เสนอเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน แก้กฎหมายเปิดทางลูกจ้างชาย – หญิง ได้สิทธิ์ลาคลอดเพิ่มขึ้น จาก 98 เป็น 180 วัน ไม่ให้นายจ้างใช้เงื่อนไขลาคลอดเพิ่มเติม เพื่อประเมินการทำงาน ให้โบนัส
วันนี้ (10 ก.ค. 67) เครือข่ายขับเคลื่อนแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยการลาคลอด 180 และการจ้างงานภาครัฐ เข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อสนับสนุนการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ว่าด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์และวันการลาคลอด 180 วัน โดยมี วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ ประธาน กมธ.ฯ เป็นผู้รับหนังสือ
สำหรับเนื้อหาใจความคือการขอให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน ลูกจ้างชายสามารถใช้สิทธิ์ลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ โดยทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้
- ขอให้ประธานและคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาผ่านร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานการให้ลูกจ้างหญิงและชาย ได้สิทธิการลาคลอดเพิ่มขึ้น จากเดิม 98 วัน ให้เป็น 180 วัน และต้องได้ค่าจ้างเต็มจำนวน โดยยึดตามหลักการขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรืออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อนุสัญญา 183 ว่าด้วยการให้สิทธิลาคลอดได้เกิน 98 วัน
- ข้อให้ประธาน และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาแก้ไขหลักการและเหตุผล และคำนิยาม เรื่องสิทธิการลาคลอด โดยการนำเอาเนื้อหาในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 48 ว่าด้วยสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรย่อมต้องได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของมารดา ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอ และบุคคลผู้ยากไร้ ที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ (โดยบทบัญญัตินี้ ถูกเทียบเคียงมาจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on economic, Social and cultural Rights : ICESCR) ข้อที่ 10(2) ว่าด้วยมารดาควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษระหว่างช่วงระยะเวลาตามควรก่อนและหลังการให้กำเนิดบุตรฯ และการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนทุกช่วงวัย และข้อย่อยที่ 3.8 ว่าด้วยเรื่องสุขภาพมารดาและเด็ก)
- ขอให้ประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และกฤษฎีกา พิจารณา เพิ่มถ้อยคำในบทเฉพาะกาลในกฎหมาย โดยกำหนดระยะเวลาในการนำออกมาใช้จริง
- ขอให้การใช้สิทธิลาคลอดที่ขยายเพิ่มตามกฎหมายกำหนด ต้องไม่ให้นายจ้างนำการเพิ่มวันลาคลอดที่มากกว่า 98 วันตามที่กฎหมายกำหนดมาเป็นเงื่อนไขในการประเมินการทำงาน การให้รางวัล การให้โบนัส หรือทำให้การทำงานของลูกจ้างไม่ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ลูกจ้างทำงานอยู่
- ขอให้ประธาน และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เร่งแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ โดยขอสนับสนุนการแก้ไขให้การจ้างงานของลูกจ้างภาครัฐทุกกลุ่มประเภทได้เข้าสู่การคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
โดยกฎหมายฉบับนี้ เน้นถึงการขยายวันลาคลอดและการให้คู่สมรสสามารถลางานเพื่อดูแลบุตรได้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น