ครบ 60 วัน สั่งรื้อคอยหอยอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือรื้อถอนไม่ถึง 60 หลัง
ครบกำหนด 60 วัน ให้ผู้ประกอบการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ทั้งขนำเฝ้าหอยและโฮมสเตย์ ที่บุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน ตามคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี นับตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา
พบว่ามีผู้ประกอบการให้ความร่วมมือรื้อถอนขนำด้วยตัวเองไม่ถึง 60 หลัง
ส่วนผู้ฝ่าฝืนบุกรุกสร้างขนำเลี้ยงหอยในพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบ และเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ แจ้งความดำเนินคดีรวม 170 คดี โดยศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 หรือ ศรชล.ภาค 2 จะดำเนินการเข้ารื้อถอนตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
รื้อขนำ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอาจไม่พอ ต้องไปให้ถึงความยั่งยืน
ประวีณ จุลภักดี อาจารย์พิเศษสาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหารื้อสิ่งปลูกสร้าง หรือขนำที่บุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น จึงจะต้องจับตามองต่อไปว่าในกระบวนการทั้งหมดที่ทำอยู่ จะสามารถแก้ปัญหาได้ถึงเป้าหมายสุดท้าย คือ การคืนพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน กลับคืนมาเป็นที่สาธารณะดังเดิม เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้หรือไม่
และสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปสนับสนุนองค์กรประมงท้องถิ่น ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ห้ามไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนองค์กรประมงท้องถิ่น ทำการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเลชายฝั่งเพื่อความยั่งยืน
“นอกจากนี้จะต้องพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และประมงพื้นบ้าน เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์ร่วม เรื่องการพัฒนาอ่าวบ้านดอนอย่างยั่งยืน และใช้ประโยชน์บนฐานของพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”
และสุดท้ายต้องมีคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง ที่คอยจับตาการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ที่จะดูแลรักษา ปกป้องฟื้นฟูอนุรักษ์คุ้มครองพื้นที่เหล่านี้ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่จะให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ไม่ให้เป็น “ไฟลามทุ่ง” ไปยังพื้นที่อื่นในอนาคต
ปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่นำมาหารือในที่ประชุมสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การท่องเที่ยวและเฝ้าระวังภัยพิบัติทางทะเล ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
ภายหลังการประชุมมีมติออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลว่า ปัญหาการใช้อิทธิพลแย่งยึดทะเลสาธารณะเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงในอ่าวบ้านดอน อาจลุกลามขยายไปยังพื้นที่จังหวัดชายฝั่งอื่น ๆ หากการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ประสบความสำเร็จ
สะมาแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่า สมาคมฯ สนับสนุนกลไกภาครัฐและประชาชน ทั้งในระดับพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกลไกของรัฐในระดับประเทศ ให้ยึดมั่นในหลักการใช้พื้นที่ทะเลสาธารณะอย่างยั่งยืน
“ต้องมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาในพื้นที่อ่าวบ้านดอน เป็นพื้นที่ตัวอย่างให้ได้ เพื่อไม่ให้เป็น ‘ไฟลามทุ่ง’ ในอนาคต ซึ่งสมาคมเห็นว่า การแก้ปัญหาแย่งยึดทะเลสาธารณะของประเทศไทยนั้น จะ สำเร็จก็บ้านดอน ล้มเหลวก็บ้านดอน”
และเพื่อหาทางป้องกันการแย่งยึดที่ทะเลสาธารณะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงของกลุ่มอิทธิพลทั่วประเทศ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง ต้องจัดทำข้อมูลพื้นที่เพาะเลี้ยงอนุญาต ทั้งหมดทุกประเภท ทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล และนำเข้าสู่การพิจารณาอย่างมีส่วนร่วม เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเอาไว้ก่อน
พร้อมกันนี้ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยังมีมติให้ แต่งตั้ง “คณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาอ่าวบ้านดอนขึ้น” เพื่อจับตาการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง
เสนอใช้กลไกระดับชาติ ตั้งคณะทำงานจากส่วนกลาง แก้ปัญหาอย่างจริงจัง
เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งเคยติดตามตรวจสอบประเด็นปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2561 เห็นว่า การแก้ไขปัญหานี้สั่งสมมานานและมีเบื้องหลัง จะใช้แค่กลไกในพื้นที่อาจไม่เพียงพอ
เพราะหากมองย้อนไป ถึงมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม.) ในขณะนั้น ชี้ชัดว่าหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขปัญหา ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามหน้าที่ของรัฐที่จะคุ้มครองและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้
กสม. จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้กรมประมง กรมเจ้าท่า และส่วนจังหวัด สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการต่อผู้ประกอบกิจการที่เพาะเลี้ยงหอยนอกเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประมง และเฝ้าระวังไม่ให้มีการเพาะเลี้ยงหอยหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างนอกพื้นที่ที่คณะกรรมการประมงจังหวัดกำหนด รวมทั้งตรวจตราไม่ให้มีการคราดหอยธรรมชาติด้วยเรือยนต์ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ
รวมทั้งควรมีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานส่วนจังหวัด กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งซึ่งจะมีการรื้อถอนคอกหอยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติ และควรอนุรักษ์ บำรุงรักษาและจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปอย่างยั่งยืน แต่ผ่านไป 2 ปี ปัญหานี้กลับยังไม่ถูกแก้ไข และสะสมมากขึ้นตามที่ปรากฏ
จึงสะท้อนชัดว่าความขัดแย้งนั้นรุนแรง และมีเบื้องหลัง มากกว่าที่กลไกจังหวัดจะรับมือได้ จึงมีข้อเสนอให้มีกลไกระดับชาติเข้ามาแก้ปัญหานี้
“ถ้ามีการตั้งคณะทำงานจากส่วนกลาง และมีการทำงานกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลภาคธุรกิจ หรือการเมือง ก็จะทำให้การแก้ปัญหาอ่าวบ้านดอน เป็นตัวอย่างรูปธรรม ของความร่วมมือ และกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งระดับนโยบายต้องเข้ามาหนุนเสริมท้องถิ่นที่อาจไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความถ่วงดุล”
บทส่งท้าย
จะ “สำเร็จ” ก็บ้านดอน “ล้มเหลว” ก็บ้านดอน ความเห็นจากที่ประชุมสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย หรือข้อเสนอของอดีตกรรมการสิทธิฯ หรือ นักวิชาการ ล้วนสะท้อนถึงมุมมองในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอ่าวบ้านดอน ที่อยากเห็นผลลัพธ์ที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลร่วมกันอย่างยั่งยืน และหากทำได้จริง จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการคลี่คลายปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่น ๆ