กมธ. วุฒิสภา หนุนขยายวันลาคลอดอย่างมีเงื่อนไข ไม่เพิ่มภาระนายจ้าง เสนอ ‘ประกันสังคม’ สมทบเงินเพิ่ม ย้ำไม่สะเทือนงบประมาณเพื่อสร้างอนาคตของชาติ
วันนี้ (20 พ.ย. 67) เครือข่ายขับเคลื่อนผลักดันร่างกฎหมายลาคลอด 180 วัน และการจ้างงานลูกจ้างภาครัฐ จัดเวทีเสวนา “อนาคตแรงงาน การพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิมารดากับการลาคลอด 180 วัน และการจ้างงานภาครัฐ” ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จากสถานการณ์แก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ…. ที่มีสาระสำคัญ 2 เรื่อง ที่จะส่งผลต่อผู้ใช้แรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ 1. การขยายสิทธิวันลาคลอดจาก 98 วัน เพิ่มเป็น 180 วัน 2. การคุ้มครองลูกจ้างภาครัฐให้สามารถเข้ารับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
โดยขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และนำเสนอเข้าพิจารณาศึกษาในชั้น คณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา (กมธ. แรงงาน สว.)
ล่าสุด กมธ.แรงงาน สว. มีแนวโน้มผลักดันให้ขยายสิทธิวันลาคลอดได้ 180 วันอย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ การจ่ายค่าจ้างจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระของนายจ้าง แต่ต้องเป็นภาครัฐ (ประกันสังคม) ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น
ชินโชติ แสงสังข์ ประธานอนุกรรมาธิการด้านประกันสังคม วุฒิสภา ยืนยันว่า สิทธิการลาคลอดควรขยายเพิ่มเป็น 180 วัน แต่จะมีเงื่อนไขต่างออกไป กล่าวคือ เดิมที่มีสิทธิวันลาคลอด 120 วัน หรือ 4 เดือน นายจ้างและรัฐ (ประกันสังคม) จะจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างคนละครึ่ง หรือพูดให้ง่ายคือ นายจ้างจ่ายค่าแรง 2 เดือน และรัฐจ่าย 2 เดือน
เมื่อมีการขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน หรือ 6 เดือนแล้ว หากยังคงการใช้เงื่อนไขดังกล่าว คือ ให้นายจ้างและรัฐจ่ายกันคนละครึ่ง จะเป็นภาระของฝ่ายนายจ้างมากเกินไป จึงเสนอให้นายจ้างจ่ายเท่าเดิม แต่รัฐจ่ายในสัดส่วนที่มากขึ้นเนื่องจากไม่ได้ใช้งบประมาณมากเกินไปนัก
“ผมยืนยันว่า กมธ. สว. เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่ให้เพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน หรือ 6 เดือน โดยขอให้นายจ้างจ่ายค่าแรงแค่ 2 เดือนเหมือนเดิม ส่วนอีก 4 เดือน ประกันสังคมต้องเข้ามาอุดหนุน ซึ่งหากคิดจากครึ่งหนึ่งของเพดานสูงสุดของรายได้ลูกจ้าง (15,000 บาท) รัฐจะใช้งบประมาณเพียงแค่ 8,100 ล้านบาท เท่านั้น (โดยประมาณ) ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นภาระของรัฐมากนัก”
ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า โมเดลนี้จะผ่านข้อเสนอในเดือน ธันวาคมนี้ อย่างไรก็ดี ชินโชติ ยังเสนออีกว่า ควรให้รัฐอุดหนุนเงินชดเชยไปถึง 100% ของเพดานเงินเดือน ไม่ใช่เพียงแค่ครึ่งหนึ่งเหมือนตอนนี้ ซึ่งจะต้องใช้การแก้กฎหมายต่อไปอีกในอนาคต
ด้าน อุกฤษณ์ กาญจนเกตุ ที่ปรึกษาอาวุโส สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะของนายจ้างว่า เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการขยายวันให้แม่ลาคลอด 180 วัน ด้วยเหตุผลทางสุขอนามัยของแม่และเด็กที่จะนำไปสู่การสร้างทรัพยากรบุคคลที่ดีแก่ประเทศในอนาคต แต่ปัญหาคือ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าแรงต่างหาก
ที่ปรึกษาอาวุโส สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ย้ำว่า ปัจจุบันนายจ้างและผู้ประกอบการต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจหลายด้าน การมีภาครัฐเข้ามาช่วยอุดหนุนในสัดส่วนที่มากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังเป็นข้อสงสัยเพิ่มต่อไปอีกว่า ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐช่วยเหลือเพียงครึ่งเดียวจากเพดานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท ของลูกจ้าง (หรือสูงสุด 7,500 บาท) นั้น เพียงพอกับการดำรงชีวิตของลูกจ้างในปัจจุบันหรือไม่ จึงเสนอว่าต้องมีการหารือประเด็นนี้ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การขยายสิทธิวันลาคลอด 180 วัน ให้ลูกจ้างเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนรวมทั้งนายจ้างเห็นตรงกันอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง เนื่องจากเป็นการสร้างต้นทุนของการผลิตทรัพยากรบุคคลที่สมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตในสภาวะเด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัย
แต่คำถามสำคัญคือ แล้วใครจะเป็นผู้จ่ายเงินจำนวนนั้น และเป็นไปได้ไหม หากเป็นรัฐที่จะเพิ่มสัดส่วนการจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างให้มากขึ้นเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระของนายจ้าง รวมถึงในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสิทธิประกันสังคม รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณส่วนใดมาอุดหนุน