นักวิชาการ – ภาคประชาชน เห็นพ้อง ความเสี่ยงชีวิตเปราะบาง เป็นเรื่องใกล้ตัว ชี้รัฐยังนิ่ง ไม่เห็นความสำคัญ ไร้นโยบายสวัสดิการที่ชัดเจน ขณะที่ ‘แอมเนสตี้ ประเทศไทย’ เตรียมดัน สิทธิสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และหลักประกันสังคม
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน UN 1948 article 25 ระบุ ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตบนมาตรฐานชีวิตที่ดี ซึ่งรวมถึง “อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และบริการทางสังคม” ขณะที่ประเทศไทยยังมีอุปสรรค ช่องว่างที่ทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการไม่เพียงพอ ประชาชนยังอยู่ในภาวะการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ ที่ไร้สวัสดิการ
ปีนี้ ‘แอมเนสตี้สากล’ ระบุถึง แผนยุทธศาสตร์โลกทั้งประเด็น สิทธิสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และหลักประกันสังคมทำให้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย ได้เปิดวงเสวนา วิเคราะห์สถานการณ์สิทธิในสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และหลักประกันสังคม โดยพบว่าทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว มีจุดร่วมเดียวกันคือ ไทยอยู่ในวิกฤตสังคมสูงวัย แต่ยังมีช่องว่างเรื่องการเข้าถึงสิทธิด้านประกันสังคม สุขภาพ ที่อยู่อาศัยที่เหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องสร้างการรณรงค์ให้สังคมตระหนัก และให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับจากรัฐ
60% คนไร้บ้าน คือ ผู้สูงวัย และผู้ป่วยทางจิต
อัจฉรา สรวารี เลขามูลนิธิอิสรชน ระบุ คนไทยอยู่ในภาวะไร้สวัสดิการ หลังสถานการณ์โควิด-19 พบคนตกงานที่เข้าไม่สวัสดิการ และไร้บ้านอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ล่าสุดอยู่ที่อายุ 40 ปี เฉพาะโซนเกาะรัตนโกสินทร์ เวลานี้มีคนไร้บ้าน ประมาณ 600 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 2,000 กว่าคน คาดการณ์ว่า ทั้งประเทศไทยอาจมีทั้งหมด 10,000-20,000 คน โดยจากภาพรวมพบว่า 60% ของคนไร้บ้านส่วนใหญ่เป็น ผู้สูงอายุ และมีอาการป่วยทางจิต
ขณะที่ การทำงานร่วมกับภาครัฐ หลายอย่างในทางปฏิบัติไม่มีความคล่องตัว สถานสงเคราะห์ 13 แห่งของรัฐมีจำกัด, บุคลากรไม่เพียงพอ, ทัศนคติของคนปฏิบัติไม่ดี เลือกปฏิบัติ ยังกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไร้บ้านไม่อยากเข้ารับการรักษา
“หากคุณไม่มีเงินเก็บเยอะ เพื่ออยู่บ้านพักชราวัยเกษียณ คุณอาจกลายเป็นคนข้างถนน… ค่าใช้จ่ายบ้านพักคนชรานั้นสูงมาก ภาวะไร้บ้านอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะระบบในประเทศไทย ยังไม่มีการรองรับที่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อเป็นคนไร้บ้านแล้ว อยู่ข้างถนนเจ็บป่วยก็ไม่รู้จะไปไหน สถานการณ์เหล่านี้ จึงเชื่อมโยงอยู่กับทุกสิทธิ ตั้งแต่สิทธิสุขภาพ หลักประกันสังคม การเตรียมตัวก่อนตาย”
อัจฉรา สรวารี
ไทยติดอันดับ 5 ความมั่นคงสุขภาพ
แต่เทรนด์ป้องกันก่อน ‘ป่วย’ ยังไม่เป็นกระแสหลัก
ผศ.จิรพรรณ นฤภัทร หัวหน้าภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคมและการพัฒนาชุมชน ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ความมั่นคงด้านสุขภาพไทยติดอันดับ 5 ของโลก แต่ไทยเองก็ยังไม่ได้ทำให้ การรักษาเชิงรุก หรือ ‘ป้องกันก่อนป่วย’ เป็นกระแสหลักในระบบสุขภาพ
ขณะที่ ภาวะหมดไฟของแพทย์ จากปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ เป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีรากฐานมาจากสังคมพึ่งพาโรงพยาบาลเป็นหลัก ไม่พยายามสร้างระบบการแพทย์เชิงรุก (protection and promotion) ขณะที่การแก้ปัญหาด้วยการผลิตแพทย์มากขึ้น สวนทางกับโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้อให้แพทย์ กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ หากว่ากันในเชิงคุณภาพของการกระจายกำลังคนของไทยเช่น การผลิตหมอมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานมันไม่ได้เอื้อให้หมอกระจายไปพื้นที่ต่างๆ
ผศ.จิรพรรณ ยังชี้ประเด็นสำคัญอย่าง การดูแลแบบประคับประคองหรือ Palliative care มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกผลักดันให้อยู่ในสวัสดิการของรัฐ ซึ่ง WHO ระบุว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ในการหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต แต่ประเทศไทยก็ยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งถือว่าเป็น สิทธิด้านสุขภาพ ที่ประชาชนพึงจะได้รับ
‘บอร์ดประกันสังคม’ ชี้ข้อจำกัดผลักดันสิทธิ
ชลิต รัษฐปานะ บอร์ดประกันสังคม ฝั่งผู้ประกันตน ระบุ ปัญหาแรกที่เห็นจากการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งที่ผ่านมา คือ เสียงผู้ประกันตน 20 กว่าล้านคน จำนวนผู้เลือกตั้งน้อยประมาณ 20% ทั้งที่เป็นเสียงสำคัญที่จะเข้าไปผลักดันสิทธิให้กับ ผู้ประกันตนทั่วประเทศ
ขณะที่การทำงานของบอร์ดเดิม มีความล่าช้า กลัวการเปลี่ยนแปลง ทำให้การทำงานไม่ได้รวดเร็วอย่างที่คิด เวลานี้บอร์ดประกันสังคมเตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณา และผลักดันวาระสำคัญในทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
โดยหลังจากเข้าไปนั่งทำหน้าที่แล้ว ยืนยันว่าจะเข้าไปผลักดันสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน, ขยายสิทธิทันตกรรมให้เท่าเทียมกับบัตรทอง, รวมถึงการผลักดันประเด็น การวางระบบประกันสังคมใหม่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และมีส่วนร่วมได้มากขึ้น เพื่อให้หลังหมดวาระในอีก 2 ปี จะได้เริ่มต้นการ ‘เลือกตั้ง’ บอร์ดประกันสังคม ไม่กลับไปสู่การ ‘แต่งตั้ง’ อย่างที่ผ่านมา
เพราะในวิกฤตสังคมเวลานี้ “ความเปราะบางในชีวิต ความเสี่ยง” ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐยังไม่เห็นความสำคัญ หรือยังไม่มีนโยบายด้านสวัสดิการที่ชัดเจน ข้อเสนอแนะจากวงเสวนาครั้งนี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้อง สื่อสารให้ทุกคนตระหนักรู้ว่า สิทธิ และสร้างความเข้มแข็งของสิทธิผ่านอำนาจการต่อรอง เช่น การรวมตัวกันของสหภาพแรงงาน เพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันทางสังคมทั้งมิติ แรงงาน สิทธิของกลุ่มเปราะบาง และ สุขภาพ
เพราะตามหลักการแล้ว ทุกสังคมควรมี “Social welfare” หรือ ความคุ้มครองทางสังคม ตั้งแต่เกิด-ตาย กฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลักสำคัญที่การคุ้มครองทางสังคม นำไปสู่ สวัสดิการประกันสังคมซึ่งเป็น ข้อกำหนดของสหประชาชาติ ที่กำกับว่าเรื่องเหล่านี้ เป็น ‘สิทธิ’ และเป็นหน้าที่ ‘รัฐ’ ที่ต้องจัดหาให้โดยใช้เงินจาก ‘ภาษีของรัฐ’