กู้ขยะ = กู้สมุย

คู่ขนานไปกับการเร่งค้นหาผู้ที่ยังสูญหายจากอุบัติเหตุเรือเฟอร์รี่ล่มกลางทะเลสมุย ในมุมมองของ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เห็นว่าการเก็บกู้ขยะก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำไปพร้อมกัน

เพราะหากปล่อยให้ขยะหลุดลอยออกไปในทะเล ไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศและสัตว์ทะเล แต่ยังส่งผลต่อเนื่องถึงการท่องเที่ยวเกาะสมุยที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ ที่ใช้ “ธรรมชาติ” เป็นจุดขาย

ห่วงขยะลอยติดปะการังเกาะสมุย และพื้นที่อ่อนไหวทางนิเวศเกาะแตน

ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า “เกาะสมุย” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสำคัญติด 1 ใน 3 ของประเทศ ผู้ที่มาเที่ยวเกาะสมุยส่วนใหญ่ ก็หวังจะเห็นธรรมชาติสวยงาม เกาะสมุยยังมีแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่สามารถพบเห็นได้รอบเกาะสมุยยาวไปถึงหมู่เกาะทะเลใต้ เช่น เกาะแตน ซึ่งหากรวมแนวปะการังทั้งหมู่เกาะทะเลใต้และเกาะสมุยเข้าด้วยกัน จะมีความยาวมากกว่า 70 กิโลเมตร

“แนวปะการังเหล่านี้เป็นแนวปะการังน้ำตื้น มีความสวยงามและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะช่วยป้องกันชายหาดให้เกาะสมุย และแน่นอนว่าถ้าไม่มีหาดทรายดี ๆ ก็คงจะไม่มีใครไปเที่ยวดูดินดูต้นมะพร้าวอย่างเดียว ถ้าไม่มีแนวปะการังพวกนั้น หาดทรายก็จะรับคลื่นและเกิดการกัดเซาะ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดเหตุเรือล่มและพบว่าในเรือที่ล่มมีขยะอยู่ด้วยนั้น ผศ.ธรณ์ เห็นว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างแรก คือ ที่มาของขยะที่พบว่าเป็นขยะชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ กองรวมกันอยู่นั้นมาจากไหน ข้อที่สอง หลังเกิดเหตุเรือล่ม ขยะยังอยู่ในที่ปิดมิดชิดหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ทราบคือขยะถูกวางอยู่บนรถขนธรรมดาที่เปิดโล่ง ดังนั้นโอกาสที่ขยะจะหลุดออกมาจึงเป็นไปได้มาก และข้อที่สาม คือ แม้ขยะอาจจะยังอยู่ในถุงที่อาจจะช่วยป้องกันได้บ้าง แต่ก็อาจจะมีบางส่วนที่แตกออกจากถุงและเกิดการกระจายไปในทะเล

ภาพก้อนขยะ
ภาพ | Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้

หากขยะหลุดกระจายลงในทะเลแล้ว ผศ.ธรณ์ บอกว่า ที่ต้องดูต่อไป คือ ขยะจะลอยไปที่ไหน โดยก่อนหน้านี้คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสน.) ได้ทำการปล่อย “ทุ่นสมุทรศาสตร์” ในบริเวณทะเลสมุยเพื่อสำรวจข้อมูลกระแสน้ำในพื้นที่ว่าไหลไปทิศทางใดบ้าง

“บริเวณนั้นกระแสน้ำจะวนไปมาและจะลอยเฉียงไปทางใต้เล็กน้อย สวนทางกับลมจะพัดขึ้นเฉียงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า พื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากขยะที่หลุดออกจากเรือเฟอร์รี่ที่จมคือ บริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะสมุย ตั้งแต่พื้นที่แหลมโจรคล่ำลงไปจนถึงอ่าวพังกาหรือสุดแหลม”

ภาพการเก็บข้อมูลทิศทางกระแสน้ำจากทุ่นสมุทรศาสตร์
ภาพ | Thon Thamrongnawasawat

อีกพื้นที่ที่ ผศ.ธรณ์ เห็นว่า น่าเป็นห่วงไม่ต่างกันก็คือ เกาะแตน ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่เกาะทะเลใต้ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลมาก เพราะมีถึง 6 ระบบนิเวศในเกาะเดียว ทั้งป่าดิบแล้ง ป่าชายหาด ป่าชายเลน หาดทราย แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก

“ข้อมูลกระแสน้ำจากทุ่นสมุทรศาสตร์ ระบุว่า อิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงบริเวณนี้มีสูงมาก และน้ำจะลอยวนไปมาในพื้นที่หลายวัน ซึ่งถ้ายิ่งหลายวันปัญหาขยะก็ยิ่งมีมาก มันจะลอยไปมาระหว่างร่องสมุยและมีโอกาสที่จะเข้าไปที่เกาะแตน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของเกาะแตนที่ปกติช่วงน้ำลงน้ำก็จะลงเยอะมากจนแห้งเกือบหมด ซึ่งหากมีขยะลอยไปบริเวณนั้นอีก ลองคิดภาพ พอน้ำลง ขยะกลับไม่ลงไปตามน้ำ ก็ไปติดตามปะการัง หญ้าทะเล เข้าไปถึงป่าชายเลนผืนใหญ่ ไปติดกองอยู่ ก็จะเป็นปัญหา”

ภาพระบบนิเวศทางฝั่งตะวันตกของเกาะแตน
ภาพ | Thon Thamrongnawasawat
ภาพขยะพลาสติกบางส่วนจากเรือล่ม เริ่มพบบนชายหาดเกาะแตน
ภาพ | Attapong Muangnin

ลูกเต่าทะเล 500 ตัว และโลมาสีชมพู อยู่ในรัศมีได้รับผลกระทบจากขยะ

อีกปัญหาหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ผลกระทบต่อเต่าทะเล หลังจากที่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีแม่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ที่เกาะสมุยมากถึง 19 รัง ซึ่งมีหลายรังที่ฟักเป็นตัวแล้วรวม ๆ ได้ลูกเต่าคืนทะเลเกือบ 500 ตัว และยังมีอีกหลายรังที่กำลังฟักอยู่ จึงน่าเป็นห่วงว่ารังไข่เต่าและลูกเต่าเหล่านี้จะได้รับอันตรายจากขยะด้วย โดยเฉพาะรังที่อยู่ทางใต้ของเกาะสมุย ซึ่งก็มีวี่แววว่าขยะจะลอยไปแถวนั้นเหมือนกัน

“ถ้าลูกเต่าออกมาพอดี ลูกเต่าก็อาจจะว่ายไปติดขยะ หรือไปกินขยะ ก็เป็นเรื่องความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลหายาก พื้นที่ใกล้เคียงกับตรงนั้น ก็ยังเป็นที่อยู่ของโลมาสีชมพูประมาณ 30 ตัว ซึ่งว่ายเฉียงไปมา เริ่มตั้งแต่ขนอม ไล่ขึ้นมาจนถึงดอนสัก คนที่ไปลงเรือเฟอรี่ก็จะเห็นว่ามีโลมาว่ายที่ท่าเรือเฟอรี่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นก็อยู่ในรัศมีของการหากิน และยังมี “โลมาอิรวดี” อีกหนึ่งฝูงประมาณ 10 กว่าตัว ที่ก็อยู่ในรัศมีของขยะด้วย”

กู้ขยะ กู้สมุย

ผศ.ธรณ์ เล่าย้อนว่า ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ระบาด เกาะสมุยก็มีโรงแรมมากกว่า 20,000 ห้อง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เยอะมากเกินไป ทำให้การท่องเที่ยวเกาะสมุยถึงทางตัน และเจอปัญหาค่าเงินบาทแข็ง หากย้อนดูข่าวช่วงปี 2562 จะห็นข่าวกลุ่มโรงแรมในเกาะสมุยขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะยอดนักท่องเที่ยวไม่เพิ่ม ดังนั้น โควิด-19 จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีของเกาะสมุย

หลังจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงและการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาอีกครั้ง หลายพื้นที่ใช้โอกาสนี้ทบทวนทิศทางการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่ไปด้วยกันได้กับธรรมชาติที่กำลังฟื้นตัว เช่นเดียวกับเกาะสมุยที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ โดยใช้ “ธรรมชาติ” มาเป็นจุดขาย แต่ขยะที่จมอยู่ในทะเลอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการพยายามฟื้นตัวของเกาะสมุย

ภาพหญ้าทะเลบริเวณอ่าวตก เกาะแตน
ภาพ | Thon Thamrongnawasawat

เพื่อจะไม่ให้ขยะสร้างปัญหามากกว่านี้ ผศ.ธรณ์ ยืนยันว่า ต้องรีบรู้ให้ได้ว่าขยะที่มากับเรือมีปริมาณเท่าไหร่กันแน่ เป็นขยะอะไรบ้าง ถูกมัดเป็นก้อนมาหรือเปล่า และต้องรีบจัดการก่อนที่ “ก้อนขยะ” จะแตกออกมา โดยอาจลงไปสำรวจบริเวณจุดที่เรือจมลงในทะเล และหาทางนำขยะขึ้นมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กู้เรืออย่างไรไม่ให้ขยะหลุดออกมาตอนกู้ เพราะขยะบางส่วนที่ยังอยู่ในเรือและอาจจะหลุดตอนกู้เรือ ก็ต้องหาทางป้องกันไม่ให้ขยะหลุดตอนกู้ รวมทั้งการหาวิธีลงไปเก็บขยะในขณะที่ยังกู้เรือขึ้นมาไม่ได้

“เนื่องจากการกู้เรือทำได้ยากมาก ไม่สามารถกู้เสร็จภายใน 3 วัน 7 วัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งถ้าไม่สามารถกู้ได้ในเวลาสั้น ก็ต้องหาวิธีอื่นในการนำขยะขึ้นมา เช่น ดำน้ำไปเก็บขึ้นมา ซึ่งเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยุ่งยากและต้องเป็นมืออาชีพ ต้องมีการวางแผนที่ชัดเจน ถูกต้อง และมีข้อมูลเพียงพอในการกู้เก็บขยะจากเรือ แต่แน่นอนว่ายิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะถ้ายิ่งช้า ขยะก็อาจจะแตกออกมาอีก”

อีกส่วนคือขยะที่หลุดลอยขึ้นมาบนผิวน้ำแล้ว ก็อาจใช้เรือตระเวนเก็บ และขยะส่วนคาดการณ์ว่าจะลอยไปกระทบกับชายหาดทางฝั่งตะวันตกของทั้งเกาะสมุยและเกาะแตนซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยไปเที่ยวและไม่มีคนอยู่อาศัย ก็ต้องใช้วิธีให้คนเดินเก็บตามชายหาดฝั่งตะวันตกของเกาะสมุยและเกาะแตน โดยอาจจัดกิจกรรมบิกคลีนนิ่งเดย์ ชวนนักท่องเที่ยวไปเป็นอาสาสมัครเดินเก็บขยะที่ลอยขึ้นมาทางฝั่งตะวันตกของทั้งเกาะสมุยและเกาะแตน

“ซึ่งทำแบบนี้ ยังเป็นการช่วยฟื้นการท่องเที่ยวเกาะสมุยได้อีกทางด้วย เพราะคนที่ไปก็คงไม่ไปเช้าเย็นกลับ ก็ต้องค้างคืน แบบนี้ผู้ประกอบการก็มาร่วมมือกันได้ เช่น อาจช่วยจัดที่พักหรือค่าเครื่องบินในราคาที่เหมาะสม และเชื่อว่าคนบนเกาะสมุยเองก็พร้อมจะช่วย”  

ภาพความสวยงามของอ่าวตก เกาะแตน
ภาพ | Thon Thamrongnawasawat

Author

Alternative Text
Author

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว