นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ ‘แจกเงินหมื่น’ รอบแรกตรงจุด เตือน! ประสิทธิภาพต่ำลงหากแจกไม่ตรงกลุ่ม ในเฟส 2 เฟส 3 เสนอทางเลือก ขยายเวลาจ้างงาน อุดช่องว่าง แก่ก่อนรวย ในยุคสังคมสูงวัย
นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุถึง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป้าหมายของโครงการที่ภาครัฐพูดเสมอ คือ ต้องการแจก 5 แสนล้านบาท และ ลดเหลือ 4.5 แสนล้านบาท โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเกินความจำเป็น ใหญ่เกินกว่าปัญหาที่มี
นอกจากนี้มีข้อเสนอเพิ่มทางเลือกผู้สูงอายุ นอกจากการต่อแถวรับ เงินหมื่น, เบี้ยสูงวัย ควรมีการสร้างรากฐานระบบการออม และเพิ่มความเข้มแข็งด้านการ จ้างงาน ขยายเวลาการเกษียณอายุ ในสังคมไทยที่เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว
แจกเงินหมื่น แก้ปัญหาเล็ก แต่กระตุ้นใหญ่ ‘เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน’
นณริฏ อธิบายว่า หลักการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องสอดรับกับความต้องการ คือ เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ จนรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ ก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3.6% แต่หลังโควิด โตเฉลี่ยไม่ถึง 3% สะท้อนให้เห็นว่า ไทยต้องการกระตุ้นบางส่วน และปีนี้ก็ยังมีการคาดการณ์ว่าการเติบโตจะหายไปอีก 1% (1% เทียบเท่าเม็ดเงิน 1.8 แสนล้าน) แต่สิ่งที่ภาครัฐจะดันทั้งโครงการต้องใช้เม็ดเงินถึง 4.5 แสนล้าน ซึ่งใหญ่กว่าปัญหาที่มี
นณริฏ ยังชื่นชมการแจกเงินหมื่นรอบแรก เพราะเป็นการคัดเลือกกลุ่มคนที่เหมาะสม ช่วยคนที่ต้องการ และยากลำบากจริง ๆ มีคนรายได้น้อย ยากลำบาก ชักหน้าไม่ถึงหลังได้ต่อลมหายใจ ใช้ประโยชน์จากเงินหมื่น สะท้อนผ่านการเบิกเงิน 10,000 บาท ทั้งหมดทันทีเพราะมีภาระที่ต้องใช้จ่าย
“การที่ภาครัฐเลือกคนที่ถูกต้อง ทำให้ประสิทธิภาพของโครงการสูงขึ้น”
นณริฏ พิศลยบุตร
การที่รัฐบาลอัดฉีดเงิน 1.4 แสนล้านบาท เท่ากับขนาดของปัญหาปัจจุบัน 1.8 แสนล้านบาท ส่วนคำถามว่า จะแจกใหญ่ถึงขนาด 4-5 แสนล้าน จะเกิดพายุกี่เท่า ? เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ประมาณการณ์ว่าจะมีตัวคูณ 0.3 – 0.6 เท่า ซึ่งน้อยเทียบได้กับ การลงทุน 1 บาท แต่ได้ผลตอบกลับมา 3 – 6 สตางค์ รวมถึงรูปแบบของการใช้เงินที่มีข้อจำกัด ใช้ยากก็จะยิ่งทำให้ตัวคูณต่ำลง ถือว่าผิดหลักทางวิชาการ
แต่หากแจกเฉพาะกลุ่ม ลดขนาดเหลือ 1.45 แสนล้าน หรือ แจกเฉพาะกลุ่มที่จำเป็น จะทำให้ตัวคูณเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.2 – 1.5 เท่า ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีกว่าการแจกหว่าน ขณะเดียวกัน อัดฉีดตรงจุดช่วยแก้ปัญหามิติสังคม ต่อลมหายใจ ตั้งต้นชีวิตได้
ท้ายที่สุด แม้จะเห็นด้วยกับแจกเงินหมื่นเฉพาะกลุ่ม เฉพาะแค่เฟสแรก แต่สำหรับในเฟส 2 และ 3 ที่แจกคนทั่วไป มีฐานะมากขึ้น ไม่มีความจำเป็นต้องแจกเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการแจกเงินจะต่ำลง
เริ่มระบบการออม เสริมความเข็มแข็งการ ‘จ้างงาน’ ขยายเวลาเกษียณ
นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ยังมองว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในสังคมสูงวัย คือ สูงวัย อายุยืนมากขึ้นจากการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น จำเป็นที่จะต้องออมเงิน และต้องแก้ทั้งระบบเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้สูงวัยทำงานได้นานขึ้น ไม่เร่งเกษียณอายุ ผู้สูงอายุจาก 12 ล้านคนจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน จึงมี 5 ส่วนสำคัญที่จะยกระดับศักยภาพสังคมสูงวัยไทย ภายใต้แนวคิด
- แรงงานภาคการเกษตร : ผู้สูงอายุทำงานในภาคการเกษตรจำนวนมาก นำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น และวางแผนรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- แรงงานในระบบ : แรงงานออกจากในระบบเร็ว ทั้งที่ได้ค่าตอบแทนที่ดีที่สุด สิ่งนี้อาจจะทำให้เกิดความเปราะบางก่อนสูงวัย จำเป็นต้องไม่ให้ออกจากระบบเร็วเกินไป
- ระบบจ้างผู้สูงอายุกลับมาทำงานอีก (re-employment)
- แรงงานสูงวัยอิสระ (Kik economy) เช่น Taxi, Grab ฯลฯ ต้องมีการเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มการต่อรองให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิ-สวัสดิการ และเพิ่มตลาดรองรับให้กับคนกลุ่มนี้
- กลุ่มผู้ประกอบการ : สร้างทักษะ เพิ่มโอกาส
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการปรับกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุทำงานได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น ลดหย่อยภาษีให้ผู้สูงอายุมีงานทำได้ ร่วมกับอีกส่วน คือ การทำสูงวัยมีส่วนร่วมในงานของรัฐบาลในมิติต่างๆ เช่น Soft power, BCG โดยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสทำงานง่าย ๆ ตามความถนัดทักษะเพื่อยกระดับสังคมสูงวัย