#พี่ตูนวิ่งทำไม ไขคำตอบปัญหาการศึกษาไทย

ทำไมต้อง 109 คน หลังก้าวเพื่อน้องปี 2 ของ ‘ตูน บอดี้สแลม’ ถูกพูดถึงอย่างมาก

ภาพจาก ก้าวคนละก้าว

โครงการก้าวเพื่อน้องปี 2 ของ ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย ถูกพูดถึงอย่างมาก จนถึงขณะนี้ก็ยังคงมีควันหลงในสังคมตั้งคำถามว่าการคัดเลือกเด็กทุน 109 คน เหมาะสมหรือไม่ เพราะยังมีเด็กยากจนอีกนับล้านในระบบการศึกษาไทยที่ควรได้เรียนต่อเช่นกัน

The Active สอบถามไปยัง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อขอความชัดเจนในฐานะองค์กรร่วมทำงานกับ มูลนิธิก้าวคนละก้าว และในฐานะหน่วยงานซึ่งรับหน้าที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

กสศ. ชี้แจงว่า 109 คน เป็นจำนวนนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการก้าวเพื่อน้องปีที่ 1 ไม่ใช่จำนวนที่ตั้งไว้ในโครงการก้าวเพื่อน้องปี 2 ที่ ตูน บอดี้สแลม ชวนสังคมออกวิ่งการกุศลอีกครั้ง

โครงการก้าวเพื่อน้องปีที่ 1 ทาง มูลนิธิก้าวคนละก้าว ได้ร่วมมือกับ กสศ. จัดหาทุนเพื่อช่วยเด็ก ๆ ที่ยากจนเป็นพิเศษ ผ่านการระดมทุนจากกิจกรรมวิ่งเวอร์ชวลรัน หรือ วิ่งด้วยตัวเองที่ไหนก็ได้ แล้วส่งผลวิ่งเพื่อสะสมระยะทางแลกเหรียญที่ระลึก รวมถึงการขายสินค้าที่ระลึก และรับเงินบริจาค ช่วงกันยายน – ธันวาคม 2563 ได้ยอดเงิน 27,092,309 บาท ขณะที่ กสศ. ระดมเงินบริจาคจากเครือข่ายเอกชนเพิ่มเติมอีก 1,683,691 บาท รวมเป็นเงิน 28,776,000 บาท เป็นที่มาของเหตุผลที่ต้องเป็น 109 คน

กสศ. อธิบายว่า ตูน บอดี้สแลม และ มูลนิธิก้าวคนละก้าว ตั้งใจนำเงินที่ได้จากกิจกรรมทั้งหมดของโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนชั้น ม. 3 ในช่วงรอยต่อขึ้น ม.4 และสายอาชีพ ที่มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน ให้ได้เรียนต่อในชั้น ม.ปลาย หรือสายอาชีพ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี

แต่ด้วยข้อจำกัดของเงินบริจาค ทำให้คณะทำงานใช้วิธีการเปิดรับสมัครนักเรียนที่ต้องการทุนจากทั่วประเทศ โดย กสศ. กับ มูลนิธิก้าวคนละก้าว ได้ดำเนินการเช็กประวัติผู้สมัคร และสัมภาษณ์ ซึ่งมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลากสาขาอาชีพร่วมด้วยมีเด็ก ๆ สมัครเข้ามา 1,352 คน จาก 717 โรงเรียน

เนื่องจากมีการประเมินตัวเลขรายจ่ายด้านการศึกษา ที่เชื่อว่าจะสามารถทำให้นักเรียน 1 คนอยู่ในระบบการศึกษาชั้น ม.ปลาย หรือสายอาชีพ ได้ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด อ้างอิงตามหลักฐานข้อมูลงานวิจัย ทุนการศึกษาจากก้าวเพื่อน้องปี 1 จึงออกแบบจัดสรรค่าใช้จ่ายให้ต่อเนื่อง 3 ปี แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา 10,000 บาท/ปี (จ่ายตามจริงไปที่โรงเรียน), ค่าใช้จ่ายรายเดือน 6,500 บาท/เดือน รวมเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็ก 1 คน จำนวน 264,000 บาท

เมื่อนำจำนวนเงินที่เด็ก 1 คนจะได้รับ มาหารกับยอดเงินที่มีจากโครงการ 28,776,000 บาท จึงเพียงพอสำหรับเด็ก 109 คน โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกจากความยากจนพิเศษ คือ ดูรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือน ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน และปัญหาอื่น ๆ 8 ด้าน คือ อยู่ในครอบครัวที่มีภาระพึ่งพิง อยู่บ้านเช่าหรือมีที่อยู่สภาพไม่มั่นคง มีที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ ไม่มียานพาหนะหรือมียานพาหนะอายุมากกว่า 15 ปี และเกี่ยวกับการเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ มีการประเมินด้านการเรียน ดูเกรดเฉลี่ย 2.00 ขึ้นไป เพื่อให้เห็นแนวโน้มของการอยู่ในระบบจนสำเร็จการศึกษา

ขณะนี้นักเรียนทั้ง 109 คน ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว ขณะที่การออกมาวิ่งการกุศลอีกครั้งในโครงการ “ก้าวเพื่อน้องเวอร์ชวลรัน ๑๐๙ คำขอบพระคุณ” ของ ตูน บอดี้สแลม เป็นการนำจำนวนเด็ก 109 คนจากกิจกรรมปีแรก มาเป็นแรงบันดาลใจในการชวนสังคมมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมครั้งใหม่ ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 1 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อนำรายได้จากค่าสมัครวิ่งคนละ 300 บาท และการขายของที่ระลึก มอบเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ที่ไม่มีทุนเรียนต่อ ม.ปลาย หรือสายอาชีพในรุ่นต่อไป โดยยอดเงินจากโครงการจะเป็นตัวกำหนดว่าจะมีเด็กได้รับทุนการศึกษาครั้งนี้จำนวนกี่คน

ภาพจาก ก้าวคนละก้าว

‘กสศ.’ ชี้ “ระดมทุนการกุศล” เป็นวิธีแก้ปัญหาระยะสั้น นอกจาก “ก้าวเพื่อน้อง”  ยังมีประชาชน และเอกชน อีกกว่า 200 องค์กร ช่วยสบทบแก้เหลื่อมล้ำการศึกษา

ดูเหมือนว่านักเรียนยากจน 109 คน ที่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการก้าวเพื่อน้องจะเป็นเด็กโชคดี เพราะได้รับทุนก้อนใหญ่ และมีให้ต่อเนื่อง เพียงพอที่จะเรียนได้จนจบการศึกษาชั้น ม.ปลาย หรือสายอาชีพ แต่สำหรับเด็กยากจนกลุ่มใหญ่ ที่ กสศ. รายงานข้อมูลว่าขณะนี้ มีอยู่กว่า 2 ล้านคน ก็คงอยากโชคดีแบบนั้น

ว่าด้วยบทบาทของ กสศ. ในฐานะผู้รับหน้าที่โดยตรงเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

นี่เป็นที่มาของการจัดทำ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2561 The Active พบว่า ตลอด 3 ปีมานี้ กองทุนนี้ทำงานแก้ปัญหาให้เด็กยากจนเข้าถึงการศึกษาได้ตามงบประมาณที่มี ซึ่งแต่ละปีจะไม่มีความแน่นอนของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ปี 2561  ได้รับ 1,222 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 ได้รับ 5,652.29 ล้านบาท จากที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้เสนอขอไป 7,635.67 ล้านบาท

ทำให้ขณะนี้  กสศ. สามารถจัดสรรทุนให้กับนักเรียนยากจนพิเศษได้ที่ 1,302,968 คน คนละ 3,000 บาท/ปี โดยใช้เกณฑ์คัดกรองความยากจนพิเศษเหมือนกับทุนจากโครงการก้าวเพื่อน้อง แต่ไม่ใช้เกรดเฉลี่ยมาเป็นเกณฑ์

จะเห็นว่า ทั้งจำนวนนักเรียนที่เข้าถึงกองทุนนี้ และจำนวนเงินในการจัดสรรความช่วยเหลือนักเรียนยากจนให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ยังไม่สอดคล้องกับยอดจริงของเด็กยากจน และค่าใช้จ่ายจริงในการเล่าเรียน ทำให้ตั้งแต่มีการจัดตั้ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีการชวนสังคมมีส่วนร่วมสบทบทุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการบริจาคมาตั้งแต่ปี 2561 และ ตูน บอดี้สแลม กับ มูลนิธิก้าวคนละก้าว ก็คือหนึ่งในภาคีที่เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนักเรียนบางกลุ่ม

The Active ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2564 มีประชาชน และหน่วยงานภาคเอกชนมากกว่า 200 องค์กร ร่วมบริจาคกับ กสศ. รวมทั้งสิ้นราว 48 ล้านบาท เงินส่วนนี้ได้ถูกนำไปใช้ช่วยเหลือเด็กเยาวชนกว่า 70,000 คน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาในภาวะวิกฤตช่วงโควิด-19 ซึ่งมีโครงการดังนี้

  • โครงการสู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง ช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษที่ขาดแคลนอาหารในวิกฤตโควิด-19 จำนวนกว่า 42,000 คน ใน 7,728 โรงเรียน ครอบคลุม 77 จังหวัด รวม 604,980 มื้อ
  • โครงการมื้อเช้าเพื่อน้องอิ่มท้อง สนับสนุนการพัฒนาระบบอาหารเช้าสำหรับนักเรียนยากจนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ทั้งหมด 23 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 80% ขึ้น มีนักเรียนได้รับอาหารเช้าตลอดปีการศึกษา 2564 จำนวน  2,026 คน  รวมกว่า 400,000 มื้อ ตลอด 200 วันเรียน
  • โครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 เชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในทุกมิติ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เป็นระบบเดียว สามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่า 22,000 กรณี ให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดในทุกมิติ ทั้งด้าน สุขภาพกาย-ใจ สังคม การศึกษา จนสามารถยกระดับเป็นโมเดลการดูแลช่วยเหลือเด็กในสถานการณ์วิกฤต ขยายผลระดับประเทศ และระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาเป็นอาสาสมัครจำนวน 300 คน
  • โครงการสนับสนุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อที่กำลังจะหลุดจากระบบการศึกษาเพราะความยากจนเฉียบพลัน  และต้องได้รับการช่วยเหลือทันที รวมถึงเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนทั้งหมดอย่างน้อย 10,000 คน ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ  ทั้งด้านทุนการศึกษาและอุปกรณ์ที่ขาดแคลน

ทั้งหมดนี้ น่าจะพอจะเป็นคำตอบได้ว่า ตูน บอดี้สแลม “วิ่งทำไม” ในขณะที่ประเทศไทยก็มีหน่วยงานที่ดูแลเด็กยากจน แต่มีภายใต้กลไกการช่วยเหลือแบบมีข้อจำกัด “ทุนการศึกษาที่เพียงพอ ต่อเนื่อง ให้เด็กยากจนทุกคนได้รับโอกาสอยู่ในระบบการศึกษา” คงไม่สามารถทำได้ด้วย “เงินระดมทุนการกุศล” 

แต่คงต้องพูดไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงระบบในการจัดสรรทรัพยากรด้านการศึกษาที่รอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายกรัฐมนตรี ช่วยกันตีโจทย์


Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม