เรียกร้อง สว. ตั้ง กมธ. ตอบโจทย์ แก้ปัญหา – เคลื่อนรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชน

‘เครือข่ายเด็ก สตรี แรงงาน และสวัสดิการสังคมที่เป็นธรรม’ ย้ำมีหลายประเด็นรอการขับเคลื่อนในสภาสูง ชงปัญหาสิทธิแรงงาน เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า วอน สว. ยึดผลประโยชน์ประเทศ มากกว่าหลักการเสียงข้างมาก

วันนี้ (10 ก.ย. 67) ตัวแทนเครือข่ายเด็ก สตรี แรงงาน และสวัสดิการสังคมที่เป็นธรรม ยื่นหนังสือต่อ ประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา โดยมีข้อเสนอ “การตั้งคณะกรรมาธิการ ทุกชุด ต้องโปร่งใส เป็นธรรม และได้ผู้มีความรู้ ความสามารถ ที่ตรงกับประเด็นอาชีพ และกลุ่มเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาประชาชน”

โดยมองว่า ในช่วงเวลาที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ และเลือกประธานกรรมาธิการ วุฒิสภา ทั้ง 21 คณะนั้น มีความสำคัญต่อการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นทั้งข้อกฎหมาย ที่ต้องถูกส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร นำมาพิจารณาให้ความเห็นชอบ และการทำข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาร่างกฎหมายหรือนโยบายของประเทศ เครือข่ายฯ ซึ่งเป็นหน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่ทำงานพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพ อนามัยเจริญพันธุ์ สวัสดิการสังคมกลุ่มเปาะบาง และการสนับสนุนการพัฒนาพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิ สวัสดิการในหลายประเด็น เช่น

ประเด็นด้านแรงงาน

  • ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร วาระ1ว่าด้วยการลาคลอด180 วัน

  • การพัฒนาสิทธิประโยชน์ของแรงงานนอกระบบ มาตรา 40

  • การขอแก้ไขกฤษฎีกาของประกันสังคม ว่าด้วยการให้แรงงานลูกจ้างทำงานบ้าน และแรงงานภาคเกษตร เข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 33

  • การขอแก้ไขประกาศกฎกระทรวงเรื่องการให้เงินบำเหน็จชราภาพในประกันสังคมต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ประสงค์ไม่พำนักอยู่ในประเทศไทย และการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานอิสระ

  • การเร่งออกกฎหมายว่าด้วยการรับรองอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที 87และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

ประเด็นสวัสดิการและเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า

  • ให้รัฐบาลจัดสรรงบฯ เร่งด่วน มาช่วยเด็ก และสตรี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

  • ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการส่งเสริมพัฒนาศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชน และย่านอุตสาหกรรมที่ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการจัดสรรให้มีสถานที่แม่ให้นมลูกได้อย่างปลอดภัยใกล้ที่ทำงาน

ประเด็นรัฐสวัสดิการ

  • ระบบภาษีกับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า

  • การศึกษาแบบเรียนฟรีที่รัฐต้องสนับสนุน ตั้งแต่อนุบาล จนจบมหาวิทยาลัย

  • การจัดทำประกันสังคมแบบถ้วนหน้า

  • การมีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

ทั้งนี้ ข้อเสนอของเครือข่ายฯ ต่อประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการฯ ทั้ง 21 คณะ มีดังนี้

  1. ขอให้ท่านประธานวุฒิสภา และวุฒิสภา ได้พิจารณา สมาชิกวุฒิสภา ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ทั้ง 21 คณะ ต้องเป็นการพิจารณาอย่างเป็นธรรมตรงกับความต้องการในการแก้ปัญหาในอาชีพ ประเด็นที่วุฒิสมาชิกมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีความสามารถในการนำเสนอ ชี้แนะ การแก้ปัญหา หาทางออกกับกลุ่มอาชีพ ในเรื่องที่สำคัญต่อการกำหนดอนาคตของประเทศ เพื่อนำมาสู่การออกกฎหมาย นโยบาย ได้อย่างตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ

  2. ขอให้ประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และปัญหาปากท้องของประชาชน มากกว่าการใช้หลักการเสียงข้างมาก ลงมติในการเลือกวุฒิสมาชิกที่จะตั้งเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการ ในชุดต่าง ๆ

“พิจารณาการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ครั้งนี้ของวุฒิสภา จะมีการติดตามเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สภาสูง ได้เป็นที่พึ่งของประชาชนอีกช่องทางหนึ่งอย่างแท้จริง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอเครือข่ายฯ จะได้รับการพิจารณาในการตั้งคณะกรรมาธิการ ทั้ง 21 คณะ ในครั้งนี้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active