จากคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้กับ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” เมื่อพวกเขาขอให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ กระบวนการผลักดันโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตจะนะ จ.สงขลา” จนเวลาล่วงเลยผ่านมา 1 ปีเต็ม ทุกอย่างสวนทางกับข้อตกลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความพยายามผลักดันขอปรับเปลี่ยนผังเมืองจะนะ มารองรับอุตสาหกรรม และ เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการฯ กลับยังคงเดินหน้า
นั่นทำให้ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการฯ ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ทวงถามสัญญาจากรัฐบาล พวกเขายืนยันไม่ต้องการขัดขวางความเจริญ แต่การพัฒนาที่จะกำลังจะพลิกโฉมพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางวัฒนธรรม และศาสนา ควรมีทางเลือกที่มากกว่าอุตสาหกรรมหนัก ที่สำคัญต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ มากกว่าที่เป็นอยู่
นำไปสู่ข้อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี ฟังเสียงพวกเขาให้มากขึ้น และเริ่มต้นประเมินในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA กลไกสำคัญ ที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นทางเลือกให้การพัฒนามีทางออก ไม่อยู่บนความขัดแย้ง จนในที่สุด ครม.มีมติ มอบหมายบทบาทประเมิน SEA ให้อยู่ในมือ “สภาพัฒน์ฯ” แล้ว นั่นหมายถึงกระบวนการต่าง ๆ กำลังจะได้เริ่มนับหนึ่งตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง
.
.
The Active Podcast ชวนฟังมุมมอง และประสบการณ์ การใช้กลไก SEA มาช่วยสร้างทางเลือกการพัฒนา จาก ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) ชวยคุยโดย ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์ และ พงศ์เมธ ล่องเซ่ง ใน The Active Podcast EP.64 | SEA ทางออก – ทางเลือก จะนะ