กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รับแนวโน้มทั่วโลกต้องเพิ่มวันลาคลอด ได้ค่าจ้างเต็ม เตรียมเคาะ 120 วัน หรือ 180 วัน ก่อนดันเข้าสภาฯ วาระ 2
วันนี้ (23 ส.ค. 67) ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนลาคลอด 180 วัน จัดสัมนาทางวิชาการ “แลไปข้างหน้าลาคลอด 180 วัน และการคุ้มครองลูกจ้างภาครัฐ ประเทศไทยได้อะไร“ เปิดทางให้ลูกจ้างหญิงและชายได้สิทธิ์ลาคลอดเพิ่มขึ้น จาก 98 เป็น 180 วัน ไม่ให้นายจ้างใช้เงื่อนไขลาคลอดเพิ่มเติมเพื่อประเมินการทำงาน ให้โบนัส ผ่านการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
วรรณวิภา ไม้สน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. กล่าวถึงความคืบหน้า ว่า ร่างฯ ฉบับดังกล่าวกำลังจะเข้าสู่สภาฯ ในวาระที่ 2 ที่ผ่านมาในส่วนของ กมธ. ได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน แต่ยังไม่เข้าสู่เนื้อหาว่าสรุปออกมาในรูปแบบใด แต่คาดว่าอาจจะไม่ทันเสนอเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสมัยนี้
โดยในหลักการมีการแก้ไขในมาตรา 4 ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ที่ไม่อยู่ในการคุ้มครอง เช่น เหมาช่วง เหมาบริการ มีพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาชน ในครั้งที่ยังเป็นพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกันบางส่วน และการลาคลอด หากบิดา คู่สมรส ลาได้หรือไม่ รับเงินอย่างไร
“ในที่ประชุมเราเห็นตรงกันว่าอย่างไรก็ต้องเพิ่มวันลาคลอด เพราะตามหลักสากลและแน้วโน้มทั่วโลกเป็นแบบนั้น และต้องได้ค่าจ้างเต็มด้วย อยู่ที่ว่าจะเป็น 120 หรือ 180 วัน ”
วรรณวิภา ไม้สน
ณัชชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์ ประธาน กมธ.การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเสนอวาระสนับสนุนเด็กประถมวัย (0-6 ขวบ) 10 ข้อ แบบครบวงจร ต่อสภาฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ลาคลอด 180 วัน แบบได้รับค่าจ้าง
ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่หลักคิดเริ่มต้น หากมองว่าเป็นการให้สิทธิคนวัยแรงงานจะมีความเห็นต่าง แต่ถ้าเห็นว่าเป็นสิทธิของประชากรแรกที่เกิดขึ้นใหม่ให้โตมาอย่างมีศักยภาพ ทำให้สถานการณ์ประชากรดีขึ้น เมื่อมองแบบนี้กำแพงต่าง ๆ จะลดลง เด็กที่เกิดใหม่มีสิทธิอะไรบ้างในอนาคต เช่น เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ถ้วนหน้า (เดือนที่ 5-9) เดือนละ 3,000 บาท, สวัสดิการถ้วนหน้า, MOU เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
อย่างไรก็ตามในฐานะประธาน กมธ. เรื่องสวัสดิการเด็กเล็กจะมีคนเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ มีคำถามว่า ไทยทำไม่ได้เพราะเก็บภาษีไม่เท่าเขา แต่ข้อเท็จจริงที่คณะทำงานไปเยือนประเทศเดนมาร์ก พบว่า สามารถทำได้ผ่านการสร้างความเชื่อมั่น และไว้ใจของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน เรื่องนี้มีความสำคัญจำเป็นอย่างที่สุด ทั้งนโยบาย และงบประมาณ ที่จะต้องลงทุนในเด็กแรกเกิดอย่างครบวงจร
“ถ้าเริ่มต้นด้วยภาษีเท่ากับคุณเริ่มต้นรัฐสวัสดิการผิด เดนมาร์กลาคลอดได้ 480 วัน เกิดจากความเชื่อใจต่อรัฐบาล และเชื่อใจประชาชน อยากบอกว่าเราอย่าไปตกหลุมกับดักนี้ เราเริ่มต้นได้หากมีหลักคิดว่าต้องการดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะงบฯในการลงทุนในมนุษย์”
ณัชชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์
ขณะที่ รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการบอร์ดประกันสังคม ย้ำว่า การลาคลอด 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย โดยกองทุนประกันสังคมไม่ต้องล้มละลาย ข้อเท็จจริงคือ งบประมาณที่ใช้กรณีประกันสังคม กรณี ม.33/39 ลาคลอด 180 วัน จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท จำทำให้เงินกองทุน 4 กรณี ไม่ได้มีสถานการณ์ติดลบแต่อย่างใด และยังคงมีเงินสะสมเพิ่มขึ้นปีละ 80,000-90,000 ล้านบาท
กรณี ม.40 ข้อเสนอปัจจุบันการลาคลอดเดือนละ 3,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 155 ล้านบาท (ประมาณการคนใช้สิทธิ์ 17,257 คน/ปี) มีผลดีสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนผู้ประกันตนส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ จะดึงดูดให้คนมาเป็นผู้ประกันตนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดตอนนี้ไม่ใช่เพิ่มวันลาคลอด เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด หรือบำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า แต่เป็นค่าการรักษาพยาบาลที่ประกันสังคมไม่สามารถต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชนได้
กรรมการบอร์ดประกันสังคม เสนอให้ มีการขยายกรอบการลงทุน และกำหนดผลตอบแทนเป็นส่วนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญต่อกองทุนประกันสังคม ซึ่งการคำนวณนี้ยังไม่คำนวณปัจจัยบวกอื่นๆที่ได้จากการลาคลอด เช่น รายได้ที่ต่อเนื่องของแรงงานหญิง และค่าจ้างเฉลี่ยที่อาจสูงขึ้น 7% ตลอดอายุงาน
ในวงเสวนา ยังมีบริษัทที่เดินหน้าลาคลอด 180 วัน แบบได้ค่าจ้าง มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองหากมีการผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริงเช่น บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่มีสำนักงาน 4 แห่ง ใน กทม., บางพลี จ.สมุทรปราการ, บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา, จ.ชลบุรี มีพนักงาน 2,200 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 60% ปี 2019 บริษัทออกนโยบายให้สิทธิลาคลอด 26 สัปดาห์ (182 วัน) ให้สิทธิพ่อลาดูแลบุตร 4 สัปดาห์ จ่ายค่าจ้าง 100% ทั้งพ่อแม่ โดยยึดหลักด้านความเท่าเทียม ความหลากหลาย ซึ่งวันที่กลับเข้ามาทำงานจะพิจารณาตำแหน่งเดิม หรือใกล้เคียงกับปัจจุบัน เพื่อคงสภาพแรงงานไว้
“อนาคตไทยจะยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ถึงจะมีการเอาเทคโนโลยี หุ่นยนต์มาใช้ แต่กลุ่มธุรกิจอย่าง sme ยังต้องพึ่งมนุษย์ การที่เราจะส่งเสริมให้พนักงานมีครอบครัว ถือเป็นสิ่งที่เราจะต้องทบทวนเป็นนโยบายด้านแรงงาน”
วงเสวนายังเห็นตรงกันว่า การลาคลอดเชื่อมโยงกับทุกคน เพราะเด็กจะเป็นคนเสียภาษีกลับคืนขณะที่คนในปัจจุบันเข้าสู่สูงวัย ซึ่งต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนในนโยบายเรื่องเด็ก และเยาวชน