We Fair ทวงรัฐบาลใหม่ เพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก-คนท้อง-พิการ-เบี้ยผู้สูงอายุ

เตรียมยื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทย ทวงนโยบายสวัสดิการ เพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก คนท้อง คนพิการ และเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า พร้อมเสนอนายกฯ คนใหม่ แก้นโยบายเรียนฟรีที่ยังฟรีไม่จริง

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เปิดเชิญชวนร่วมตอบแบบสอบถามเรื่อง “การประเมินผลงาน 1 ปี ของรัฐบาล ด้านการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม และความต้องการประชาชนในการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม” ตั้งแต่วันนี้จนถึง 10 ก.ย. 2567 โดยจะนำข้อมูลที่ได้จากแบบสำรวจนี้ไปพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสวัสดิการสังคม และเป็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่าย We Fair  เปิดเผยกับ The Active ว่า จุดประสงค์ของการสำรวจดังกล่าว เพื่อดูว่าผู้ตอบแบบสอบถามจะเห็นความสำคัญของสวัสดิการด้านไหนในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งหมด 15 ด้าน และได้สอบถามด้วยว่าการทำงานของรัฐบาลภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ใน 1 ปีที่ผ่านมา สวัสดิการด้านไหนของรัฐที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จแล้วบ้าง รวมถึงอายุที่เหลือ 2-3 ปีของรัฐบาลนี้ ควรจะต้องดำเนินการเรื่องใดมากเป็นพิเศษ โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจากข้อเสนอของทาง We Fair จำนวน 3 ข้อ

ทั้งนี้ เครือข่าย  We Fair จะนำข้อมูลจากการสำรวจครั้งนี้อย่างน้อย 500 ชุด นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ และกำลังประเมินว่าจะไปยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นการสะท้อนต่อรัฐบาลว่าประชาชนคิดอย่างไรต่อนโยบายสวัสดิการต่าง ๆ เบื้องต้นคาดว่าไม่เกิน 12 ก.ย. 2567

ที่ผ่านมา เครือข่าย  We Fair   ได้อยู่ในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เป็นประธาน และยังมีคณะทำงานที่เกี่ยวข้องอีก 5 คณะ ซึ่งมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำงานอยู่ในคณะแล้ว แต่คณะทำงานทั้งหมดนี้ก็ได้สิ้นสุดลงหลังเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นำคณะต่าง ๆ ดังกล่าวกลับมาทำงานต่ออีกครั้ง

นอกจากนี้ทาง We Fair ได้ทำงานร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเตรียมยื่นหนังสือต่อรัฐบาลที่ทำการพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 2 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นข้อเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการที่อยากให้บรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ เงินอุดหนุดเด็กถ้วนหน้า 1,000 บาท, เบี้ยคนพิการ 1,000 บาท, เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท และเงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์  5-9 เดือนละ 3,000 บาท

สำหรับช่วง 1 ปี ภายใต้การทำงานของรัฐบาลเศรษฐา การทำงานด้านนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการ นิติรัตน์ ประเมินว่า รัฐบาลมีความพยายามจะผลักดันเรื่องการสนับสนุนการมีบุตร แต่ยังไม่เห็นความสอดคล้องในตัวนโยบาย เพราะยังไม่มีมาตรการให้เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ เงินอุดหนุนเด็ก และศูนย์เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี เพราะคนไม่อยากมีภาระในการเลี้ยงลูก

ส่วนนโยบายที่ดูจะมีผลงานมากกว่านโยบายอื่น ๆ คือ การพัฒนาให้เข้าถึงระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

“ถ้าเรามองใน  1 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ารัฐบาลพยายามจะโปรโมตเรื่องการมีบุตร แต่ตัวนโนบายยังไม่สอดคล้อง หมายความว่านโยบายส่งเสริมการมีบุตรจะต้องมีเงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ เงินอุดหนุนเด็ก ซึ่งตรงนี้ยังขาดหาย  และในขณะเดียวกัน ศูนย์เลี้ยงเด็กแรกเกิดจนถึงประมาณ 3 ปี ตอนนี้ยังไม่มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่ดูแลเด็กในช่วงวัยนี้ ก็จะทำให้คนไม่อยากมีลูก เพราะมีลูกก็ต้องส่งไปให้พ่อแม่เลี้ยงในชนบท ตรงนี้เรายังไม่เห็นภาพรวมของการส่งเสริมสวัสดิการเพื่อไปสนับสนุน”

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่าย  We Fair

ขณะที่นโยบายที่ยังเป็นปัญหา ได้แก่ เบี้ยยังชีพต่าง ๆ ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก ที่จะสร้างหลักประกันรายได้ ควรจะต้องมีการยกระดับและพัฒนาให้มากขึ้น เพราะเงินที่ได้ในปัจจุบันไม่เพียงพอ และบางสวัสดิการก็ไม่ได้ปรับขึ้นมานานกว่า 10 ปี และมองว่าเงินอุดหนุนดังกล่าวไม่ควรต่ำกว่าเส้นความยากจนตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่หากจะปรับขึ้นครั้งเดียวจำนวนมากก็จะใช้งบประมาณเยอะ ดังนั้นอาจจะต้องค่อย ๆ ยกระดับไปก่อน นอกจากนี้ ระบบสวัสดิการประกันสังคม ก็ยังมีปัญหา เพราะคนทำงานนอกระบบยังเข้าไม่ถึงกว่า 10 ล้านคน

สำหรับนโยบายที่เกี่ยวกับสวัสดิการที่อยากให้รัฐบาลภายใต้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำเพิ่มเติมนั้น ตัวแทนเครือข่าย We Fair ระบุว่า อยากให้ยกระดับนโยบายเดิมที่มีอยู่แล้ว และอยากให้แก้ไขนโยบายเรียนฟรี แต่ไม่ได้เรียนฟรีจริง ๆ เพราะหลายโรงเรียนมักจะมีค่าบำรุงการศึกษาที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองเพิ่มเติม และในบางโรงเรียนถึงขั้นไม่ให้วุฒิการศึกษา หากไม่จ่ายค่าบำรุงการศึกษา ทาง  We Fair จึงอยากให้เด็กได้เรียนฟรีอย่างแท้จริง และอาจจะต้องดูในเรื่องเงินอุดหนุนการศึกษารายหัวต่าง ๆ กันอย่างจริงจัง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active