ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างไร แต่หลายคนยอมรับว่าการออกมาเคลื่อนไหวและชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ในขณะนี้ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ทำได้ ตราบที่ไม่ละเมิดกฎหมายและไม่ใช้ความรุนแรง
หากจะมีสิ่งที่ไม่เข้าใจอยู่บ้าง คงเป็นสิ่งที่เรียกว่า “New Normal” หรือ “วิถีปฏิบัติใหม่” ในการแสดงออกของเยาวชนและคนหนุ่มสาวในยุคนี้ที่มีหลากหลาย เห็นได้ชัดเจนจากการไม่ยึดติดกับรูปแบบการชุมนุมแบบเดิม เช่น การใช้เพลง“แฮมทาโร่” การ์ตูนญี่ปุ่นของแก๊งหนูแฮมสเตอร์สุดน่ารัก เชิญชวนคนออกมาวิ่ง (ชุมนุม) แทนที่จะเป็น “เพลงเพื่อชีวิต” หรือ “เพลงปฏิวัติ” ที่เคยเป็นส่วนประกอบสำคัญในการชุมนุมของคนยุคเก่า
แม้จะถูกมองเป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” แต่การชุมนุมที่เกิดขึ้นก็ถูก “ตั้งคำถาม” จากผู้ใหญ่ที่เห็นต่าง และถูก “คาดคั้น” จากผู้ใหญ่ที่เห็นด้วย ที่หวังว่าพลังของคนหนุ่มสาวจะพาให้ “เรื่องต่าง ๆ ดีขึ้น” อย่างที่ปรารถนา และกลายเป็น 2 ขั้วความคิดที่ชี้นำมุมมองของสังคมต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
แต่หากจะเข้าใจความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ คำถามสำคัญ คือ เพียงแค่ 2 มุมมองนี้ จะช่วยให้เข้าใจหรือไม่
The Active พูดคุยเรื่องนี้กับ “นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์” นักกิจกรรมทางสังคมในปัจจุบัน อดีตรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2536 – 2537 ที่ร่วมอยู่ในขบวนนักศึกษา หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเพิ่งยุติลงเพียงปีเดียว ที่เห็นว่า การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ขบวนการนักศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ควรมองแยกขาดกับความเคลื่อนไหวในอดีต และที่สำคัญไม่แยกตัวเราออกจาก “ความรับผิดชอบในประวัติศาสตร์” ที่คนรุ่นเดียวกับเขาก็มีส่วนสร้าง “ปัจจุบัน” ที่เป็นแบบนี้
มองขบวนการนักศึกษา ผ่านการชำระประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา
การคัดเลือกภาพเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา รวมถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสามัญชน ในช่วงปี พ.ศ. 2535-2545 ถูกบันทึกไว้ในฟิลม์สไลด์กว่า 5,000 ภาพ ฟิลม์เนกาทีฟ กว่า 2,000 ม้วน และม้วนวิดิโอ Handy Cam อีก 200 ม้วน ก่อนที่จะถูกบันทึกข้อมูลและนำไปจัดเก็บไว้คลังสื่อข้อมูลออนไลน์ เป็นหนึ่งในขั้นตอนการทำงานภายใต้ “โครงการชำระประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ช่วงปี พ.ศ. 2535-2545” ที่นิติรัตน์ และเพื่อน พี่ น้อง อดีตนักศึกษาในยุคเดียวกันกว่า 10 คน กำลังช่วยกันทำในขณะนี้
- ภาพการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาและประชาชน ในเหตการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
- เหตุการณ์คัดค้านเขื่อนปากมูลหลายยุคสมัย ทั้งยุคระเบิดแก่ง ยุคแม่มูนมั่นยืน
- เหตุการณ์สมัชชาคนจน ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งปี 2538 จนถึงการชุมนุม 99 วัน เมื่อต้นปี 2540
- เหตุการณ์สมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน ปี 2535-2538
- การคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ปี 2539 ท่อก๊าซไทย-พม่า ปี 2540
- ไปจนถึงการประท้วงเงื่อนไขเงินกู้ธนาคาร ADB ธนาคารโลก WORLDBANK ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ฯลฯ
สำหรับนิติรัตน์และเพื่อน ๆ ที่กำลังทำงานอย่างขมักเขม้น พวกเขาเห็นตรงกันว่า ภาพเหตุการณ์เหล่านี้ เป็น “พายุความทรงจำ” ที่ควรถูกบันทึกไว้เช่นเดียวกับการบันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 และไม่ใช่แค่เป็นบันทึกความทรงจำ แต่หวังด้วยว่ามันจะช่วยกระตุ้นเตือนความคิดอุดมการณ์ที่เรามีต่อสังคมด้วย
“ไม่ได้คิดแค่เก็บไว้ แต่จะพูดรวมไปถึงการขับเคลื่อนของนักศึกษาหรือขบวนชาวบ้านในยุคนั้น เพราะเป็นช่วงที่การเมืองเปิดหลังเราได้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนครั้งแรก หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พอการเมืองเปิด ทำให้การเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นช่วงนั้น ก็เลยอยากจะสรุปบทเรียน และคิดว่าน่าจะเกิด out come บางอย่างที่น่าจะช่วยกระตุ้นเตือนเรื่องราวในช่วงการขับเคลื่อนในยุคของเรา ทำให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของเรา และทำให้ได้ตรวจสอบความคิด อุดมการณ์ ความเชื่อต่างๆ ของเราที่มีต่อสังคมในช่วงนั้น”
อดีต : นักศึกษาในบทบาทกระบอกเสียงประชาชน
ในฐานะคนร่วมสมัยขบวนการนักศึกษาในยุคนั้น นิติรัตน์ มองว่า ไม่อาจมองขบวนการนักศึกษาแยกขาดจากขบวนประชาชนภายใต้บริบททางการเมืองในช่วงเวลานั้นได้ โดยในช่วงทศวรรษ 2530 – 2540 มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่ในช่วงปี 2531 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการลงจากอำนาจของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีมานานถึง 7 ปี (พ.ศ.2523 – 2531) และเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งนับตั้งแต่ปี 2519 และมีนายกที่มาจากการเลือกตั้งเป็นพลเรือนครั้งแรกในปี 2532 คือพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
“ในช่วงนั้นจึงเหมือนกับว่า การเมืองที่มันถูกปิดมานานด้วยระบบรัฐราชการหรืออมาตยาธิปไตย มีการควบคุมการแสดงออก พอมายุคเลือกตั้ง เหมือนกระแสเปิดขึ้นให้เกิดขบวนการภาคประชาชนที่เรียกกันว่า การเมืองภาคประชาชน”
นิติรัตน์ เล่าว่า ในช่วงนั้นเองที่นักศึกษาเริ่มมีบทบาทสำคัญหลายเรื่อง บทบาทแรก นักศึกษาเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากนโยบายการพัฒนาที่กระทบประชาชน เช่น นโยบายขับไล่คนออกจากที่ทำกิน และเป็นสะพานเชื่อมให้กับสื่อมวลชนและคนที่อยู่ในเมืองได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น
“เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ นักศึกษาก็จะลงพื้นที่สรุปข้อมูลความเดือดร้อน หาแฟกส์ส่งข้อมูลมาที่ส่วนกลางที่ สนนท. ตอนนั้นอยู่ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ก็จะทำหน้าที่ในการกระจายข่าว หรือบางทีก็จะเชิญนักข่าวมาแถลงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม”
บทบาทที่สอง เป็นพลังตรวจสอบถ่วงดุลภาครัฐ และนำเสนอทางเลือกต่อสังคมในการปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ซึ่งบทบาทนี้สัมพันธ์กับการมีโครงสร้างทางการเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย การมีรัฐบาลที่บริหารประเทศโดยที่ไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และดำเนินนโยบายหรือโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
“ไม่มีอะไรที่เป็นชัยชนะหรือล้มเหลว แต่คิดว่าเป็นการสั่งสมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประชาชนกับนักศึกษา ในช่วงที่เราทำงาน นักศึกษามีความใกล้ชิดกับขบวนการประชาชน มีการหนุนเสริมกันมาก ทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้นและเป็นการเมืองที่จะสร้างการเมืองที่คู่ขนานกับการเมืองระบบรัฐสภา มันคือประชาธิปไตยที่กินได้ ที่เป็นจริง เห็นหัวคนจน”
ส่วนรูปแบบการรวมตัวในอดีต นิติรัตน์เล่าว่า มีกลุ่มต่าง ๆ ค่อนข้างหลากหลาย กลุ่มทางการก็จะเป็นสภานักศึกษา องค์การนักศึกษา กลุ่มชมรมที่เป็นทางการในมหาวิทยาลัย เช่น ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ชมรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการรวมตัวทำกิจกรรมในกลุ่มคณะ และยังมีการรวมตัวเป็นกลุ่มอิสระต่าง ๆ เช่น กลุ่มศึกษาปัญหาแรงงานกรรมกร
นอกจากนี้ ยังมีองค์การประสานงานของนักศึกษา โดยในช่วงนั้นมีหลัก ๆ 2 องค์กร คือ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และ คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 16 สถาบัน (คอทส.)
สนนท. ก่อตั้งปี 2527 โดยมีองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา พรรคนักศึกษา กลุ่มอิสระ เป็นองค์กรสมาชิก มีการสมัชชาประจำปีเพื่อกำหนดนโยบายกิจกรรมการทำงาน และการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร ในช่วงปี 2536-2358 มีมหาวิทยาลัยของรัฐเกือบทุกแห่งเป็นคณะกรรมการกลาง รวมทั้งสถาบันราชภัฏ สนนท. จะเน้นการเคลื่อนไหวในประเด็นเชิงโครงสร้างทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ
ส่วน คอทส. ก่อตั้งในปี 2522 มีชมรมอนุรักษ์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นองค์กรสมาชิก มีการสัมมนาประจำปีเพื่อกำหนดนโยบายกิจกรรมการทำงาน และการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร คอทส. จะเน้นการเคลื่อนไหวตรวจสอบและคัดค้านนโยบายหรือโครงการพัฒนาของรัฐที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน
แต่แม้จะมีจุดเน้นการทำงานที่แตกต่างกัน แต่การทำงานจริงก็มีการพูดคุยและเคลื่อนไหวร่วมกัน เพราะมีเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อสารต่อรัฐบาลเหมือนกัน
ปัจจุบัน : สังคมเปลี่ยน แต่การเมืองไม่เปลี่ยน และการกลับสู่ท้องถนนอีกครั้งของขบวนนักศึกษา
ขณะที่โซเชียลมีเดียและบริบททางสังคมที่แตกต่างจากอดีต มีผลต่อรูปแบบการแสดงออกของนักศึกษาในยุคปัจจุบัน แต่นิติรัตน์มองว่า ปัจจัยสำคัญที่พานักศึกษายุคนี้ออกจากโลกเสมือนจริงลงสู่ท้องถนน ก็คือ โครงสร้างทางการเมืองที่ยังเหมือนเดิมไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
“ตัวละครอาจจะเปลี่ยน แต่โครงสร้างการเมืองมันก็ยังเหมือนเดิม ปี 2534 เรามีรัฐประหาร ปี 2549 เราก็มีรัฐประหารอีก ปี 2557 ก็มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร แล้วเราก็มีนายกที่มาจากการสืบทอดอำนาจ มันเหมือนวนกลับมา”
นิติรัตน์ วิเคราะห์ว่า มี 2 ปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเวลานี้ ซึ่งก็คือเหตุผลเดียวกับที่พานักศึกษาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วลงสู่ท้องถนน
ข้อแรก คือ รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่สามารถปิดกั้นได้เหมือนในยุค คสช. ที่ใช้ตำรวจ ทหาร ศาล และคุก เป็นเครื่องมือของรัฐปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน
ข้อที่สอง เกิดจากการสั่งสมความไม่พอใจรัฐบาล คสช. และต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยปัจจัยทั้ง 2 ข้อ ถูกสื่อสารผ่านข้อเรียกร้องร่วมของนักศึกษาทุกกลุ่มในขณะนี้ คือ ยุบสภา ยุติการละเมิดสิทธิประชาชน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หนึ่ง คือยุบสภา เพราะมันชัดเจนว่าระบบรัฐสภาปัจจุบันไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งหวังให้กับประชาชนและอนาคตของนักศึกษาหรือเยาวชนได้ ข้อที่สอง เรื่องการละเมิดสิทธิประชาชน การอุ้มหาย จะใช้ตำรวจมาคุกคาม บอกว่าไปหาผู้ปกครองที่บ้าน นั่นคือการคุกคามแล้ว ข้อที่สาม การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่าคนไทยเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มันขัดขวางการเติบโตของประชาธิปไตย เป็นการเซ็นต์เช็คเปล่าให้รัฐราชการที่บริหารงานล้มเหลวมาตลอดมาเป็นกลไกหลักในการบริหารประเทศ มันจึงเหมือนสภาวะรัฐซ้อนรัฐ เรามีการเลือกตั้ง แต่คนที่เป็นผู้แทน ไม่สามารถไปใช้อำนาจได้ตามที่ประชาชนมอบ ดังนั้น ข้อเรียกร้องของนักศึกษาทั้ง 3 ข้อ เป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุผล”
ขณะที่การกลับสู่ท้องถนนอีกครั้งของนักศึกษาในยุคนี้ นิติรัตน์มองว่า เขาอาจจะไม่ใช่เป็นแกนนำแบบเดิมแบบ 14 ตุลา ซึ่งก็เป็นการปรับไปตามยุคสมัย ซึ่งหากติดตามดูการปราศรัยของนักศึกษาในแต่ละที่ก็จะเห็นลักษณะพิเศษหลายเรื่อง มีชีวิตชีวา และที่สำคัญเห็นสัญญาณที่คิดว่าเราสามารถที่จะคาดหวังต่อนักศึกษาในยุคปัจจุบันได้
“ถ้าไปดูการปราศรัยของนักเรียน ม.ปลาย ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขาพูดถึงการสร้างทางออกของประเทศที่ดีที่สุด คือการสร้างรัฐสวัสดิการ มันเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ถือได้ว่า จะทำให้เกิดการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนขึ้นมา ซึ่งคิดว่าเขาพูดสรุปรวบยอดความคิดทางการเมืองได้ภายในไม่กี่นาที ยังมีการพูดเรื่องประชาธิปไตยทางการเมือง มีมิติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การที่จะต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การควบคุมบทบาทกองทัพ”
นิติรัตน์กล่าวว่า อยากผู้ใหญ่ที่ปรามาสเด็ก ๆ เหล่านี้ ได้ลองไปฟังในสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสาร แม้ในบางเรื่องเขาพูดความจริงในสิ่งที่ผู้ใหญ่เองก็อาจจะมีความกังวลที่จะพูดความจริงเหล่านั้น แต่มันก็สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่มุ่งมั่นกล้าหาญของพวกเขาที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้
ไม่ใช่แค่การฝากไว้บนบ่าของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมของคนทุกรุ่น
นิติรัตน์ยืนยันว่า การสรุปบทเรียนความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในอดีต ไม่ใช่เพื่อที่จะบอกคนรุ่นใหม่ว่า แต่ก่อนรุ่นพี่ทำอะไร พวกคุณก็ต้องทำตามนั้น แต่เพื่อที่จะต่อยอดบางส่วนในปัจจุบัน หรือเพื่อดูว่ามีบทเรียนในอดีตอะไรบ้างที่จะสามารถทำให้ไม่เกิดช่องว่างแบบเดิมในการขับเคลื่อนในปัจจุบัน
“จะไม่ใช่การสรุปบทเรียนที่จะบอกว่า แต่ก่อนทำอะไร เพราะฉะนั้นพวกคุณนักศึกษาก็ต้องทำในแบบเดิมที่เราทำ นั่นไม่มีในหัวเลย เพียงแต่ว่า คนรุ่นเดิมก็มีส่วนร่วมของปัญหาในทุกวันนี้ จึงเป็นเหมือนภารกิจที่น่าจะมาคุยกัน และสำหรับคนรุ่นใหม่ ก็อาจจะเป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้เขาเห็นว่าแต่ก่อนทำอะไร”
แม้ว่าการสรุปบทเรียนนี้จะมีประโยชน์โดยตรงต่อนักศึกษารุ่นปัจจุบัน แต่อีกเป้าหมายสำคัญที่นิติรัตน์หวังจะให้เกิดขึ้นเช่นกัน คือ ส่งผ่าน “ข้อความ” ไปถึงคนที่ร่วมสมัยในขบวนการนักศึกษาในยุคนั้น เป็นการสื่อกลับไปยังคนรุ่นเดิม เพื่อบอกว่าสิ่งที่คนรุ่นเดิมทำกันมานั้นมันยังไม่สูญหาย แต่มันยังไม่สำเร็จและต้องทำต่อในปัจจุบัน และคนรุ่นเดิมยังต้องช่วยสร้างความเข้าใจต่อความเคลื่อนไหวของคนในยุคปัจจุบัน
“ต้องมองพวกเขาด้วยความเข้าใจ เพราะเป็นคนละยุคสมัย อย่าเอาไม้บรรทัดของเราที่ผ่านจุดนั้นมา ไปทาบในปัจจุบัน แต่ควรเอาไม้บรรทัดอันนี้ไปทาบตัวเราเอง มันไม่ใช่ภารกิจที่จะไปแบกบนบ่าให้กับคนรุ่นใหม่ แต่คนรุ่นคุณก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแต่ว่ารุ่นของเขาที่ยังเป็นนักศึกษา เราก็ให้เขาดำรงความเป็นตัวเองของเขา แต่ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่อีกรุ่น นอกจากทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่แล้ว ภารกิจของคนรุ่นเดิมก็ยังจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปด้วยเหมือนกัน”