ศึกซักฟอกรัฐบาลครั้งนี้ 1 ใน 10 รัฐมนตรี ที่ฝ่ายค้านจองกฐินมากที่สุด หนีไม่พ้นเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ถูกอภิปรายในวันนี้ (18 ก.พ.64) เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่าน นอกจากจะถูกมองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้ ยังถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มนักเรียนด้วยเหตุผล เพิกเฉยต่อการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา จนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ถูกกลุ่มนักเรียนออกมาขับไล่ และเกิดการดีเบตที่ด้านหน้ากระทรวง
1 ปี กับความรุนแรงในโรงเรียน 1,300 ครั้ง
แม้จะอยู่ในช่วงการเรียนออนไลน์ แต่ “ธญานี เจริญกูล” ตัวแทนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” ยังนัดกลุ่มเพื่อนๆ ร่วมจับตาการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายณัฏฐพล โดยเฉพาะท่าทีต่อกรณีการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา ในช่วงกว่า 1 ปี ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งพบกว่า 1,300 กรณี แบ่งเป็น การตัด กล้อนผมนักเรียน ลงโทษด้วยการตี ใช้คำพูดรุนแรง ตัดคะแนนจากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งล้วนขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษา พ.ศ.2548 และการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563
ขณะที่ช่องทางร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา ของกระทรวงศึกษาฯ ผ่านสายด่วน 1578 ซึ่งนายณัฏฐพล ชี้แจงว่า ในช่วง มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 รับร้องเรียนจำนวน 5 เรื่อง เป็นเรื่องเชิงชู้สาว 3 เรื่อง โดยได้ให้ผู้ที่ถูกร้องเรียน ออกจากราชการไว้ก่อน 2 เรื่อง ส่วนอีก 1 เรื่องนั้น ผู้ถูกร้องเรียนขอลาออกเอง พฤติกรรมหลอกลวง ฉ้อโกง 1 เรื่อง มีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว และเรื่องเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน 1 เรื่อง ซึ่งได้มีการตักเตือนแล้ว
ธญานี ระบุว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงระหว่างครู บุคลากรทางการศึกษา กับนักเรียนค่อนข้างมีความซับซ้อน และหลายครั้งช่องทางการร้องเรียนกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายนักเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
“สายด่วนที่รับเรื่องร้องเรียน ทำให้นักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย เหมือนมีตำรวจมาปล้นบ้านเราแต่เราไปแจ้งตำรวจอีกที การบังคับให้ต้องบอกข้อมูล ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าการแจ้งนั้นจะเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา ที่สำคัญคือโทรติดยาก จึงอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก เราต้องการรัฐมนตรีที่ทำงานเชิงรุก รับฟังปัญหาของเด็ก และช่องทางร้องเรียนที่ปลอดภัย ทั่วถึงกว่านี้”
ฝากความหวัง แต่ไม่คาดหวัง กับการอภิปรายครั้งนี้
แม้จะเป็น 1 ในรัฐมนตรีที่ถูกจับตามาที่สุดในศึกซักฟอกครั้งนี้ แต่ ธญานี เชื่อว่า กลไกรัฐสภาตอนนี้ น่าจะไม่ส่งผลต่อความมั่นคงในตำแหน่งเจ้ากระทวงศึกษาฯ เพียงแต่น่าจะทำให้ขาเก้าอี้สั่นไหวได้บ้าง เพราะอย่างน้อยประเด็นปัญหาของนักเรียน ก็ถูกนำขึ้นไปถกเถียงในรัฐสภาผ่านการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าผู้ใหญ่จะเข้าใจเด็กมากขึ้น ต้องขอบคุณ ส.ส.หลายท่าน ที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม และร่วมแลกเปลี่ยน ประเด็นปัญหาในการชุมนุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
ฝ่ายค้านร่ายยาว งบฯการศึกษา อาหารกลางวัน โยกย้ายตำแหน่งข้าราชการโดยมิชอบ
The Active พูดคุยกับ น.สพ.ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล 1 ใน ส.ส. ที่ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายณัฏฐพล เปิดเผยว่า มีอย่างน้อย 2 พรรค ที่ร่วมอภิปรายถึงความล้มเหลวในการบริหารด้านการศึกษา เฉพาะเขาเองมีหลักฐาน 3 ประเด็น คือ การเปลี่ยนแปลงงบประมาณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โครงการอาหารกลางวัน และการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่สำคัญในกระทรวง
ขณะที่ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา เป็นอีกประเด็นหลักที่พรรคฝ่ายค้านซักฟอกนายณัฏฐพลในวันนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่เริ่มจาก 3 ข้อเรียกร้อง คือหยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง และปฏิรูปการศึกษา พร้อมเงื่อนไขว่าหากทำไม่ได้ก็ให้ลาออกไป ก่อนจะยกระดับการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มราษฎร จนเป็นเหตุให้นักเรียน 3 คนถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“ในสภาฯ แรงกดดันไม่มากเท่าข้างนอก อยู่ที่ว่าในสภาฯ เรากล้าพูดตรงไปตรงมาแค่ไหน ต่อให้ไม่ใช่ผู้ที่สนับสนุนนักเรียนเลว ก็ต้องเข้าใจว่าเขามาเรียกร้องเพราะอะไร ไม่เช่นนั้นต่อไปถ้ามีเด็กติดคุกเพราะออกมาเรียกร้อง คนก็จะยิ่งซ้ำเติมเด็ก ดังนั้นถ้าในสภาฯจะปกป้องนักเรียนมันมีเหตุผลพอในการถอดถอนรัฐมนตรี”
แม้การเคลื่อนไหวของเด็ก ๆ จะถูกตั้งข้อสังเกตจากบางฝ่ายว่า หวังผลทางการเมือง แต่ต้องยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาระบบการศึกษาที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน แม้ในทางการเมืองทั้งตัวนักการเมือง และเยาวชน อาจไม่คาดหวังกับผลการลงมติ แต่นักรัฐศาสตร์ ประเมินว่า แม่จะไม่มีผลให้หลุดจากเก้าอี้ แต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสียงไว้วางใจน้อยกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ ความเป็นไปได้มากที่สุดคือเสียงของนักเรียน ที่จะทำให้องคาพยพทั้งกระทรวงศึกษาฯ เกิดภาวะเก้าอี้ร้อน และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในบางข้อเรียกร้องหลังจากนี้