน ใช้เรือประมงที่มีขนาดไม่ถึงสิบตันกรอส โดยสามารถทำการประมงได้ทั้งในทะเลชายฝั่ง ทะเลนอกชายฝั่ง และทะเลสาบสงขลาทั้งตอนนอกและตอนกลาง
ส่วนขั้นตอนการขอใบรับรองมาตรฐาน กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์ยื่นขอใบรับรองที่สำนักงานประมงจังหวัด หรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ติดทะเล หลังจากนั้น “ผู้ตรวจสอบประเมิน” ที่ผ่านการฝึกอบรมการตรวจประเมินตามมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้านจะเข้าทำการตรวจประเมิน หากผ่านก็จะส่งผลการตรวจให้ผู้มีอำนาจลงนามในใบรับรอง ทั้งนี้ ใบรับรองมีอายุ 2 ปี และสามารถต่ออายุใบรับรองได้ โดยต้องยื่นขอต่ออายุใบรับรองก่อนหมดอายุ 30 วัน
การประมงยั่งยืน : คนจับปลาอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ ทะเลอยู่ได้
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าวว่า ระเบียบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเครือข่ายประมงพื้นบ้านร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทยได้ร่วมกันเรียกร้องมาหลายปีก่อนหน้านี้ โดยมองว่าการแก้ปัญหาการทำประมงแบบทำลายล้างนั้น นอกจากการใช้มาตรการบังคับทางกฎหมาย ก็ควรจะมีด้านการส่งเสริมการทำประมงยั่งยืนแบบสมัครใจด้วย เพื่อให้ชาวประมงหันมาทำการประมงแบบคุณภาพมากขึ้นที่ต้องตอบโจทย์รายได้ไปพร้อมกันด้วย
“โจทย์คือแล้วจะทำอย่างไรให้เป็นการทำประมงแบบมีคุณภาพโดยมีรายได้ด้วย จากที่เคยคิดว่าต้องจับให้เยอะๆ เพื่อจะมีรายได้มากขึ้น ก็มีแนวคิดใหม่เรื่องการประมงยั่งยืน คือคนจับปลาอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ ก็คือการจับแต่พอควรตามขนาดตัวเต็มวัยและขายได้ในมูลค่าที่เหมาะสมกับการลงทุน”
แม้ที่ผ่านมาจะมีการออกมาตรฐานระดับโลกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการประมง แต่เป็นมาตรฐานที่มี Scale ใหญ่ ทำให้ชาวประมงรายย่อยเข้าถึงได้ยาก เพราะต้องใช้ทั้งต้นทุนจำนวนมากและมีมาตรการหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติตาม จึงอยากจะให้ประเทศไทยมีอีกมาตรฐานเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านเฉพาะ
“ระเบียบนี้จะรับประกันว่ามาจากประมงพื้นบ้านแท้ๆ ไม่สวม เพราะที่ผ่านมาก็พบหลายกรณีที่บอกว่าเป็นประมงพื้นบ้าน แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือเปล่า คำว่ารับประกันก็คือ ต้องไปตรวจว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เดิมเราทำกันเองตรวจกันเองในเครือข่าย มันก็ได้ระดับหนึ่งถ้าผู้บริโภคเขาเชื่อ แต่ถ้าให้ดีควรเป็นบุคคลที่สาม คือคนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง”
แม้ระเบียบนี้เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา แต่วิโชคศักดิ์กล่าวว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายประมงพื้นบ้านกับกรมประมงมาก่อนหน้าหลายปีแล้ว ถือเป็นข้อเรียกร้องที่คืบหน้าที่สุดกับกรมประมง ซึ่งอาจเพราะเป็นข้อเรียกร้องไม่มีความขัดแย้งกับใคร เป็นเหมือนงานส่งเสริม
จาก Blue Brand สู่มาตรฐานประมงพื้นบ้านไทย
วิโชคศักดิ์เล่าย้อนว่า ก่อนหน้านี้ “ร้านคนจับปลา” ซึ่งเป็น Brand ของเครือข่ายประมงพื้นบ้านก็เคยใช้มาตรฐาน “Blue” ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาเอง แต่ก็สามารถใช้ได้เฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านในเครือข่ายเท่านั้น แต่หลังจากนี้ก็จะไปขอมาตรฐานที่ออกตามระเบียบนี้จากกรมประมงด้วย ซึ่งเป็นข้อดีของมาตรฐานนี้ที่ไม่ต้องเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้านของเครือข่ายก็สามารถเข้าไปใช้ได้
“เมื่อมีฐานะเป็นประกาศของรัฐ ชาวประมงหรือผู้ประกอบการทั่วไปก็สามารถไปขอเพื่อการรับรองมาตรฐานนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพวกหรือรู้จักกันมาก่อน ข้อดีคือมันจะขยายไปได้มากกว่าเดิม ที่เครือข่ายทำมาก็ได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของชาวประมงทั้งหมดเท่านั้น แต่คนที่จะต้องมีหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมการประมงยั่งยืนมันต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ”
แม้จะขยายวงออกไปได้กว้างกว่าเดิม แต่วิโชคศักดิ์ก็กังวลว่า การเบิกจ่ายงบประมาณที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำงานของผู้ตรวจสอบประเมิน เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง หรือค่าอุปกรณ์ต่างๆ อาจมีปัญหาติดขัดจากระเบียบราชการ ซึ่งอาจต้องสนับสนุนงบประมาณในระยะเริ่มต้นอย่างน้อย 3-5 ปีแรก เพื่อไม่ทำให้ชาวประมงหรือผู้ประกอบการรู้สึกยุ่งยากจนไม่อยากขอใช้มาตรฐานนี้
“รัฐอาจต้องไปตั้งงบประมาณเพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ในระยะเริ่มต้นอย่างน้อย 3 – 5 ปี เพราะเวลาผู้ตรวจไปตรวจนั้นมีค่าใช้จ่าย มีค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอุปกรณ์ ซึ่งถ้าเป็นมาตรฐานโดยทั่วไปของเอกชน เช่น ขอมาตรฐานฮาลาล หรือ ISO ผู้ขอต้องเป็นผู้จ่าย รัฐจึงควรตั้งงบส่งเสริมตรงนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับชาวบ้าน และให้เรื่องนี้ได้กระจายไปสู่ชุมชนมากขึ้น”
วิโชคศักดิ์กล่าวว่า หากแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะถือเป็นมิติใหม่ของการทำประมงภายใต้มาตรฐานที่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องเป็นประมงพื้นบ้าน ต้องใช้เครื่องมือยั่งยืน ไม่มีสารฟอร์มาลีนหรือสารเคมีปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และต้องดูแลแรงงานอย่างดี ซึ่งหลักการเหล่านี้ก็คือเนื้อหาที่แท้จริงของการประมงยั่งยืน
“ถ้าทุกที่มีการขอมาตรฐานนี้เข้ามาเยอะๆ และทำให้ขายได้ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่าการประมงยั่งยืนก็เป็นไปตามอัตโนมัติ ทะเลก็ยั่งยืน ผู้บริโภคก็ปลอดภัย แรงงานก็ได้รับการดูแล”